ประวัติ ของ รถไฟฟ้าบีทีเอส

รถไฟฟ้าซีเอ็นอาร์ ฉางชุน ขบวน 40 (EMU-B1) สั่งซื้อเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554

รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบรถไฟฟ้าที่ดำเนินการแยกต่างหากจากรถไฟฟ้ามหานคร โดยเกิดขึ้นจากการอนุมัติของกรุงเทพมหานคร ในสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร [4]เนื่องจากขณะนั้นในกรุงเทพมหานครไม่มีระบบขนส่งมวลชนทางราง มีการศึกษาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าหลายระบบเช่น รถไฟฟ้าลาวาลิน แต่มีแนวโน้มไม่ได้รับการอนุมัติการก่อสร้างจาก คณะรัฐมนตรี ขณะที่การจราจรในกรุงเทพมหานคร ติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่สะสมเพิ่มมากขึ้น [5]

ต่อมากรุงเทพมหานครอนุมัติสัมปทานการก่อสร้างและจัดการเดินรถให้กับ บริษัท ธนายง จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) ของคีรี กาญจนพาสน์ ในช่วงแรกมีการวางแผนให้สร้างอู่ซ่อมบำรุงบริเวณพื้นที่สวนลุมพินี แต่ปรากฏว่าประชาชนที่ออกกำลังกายในสวนลุมพินีเป็นประจำได้รวมตัวกันประท้วงทางบริษัทว่าเป็นการผิดพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้จัดสร้างเพื่อเป็นสวนสาธารณะของประชาชน นอกจากนั้นยังมีการประท้วงขอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างรถไฟฟ้าจากโครงสร้างยกระดับลอยฟ้าเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ในที่สุดจึงได้มีการย้ายสถานที่ก่อสร้างอู่ซ่อมบำรุงไปใช้ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นที่ทำการของสถานีขนส่งสายเหนือเดิม (สถานีหมอชิต) ใกล้กับสวนจตุจักร โดยในช่วงแรกก่อนเปิดทำการ รถไฟฟ้าสายนี้ใช้ชื่อว่า รถไฟฟ้าธนายง[6] ตามชื่อบริษัทที่ได้รับสัมปทาน [7]

รถไฟฟ้าธนายงได้รับการพระราชทานนามอย่างเป็นทางการว่า "เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา" อันเป็นนามที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้าธนายงช่วงแรก ได้แก่ช่วงอ่อนนุช-หมอชิต และช่วงสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ และยังทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 มาประดิษฐาน ณ จุดสิ้นสุดโครงการทั้งสี่ช่วง จุดกึ่งกลางของโครงการอันได้แก่สถานีสยาม และที่อาคารสำนักงานใหญ่ของบีทีเอสซี เพื่อให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 อันเป็นพระราชพิธีมหามงคลยิ่งในปีที่เปิดทำการ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการเดินรถ และกดปุ่มเปิดระบบรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ

ต่อมารถไฟฟ้าบีทีเอสได้มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายออกไปเพิ่มเติมอีก 2 ระยะ ซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในส่วนต่อขยายส่วนแรกเป็นส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทส่วนใต้ (เขียวใต้) จากสถานีแบริ่ง ถึงสถานีเคหะฯ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีบันทึกข้อตกลงตามสัญญาว่าด้วยความเข้าใจกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในการรับโอนโครงการ โดยกรุงเทพมหานครได้รับโอนโครงการและเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 เป็นส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทส่วนเหนือ (เขียวเหนือ) จากสถานีหมอชิต ถึงสถานีคูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีการเปิดให้บริการในส่วนของสถานีห้าแยกลาดพร้าวก่อนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และเปิดต่อไปยังสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปลายปีเดียวกัน ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบถึงสถานีคูคตภายในปลายปี พ.ศ. 2563 [8]

นอกจากส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนแล้ว รถไฟฟ้าบีทีเอสยังมีแผนส่วนต่อขยายอีกทั้งหมด 4 ส่วน [9] คือส่วนต่อขยายสายสีลมส่วนใต้ จากสถานีบางหว้า ถึงสถานีตลิ่งชัน เพื่อไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน, ส่วนต่อขยายสายสีลมส่วนตะวันตก จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงสถานียศเส เพื่อไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม, ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทส่วนใต้ (เขียวใต้) ระยะที่ 2 จากสถานีเคหะฯ ถึงสถานีบางปู และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทส่วนเหนือ (เขียวเหนือ) ระยะที่ 3 จากสถานีคูคต ถึงสถานีลำลูกกา ทำให้หากสร้างแล้วเสร็จครบทุกส่วน รถไฟฟ้าบีทีเอสจะมีระยะเส้นทางระบบขนส่งมวลชนเมื่อรวมทั้งสองสายเข้าด้วยกันอยู่ที่ 89 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้เป็นโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

