ผล ของ ยืมใช้คงรูป

"ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย"
ป.พ.พ. ม.642
"ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง"
ป.พ.พ. ม.643
"ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง"
ป.พ.พ. ม.644
"ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้"
ป.พ.พ. ม.645
"ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้"
ป.พ.พ. ม.646
"ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย"
ป.พ.พ. ม.647

สัญญายืมใช้คงรูปเมื่อบริบูรณ์แล้ว ไม่ก่อหน้าที่แก่ผู้ให้ยืมให้ต้องรับผิดเพราะความชำรุดบกพร่องใด ๆ ที่เกิดต่อทรัพย์สินอันให้ยืม เว้นแต่เขารู้ดีอยู่แล้วว่ามีความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินแล้วให้ยืมไปโดยไม่บอกกล่าวผู้ยืม อันเป็นผลให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ด้วยดี ผู้ให้ยืมอาจต้องรับผิดตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยสัญญา เว้นแต่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ให้ยืมรับผิดในกรณีเช่นว่า[14]

แม้สัญญายืมใช้คงรูปไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดใด ๆ แก่ผู้ให้ยืม ทว่า ผู้ยืมย่อมมีหน้าที่และความรับผิดในสัญญานี้อย่างแน่นอนเพราะเหตุที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามกฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.642-647 ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ค่าบำรุงทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดจนหน้าที่เกี่ยวแก่การใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม กับทั้งหน้าที่สงวนรักษาและคืนทรัพย์สินนั้น[15] ทั้งนี้ เพราะผู้ยืมได้ประโยชน์จากสัญญานี้ถ่ายเดียวโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ก็ควรรับภาระออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปด้วย เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันเป็นอื่น[16]

หน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืม

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.642 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ตลอดจนค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม

ค่าฤชาธรรมเนียม (อังกฤษ: costs of the contract) นั้น ปรกติในการทำสัญญายืมใช้คงรูปก็ไม่มีอยู่แล้ว ซึ่ง ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "...ยังคิดไม่ออกว่า การยืมทรัพย์อะไรจึงต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา แต่การบัญญัติกฎหมายต้องเขียนไว้ให้บริบูรณ์เท่าที่จะทำได้ จะมีที่ใช้หรือไม่เป็นเรื่องข้างหน้า"[17]

ค่าส่งมอบทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of delivery) คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม เช่น ค่าขนส่ง เคลื่อนย้าย หรือนำพาไปซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นต้น[17]

ค่าส่งคืนทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of return) คือ ค่าใช้จ่ายอันตรงกันข้ามกับค่าส่งมอบทรัพย์สิน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ยืมส่งทรัพย์สินที่ยืมกลับคืนไปให้แก่ผู้ให้ยืม แต่ไม่รวมถึงค่าส่งคืนซึ่งดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินนั้น เช่น ยืมโคมาตัวหนึ่ง ระหว่างนั้นโคตกลูก เมื่อคืนโค ค่าคืนโคตัวแม่นั้นผู้ยืมรับผิดชอบ แต่ค่าคืนโคตัวลูกกลับคืนสู่ผู้ยืม ให้ผู้ยืมรับผิดชอบเอง[17]

หน้าที่ออกค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.647 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออก "ค่าใช้จ่ายอันเป็นปรกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืม" (อังกฤษ: expenses for ordinary maintenance of the property lent) อันหมายถึง ค่าใช้จ่ายเพื่อยังให้ทรัพย์สินที่ยืมมาอยู่ในสภาพปรกติดี เช่น ยืมรถยนต์มาใช้ขับ ค่าน้ำมันเครื่อง ค่าล้างรถ ค่าตรวจสภาพรถ ฯลฯ จัดเป็นค่าใช้จ่ายปรกติสำหรับบำรุงรักษารถยนต์ หรือยืมสัตว์มาใช้งาน ค่าอาหาร ค่าเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาลสัตว์ ฯลฯ ก็จัดเป็นค่าใช้จ่ายปรกติสำหรับบำรุงรักษาสัตว์นั้น[18]

