องค์ประกอบ ของ ยืมใช้สิ้นเปลือง

คู่สัญญา

"อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณ มีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
ป.พ.พ. ม.650

ยืมใช้สิ้นเปลือง (อังกฤษ: loan for consumption) เป็นสัญญายืมประหนึ่งซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่วางนิยามไว้ สำหรับประเทศไทย ป.พ.พ. ม.650 ให้นิยามว่า คือ "...สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น" ด้วยบทบัญญัตินี้ คู่สัญญายืมจึงมีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียก "ผู้ให้ยืม" (อังกฤษ: lender) อีกฝ่ายเรียก "ผู้ยืม" (อังกฤษ: borrower) โดยทั้งสองฝ่ายจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งหากเป็นนิติบุคคลก็ทำการผ่านผู้แทนของตนหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ[8]

วัตถุประสงค์แห่งสัญญา

"จำเลยยืมไม้และสังกะสีของผู้ร้องเพื่อปลูกเรือน ย่อมหมายความว่า เอาทรัพย์นั้น ๆ มาขาดทีเดียว ไม่ใช่จะเอาทรัพย์นั้นไปคืนอีก จึงถือว่าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ในเรือนที่ปลูกขึ้นดังกล่าวย่อมเป็นของจำเลยตาม ป.พ.พ. ม.650

ที่ ป.พ.พ. ม. 1317 บัญญัติว่า การใช้สัมภาระของบุคคลอื่นทำสิ่งใดขึ้นใหม่ เจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่เจ้าของสัมภาระต้องใช้ค่าแรงงานให้แก่ผู้ทำ หมายความว่า สัมภาระจะต้องเป็นของบุคคลอื่นอยู่ในขณะที่ได้เอาสัมภาระนั้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นใหม่ เมื่อเป็นกรณียืมใช้สิ้นเปลือง สัมภาระนั้นย่อมตกเป็นของผู้ยืมแล้วในขณะปลูกสร้าง จึงไม่เข้าตาม ป.พ.พ. ม.1317 นี้"
ฎ. 905/2505

ด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. ม.650 วัตถุประสงค์ของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ การที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมยืมทรัพย์สินของตนเป็นจำนวนตามที่ตกลงกัน โดยโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นให้ผู้ยืมด้วย ส่งผลให้ผู้ยืมกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นแทน[9] และผู้ยืมจะได้คืนทรัพย์ประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกับที่ยืมไปนั้นให้แก่ผู้ให้ยืม กล่าวคือ มิใช่คืนทรัพย์สินอันเดียวกับที่ยืมไป แต่คืนทรัพย์สินอย่างเดียวกับที่ยืมไป เช่น ยืมน้ำตาลทรายขาวไปหนึ่งกิโลกรัม เมื่อคืนให้คืนทรัพย์สินประเภทเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลเหมือนกัน, ชนิดเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวเหมือนกัน และปริมาณเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวหนึ่งกิโลกรัมดุจกัน แต่ไม่ใช่คืนน้ำตาลทรายกลุ่มที่ยืมไปนั้น เพราะใช้สอยไปแล้วจะหาของเดิมที่ไหนคืนให้ได้[10]

ในเมื่อมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ ในเวลาส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืม ผู้ให้ยืมต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นด้วย ซึ่งต่างจากสัญญายืมใช้คงรูปโดยสิ้นเชิง[11]

