ศาสนาและวัฒนธรรม ของ ยุคเอโดะ

ลัทธิขงจื้อใหม่

พระภิกษุฟูจิวาระ เซกะ (Fujiwara Seika) ผู้นำลัทธิขงจื้อใหม่มาสู่ญี่ปุ่นในยุคเอโดะ

การติดต่อกับจีนและเกาหลีในช่วงการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่นทำให้ลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) เผยแพร่เข้ามาสู่ญี่ปุ่นในยุคเอโดะลัทธิขงจื้อใหม่เกิดขึ้นจากนักปราชญ์ชาวจีนในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง ซึ่งนำเอาหลักการฝึกจิตและพัฒนาตนเองของพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าเข้ามาผสมผสานกับหลักปรัชญาการอยู่ร่วมกันในสังคมของลัทธิขงจื้อดั้งเดิม ลัทธิขงจื้อใหม่ในยุคเอโดะเริ่มต้นขึ้นจากฟูจิวาระ เซกะ (ญี่ปุ่น: 藤原 惺窩 โรมาจิFujiwara Seika) เดิมเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซ็น ฟูจิวาระ เซกะ มองว่าลัทธิขงจื้อมีความเป็นเหตุผลและอยู่บนพื้นฐานของความจริงมากกว่าพุทธศาสนานิกายเซ็นซึ่งมีหลักการฝึกตนอยู่ในอุดมคติ และได้เรียนรู้ลัทธิขงจื้อใหม่สำนักของจูซือ (จีน: 朱熹; พินอิน: Zhū Xī) จากนักปราชญ์ชาวเกาหลี[1][2]ซึ่งเป็นเชลยศึก ต่อมาลูกศิษย์ของฟูจิวาระ เซกะ ชื่อว่าฮายาชิ ราซัง (ญี่ปุ่น: 林羅山 โรมาจิHayashi Razan) ได้เข้ารับราชการในรัฐบาลโชกุนตระกูลโทกูงาวะในสมัยของโชกุนอิเอมิตสึ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดงากุ-โนะ-กามิ (ญี่ปุ่น: 大学の頭 โรมาจิDaigaku-no-kami) และก่อตั้งสำนักเซนเซเด็ง (ญี่ปุ่น: 先聖殿 โรมาจิSensei-den อยู่ในเขดอูเอโนะเมืองโตเกียวในปัจจุบัน) ฮายาชิ ราซัง ทำให้ชนชั้นซามูไรในรัฐบาลโชกุนหันมาศึกษาหลักของลัทธิขงจื้อเพื่อใช้ในการปกครอง และแบ่งสังคมญี่ปุ่นออกเป็นสี่ชนชั้นตามหน้าที่ต่างๆ ตำแหน่งไดงากุ-โนะ-กามินั้นสืบทอดตามสายเลือดภายในตระกูลฮายาชิ ทำให้ตระกูลฮายาชิลูกหลานของฮายาชิ ราซัง มีอำนาจในการปกครองนักปราชญ์ขงจื้อญี่ปุ่น

ในสมัยเอโดะขุนนางซามูไรที่เข้ารับราชการในรัฐบาลโชกุนต้องมีความรู้เกี่ยวกับหนังสือทั้งสี่และวรรณกรรมคลาสสิกทั้งห้า (Four Books and Five Classics) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของลัทธิขงจื้อ ทำให้ชนชั้นซามูไรผันตนเองจากนักรบในยุคเซงโงกุมาเป็นนักปราชญ์ในยุคเอโดะ แต่เดิมนั้นในญี่ปุ่นมีเพียงพระสงฆ์และชนชั้นขุนนางในเมืองเกียวโตเท่านั้นที่สามารถเรียนรู้หนังสือได้ ชนชั้นซามูไรนักรบไม่รู้หนังสือแต่ในยุคเอโดะด้วยอิทธิพลของลัทธิขงจื้อทำให้ซามูไรรู้หนังสือ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะรับรองสำนักของจูซือ (ญี่ปุ่น: 朱子学 โรมาจิShushi-gaku) ให้เป็นสำนักที่มีหลักคำสอนที่ถูกต้อง ในค.ศ. 1691 โชกุนโทกูงาวะ สึนาโยชิ มีคำสั่งให้ย้ายสถานที่ตั้งของสำนักเซนเซเด็งจากอูเอโนะมาตั้งที่บริเวณเขตบุงเกียว ตั้งชื่อใหม่ว่าสำนักโชเฮโก (ญี่ปุ่น: 昌平黌 โรมาจิShōheikō) หรือยูชิมะ เซโด ไว้เป็นสำนักขงจื้อประจำชาติ และแต่งตั้งฮายาชิ โฮโก (ญี่ปุ่น: 林 鳳岡 โรมาจิHayashi Hōkō) หลานชายของฮายาชิราซังขึ้นเป็นอธิการบดีแห่งยูชิมะเซโดผู้ดูแลปรัชญาขงจื้อทั้งมวลในญี่ปุ่น ตระกูลฮายาชิมีอำนาจจากการถือครองตำแหน่งไดงากุ-โนะ-กามิซึ่งมีฐานะเทียบเท่าไดเมียวและครองตำแหน่งนี้ไปตลอดสมัยเอโดะ ในค.ศ. 1790 โรจูมัตสึไดระ ซาดาโนบุ ประกาศให้ลัทธิขงจื้อสำนักจูซือเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

