ความคืบหน้า ของ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัดการประชุมสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลือง สายสีน้ำตาล และสายสีชมพู (พื้นที่โครงการสายสีเหลืองและสายสีน้ำตาล) เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2550 ที่โรงแรม คิงส์ ปาร์ค อเวนิว กรุงเทพฯ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาศึกษาอีก 15 เดือน การศึกษาแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2551[ต้องการอ้างอิง]
  • เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. จำนวน 23 สถานี วงเงิน 55,986 ล้านบาท หลังจากนี้ รฟม.ต้องนำเรื่องเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อนำเข้า ครม.ขออนุมัติโครงการต่อไป อ้างอิง
  • โครงการนี้เป็น1ใน4โครงการที่สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2557 และจะเปิดประมูลช่วงต้นปี พ.ศ. 2558
  • เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 นางกอบกาญจน์ วัฒนวรากูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ (เบื้องต้น)[5]
  • 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เปิดขายซองประมูลวันแรก มีเอกชนเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 17 ราย
  • 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เปิดรับซองประมูล โดยมีผู้ยื่นซองประมูลพร้อมข้อเสนอทั้งหมด 2 ราย ได้แก่
  • 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เปิดซองพิจารณาข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ให้ข้อเสนอดีที่สุด และรับเงินชดเชยจากรัฐบาลน้อยที่สุด หลังจากนี้จะดำเนินการเจรจา และคาดว่าจะลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560
  • 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในนาม กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นถึงตำแหน่งของสถานีเพิ่มเติมของโครงการรถไฟฟ้าสีเหลือง ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร จำนวนสองสถานี จากสถานีรัชดา-ลาดพร้าว ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ที่แยกรัชโยธิน อันเป็นหนึ่งในข้อเสนอพิเศษแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อันได้แก่
    • สถานีจันทร์เกษม ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลอาญา และกระทรวงยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก
    • สถานีพหลโยธิน 24 ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกรัชโยธิน โดยเชื่อมต่อกับสถานีพหลโยธิน 24 ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ผ่านทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์ค
  • 1 มีนาคม พ.ศ. 2560 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในนาม กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทแก่ตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจำนวนสองบริษัท โดยทั้งสองบริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 3,500,000,000 บาทต่อบริษัท แบ่งเป็น บีทีเอส กรุ๊ป ถือหุ้น 75% ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 15% และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 10% จุดประสงค์คือเพื่อให้ทั้งสองบริษัทเข้าทำสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแยกกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารต้นทุนโครงการ แต่ทั้งสองโครงการจะใช้วิธีการว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นผู้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้า และว่าจ้าง บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเท็ม จำกัด ในการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสาร และระบบเชื่อมต่อบัตรแรบบิทให้กับโครงการต่อไป
  • 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวอนุมัติให้ก่อสร้างในส่วนที่ผ่านการเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว ส่วนเส้นทางเพิ่มเติมจากข้อเสนอเพิ่มเติมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คาดว่าใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี
  • 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการกับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ โดยบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ถือสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และเป็นบริษัทผู้ทำสัญญาการจัดหาระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลในการซื้อขบวนรถไฟฟ้าบอมบาร์ดิเอร์ อินโนเวีย 300 จากกลุ่มบอมบาร์ดิเอร์ จำนวน 144 ตู้ (ประกอบ 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน ทั้งหมด 36 ขบวน) พร้อมระบบการเดินรถเพื่อใช้ในโครงการ รวมทั้งว่าจ้าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงของโครงการ กับบริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ดซิสเท็ม จำกัด ในการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสาร เบื้องต้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ระบุว่าการก่อสร้างน่าจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดเพียง 2 ปีนับจากวันที่เริ่มเข้าพื้นที่ เนื่องจากต้องการลดผลกระทบด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างโครงการ[6]
