ความคืบหน้า ของ รถไฟฟ้าสายสีชมพู

  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัด การประชุมสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลือง สายสีน้ำตาล และสายสีชมพู (พื้นที่โครงการสายสีชมพูและสายสีน้ำตาล) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ที่โรงแรมทีเคพาเลซ แจ้งวัฒนะ ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาศึกษาอีก 15 เดือน การศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2551
  • 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รองบประมาณในโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 มูลค่า 5,413 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับงบประมาณในปี 2553 แบ่งเป็นใช้ในรถไฟฟ้าสายสีชมพู 3,711 ล้านบาท สายสีน้ำตาล 1,702 ล้านบาท
  • 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เบื้องต้นได้นำรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ปากเกร็ด -มีนบุรี) และสายสีส้ม (บางกะปิ-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และบางกะปิ-บางบำหรุ) เข้าบรรจุในแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้า เพื่อเร่งรัดในการดำเนินการก่อสร้าง
  • 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า ว่าที่ประชุมได้สรุปแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินประมาณ 37,000 ล้านบาท โดยจะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบยกระดับ ซึ่งจะเป็นเส้นทางเพื่อขนผู้โดยสารเข้าสู่เส้นทางรถไฟฟ้าสายหลัก โดยมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่วิภาวดี จุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บางเขน และจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีนบุรี และมีการนำเสนอโครงการต่อ ครม.ในเดือนมิถุนายน 2553
  • 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553 รฟม. ปรับแบบก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว เพื่อแก้ปัญหาที่เสาตอม่อล้ำเข้าไปในพื้นที่วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน จึงปรับแบบย้ายให้เสาตอม่อไปอยู่ที่แขวงการทางเขตบางเขน ของกรมทางหลวงแทน
  • 24 กันยายน พ.ศ. 2553 นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการ นักลงทุน และนักวิชาการ ที่มีต่อโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีส้ม วงบางกะปิ-บางบำหรุ ว่าทั้ง 2 เส้นทางมีปริมาณการใช้ของประชาชนอย่างไร และมีความจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหน เพื่อนำมาประกอบการการพิจารณาและเร่งรัดโครงการ
  • 27 กันยายน พ.ศ. 2554 กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาทบทวนการปรับแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ รฟม. เตรียมลงนามในสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้าง จากเดิมเป็นการก่อสร้างแบบรางเดี่ยว (Monorail) อาจปรับเป็นแบบรถไฟฟ้า MRT หรือรถไฟฟ้าขนาดหนัก (Heavy Rail) เพื่อให้คุ้มค่า และเหมาะสมกับการรองรับผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าว
  • 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 นางกฤตยา สุมิตนันท์ รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีมติอนุมัติให้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา (รางเดี่ยว) หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการทบทวนโครงการแล้วเห็นว่าการใช้รถไฟฟ้ารางเดี่ยวจะเหมาะสมกว่าเป็นรถไฟฟ้าขนาดหนัก และหลังจากนี้จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป[2]
  • 25 กันยายน พ.ศ. 2555 นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นความประชาชน โครงการศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ปรับปรุง และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ว่า คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะเปิดประกวดราคาได้ประมาณเดือนมีนาคม 2556 เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2557 ซึ่งตามแผนจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2560 โดยรูปแบบการก่อสร้างจะเป็นการออกแบบไปพร้อมกับการก่อสร้าง (Design & Build) ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการมีความรวดเร็วขึ้น และในอนาคต รฟม.จะเสนอรัฐบาลพิจารณาการก่อสร้างรถไฟฟ้าในรูปแบบ Design & Build ทั้งหมด[3]
  • 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ดร.สุรศักดิ์ ทวีศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญระบบรถไฟฟ้า บริษัท ทีม คอนซัลติ้งฯ เปิดเผยว่า ตลอดเส้นทางจะมีการเวณคืน 5 จุดใหญ่ คือ
    • 1. บริเวณห้าแยกปากเกร็ด ก่อนเลี้ยวขวาเข้า ถนนแจ้งวัฒนะ ปัจจุบันเป็นสนามฟุตบอลเก่า เพื่อสร้างสถานีปากเกร็ด มีพื้นที่เวนคืน 7,155 ตารางเมตร
    • 2. บริเวณสะพานข้ามแยกเมืองทองธานี เพื่อหลีกเลี่ยงสะพานข้ามแยกของกรมทางหลวง (ทล.) มีพื้นที่เวนคืน 7,800 ตารางเมตร
    • 3. บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ข้ามแยกหลักสี่ เพื่อลดระดับโครงสร้างลอดใต้โทลล์เวย์ มีพื้นที่เวนคืนรวม 7,300 ตารางเมตร
    • 4. บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีพื้นที่เวนคืนรวม 7,500 ตารางเมตร กว้างด้านละ 4 เมตร ตั้งแต่หน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ไปถึง ป.กุ้งเผา และ
    • 5. บริเวณมีนบุรี เวนคืนพื้นที่กว่า 280 ไร่ เพื่อสร้างที่จอดรถ และศูนย์ซ่อมบำรุง ส่วนบริเวณอื่น ๆ