โอกีว โซไร (Ogyū Sorai) นักปราชญืขงจื้อผู้ได้รับยกย่องว่าทรงอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดในปลายยุคเอโดะ

แม้ว่ารัฐบาลโชกุนจะให้การสนับสนุนแก่สำนักของจูซือแต่ในกลุ่มซามูไรระดับล่างและในกลุ่มโรนิง มีการศึกษาเล่าเรียนลัทธิขงจื้อของหวังหยางหมิง ซึ่งเป็นนักปราชญ์ขงจื้อในสมัยราชวงศ์หมิงมีแนวความคิดขัดแย้งกับสำนักของจูซือ ในขณะที่สำนักของจูซือสอนว่ามนุษย์ต้องแสวงหาความรู้สำนักของหวังหยางหมิงสอนว่ามนุษย์มีความรู้แจ้งอยู่แล้วภายในตัวตั้งแต่เกิด นากาเอะ โทจู (ญี่ปุ่น: 中江藤樹 โรมาจิNakae Tōju) นำปรัชญาของสำนักหวังหยางหมิงเข้าสู้แวดวงชั้นปกครอง ศิษย์ของนากาเอะ โทจู คือคูมาซาวะ บันซัน (ญี่ปุ่น: 熊沢蕃山 โรมาจิKumazawa Banzan) โจมตีหลักการของสำนักจูซือและอำนาจของตระกูลฮายาชิ ลัทธิขงจื้อสำนักของหวังหยางหมิงกลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มผู้ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะโดยเฉพาะกลุ่มโรนิง ทำให้รัฐบาลโชกุนและตระกูลฮายาชิเข้าทำการปราบปรามนักปราชญ์สำนักหวังหยางหมิงอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ในยุคเอโดะยามางะ โซโก (ญี่ปุ่น: 山鹿素行 โรมาจิYamaga Sokō) ยังนำเอาหลักของลัทธิขงจื้อมาประยุกต์กับหลักวิถีของนักรบซามูไรดังเดิม นำไปสู่การกำเนิดลัทธิบูชิโด (ญี่ปุ่น: 武士道 โรมาจิBushidō) หรือหลักการของนักรบ ซึ่งเน้นในเรื่องการถือเกียรติยศความซื่อสัตย์จงรักภักดีสำคัญยิ่งกว่าชีวิต

ในยุคเอโดะตอนปลายนักปราชญ์ขื่อว่าโอกีว โซไร (ญี่ปุ่น: 荻生徂徠 โรมาจิOgyū Sorai) มีความเห็นว่าลัทธิขงจื้อสำนักของจูซือแบบราชวงศ์ซ่งไม่ใช่ลัทธิขงจื้อที่แท้จริงเนื่องจากมีเรื่องคุณธรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาเข้ามา ลัทธิขงจื้อดั้งเดิมจากยุควสันตสารทเน้นเรื่องรัฐศาสตร์การปกครองและพิธีกรรมเป็นหลัก โอกีว โซไร วิจารณ์สำนักจูซือว่าให้ความสำคัญแก่แนวความคิดในยุคราชวงศ์ซ่งมากเกินไปจนละเลยหลักของขงจื้อแท้ดั้งเดิม และมีเห็นว่าปัญหาเรื่องการปกครองของรัฐบาลโชกุนในยุคปลายสมัยเอโดะควรจะแก้ปัญหาด้วยหลักรัฐศาสตร์แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยคุณธรรม โอกีว โซไร ส่งเสริมการศึกษาหลักปรัชญาขงจื้อแท้บริสุทธิ์ของจีนโบราณได้แก่หนังสือทั้งสี่และวรรณกรรมคลาสสิกทั้งห้า

แนวความคิดโคกูงากุ

ในยุคเอโดะซามูไรชนชั้นปกครองศึกษาลัทธิขงจื้อเป็นหลักและชื่นชมสังคมจีนโบราณว่าเป็นแบบอย่างแห่งคุณธรรมและการปกครอง ในช่วงปลายยุคเอโดะเกิดแนวความคิดสวนกระแสหันมาศึกษาและชื่นชมความเป็นญี่ปุ่นโบราณดั้งเดิม เรียกว่า แนวความคิดโคกูงากุ (ญี่ปุ่น: 国学 โรมาจิKokugaku) หรือ "ชาติศึกษา" ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระจักรพรรดิและศาสนาชินโต โทกูงาวะ มิตสึกูนิ (ญี่ปุ่น: 徳川光圀 โรมาจิTokugawa Mitsukuni) ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณและรวบรวมจัดทำหนังสือเรื่อง "มหาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น" (ญี่ปุ่น: 大日本史 โรมาจิDai Nihonshi) ขึ้นในค.ศ. 1657 นำไปสู่การจัดตั้งสำนักมิโตะ (ญี่ปุ่น: 水戸学 โรมาจิMitogaku) โทกูงาวะ มิตสึกูนิ ใช้หลักของลัทธิขงจื้อเข้าตีความประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ โดยมองว่าญี่ปุ่นในสมัยโบราณอันมีองค์พระจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางเป็นการปกครองที่มีธรรมภิบาลและสังคมญี่ปุ่นมีความดีงามอย่างที่ลัทธิขงจื้อเชิดชู ในค.ศ. 1798 โมโตโอริ โนรินางะ (ญี่ปุ่น: 本居宣長 โรมาจิMotoori Norinaga) นักปราชญ์โคกูงากุ แต่งอรรถาธิบายเกี่ยวกับโคกิจิ (ญี่ปุ่น: 古事記伝 โรมาจิKojiki-den) โมโตโอริ โนรินางะ มีความเห็นแตกต่างจากโอกีว โซไร ในขณะที่โอกิวโซไรเชิดชูจีนโบราณและลัทธิขงจื้อบริสุทธิ์ โมโตโอโร โนรินางะ ยกความสำคัญของญี่ปุ่นโบราณขึ้นมา

ในค.ศ. 1841 โทกูงาวะ นาริอากิ ไดเมียวแห่งแคว้นมิโตะ ก่อตั้งโคโดกัง (ญี่ปุ่น: 弘道館 โรมาจิKōdōkan) หรือสำนักศึกษามิโตะทำให้แคว้นมิโตะกลายเป็นแหล่งประชุมของผู้เชิดชูสถาบันพระจักรพรรดิและต่อต้านรัฐบาลโชกุน ลัทธิโคกูงากุมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวความคิดซนโน-โจอิ ซึ่งส่งผลต่อการล่มสลายของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ และมีอิทธิพลต่อลัทธิชาตินิยมในยุคเมจิสมัยต่อมา

พุทธศาสนา

ในยุคเอโดะพุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่นยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนและยังคงดำรงอยู่ต่อมา เนื่องจากซามูไรชนชั้นปกครองหันไปศึกษาลัทธิขงจื้อทำให้การศึกษาพุทธศาสนาในยุคเอโดะคงที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย แต่พุทธศาสนาญี่ปุ่นในยุคเอโดะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนผ่านระบบดังกะ (ญี่ปุ่น: 檀家制度 โรมาจิDanka Seido) เนื่องจากรัฐบาลโชกุนต้องการปราบปรามศาสนาคริสต์ จึงจัดตั้งระบบลงทะเบียนประชาชนชาวบ้านญี่ปุ่นทุกคนไว้กับวัดในบริเวณนั้นๆ เพื่อให้วัดเป็นผู้สอดส่องดูแลมิให้เกิดการเผยแพร่และปฏิบัติกิจกรรมของศาสนาคริสต์ขึ้น โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าชาวบ้านจะต้องจ่ายค่าทำนุบำรุงวัดที่ตนเองอยู่ในสังกัด เรียกว่าระบบดังกะ ทำให้วัดในพระพุทธศาสนาในยุคเอโดะยังคงได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ

ในยุคเอโดะมีการนำเข้าพุทธศาสนานิกายเซ็นสำนักใหม่ เนื่องจากรัฐบาลโชกุนจำกัดการค้าเรือสำเภาจีนไว้ที่เมืองนางาซากิ ทำให้เมืองนางาซากิเกิดชุมชนชาวจีนขึ้น ในค.ศ. 1654 พระภิกษูนิกายเซ็นสำนักหลินจี้ชาวจีนฟูเจี้ยนชื่อว่าอิ่นหยวนหลงฉี (จีน: 隱元隆琦; พินอิน: Yǐnyuán Lóngqí) หรือพระภิกษุอินเก็ง (ญี่ปุ่น: 隱元 โรมาจิIngen) ได้รับเชิญมายังเมืองนางาซากิเพื่อสั่งสอนพระธรรมให้แก่ชาวจีนในเมืองนางาซากิ ต่อมาพระภิกษุอินเก็งมีชื่อเสียงมากขึ้นในวงการพุทธศาสนาญี่ปุ่น จึงได้รับเชิญให้มาก่อตั้งสำนักนิกายเซ็นขึ้นใหม่ เรียกว่าสำนักโอบากุ (ญี่ปุ่น: 黄檗 โรมาจิŌbaku) ตั้งชื่อตามภูเขาซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระภิกษุอินเก็งในประเทศจีน ภิกษุอินเก็งสร้างวัดมัมปูกุ (ญี่ปุ่น: 萬福寺 โรมาจิManpuku-ji) ขึ้นที่เมืองอูจิใกล้กับเมืองเกียวโต ให้เป็นศูนย์กลางของสำนักโอบากุ เดิมก่อนหน้านี้ในญี่ปุ่นมีพุทธศาสนานิกายเซ็นอยู่แล้วสองสำนัก ได้แก่ สำนักริงไซ (ญี่ปุ่น: 臨濟 โรมาจิRinzai ) หรือหลินจี้ และสำนักโซโต ซึ่งเข้ามาประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคคามากูระ แม้ว่าสำนักโอบากุจะมีต้นกำเนิดจากสำนักหลินจี้ของจีนเช่นเดียวกับสำนักริงไซแต่ทั้งสำนักริงไซและโอบากุมีความแตกต่างกันในรายละเอียดพิธีกรรม สำนักโอบากุมีการประกอบพิธีกรรมแบบจีนราชวงศ์หมิงและมีการสวดอมิตาพุทธ ในขณะที่นิกายเซ็นในญี่ปุ่นมีการแบ่งแยกจากนิกายแดนสุขาวดีอย่างชัดเจนในประเด็นเรื่องการสวดอมิตาพุทธ

ศาสนาคริสต์

รูปปั้นพระแม่มารีของชาวคากูเระคริสเตียน ซึ่งดัดแปลงให้คล้ายคลึงกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพุทธศาสนามหายาน แสดงถึงการปิดบังซ่อนเร้นความเชื่อของตนจากรัฐบาลโชกุน