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัดการประชุมสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลืองส่วนต่อขยายระยะที่หนึ่ง แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ หอประชุมจันทร์จรัส อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษม ซึ่งผลการศึกษาจะใช้เวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน กันยายน พ.ศ. 2560 - มีนาคม พ.ศ. 2561 หลังจากนั้นจะเป็นการยื่นขอผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจะใช้เวลาอีก 6 เดือน เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะส่งมอบงานให้ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ดำเนินงานต่อได้ทันที โดยผลการศึกษาในเบื้องต้นระบุว่าสถานีส่วนต่อขยายช่วงนี้จะประกอบไปด้วยสองสถานี ซึ่งสอดคล้องกับสถานีที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เคยเปิดเผยรายละเอียดมาก่อนหน้า ได้แก่ สถานีจันทร์เกษม (YLEX-01) ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลอาญา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษม และสถานีพหลโยธิน 24 (YLEX-02) ตั้งอยู่ภายในเขตสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เนื่องจากเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. อันเป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐบาล ทำให้ลดการเวนคืนที่ดินของประชาชน และเชื่อมต่อกับสถานีพหลโยธิน 24 ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทด้วยทางเดินยกระดับ
  • ล่าสุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอยู่ระหว่างดำเนินการงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค บริเวณถนนลาดพร้าวโดยวางท่อประปาเส้นผ่าศูนย์กลาง 1500 มิลลิเมตร รวมถึงงานเข็มทดสอบที่สถานีกลันตันและสถานีรัชดา (พฤษภาคม พ.ศ. 2561)
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการจะจัด การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ส่วนต่อขยาย (แยกรัชดา - ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน) ในวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 08.30 -12.00 น. ณ ห้องประชุมบอลรูม ชั้น 6 อาคาร A ตึกช้าง แยกรัชโยธิน ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
  • 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการเข้าใช้พื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง อันได้แก่ ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณแยกหลักสี่ และถนนรามอินทรา สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และถนนศรีนครินทร์ สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ และในวันเดียวกัน รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด) โดยแจ้งล่วงหน้า 15 วัน กล่าวคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะสามารถเข้าพื้นที่ได้ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 มีกรอบระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน ทั้งนี้ รฟม. ยอมรับว่าติดขัดเรื่องข้อกำหนดการเข้าพื้นที่ ทำให้สามารถเข้าพื้นที่ได้ช้า และทำให้โครงการล่าช้ากว่าแผนถึงสามเดือน[7]
  • 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าส้วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายเหลือง และสายสีชมพู ที่กลุ่มผู้ชนะการประมูลคือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้เสนอเข้ามานั้น สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อกล่าวหาเรื่องการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่เอกชน เนื่องมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู เป็นสองโครงการนำร่องที่มีการเปลี่ยนกติกาการประมูล โดยสามารถให้เอกชนสามารถเสนอรายละเอียดการพัฒนาโครงการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับโครงการสายหลักได้ และการเสนอส่วนต่อขยายของกลุ่มบีเอสอาร์ ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขนี้[8] โดยในส่วนของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คณะกรรมการ รฟม. ได้มีมติเห็นชอบผลการศึกษาและประชาพิจารณ์ในการดำเนินการส่วนต่อขยายระยะทาง 2.6 กิโลเมตร ภายใต้วงเงิน 3,800 ล้านบาท โดย รฟม. จะส่งรายละเอียดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติ หาก คจร. พิจารณาเห็นชอบ รฟม. ก็จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการรวมถึงรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้วิธีการเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มบีทีเอส เนื่องจากเป็นผู้รับสัมปทานโครงการ ประกอบกับระยะทางสั้นจึงคาดว่าไม่น่าจะมีเอกชนรายอื่นสนใจร่วมลงทุน[9]
  • 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561 กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้จัดงาน MONORAIL ON THE MOVE เดินหน้าโมโนเรล สองสายแรกของประเทศไทย เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี การก่อสร้างโครงการจะใช้เวลา 39 เดือน (3 ปี 3 เดือน) โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ บริเวณต่างระดับศรีเอี่ยม โครงการมีความคืบหน้า 5.07% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564[10]
  • 18 กันยายน พ.ศ. 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พหลโยธิน และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานีว่า รฟม. ได้ส่งรายละเอียดและผลการศึกษาถึงความเหมาะสมในการดำเนินโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติและเพิ่มรายละเอียดเส้นทางลงในแผนแม่บทเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะรับทราบผลภายในเดือนกันยายน หาก คจร. พิจารณาเห็นชอบ รฟม. ก็จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการรวมถึงเจรจาถึงรูปแบบและความเหมาะสม รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นกับกลุ่มบีทีเอส ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโครงการทันที[11]