นอกเหนือจากนี้จะมีเวนคืนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสร้างจุดขึ้น-ลงของสถานีทั้ง 30 สถานีที่ดินแพง-ค่าเวนคืนพุ่ง 1 เท่า เงินลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้วอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ล่าสุดค่าก่อสร้างแตะ 5.4 หมื่นล้านบาทโดยมีหลายปัจจัยที่ผลักให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานีใหม่ 6 สถานี ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ค่าแรง 300 บาท และราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ที่ประกาศใช้เมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผลทำให้ค่าชดเชยที่ดินเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมประเมินไว้ 2 พันล้านเป็น 4 พันล้านบาท

  • 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ พร้อมด้วย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 18 เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังความเห็นจากประชาชนในโซนตะวันออกของ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรุงเทพมหานคร ได้ใช้ผลการสำรวจออกแบบการก่อสร้างตั้งแต่ปี2547 โดยกำหนดให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีสถานีจอดอยู่ที่ตลาดมีนบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้สภาพความเป็นอยู่ของคน กทม.ในโซนตะวันออกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการกระจายตัวออกไปอยู่ย่านสุวินทวงศ์ คลองสามวา หนองจอก ซึ่งหากยังคงแผนการก่อสร้างเดิมจะทำให้ไม่สามารถรองรับประชาชนในบริเวณดังกล่าวได้ พวกตนจึงทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สนข. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอให้รับฟังความเห็นของประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งต้องการให้มีการขยายเส้นทางไปจนถึงถนนสุวินทวงศ์ เพื่อรองรับประชาชนในโซนตะวันออกมากขึ้น ทั้งนี้พวกตนไม่มีจุดประสงค์ในการขัดขวางทำให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสีชมพูล่าช้าลง แต่อยากให้โครงการเป็นไปตามความต้องการของประชาชน[4]
  • 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตุลาคม พ.ศ. 2555 รัฐฯ ทาบ “บางกอกแลนด์” สร้างส่วนต่อขยาย-สถานีจอดรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้บริการผู้ใช้ถึงอิมแพค เมืองทองธานี เรียกเงิน 1,200 ล้านค่าก่อสร้างสถานี และส่วนต่อขยาย ด้านบางกอกแลนด์เสนอ 2 ทางเลือก 1.สร้างเอง 2.ออกค่าก่อสร้าง 50% ทางบีแลนด์เห็นว่าในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า และขยายเส้นทางให้บริการเข้ามาในอิมแพคฯ นั้น วงเงินที่บริษัทต้องจ่ายให้รัฐบาลพร้อมกับที่ดินจำนวน 20 ไร่นั้น ในส่วนของที่ดินเห็นว่าบริษัทไม่สามารถยกให้เปล่าได้แต่หากจะยกให้ก็จะขอพัฒนาพื้นที่ด้านบนเป็นมอลล์ขนาดใหญ่ ผสมผสานอาคารสูงจำนวนหนึ่ง ขณะที่สถานีจอดรถจะก่อสร้างอยู่ใต้พื้นดิน หรือใต้มอลล์ที่จะพัฒนาขึ้น ส่วนวงเงิน 1,200 ล้านบาท เบื้องต้น บริษัทเห็นว่าควรเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัท และรัฐบาลโดยการจ่ายเงินเพียง 50% หรือ 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้รัฐบาลเป็นผู้จ่าย อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยในแนวทางแรกก็อาจหยิบยกข้อเสนอที่ 2 ขึ้นมาพิจารณาคือ บีแลนด์จะลงทุนพัฒนาก่อสร้างสถานีจอดรถไฟฟ้าเอง โดยคาดว่าจะพัฒนาเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าแจ้งวัฒนะ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด บริษัทได้ว่าจ้างบริษัท เทศโก้ จำกัด ให้ออกแบบสถานีจอดรถไฟฟ้ารางเดี่ยวไว้แล้ว
  • โครงการนี้เป็น1ในโครงการที่ทาง สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมเตรียมนำโครงการนี้เสนอคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นปี พ.ศ. 2557 และจะเปิดประมูลช่วงต้นปี พ.ศ. 2558
  • 29 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ หรือ พีพีพี ที่มีนาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้เอกชนสามารถเข้าร่วมลงทุนในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ได้
  • 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ให้เตรียมกระบวนการประกวดราคาภายใน 2 เดือน และคาดว่าจะสามารถทำการเปิดประมูลได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559
  • 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เปิดขายซองประมูลวันแรก มีเอกชนเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 16 ราย
  • 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เปิดรับซองประมูลวันแรก โดยมีผู้ยื่นซองประมูลพร้อมข้อเสนอทั้งหมด 2 ราย ได้แก่
    • กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน)) ส่งพร้อมข้อเสนอในการก่อสร้างเส้นทางสายแยก อิมแพคลิงก์ เข้าศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร และส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินของ รฟม. ตามสัญญาสัมปทาน
    • บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เปิดซองพิจารณาข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ให้ข้อเสนอดีที่สุด หลังจากนี้จะดำเนินการเจรจา และคาดว่าจะลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560
  • 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โอลดิงส์ จำกัด (มหาชน) ในนาม กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นถึงตำแหน่งของสถานีเพิ่มเติมของโครงการรถไฟฟ้าสีชมพูส่วนต่อขยายสายแยกอิมแพคลิงก์ ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จำนวนสองสถานี จากสถานีศรีรัช เข้าสู่ใจกลางเมืองทองธานี ที่ได้รับทุนในการพัฒนาจาก บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) และเป็นหนึ่งในข้อเสนอพิเศษแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อันได้แก่
