ความระงับสิ้นลง ของ ยืมใช้คงรูป

"ผู้ตายออกเงินให้โจทก์ซื้อเรือสองลำมาเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพโจทก์จนตลอดชีวิต โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องทรัพย์มฤดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้จำเลย และจำเลยฟ้องแย้งเรียกเรือสองลำนั้นจากโจทก์

ศาลแพ่งเห็นว่า เรือทั้งสองควรตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม แต่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันของผู้ตายซึ่งอนุญาตให้โจทก์ใช้เรือได้ตลอดชีวิต จึงพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เรือตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จึงพิพากษาให้โจทก์ส่งเรือให้จำเลย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. ม.464 แสดงโดยชัดแจ้งว่าให้กำหนดเวลายืมทรัพย์กันได้ จึงเห็นว่าคู่กรณีกำหนดเวลาให้ยืมกันตลอดชีวิตได้ ส่วน ป.พ.พ. ม.648 บัญญัติว่าการยืมระงับไปด้วยมรณะของผู้ยืม ซึ่งส่อให้เห็นอีกว่ากฎหมายมิได้ประสงค์ให้ถือเอาความมรณะของผู้ให้ยืมเป็นเหตุให้สัญญาระงับไป จึงพิพากษายกฟ้องแย้งจำเลย ยืนตามคำพิพากษาศาลแพ่ง"
ฎ. 338/2479

สัญญายืมใช้คงรูปจะระงับลงเพราะครบกำหนดเวลายืมหากตกลงกันไว้ หรือเมื่อทรัพย์สินกลับมาอยู่ในเงื้อมมือของผู้ให้ยืมหลังผู้ให้ยืมเรียกให้คืนในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกำหนดเวลายืมกันไว้ หรือแม้กำหนดไว้แต่ผู้ยืมคืนให้ก่อนกำหนด รวมถึงจะระงับลงเพราะทรัพย์สินที่ให้ยืมสูญสลายไปทั้งหมดไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ยืมกระบือมาไถนา ระหว่างใช้งาน กระบือติดโรคระบาดตาย สัญญายืมกระบือเป็นอันระงับ[35]

อนึ่ง นอกเหนือจากมูลเหตุข้างต้นแล้ว ป.พ.พ. ม.648 ยังว่า "อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม" แต่สัญญายืมใช้คงรูปจะไม่ระงับเพราะผู้ให้ยืมตาย เนื่องจากสัญญาประเภทนี้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ผู้ยืมตาย ทายาทของเขาจะเรียกเอาทรัพย์สินคืนโดยอ้างว่าสัญญายืมระงับแล้วหาได้ไม่ แต่หากผู้ให้ยืมตาย สัญญาระงับ และทายาทของผู้ยืมมีหน้าที่คืนทรัพย์สินกลับสู่ผู้ให้ยืม ด้วยว่าทรัพย์สินนี้ไม่เป็นมรดกตกทอด เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังอยู่ที่ผู้ให้ยืม จะโอนไปยังผู้ยืมก็หาไม่[36]

ความตายข้างต้นนี้ รวมถึงความตายด้วยผลของกฎหมาย หรือ "ความตายเพราะเป็นผู้ไม่อยู่" (อังกฤษ: death in absentia) อันเป็นกรณีที่ผู้ยืมเป็นผู้ไม่อยู่ และต่อมาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ให้ถือว่าตาย แต่ไม่รวมถึงการถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือถูกศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต เพราะเขายังไม่ตาย ส่วนผู้ยืมที่เป็นนิติบุคคล ถือว่าตายเมื่อสิ้นสภาพนิติบุคคล เช่น เมื่อเลิกกิจการ หรือถูกนายทะเบียนถอนชื่อออก เป็นต้น[37]

อย่างไรก็ดี ด้วยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ผู้ให้ยืมจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ตนให้ผู้ยืมยืมใช้คงรูปก่อนสัญญายืมระงับสิ้นลงก็ได้ อันจะมีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวโอนไปแก่บุคคลที่สาม และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญายืมข้างต้นแต่อย่างใดเพราะมิใช่คู่สัญญา หากผู้ยืมได้รับความเสียหายในการนี้ เช่น ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินคนใหม่เรียกทรัพย์สินคืนไป ทำให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยได้เรียบร้อยตามสัญญา ผู้ยืมไม่อาจเรียกให้ผู้ให้ยืมรับผิดต่อตนได้ เพราะเขาไม่มีหน้าที่เช่นนั้น สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้ฝ่ายผู้ให้ยืมรับผิด[38]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืมใช้คงรูป http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://www.amazon.fr/gp/product/2856230520/ref=olp... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp