การตอบรับ ของ ยามซากุระร่วงโรย

อนิเมะเรื่องนี้ได้รางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ณ งานประกาศผลรางวัลเอเชียแปซิฟิกสกรีน (Asia Pacific Screen Awards) ปี 2550[14] และรางวัลชนะเลิศแลนเซียแพลทินัม (Lancia Platinum) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันหรือเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ณ เทศกาลภาพยนตร์อนาคต (Future Film Festival) เมื่อปี 2551[15]

ครั้นออกขายแล้ว ดีวีดีฉบับจำกัดของภาพยนตร์นี้อยู่อันดับที่สามตามผังโทะฮัง (Tohan charts) ระหว่างวันที่ 18-24 กรกฎาคม 2550 ส่วนดีวีดีฉบับธรรมดานั้นติดอับดับเจ็ด[16] นอกจากนี้ แบบบลูเรย์ยังได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับที่สี่ในบ้านเกิดเมืองนอนตลอดปี 2551 ด้วย[17]

รอนนี เชบ (Ronnie Scheib) จากนิตยสารวาไรอีที (Variety) ชื่นชม มาโกโตะ ชิงไก ผู้สร้างอนิเมะนี้ ว่า[10]

"ชิงไกได้รับการสดุดีว่าเป็นมิยะซะกิหมายเลขสอง เขานำเสนอโลกจินตนาการชวนฝันใฝ่ แล้วไปด้วยรายละเอียดอันกว้างขวาง และอารมณ์อันลึกซึ้ง อุปมาดังเขาบรรลุอรหัตแห่งวงการอนิเมะ หรือจะว่าถึงชั้นสูงกว่านั้นแล้วก็ได้ ชิงไกบันดาลให้พลวัตอนิเมะเสมอมีชีวิตจริงตามธรรมชาติ โดยนำหลักการสร้างภาพลักษณ์งามสดใสกลับมาใช้ ขยายรายละเอียดในฉากหลัง และบางครั้งตั้งใจสร้างให้ตัวละครมีส่วนขาดเหลือ เพื่อสะท้อนสันดานของตัวละครเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ"

เว็บไซต์ เมเนีย.คอม (Mania.com) ให้ ยามซากุระร่วงโรย เป็นอะมิเมะยอดเยี่ยมซึ่งมิใช่งานของฮะยะโอะ มิยะซะกิ[18] มาร์ก ชิลลิง (Mark Schilling) จาก เดอะเจแปนไทมส์ (The Japan Times) ว่า เขาดีกว่ามิยะซะกิ "ตรงที่สามารถถลกม่านกำบังแห่งวันเวลา เพื่อยังให้ปรากฏซึ่งความงามอันน่าขมขื่นและไม่จีรังที่เราส่วนใหญ่รับรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ในโมงยามพิเศษเท่านั้น"[19]

แบมบู ดง (Bamboo Dong) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ว่า เพลงเปียโนที่เท็นมงแต่งให้อนิเมะเรื่องนี้นั้น "เลิศเลอจนใจหวิว" ("heartbreakingly gorgeous") เพราะ "ยังให้ภาพยนตร์มีสรรพคุณชวนฝัน" ดงยังกล่าวว่า อนิเมะเรื่องดังกล่าว "มิใช่จะผลิตมาเพื่อบอกคุณว่า ตัวละครนี้เป็นเช่นไร ตัวละครนั้นรู้สึกฉันใด อนิเมะเรื่องนี้มิได้ตั้งอยู่บนเค้าเรื่องอย่างเคร่งครัด แต่ดำเนินอยู่ระหว่างปฏิสัมพันธ์ในฉาก กับภาพภูมิประเทศเดียวดายอันปรากฏขึ้นอย่างได้จังหวะ ทุกสิ่งล้วนแจ่มชัดดังคืนและวัน"[20]