    • สถานีอิมแพค ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์
    • สถานีทะเลสาบ ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี
  • 1 มีนาคม พ.ศ. 2560 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โอลดิงส์ จำกัด (มหาชน) ในนาม กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทแก่ตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจำนวนสองบริษัท โดยทั้งสองบริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 3,500,000,000 บาทต่อบริษัท แบ่งเป็น บีทีเอส กรุ๊ป ถือหุ้น 75% ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 15% และ ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิงส์ ถือหุ้น 10% จุดประสงค์คือเพื่อให้ทั้งสองบริษัทเข้าทำสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแยกกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารต้นทุนโครงการ แต่ทั้งสองโครงการจะใช้วิธีการว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นผู้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้า และว่าจ้าง บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเท็ม จำกัด ในการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสาร และระบบเชื่อมต่อบัตรแรบบิทให้กับโครงการต่อไป
  • 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวอนุมัติให้ก่อสร้างในส่วนที่ผ่านการเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว ส่วนเส้นทางเพิ่มเติมจากข้อเสนอเพิ่มเติมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คาดว่าใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี
  • 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการกับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ถือสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเป็นบริษัทผู้ทำสัญญาการจัดหาระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลในการซื้อขบวนรถไฟฟ้าบอมบาร์ดิเอร์ อินโนเวีย 300 จากกลุ่มบอมบาร์ดิเอร์ จำนวน 144 ตู้ (ประกอบ 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน ทั้งหมด 36 ขบวน) พร้อมระบบการเดินรถเพื่อใช้ในโครงการ รวมทั้งว่าจ้าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงของโครงการ กับบริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเท็ม จำกัด ในการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสาร เบื้องต้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ระบุว่าการก่อสร้างน่าจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดเพียง 2 ปีนับจากวันที่เริ่มเข้าพื้นที่ เนื่องจากต้องการลดผลกระทบด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างโครงการ[5]
  • ล่าสุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ระหว่างดำเนินงานเข็มทดสอบบนถนนติวานนท์และถนนรามอินทรา งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค(ประปาบริเวณถนนรามอินทราและสายสื่อสารบริเวณถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา) รวมถึงงานรื้อย้ายต้นไม้ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561)
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัดการประชุมสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช ถึงเมืองทองธานี ในวันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ หอประชุมใหญ่ 104 อาคารพิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งผลการศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นการยื่นขอผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะส่งมอบงานให้ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ดำเนินงานต่อได้ทันที โดยผลการศึกษาในเบื้องต้นระบุว่าสถานีส่วนต่อขยายช่วงนี้จะประกอบไปด้วยสองสถานี ซึ่งสอดคล้องกับสถานีที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เคยเปิดเผยรายละเอียดมาก่อนหน้า ได้แก่ สถานีอิมแพคชาเลนเจอร์ (MT01) ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ บริเวณเกาะกลางทางพิเศษศรีรัช และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) ตั้งอยู่ด้านหน้าทะเลสาบเมืองทองธานี ในพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าสู่ชุมชนเมืองทองธานี อันเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ สถานที่ราชการ สถาบันการศึกษา สนามกีฬา เป็นต้น[6]
  • 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการเข้าใช้พื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง อันได้แก่ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณแยกหลักสี่ และถนนรามอินทรา สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และถนนศรีนครินทร์ สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ และในวันเดียวกัน รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด) โดยแจ้งล่วงหน้า 15 วัน กล่าวคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะสามารถเข้าพื้นที่ได้ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 มีกรอบระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน ทั้งนี้ รฟม. ยอมรับว่าติดขัดเรื่องข้อกำหนดการเข้าพื้นที่ ทำให้สามารถเข้าพื้นที่ได้ช้า และทำให้โครงการล่าช้ากว่าแผนถึงสามเดือน[7]
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการจะจัด การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (สถานีศรีรัช – เมืองทองธานี) ในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 8.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุม แกรนด์ บอลรูม เอ ชั้น 5 โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