การอนุมัติสัมปทานฉบับใหม่ พ.ศ. 2555

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 กรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในรูปแบบ PPP-Netcost เป็นระยะเวลา 30 ปี [10] เพื่อให้ดำเนินงานในส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง ตลอดจนส่วนต่อขยายในอนาคตที่กรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสีลมระยะที่ 2 ช่วงวงเวียนใหญ่ - บางหว้า ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 3 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต โดยส่วนสัมปทานเดิมของบริษัทบีทีเอสซี ที่จะหมดสัญญาลงใน พ.ศ. 2572 จากนั้นเซ็นต์สัญญาให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้บริหารและดูแลซ่อมแซมโครงการ (Operation & Maintenance) เพื่อให้บีทีเอสซีสามารถนำขบวนรถชุดเดิมที่มีอยู่แล้วเข้ามาให้บริการในส่วนต่อขยายทั้งหมดโดยผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนขบวนรถ [11]

หลังจากการพบความผิดปกติของสัญญาสัมปทานและสัญญาว่าจ้างฉบับนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องนี้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้มีการสอบสวนเป็นกรณีพิเศษ อาจขัดต่อ พ.ร.บ. ฮั้วประมูล พ.ศ. 2542 ในข้อหาร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรางรถไฟ) โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่พบว่าบีทีเอสซีได้รับการเชิญชวนจากเอกสารที่มีการเปิดเผย โปร่งใส

การต่อสัมปทานโครงการ พ.ศ. 2562

ใน พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานครจึงยื่นเรื่องไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอให้มีการโอนย้ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาเป็นของกรุงเทพมหานครทั้งหมด เพื่อให้การเดินรถไฟเป็นไปอย่างต่อเนื่อง(Through Operation)

ใน พ.ศ. 2559 กรุงเทพมหานครได้มีการลงนามในสัญญาว่าด้วยความเข้าใจกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อโอนย้ายไปเป็นของกรุงเทพมหานคร โดยให้กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบค่าก่อสร้างทั้งหมด โดยไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินและการเวนคืนที่ดิน แต่ทางกรุงเทพมหานครแสดงเจตจำนงค์ในการขอชำระค่างานก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2572 เป็นต้นไป พบว่าถ้ากรุงเทพมหานครจะเริ่มชำระค่าก่อสร้างใน พ.ศ. 2572 จะทำให้จำนวนเงินที่ต้องชำระรวมดอกเบี้ยขึ้นสูงถึงแสนล้านบาท ในสมัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง มีแนวคิดที่จะให้เอกชนมารับผิดชอบภาระหนี้สินแทนกรุงเทพมหานคร โดยการนำโครงการเข้ากระบวนการสรรหาเอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบของสัญญาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP แทน [12]

อย่างไรก็ตาม มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว [13]โดยให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเจรจากับบีทีเอสซี และกรุงเทพธนาคม ผลการเจรจาเบื้องต้น บีทีเอสซียื่นข้อเสนอว่าบริษัทยินดีรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นทั้งหมดแทนกรุงเทพมหานคร แต่จะต้องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 40 ปี โดย 10 ปีแรกให้เป็นช่วงลงทุนโดยที่บีทีเอสซีลงทุนในส่วนของระบบรถไฟฟ้าซึ่งเดิมบีทีเอสซีรับจ้างติดตั้งระบบให้กรุงเทพธนาคมตามสัญญาว่าจ้าง และกรุงเทพมหานครลงทุนในส่วนงานโยธาโดยการชำระเงินค่าก่อสร้างคืนให้บีทีเอสซีเป็นรายงวดจนครบ

โดยส่วนสัมปทานเดิม และส่วนต่อขยายสายสีลมระยะที่ 1 (สะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่) เป็นส่วนภายใต้ความรับผิดชอบของบีทีเอสซี และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 1-2 (อ่อนนุช - เคหะฯ) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทระยะที่ 3 (หมอชิต - คูคต) เป็นส่วนภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพธนาคม ตามเดิม เนื่องจากบีทีเอสซีได้ขายรายได้ในอนาคตทั้งหมดของส่วนสัมปทานให้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2556 จากนั้นใน พ.ศ. 2572 จะเป็นการรีเซ็ตสัมปทาน และรวมเส้นทางส่วนต่อขยายทุกสายทางเข้าเป็นสัมปทานเดียวกันแล้วนับหนึ่งใหม่จากวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2572 ไป 30 ปี หรือให้สัมปทานฉบับนี้หมดลงในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2602 [14]

ใกล้เคียง

รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟฟ้า มาหานะเธอ

แหล่งที่มา

WikiPedia: รถไฟฟ้าบีทีเอส http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805724 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/810348 http://www.bangkokmasstransit.com/ http://bmta.bloggoo.com http://www.bmamasstransit.com/ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=6... http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=50... http://www.hitachi-rail.com/products/signalling/at... http://www.kodmhai.com/m2/m2-3/m3-91-105.html http://www.ladynaka.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B...