ส่วนเธรอน มาร์ติน (Theron Martin) จากเครือข่ายเดียวกัน ว่า อนิเมะเรื่องนี้เป็น "ผลงานซึ่งใช้เสียงประกอบเก่ง โดยเฉพาะเสียงยิงธนูในบทที่ 2"[4] เขากล่าวด้วยว่า[4]

"เมื่อมองแยกส่วนกันแล้ว แต่ละบทให้ 'บรรณพิลาส' (vignette) ดีเยี่ยมในจุดเล็กจุดน้อย ขณะที่ในภาพรวม บททั้งหลายเหล่านี้แสดงภาพผืนใหญ่เกี่ยวกับพัฒนาการแห่งชีวิตและความรัก ตอนจบของเรื่องเปิดให้ตีความได้หลายแง่ จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ของชิงไกแตกต่างไปจากชิ้นอื่น ๆ ทั้งจะเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ และยังให้บางคนที่นิยมชมชอบผลงานของเขาผิดหวังอย่างไม่ต้องสงสัย บางคนอาจรู้สึกว่าอนิเมะเรื่องนี้จบแบบยังไม่ได้ตอบโจทย์สักข้อ แต่ถ้าพิเคราะห์ถ้อยบรรยายบางส่วนในบทที่สองดู ลองพินิจดูว่าบทนั้นจบเช่นไร และว่าสรรพสิ่งลงตัวกันได้อย่างไร ก็จะพบแสงสว่างว่า ที่จริงแล้วการตอบโจทย์นั้นมิใช่ประเด็นเลย อนึ่ง แม้ [ตัวละครใน] เรื่อง เสียงเพรียกจากดวงดาว (Voices of a Distant Star) พยายามคงความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ ส่วนในเรื่อง เหนือเมฆา...ที่แห่งสัญญาของเรา (The Place Promised in Our Early Days) ก็พยายามสานความสัมพันธ์กันใหม่ก็ตาม แต่ใน ยามซากุระร่วงโรย นี้เป็นความมุมานะจะก้าวเดินต่อไป ให้ความสัมพันธ์ในอดีตเป็นเบื้องหลัง ทิ้งวันวานไว้อย่างนั้น หาลู่ทางชื่นชีวันในปัจจุบัน ยิ่งกว่าจมปลักอยู่กับสิ่งที่พ้นมือไปแล้วตลอดกาล ฉะนั้น ในแง่นี้ ยามซากุระร่วงโรย จึงชื่อว่าเป็นงานของชิงไกที่นำเสนอความเป็นผู้ใหญ่และมีเงื่อนมีปมมากที่สุดในยามนี้"

อย่างไรก็ดี คริส เบเวอริดจ์ (Chris Beveridge) จาก เมเนีย.คอม ว่าอนิเมะเรื่องนี้แย่ตรงที่ใช้ชื่อไม่ตรงกับเรื่องเสียทีเดียว กับทั้ง "เวลาถึงจุดสำคัญ ๆ ของเรื่องแล้ว มักมีอัตราบิตต่ำขึ้น ๆ ทุกที ทำให้รู้สึกว่าภาพไม่ชัดและตะปุ่มตะป่ำมากไปหน่อย ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้สีสุกสกาวเยอะ สีพวกนี้รบกวนภาพเป็นอันมาก ทั้งยังชวนให้อารมณ์บิดเบือนไปพอ ๆ กับชื่อของภาพยนตร์เองด้วย"[21]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยามซากุระร่วงโรย http://www.aintitcool.com/?q=node/33121 http://www.animagonline.com/blog/a-plus/code-novel... http://www.animenewsnetwork.com http://www.animenewsnetwork.com/encyclopedia/anime... http://www.animenewsnetwork.com/news/2007-07-25/ja... http://www.animenewsnetwork.com/news/2007-11-13/5-... http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-01-23/5c... http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-12-03/am... http://www.animenewsnetwork.com/news/2009-09-02/ch... http://www.animenewsnetwork.com/news/2010-05-24/5-...