การพิชิตยอดเขา ของ ยอดเขาเอเวอเรสต์

ภาพภูเขาเอเวอเรสต์ในมุมกว้าง

ประวัติการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์เริ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

  • ในปี ค.ศ. 1922 นักปีนเขาชาวเชอร์ปาเจ็ดคนเสียชีวิตจากหิมะถล่ม (avalanche) นับเป็นครั้งแรกของการเสียชีวิตบนยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ถูกบันทึกไว้ ในปีเดียวกันนี้ คณะเดินทางจากอังกฤษคณะที่สองได้ไต่ขึ้นสู่ระดับความสูง 8321 เมตร
  • ในปี ค.ศ. 1924 คณะเดินทางจากอังกฤษคณะที่สามเดินทางเข้าใกล้ยอดเขาเอเวอเรสต์ จอร์จ มัลลอรี (George Mallory) และ แอนดรู เออร์ไวน์ (Andrew Irvine) ตัดสินใจเดินทางขึ้นสู่ยอดเขา การเดินทางของเขาทั้งสองในครั้งนี้เป็นการเดินทางที่ไม่มีวันหวนกลับ วันที่ 8 มิถุนายน เวลา 12.50 น. นักเดินทางคนอื่น ๆ เห็นทั้งสองอยู่ไม่ไกลจากยอดเขา จากนั้นมีเมฆลอยมาปกคลุม และไม่มีใครเห็นทั้งสองคนนี้อีกเลย ในปี ค.ศ. 1979 หวังฮงเป่า (Wang Hongbao) นักปีนเขาชาวจีนบอกกับเพื่อนร่วมทางว่าเขาพบศพศพหนึ่งในปี ค.ศ. 1975 และนั่นน่าจะเป็นศพของเออร์ไวน์ แต่โชคไม่ดีที่หวังฮงเป่าตกเขาเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้บอกอะไรเพิ่มเติม ในปี ค.ศ. 1999 คณะเดินทางวิจัยมัลลอรี-เออร์ไวน์ (Mallory and Irvine Research Expedition) ได้พบศพของมัลลอรีใกล้แคมป์จีนเก่า ส่วนศพของเออร์ไวน์นั้น แม้จะมีการค้นหาอย่างหนักหน่วงในปี ค.ศ. 2004 แต่ก็ยังไม่พบ

เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักปีนเขาว่ามัลลอรีและเออร์ไวน์ได้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วหรือไม่ นักปีนเขาส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่ามัลลอรีและเออร์ไวน์ได้ไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าทั้งคู่ได้ไปถึงหินขั้นที่สอง (การไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์จากทางด้านเหนือต้องผ่านหินสามขั้น) แต่นักปีนเขาทั้งหลายเชื่อว่าถ้าทั้งคู่ผ่านตรงนี้ไปได้ การไปถึงยอดเขาก็ไม่ใช่เรื่องลำบาก เพราะไม่มีอุปสรรคใหญ่ใดๆ อีกแล้ว

ในระยะแรก การเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาใช้เส้นทางด้านเหนือจากดินแดนจีนทิเบต แต่เส้นทางนี้ได้ปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1950 หลังจากประเทศจีนเข้ายึดครองทิเบต ในขณะที่ประเทศเนปาล ได้เริ่มเปิดประเทศให้คนภายนอกเดินทางเข้าประเทศได้ในปี ค.ศ. 1949

  • ในปี ค.ศ. 1951 คณะเดินทางจากอังกฤษเดินทางเข้าสู่ประเทศเนปาลเพื่อสำรวจเส้นทางปีนเขาเส้นใหม่ที่อยู่ด้านใต้ของเทือกเขา
  • ในปี ค.ศ. 1952 คณะเดินทางจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พยายามขึ้นสู่ยอดเขาจากทางด้านใต้ โดยอาศัยข้อมูลของคณะเดินทางจากอังกฤษ ซึ่งทีมของ เรย์มอนด์ แลมเบิร์ต (Raymond Lambert) และ เทนซิง นอร์เก เกือบจะขึ้นสู่ยอดเขาได้ แต่ต้องถอยกลับเสียก่อนขณะที่เหลือระยะทางอีก 200 เมตรเท่านั้น ในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน คณะเดินทางจากสวิสได้พยายามอีกครั้ง แต่ก็ไต่ได้ในระดับที่ต่ำกว่าเดิม
  • ในปี ค.ศ. 1953 คณะเดินทางจากอังกฤษนำทีมโดย จอห์น ฮันต์ (John Hunt) ได้กลับมาที่ประเทศเนปาล และพยายามขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้ง เมื่อคณะเดินทางไต่ขึ้นใกล้ยอดเขา จอห์น ฮันต์ ได้เลือกนักปีนเขาหนึ่งคู่ให้ไต่ขึ้นไปสู่ยอดเขา แต่นักปีนเขาคู่นี้อ่อนแรงเสียก่อน และไม่สามารถขึ้นไปสู่ยอดเขาได้ ในวันถัดมา จอห์น ฮันต์ เลือกนักปีนเขาอีกคู่หนึ่งคือ เอดมันด์ ฮิลลารี ชาวนิวซีแลนด์ และ เทียนซิง นอร์เก ชาวเชอร์ปาร์ นักปีนเขาคู่นี้เองที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ลงได้เป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 ที่ยอดเขาทั้งสองได้หยุดพักถ่ายรูป รวมทั้งฝังลูกอมและไม้กางเขนเล็ก ๆ ไว้ในหิมะก่อนจะเดินทางกลับ