ในสัญญานี้ เมื่อเกิดภัยใด ๆ แก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจะเรียกผู้ให้ยืมให้รับผิดมิได้ เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นโอนมาสู่ผู้ยืมแล้ว และสัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน ไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดแก่ผู้ให้ยืมเลย เช่น ยืมไก่ฟ้าสองตัวไปฆ่าทำอาหาร และตกลงจะคืนไก่ฟ้าอย่างเดียวกันให้ หลังจากผู้ให้ยืมส่งมอบไก่ฟ้าให้แล้ว ผู้ยืมก็เป็นเจ้าของไก่ฟ้าคนใหม่ทันที แต่ผู้ยืมเก็บไก่ฟ้าไม่ดี บินหนีจากเล้าไปได้ในคืนหนึ่งก่อนใช้สอย ผู้ยืมจึงซื้อไก่ย่างมารับประทานแทน ครั้นถึงกำหนดคืน ผู้ยืมจะไม่คืนโดยอ้างว่าไก่ฟ้าหนีไปหมดโดยยังไม่ทันใช้สอยเลยมิได้ เพราะเขาได้กรรมสิทธิ์ในไก่ฟ้านั้นมาแล้ว ทรัพย์สินของผู้ใดเป็นอะไรไปก็เป็นคราวเคราะห์ของผู้นั้นเอง ดังนั้น ผู้ยืมต้องหาไก่ฟ้าอย่างเดียวกับที่ยืมมาคืนแก่ผู้ให้ยืมตามสัญญา[9]

แม้สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน แต่ในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจมีค่าตอบแทนการให้ยืมได้ เช่น ให้ยืมเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยด้วย มิใช่สัญญาปลอดการตอบแทนโดยสิ้นเชิง[11]

วัตถุแห่งสัญญา

ดูเพิ่มที่ สังกมทรัพย์ และ โภคยทรัพย์
"สังกมทรัพย์ ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกติอาจใช้ของอื่นอันเป็นประเภทและชนิดเดียวกันมีปริมาณเท่ากันแทนได้"
ป.พ.พ. ม.102 (เลิก)
"โภคยทรัพย์ ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ซึ่งเมื่อใช้ย่อมเสียภาวะเสื่อมสลายไปในทันใดเพราะการใช้นั้น หรือซึ่งใช้ไปในที่สุดย่อมสิ้นเปลืองหมดไป"
ป.พ.พ. ม.103 (เลิก)

วัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ แต่เมื่อใช้สอยแล้วต้องเสียภาวะ เสื่อมสลาย หรือสิ้นเปลืองหมดไปไปในทันใดหรือในที่สุด เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เงิน ทองคำ หมูเห็ดเป็ดไก่ รวมถึงหุ้น เป็นต้น ซึ่ง ป.พ.พ. ม.102 และ ม.103 ที่ปัจจุบันยกเลิกแล้วกำหนดวัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูป คือ สังกมทรัพย์ (อังกฤษ: fungible thing) และ โภคยทรัพย์ (อังกฤษ: consumable thing)[12]

อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินข้างต้นอาจเป็นวัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูปก็ได้ เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการยืมเป็นรายกรณี เช่น ยืมข้าวสารเพียงเพื่อไปใส่พานตั้งประกอบพิธี ใช้เสร็จก็คืนข้าวสารกลุ่มเดิมนั้น[13] หรือเมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้นำของเดิมมาคืน[11]

ทรัพย์สินหนึ่งอย่างอาจเป็นวัตถุของสัญญายืมทั้งยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลืองได้ในโอกาสเดียวกัน เช่น ยืมรถยนต์ไปขับ โดยตกลงกันว่าเมื่อคืนรถจะเติมน้ำมันรถคืนให้เต็มถังดังเดิมด้วย รถจึงเป็นวัตถุของการยืมใช้คงรูป ส่วนน้ำมันรถเป็นวัตถุของการยืมใช้สิ้นเปลือง[14]

ในประเทศฝรั่งเศส กฎหมายกำหนดว่า วัตถุของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และหาสิ่งอื่นมาทดแทนกันได้โดยไม่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่มีเอกลักษณ์จำเพาะเป็นของตน เช่น สุนัขดัลเมเชียนตัวหนึ่งมีหูดำข้างเดียว ส่วนตัวอื่น ๆ ดำทั้งสองข้าง ไม่อาจยืมใช้สิ้นเปลืองกันได้ แต่ยืมใช้คงรูปได้[15] ซึ่งกฎหมายไทยไม่ได้จำกัดเช่นนี้

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยืมใช้สิ้นเปลือง http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://www.amazon.fr/gp/product/2856230520/ref=olp... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.napoleon-series.org/research/government... http://www.ams.cmu.ac.th/pub/law/civil/ http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php