ยุทธหัตถีในวัฒนธรรมสมัยนิยม ของ ยุทธหัตถี

"ช้างศึก" สัญลักษณ์ของฟุตบอลทีมชาติไทยในอดีต

ยุทธหัตถีในวัฒนธรรมสมัยนิยมหรือวัฒนธรรมร่วมสมัย ปรากฏครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงมากโดยมีจุดมุ่งหมายในแนวชาตินิยมเพื่อปลุกใจคนไทยให้รักชาติ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง อำนวยการสร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น[3]

ต่อมา จึงปรากฏอีกครั้งในยุคปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2544 ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท จากการกำกับของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่สร้างจากวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย ในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ซึ่งฉากยุทธหัตถีที่เป็นซีเควนสุดท้ายนั้น ถ่ายทำที่สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี[4][5]

ปรากฏครั้งที่ 3 ในภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง ก้านกล้วย ในปี พ.ศ. 2549 โดยบริษัทกันตนา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นของเจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสงครามยุทธหัตถี กับ พระมหาอุปราชามังสามเกียด เมื่อปี พ.ศ. 2135 ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเข้าฉายทั้งคำวิจารณ์และรายได้ จนกระทั่งมีการสร้างเพิ่มเป็นซีรีส์ทางช่อง 7 และภาค 2 ในปี พ.ศ. 2552

และครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 ในภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีทั้งหมด 6 ภาค ภาคที่มีการรบในลักษณะนี้คือภาค 5 ชื่อเดียวกับชื่อการรบในลักษณะนี้ และสร้างเรื่องมาแบบเดียวกันกับภาพยนตร์ก้านกล้วย ต่างกันเพียงแค่การสร้างภาพยนตร์ซึ่งเรื่องนี้ใช้นักแสดงมาแสดง ไม่ใช่ทำเป็นแอนิเมชันแบบภาพยนตร์ก้านกล้วย[6]

สำหรับในภาพยนตร์ต่างประเทศ อย่าง ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง อเล็กซานเดอร์ มหาราชชาตินักรบ ในปี พ.ศ. 2546 ก็มีฉากของยุทธหัตถี ถึงการทำสงครามระหว่างกองทัพม้ามาซีโดเนียของอเล็กซานเดอร์มหาราช กับกองทัพช้างของพระเจ้าเปารยะ ซึ่งจบด้วยการนองเลือดและการสูญเสียเป็นอย่างมากของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสถานที่ถ่ายทำก็คือ สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ สถานที่เดียวกับใช้เป็นที่ถ่ายทำฉากยุทธหัตถีในสุริโยไทนั่นเอง[5]

สำหรับการใช้เป็นสัญลักษณ์ ช้างศึกถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฟุตบอลทีมชาติไทย และมีฉายาว่า "ช้างศึก" อีกด้วย[7]