ข่าวความสำเร็จของคณะเดินทางไปถึงลอนดอน ในเช้าวันที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2ขึ้นครองราชย์ และหลังจากที่ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และ จอห์น ฮันต์ กลับมายังกาฐมัณฑุ ทั้งสองก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความพยายามและความสำเร็จในครั้งนี้

แม้ยอดเขาเอเวอเรสต์จะถูกพิชิตลงได้อย่างเป็นทางการ แต่มนต์ขลังของยอดเขาแห่งนี้ก็ใช่ว่าจะหมดไป นักปีนเขาทั้งหลายทั่วทุกสารทิศจากทุกมุมโลกต่างก็อยากพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ให้ได้ซักครั้งในชีวิต นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา ความพยายามในการขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งสำคัญๆ มีดังนี้

  • ในปี ค.ศ. 1960 วันที่ 25 พฤษภาคม นักปีนเขาชาวจีนสามารถขึ้นถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ได้โดยใช้เส้นทางด้านเหนือ
  • ในฤดูกาลปีนเขาปี ค.ศ. 1996 มีผู้เสียชีวิตจากการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ทั้งหมด 15 คน นับว่าเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตจากการปีนเขามากที่สุด โดยในวันที่ 10 พฤษภาคม ได้เกิดพายุขึ้นและคร่าชีวิตนักปีนเขาไปทั้งหมด 8 คน ในจำนวนนี้รวมถึง ร็อบ ฮอลล์ (Rob Hall) และ สก็อต ฟิชเชอร์ (Scott Fischer) สองนักปีนเขาผู้มากประสบการณ์ผู้ถูกจ้างให้นำทางคณะสำรวจ อย่างไรก็ตาม สองผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ จอน คราเคอร์ (Jon Krakauer) และ เบค เวเธอร์ส (Beck Weathers) ได้กลับมาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์เฉียดตายในครั้งนั้น โดย จอน คราเคอร์ เขียนหนังสือ Into Thin Air และกลายเป็นหนังสือขายดี (bestseller) ในเวลาต่อมา ส่วน เบค เวเธอร์ส ออกหนังสือชื่อ Left for dead ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ถูกยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์นำกลับมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ เอเวอเรสต์ ไต่ฟ้าท้านรก ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 2015

ในปีเดียวกันนั้นเองที่ เดวิด เบรเชียร์ส นักปีนเขาและนักถ่ายทำภาพยนตร์ (filmmaker) ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ไอแมกซ์ที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยคณะถ่ายทำของเบรเชียร์สอยู่ที่นั่นหลายสัปดาห์และมีโอกาสพบผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 10 พฤษภาคม รวมถึงซากศพของร็อบ ฮอลล์ นอกจากนี้ คณะของเบรเชียร์สยังมี จัมลิง เทนซิง นอร์เกย์ (Jamling Tenzing Norgay) ซึ่งเป็นลูกชายของ เทนซิง นอร์เกย์ และสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้พร้อมคณะของเบรเชียร์ส เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อ

เมื่อจบฤดูกาลปีนเขาปี ค.ศ. 2001 มีผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้แล้วทั้งหมด 1491 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการปีนเขาทั้งหมด 172 คน กล่าวได้ว่าที่ยอดเขาเอเวอเรสต์แห่งนี้เป็นที่ที่มีทั้งชีวิตและความตาย ความสำเร็จและความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ยอดเขาเอเวอเรสต์ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ท้าทายนักปีนเขาต่อไป

วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 8:00 น.

คนไทยที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จเป็นคนแรกคือ วิทิตนันท์ โรจนพานิช ซึ่งสามารถพิชิตยอดเขาได้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 8:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเนปาล ร่วมกับนักปีนเขาชาวเวียดนาม 3 คนจากรายการเรียลลิตี้โชว์ "Conquering Mount Everest 2008" ของสถานีโทรทัศน์วีทีวี ประเทศเวียดนาม (ได้แก่ Phan Thanh Nhien, Bui Van Neogi, Nguyen Mau Linh) [2][3][4] ส่วนหญิงไทยที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จเป็นคนแรกคือ นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ ซึ่งสามารถพิชิตยอดเขาได้เมื่อปี พ.ศ. 2559