ค่าใช้จ่ายอันเหนือปรกตินั้น แม้เพื่อบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมมา ผู้ยืมก็ไม่จำต้องรับผิดชอบ เช่น รถยนต์ที่ยืมมามีตัวถังผุกร่อนอย่างยิ่ง ต้องเปลี่ยนใหม่โดยอาศัยค่าใช้จ่ายมหาศาล เช่นนี้แล้วผู้ให้ยืมต้องรับผิดชอบเอง เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว หรือให้รับผิดชอบร่วมกันก็ได้[19]

หน้าที่เกี่ยวแก่การใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม

"ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 รับจ้างกรมทางหลวง จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนน เป็นเหตุให้เกิดละเมิดแก่รถยนต์ที่โจทก์ยืมมาจากมารดาผู้เป็นเจ้าของรถยนต์นั้น โจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. ม. 643 เพราะความเสียหายที่เกิดไม่ใช่เพราะความผิดของโจทก์

แม้โจทก์จะนำรถยนต์ที่เสียหายไปซ่อมให้เรียบร้อย โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์อันจะเรียกร้องให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 และหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถยนต์ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ และไม่มีอำนาจฟ้อง"
ฎ.2766/2551
"ในการยืมใช้คงรูปนั้น ป.พ.พ. ม.643 ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่กรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้

โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชน ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม และการที่รถที่โจทก์ขับได้รับความเสียหาย ก็มิใช่เป็นความผิดของโจทก์ ฉะนั้น โจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถ และแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมรถคันดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง"
ฎ.3451/2524

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.643 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่สามประการเกี่ยวแก่การใช้สอบทรัพย์สิน คือ

1. หน้าที่ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเอง ห้ามให้บุคคลภายนอกใช้สอย เพราะผู้ให้ยืมย่อมพิจารณาแล้วว่าผู้ยืมเหมาะสมที่จะใช้ทรัพย์สินนั้น เช่น ยืมชุดว่ายน้ำ เว้นแต่บางกรณีที่โดยสภาพแล้วทรัพย์สินนั้นบุคคลอื่นก็ใช้ได้ไม่จำกัด เช่น ยืมถ้วยช้อนจานชามมาใช้ในงานศพของ ก ก็เอาให้แขกเหรื่อใช้ได้ เพียงแต่ยืมมาเพื่อกิจอันใดก็ใช้เพื่อกิจอันนั้นเท่านั้น จะใช้ต่อในงานศพของ ข ค ง ฯลฯ อีกมิได้[20]

2. หน้าที่ใช้สอยทรัพย์สินให้สอดคล้องกลับความมุ่งหมายแห่งการยืมมาและโดยปรกติอย่างที่ควรจะใช้[21] เช่น ยืมรถจักรยานมาขับส่งลูกไปโรงเรียน จะเอาไปลงแข่งวิบากหรือประลองความเร็วมิได้

3. หน้าที่ไม่เอาทรัพย์สินไว้นานเกินควร ให้คืนเมื่อได้เวลาคืน

หากผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ทั้งนี้ เขาต้องรับผิดหากทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือเสียหายอย่างใด ๆ แม้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยซึ่งปรกติแล้วเขาไม่ต้องรับผิดก็ตาม เพราะถือว่าผู้ยืมผิดสัญญา หากไม่ฝ่าฝืนหน้าที่นี้ทรัพย์สินนั้นก็อาจไม่ประสบความสูญหายหรือเสียหาย[22] เช่น ก ยืมรถ ข ใช้ขับส่งลูกไปโรงเรียนในเช้าวันหนึ่ง เมื่อส่งลูกเสร็จ ก เอารถใช้ขับเที่ยวห้างสรรพสินค้า ไปหาเพื่อน ๆ และไปประกอบกิจอื่น ๆ ต่ออีกจนหนำใจ ระหว่างจอดไว้ที่บ้านตนเพื่อจะส่งคืนให้แก่ ข ในวันรุ่งขึ้น เผอิญเกิดฟ้าผ่ารถยนต์พังยับไปทั้งคัน ก ก็ต้องรับผิดต่อ ข แม้ฟ้าผ่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยอันป้องกันมิได้ก็ตาม

