ยุคเรืองปัญญา
ยุคเรืองปัญญา

ยุคเรืองปัญญา

ยุคเรืองปัญญา (อังกฤษ: Age of Enlightenment; ฝรั่งเศส: Siècle des Lumières) คือการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเหล่าปัญญาชนในยุโรปและอาณานิคมบนทวีปอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป้าหมายเพื่อปฏิรูปสังคมและส่งเสริมการใช้หลักเหตุผลมากกว่าการใช้หลักจารีต ความเชื่อ และการเปิดเผยจากพระเจ้า รวมไปถึงส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง การเคลื่อนไหวยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้หรือการใช้ปัญญา ต่อต้านความเชื่อทางไสยศาสตร์[1], โมหาคติ และการชักนำให้ผิดเพี้ยนจากคริสตจักรและรัฐบาล ยุคเรืองปัญญาเริ่มตั้นขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1650 - 1700 โดยถูกจุดประกายจากเหล่าปัญญาชน เช่น บารุค สปิโนซา (1632–1677), จอห์น ล็อก (1632–1704), ปิแยร์ เบย์ล (1647–1706), ไอแซก นิวตัน (1643–1727), วอลแตร์ (1694–1778) นอกจากนี้เจ้าผู้ปกครองก็มักจะสนับสนุน และคล้อยตามบุคคลสำคัญเหล่านี้ จนในที่สุดก็รับเอาแนวคิดจากชนชั้นอุดมปัญญามาปรับใช้กับการบริหารปกครองของรัฐบาลตนเอง จึงมีการเรียกเจ้านายเหล่านี้ว่า ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม การเรืองปัญญานี้เบ่งบานอยู่จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1790 - 1800 เมื่อความสำคัญของเหตุผลถูกแทนที่ด้วยความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึก ในแนวคิดแบบศิลปะจินตนิยม ฝ่ายต่อต้านการเรืองปัญญาจึงมีกำลังขึ้นอีกครั้ง[2]ในฝรั่งเศส ยุคเรืองปัญญาก่อกำเนิดขึ้นจากการรวมกลุ่มสนทนากันตามซาลอน และต่อมานำไปสู่โครงการสร้างและเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะที่ทะเยอทะยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารานุกรม หรือ L'encyclopédie (1751-1752) ที่มีเดนนิส ดิเดรอต (1713–1784) เป็นบรรณาธิการใหญ่ โดยเป็นการนำบทความความรู้หลากหลายสาขา - ซึ่งไม่เพียงแต่สาขาปรัชญา หรือวรรณกรรม แต่รวมไปถึงความในสาขาวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และการหัตถกรรม - หลายพันชิ้นมารวบรวมไว้ โดยมีผู้รู้คนสำคัญของยุคเป็นผู้สนับสนุนช่วยเขียนบทความ เช่น วอลแตร์, ฌ็อง-ฌัก รูโซ และมงแต็สกีเยอ สำเนาของสารานุกรมชุด 35 เล่มนี้ ถูกขายมากกว่า 25,000 ชุด ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ถูกขายนอกฝรั่งเศส แรงขับเคลื่อนจากการเรืองปัญญาแพร่ขยายไปตามชุมชนเมืองทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษ, สกอตแลนด์, รัฐเยอรมันต่าง ๆ, เนเธอร์แลนด์, รัสเซีย, อิตาลี, ออสเตรีย และจากนั้นจึงไปขยายไปยังอาณานิคมของชาติยุโรปในทวีปอเมริกา ที่ซึ่งได้มีอิทธิพลต่อบุคคลสำคัญอย่างเบนจามิน แฟรงคลินและทอมัส เจฟเฟอร์สัน รวมทั้งอีกหลายๆ คน นอกจากนี้ยังส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิวัติอเมริกัน แนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองจากยุคเรืองปัญญานี้เองที่มีอิทธิพลต่อคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา, ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา, คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1791 ของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย[3]