  • 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยหลังการประชุม คจร. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ลงในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล โดยมีกรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสองโครงการประมาณ 7,518 ล้านบาท หลังจากนี้ คจร. จะส่งผลการประชุมแจ้งให้ รฟม. รับทราบ เพื่อให้ดำเนินการเจรจาถึงรูปแบบและความเหมาะสม รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นกับกลุ่มบีทีเอสทันที[12]
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 คณะกรรมการ รฟม. ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการเจรจาถึงแผนการลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พหลโยธิน ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงิน 3,700 ล้านบาท และส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร วงเงิน 3,300 ล้านบาท กับผู้ถือสัญญาสัมปทานคือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งมีบีทีเอสเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ทั้งนี้ รฟม. จะให้กลุ่มบีเอสอาร์ เป็นผู้ลงทุนส่วนต่อขยายนี้เองทั้งหมด ตามรายละเอียดที่ปรากฏในข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อการส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินการของโครงการสายหลัก เมื่อได้ข้อสรุป รฟม. จะต้องนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. อีกครั้ง และดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติการแก้ไขรายละเอียดในสัญญาสัมปทาน รวมถึงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มเติม และดำเนินการขอใช้พื้นที่กับ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานครต่อไป ในส่วนของพื้นที่ของ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ทางกลุ่มบีทีเอสได้มีการพูดคุยรายละเอียดและขอใช้พื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะยื่นรายละเอียดให้ รฟม. ดำเนินการพิจารณาออกกฎหมายเวนคืนที่ดินต่อไป ทั้งนี้ รฟม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน พ.ศ. 2562 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้พร้อมกันกับเส้นทางหลักใน พ.ศ. 2564[13]
  • 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการ รฟม. มีมติเห็นชอบผลการเจรจาส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-พหลโยธิน ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร วงเงิน 3,779 ล้านบาท และส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช - เมืองทองธานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร วงเงิน 3,379 ล้านบาท ระหว่าง รฟม.กับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งมีบีทีเอสเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยบีทีเอสเสนอส่วนแบ่งแบบเดียวกับสัญญาสัมปทานหลักเนื่องจากมีความกังวลเรื่องหลักประกันผู้โดยสารและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้เพิ่มเงื่อนไขให้บีทีเอสไปเจรจาเบื้องต้นกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีอีเอ็ม เนื่องจากบีอีเอ็มเป็นกังวลว่าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจะทำให้พฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยน และส่งผลต่อยอดผู้โดยสารรวมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่บีอีเอ็มเป็นเจ้าของสัมปทาน[14]
  • 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 รฟม. มีมติเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน ตามที่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีข้อกังขาเรื่องผลกระทบจากการเปิดดำเนินการ และพฤติกรรมการเตินทางที่เปลี่ยนไปของประชาชน โดยผลการศึกษาสรุปว่าเมื่อการก่อสร้างส่วนต่อขยายแล้วเสร็จ จะทำให้จำนวนผู้โดยสารที่สถานีลาดพร้าวลดลงในปีแรก 9,000 คนต่อวัน หรือ 1% ของจำนวนผู้โดยสารสายสีเหลืองทั้งหมดต่อวัน และจะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงปีที่ 30 ของสัญญาสัมปทาน ซึ่งคาดว่าจะลดลง 30,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม รฟม. ยืนยันว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เนื่องจาก รฟม. เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับทั้งสองฝ่าย รฟม. จะใช้วิธีการเปิดการหารือร่วมกันสามฝ่ายเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ คาดว่า รฟม. จะขอให้ฝั่งบีทีเอสชดเชยให้กับบีอีเอ็ม หากบีทีเอสต้องการขยายเส้นทางออกไป แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะชดเชยเป็นจำนวนเงิน หรือชดเชยด้วยอย่างอื่นที่มีมูลค่าเท่ากันแทน[15]

ใกล้เคียง

รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟฟ้า มาหานะเธอ

แหล่งที่มา

WikiPedia: รถไฟฟ้าสายสีเหลือง http://www.fs-yellow-brown-pink.com http://www.youtube.com/watch?v=c_uxEa4dOE4 http://www.mrtayellowline.net http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1... http://www.btsgroup.co.th/th/our-business/mass-tra... http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?Ne... http://www.mrta.co.th/Brochure/brochure_Yellow.pdf http://www.mrta.co.th/new_line/AW-MRTA_10_line_bro...