นอกจากนี้ ด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ม.645 เมื่อผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ข้างต้น ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญายืมใช้คงรูปนี้เสียก็ได้ และเมื่อเลิกสัญญาแล้วก็เรียกทรัพย์สินคืนได้

หน้าที่สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.644 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ "สงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง" ("take as much care of the property lent as a person of ordinary prudence would take of his own property") ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อให้ยืมทรัพย์สินไปแล้ว ผู้ให้ยืมย่อมคาดหวังว่าผู้ยืมจะดูแลรักษาทรัพย์สินอย่างดี เพาะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังอยู่ที่ผู้ให้ยืม ถ้าทรัพย์สินเสียหายลงจะเป็น "คราวซวย" ของผู้ให้ยืมเอง[23]

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยาม "วิญญูชน" (อังกฤษ: reasonable person) ว่า "บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ"[24] ประกอบกับต้นร่าง ป.พ.พ. ม.644 ที่จัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนแปลเป็นภาษาไทยแล้วตราเป็นกฎหมายนั้น[25] ใช้ว่า "person of ordinary prudence" อันแปลว่า "ผู้มีความรอบคอบตามปรกติ" ดังนั้น ที่ ป.พ.พ. ม.644 ให้ผู้ยืมสงวนทรัพย์สินเช่น "วิญญูชน" จะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง จึงหมายความว่า ให้ถนอมรักษาทรัพย์สินที่ยืมมาอย่างที่คนทั่วไปพึงถนอม ห้ามน้อยกว่าระดับนี้ และไม่จำเป็นต้องมากกว่า[26] แต่หากประสงค์สงวนทรัพย์สินอย่างเลิศเลอยิ่งกว่าที่คนทั่วไปทำกันแล้ว กฎหมายก็ไม่ได้ห้าม

เมื่อผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์สินไว้ให้ดี จนเป็นเหตุให้ไม่อาจคืนทรัพย์สินให้ในสภาพดีดังเดิมหรือไม่มีจะคืนให้เลย ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม และด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ม.645 ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญายืมใช้คงรูปนี้เสียก็ได้[27]

หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม

"ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่"
ป.พ.พ. ม.205
"เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้"
ป.พ.พ. ม.324
"ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"
ป.พ.พ. ม.1336
ดูเพิ่มที่ การชำระหนี้

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.646 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ส่งทรัพย์สินที่ยืมคืนให้แก่ผู้ให้ยืมตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ให้คืนภายในสองสัปดาห์นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 หรือก่อนวันเข้าพรรษาประจำ พ.ศ. 2553 เป็นต้น, ถ้าไม่ได้กำหนด ให้คืนเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการยืมแล้ว เช่น ยืมถ้วยชามไปใส่อาหารเลี้ยงแขกงานบวช เมื่องานเสร็จก็ควรคืนได้ แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกทรัพย์สินคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควรแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเรียบร้อยแล้ว โดยไม่จำต้องคำนึงว่าผู้ยืมจะได้ใช้สอยจริง ๆ หรือยัง เช่น งานบวชเสร็จแล้ว ถ้วยชามที่ยืมไปยังไม่ได้ใช้เลย กระนั้นผู้ให้ยืมก็เรียกถ้วยชามคืนได้[28] ในกรณีที่ผู้ยืมบ่ายเบี่ยงไม่ยอมใช้สอยเสียที อาจนับว่ามีเจตนาเอาทรัพย์สินไว้นานเกินควร[29]