  • 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าส้วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายเหลืองและสายสีชมพูที่กลุ่มผู้ชนะการประมูลคือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้เสนอเข้ามานั้น สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อกล่าวหาเรื่องการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่เอกชน เนื่องมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู เป็นสองโครงการนำร่องที่มีการเปลี่ยนกติกาการประมูล โดยสามารถให้เอกชนสามารถเสนอรายละเอียดการพัฒนาโครงการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับโครงการสายหลักได้ และการเสนอส่วนต่อขยายของกลุ่มบีเอสอาร์ ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขนี้[8] โดยในส่วนของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู รฟม. จะทำการเสนอผลการศึกษาและผลการประชาพิจารณ์ภายในเดือนสิงหาคม[9]
  • 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561 กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้จัดงาน MONORAIL ON THE MOVE เดินหน้าโมโนเรล สองสายแรกของประเทศไทย เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี การก่อสร้างโครงการจะใช้เวลา 39 เดือน (3 ปี 3 เดือน) โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 โครงการมีความคืบหน้า 3.10% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564[10]
  • 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)รฟม.ได้มีมติเห็นชอบแผนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้าไปยังเมืองทองธานี ดังนั้นจึงสามารถดำเนินการได้เลยไม่ติดปัญหาด้านข้อกฎหมายและการเอื้อผลประโยชน์เอกชน[11]
  • 18 กันยายน พ.ศ. 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พหลโยธิน และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานีว่า รฟม. ได้ส่งรายละเอียดและผลการศึกษาถึงความเหมาะสมในการดำเนินโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติและเพิ่มรายละเอียดเส้นทางลงในแผนแม่บทเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะรับทราบผลภายในเดือนกันยายน หาก คจร. พิจารณาเห็นชอบ รฟม. ก็จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการรวมถึงเจรจาถึงรูปแบบและความเหมาะสม รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นกับกลุ่มบีทีเอส ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโครงการทันที[12]
  • 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยหลังการประชุม คจร. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ลงในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล โดยมีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสองโครงการประมาณ 7,518 ล้านบาท หลังจากนี้ คจร. จะส่งผลการประชุมแจ้งให้ รฟม. รับทราบ เพื่อให้ดำเนินการเจรจาถึงรูปแบบและความเหมาะสม รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นกับกลุ่มบีทีเอสทันที[13]
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 คณะกรรมการ รฟม. ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการเจรจาถึงแผนการลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พหลโยธิน ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงิน 3,700 ล้านบาท และส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร วงเงิน 3,300 ล้านบาท กับผู้ถือสัญญาสัมปทานคือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งมีบีทีเอสเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ทั้งนี้ รฟม. จะให้กลุ่มบีเอสอาร์ เป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายนี้เองทั้งหมด ตามรายละเอียดที่ปรากฏในข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อการส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินการของโครงการสายหลัก เมื่อได้ข้อสรุป รฟม. จะต้องนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. อีกครั้ง และดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาสัมปทาน รวมถึงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มเติม และดำเนินการขอใช้พื้นที่กับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานครต่อไป ในส่วนของพื้นที่ของ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ทางกลุ่มบีทีเอสได้มีการพูดคุยรายละเอียดและขอใช้พื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะยื่นรายละเอียดให้ รฟม. ดำเนินการพิจารณาออกกฎหมายเวนคืนที่ดินต่อไป ทั้งนี้ รฟม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน พ.ศ. 2562 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้พร้อมกันกับเส้นทางหลักใน พ.ศ. 2564[14]
  • 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการ รฟม. มีมติเห็นชอบผลการเจรจาส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พหลโยธิน ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงิน 3,779 ล้านบาท และส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร วงเงิน 3,379 ระหว่าง รฟม. กับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งมีบีทีเอสเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยบีทีเอสเสนอส่วนแบ่งแบบเดียวกับสัญญาสัมปทานหลักเนื่องจากมีความกังวลเรื่องหลักประกันผู้โดยสารและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน[15]

ใกล้เคียง

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา

แหล่งที่มา

WikiPedia: รถไฟฟ้าสายสีชมพู http://www.chaoprayanews.com/2009/07/20/%E0%B8%A3%... http://www.fs-yellow-brown-pink.com http://www.prakard.com/default.aspx?g=posts&t=1437... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.btsgroup.co.th/th/our-business/mass-tra... http://www.dailynews.co.th/politics/158930 http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?Ne... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1...