ในยุคเซงโงกุมิชชันนารีคณะเยซูอิตชาวโปรตุเกสและสเปนเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกในญี่ปุ่น ทำให้มีศาสนิกชนในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะบนเกาะคีวชูและภูมิภาคทางฝั่งตะวันตกของประเทศ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ พยายามจะปราบปรามศาสนาคริสต์หลายครั้งแต่ศาสนิกชนคริสเตียนยังดำรงอยู่ ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอยาซุ ศาสนิกชนชาวคริสต์ในญี่ปุ่นมีเสรีภาพในการนับถือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ต่อมาในค.ศ. 1614 โอโงโชอิเอยาซุออกประกาศห้ามการนับถือและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ ฮิเดตาดะ ด้วยอิทธิพลของลัทธิขงจื้อใหม่ทำให้รัฐบาลโชกุนปราบปรามศาสนาคริสต์มากขึ้น ในค.ศ. 1622 เกิดการสังหารชาวคริสเตียนจำนวนห้าสิบคนที่เมืองนางาซากิเรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีเง็นนะ (ญี่ปุ่น: 元和の大殉教 โรมาจิGenna-no-daijungyō) และในค.ศ. 1629 เกิดการปราบปรามชาวคริสเตียนที่นางาซากิอีกครั้ง รัฐบาลบากูฟุได้บังคับให้ชาวคริสเตียนทำการฟูมิเอะ (ญี่ปุ่น: 踏み絵 โรมาจิfumi-e) เหยียบย่ำลงบนรูปของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นคริสเตียน ในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ มีนโยบาลการปิดประเทศและขับไล่ชาวโปรตุเกสและสเปนออกไปจากญี่ปุ่น ทำให้บาทหลวงชาวยุโรปไม่สามารถเข้ามาประกอบพิธีทางศาสนาในญี่ปุ่นได้ การกดขี่ชาวคริสเตียนอย่างหนักและภาวะอดอยากทำให้ชาวคริสเตียนที่แหลมชิมาบาระบนเกาะคีวชูก่อกบฏขึ้นในค.ศ. 1637 เรียกว่า กบฏชิมาบาระ (ญี่ปุ่น: 島原の乱 โรมาจิShimabara-no-ran) ผู้นำกบฎได้ใช้ศาสนาคริสต์เป็นศูนย์รวมในการต่อต้านรัฐบาลโชกุน

หลังจากที่กบฎชิมาบาระถูกรัฐบาลโชกุนปราบปรามลง ทำให้ศาสนาคริสต์เกือบสูญสิ้นไปจากญี่ปุ่น รัฐบาลโชกุนเข้าตรวจสอบและควบคุมกิจกรรมของศาสนาคริสต์อย่างหนัก โดยใช้ระบบดังกะให้ประชาชนลงทะเบียนกับวัดในพื้นที่เพื่อให้วัดเป็นผู้สอดส่องดูแล อย่างไรก็ตามศาสนิกชนขาวคริสเตียนที่ยังเหลืออยู่จำต้องประกอบพิธีทางศาสนาและนับถือศาสนาคริสต์อย่างเป็นความลับ กลายเป็นชาวคริสเตียนลับ หรือคากูเระคริสเตียน (ญี่ปุ่น: 隠れキリシタン โรมาจิKakure Kirishitan) ซึ่งชาวคากูเระคริสเตียนใช้วิธีการต่างๆเพื่อหลบซ่อนและปิดบังกิจกรรมทางศาสนาของตนไม่ให้รัฐบาลโชกุนล่วงรู้ ยกตัวอย่างเช่นการสร้างรูปพระแม่มารีให้คล้ายคลึงกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือการดัดแปลงบทสวดมิสซาให้คล้ายคลึงกับการสวดในพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากชาวคากูเระคริสเตียนขาดผู้นำทางศาสนาและมีคฤหัสถ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเนื่องจากขาดบาทหลวง ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวคากูเระคริสเตียนเบี่ยงเบนไปจากเดิมกลายเป็นลัทธิบูชารูปปั้นหรือลัทธิบูชาบรรพบุรุษ

ในค.ศ. 1865 ปลายยุคเอโดะ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อว่าแบร์นาร์ เปตีฌ็อง (Bernard Petitjean) ผู้ก่อตั้งโบสถ์โออูระที่เมืองนางาซากิ ได้พบกับชาวคากูเระคริสเตียน บาทหลวงเปตีฌ็องพบว่าหลักความเชื่อและพิธีกรรมของชาวคากูเระคริสเตียนมีความแตกต่างจากศาสนาคริสต์ที่แท้จริงอย่างมาก บาทหลวงเปตีฌ็องจึงชักชวนให้ชาวคากูเระคริสเตียนกลับเข้าสู่ศาสนาคริสต์กระแสหลัก ชาวคากูเระคริสเตียนจำนวนมากจึงกลับเข้าสู่คริสตจักรโรมันคาทอลิกอีกครั้ง อย่างไรก็ตามมีชาวคากูเระคริสเตียนจำนวนหนึ่งปฏิเสธที่จะกลับเข้าสู่คริสตจักรโรมันคาทอลิกและยึดมั่นในความเชื่อและพิธีกรรมเดิมของตน กลายเป็นชาวฮานาเระคริสเตียน (ญี่ปุ่น: 離れキリシタン โรมาจิHanare Kirishitan)