นอกจากเวลาข้างต้นแล้ว หากตกลงกำหนดสถานที่คืนทรัพย์สินกันไว้ด้วยก็ให้เป็นไปตามนั้น หากไม่ได้กำหนด ป.พ.พ. ม.324 ว่าให้นำไปคืนยังที่ที่เอามา เนื่องจากทรัพย์สินที่ยืมจัดเป็น "ทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง" (อังกฤษ: specific property) เช่น ยืมรถยนต์เพื่อนมาใช้จากเชียงใหม่ หากไม่ได้กำหนดสถานที่คืนรถยนต์คันนี้ ก็ให้นำไปคืนที่ที่เอามาคือจังหวัดเชียงใหม่[30]

ทรัพย์สินที่คืนต้องเป็นอันเดียวกับที่ยืมไป ผู้ให้ยืมจะจัดหาอันใหม่มาแทนมิได้ แม้จะมีรูปลักษณ์ ประเภท ชนิด หรือปริมาณอย่างเดียวกันก็ตาม แต่คู่สัญญาอาจตกลงกันให้นำทรัพย์สินอย่างอื่นมาคืนแทนก็ได้ เช่น ยืมกระบือเพศเมียไปตัวหนึ่ง มีกำหนดคืนภายในเจ็ดวัน ครบกำหนดแล้วคู่สัญญาตกลงให้คืนกระบือเพศผู้ต่อกันแทนก็ได้ จัดเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นหลังสัญญายืมใช้คงรูป แต่ไม่กระทบกระเทือนความสมบูรณ์ของสัญญายืมใช้คงรูป[31]

ในกรณีที่มีดอกผล (อังกฤษ: fruit) งอกเงยจากทรัพย์สินนั้นในระหว่างยืม เช่น ยืมแม่โคไปทำนา ระหว่างนั้นแม่โคเกิดตกลูก ลูกโคเป็นดอกผลของแม่โค ดังนั้น ผู้ยืมต้องมอบดอกผลคืนไปกับทรัพย์สินที่ยืมด้วย เพราะดอกผลจากทรัพย์สินใดก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์สินนั้นตาม ป.พ.พ. ม.133 ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมมิได้โอนมาแก่ผู้ยืม ไหนเลยเขาจะได้ดอกผลอันนี้[32]

เมื่อทรัพย์สินที่ยืมเกิดสูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยอันโทษผู้ยืมมิได้ เช่น ยืมกระบือมา ระหว่างใช้สอยได้เก็บไว้ในคอกอย่างดี เผอิญถูกโจรปล้นไปติดตามเอาคืนมิได้ หรือยืมรถยนต์มา ระหว่างใช้สอยเกิดแผ่นดินไหว รถพุ่งลงซอกเหววินาศไปก็ดี หรือทรัยพ์สินนั้นเสียหรือสูญหายไปเพราะบุคคลภายนอกอันโทษผู้ยืมมิได้ เช่น มีรถยนต์คันอื่นขับมาโดยความประมาทพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ที่ยืมมา ดังนี้ ผู้ยืมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมแต่ประการใด ไม่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินหรือใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ เลย และผู้ยืมชอบที่จะฟ้องเรียกร้องเอากับบุคคลที่สามผู้ทำให้ทรัพย์สินวิบัติไปเช่นนั้น เว้นแต่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ยืมรับผิด[33]

เมื่อได้เวลาคืน แต่มีเหตุยังให้คืนมิได้โดยที่โทษผู้ยืมก็มิได้ด้วย ไม่ชื่อว่าผู้ยืมผิดนัดในการคืนทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.205 เช่น ก อยู่เชียงราย ยืมเครื่องพิมพ์ดีด ข อยู่กรุงเทพฯ มาใช้ และตกลงจะไปคืนให้ถึงที่ ครั้นถึงกำหนดคืน ปรากฏน้ำป่าไหล่บ่าตัดการจราจรภาคเหนือ เช่นนี้แล้ว ไม่ถือว่า ก ผิดนัดคืนเครื่องพิมพ์ดีด[34]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืมใช้คงรูป http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://www.amazon.fr/gp/product/2856230520/ref=olp... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp