การตอบรับจากสังคม ของ รักแห่งสยาม

ปฏิกิริยาจากผู้ชมภาพยนตร์

บรรยากาศรอบพิเศษ ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ก่อนการออกฉาย นำเสนอว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักใสๆ ของวัยรุ่นหญิงชาย แต่เมื่อภาพยนตร์ออกฉายจริง กลับมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสับสนในจิตใจของวัยรุ่นชาย รวมถึงมีฉากล่อแหลม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เช่นในสื่ออินเทอร์เน็ต อย่าง เว็บไซต์พันทิป มีผู้ตั้งกระทู้ชื่นชม ต่อต้าน และวิจารณ์เป็นจำนวนมาก[34] รวมถึงกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งแง่บวกและแง่ลบ[28]

สำหรับกระแสสองด้านที่ตัดกันอย่างชัดเจนของหนังเรื่องนี้คือ "กลุ่มคนที่รักจับใจ" กับ "กลุ่มที่เกลียดเข้าไส้" พวกที่รักจับใจมีหลากหลายเหตุผลที่รักหนังเรื่องนี้ ส่วนพวกเกลียดเข้าไส้ มีเหตุผลสองประเด็นใหญ่คือ "เพราะเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเกย์" กับ "การถูกหลอก"[35] ส่วนทางด้านผู้กำกับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ก็ยอมรับกับการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้บอกว่าเป็นหนังที่มีเนื้อหาของเกย์อยู่ แต่อธิบายว่า "ตัวหนังไม่ได้เป็นหนังเกย์ ประเด็นพูดถึงชีวิตความรักหลายรูปแบบ ความเป็นมนุษย์ ดังนั้นหน้าหนังจึงไม่ได้หยิบเรื่องเกย์ขึ้นมาพูดมาเป็นสาระสำคัญของหนัง อีกทั้งถ้าเราบอกว่าเป็นหนังมีเนื้อหาอย่างนี้แล้วหนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนังเฉพาะกลุ่มทันที"[1]

ส่วนฉากที่สร้างความฮือฮามากที่สุดของหนังเรื่องนี้คือ ฉากจูบของโต้งกับมิว ที่ได้รับการตอบรับอย่างมาก ทางด้านวิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุลที่รับบทเป็นมิว ได้รับคำถามจากคนดูเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ เขาให้คำตอบว่า "ส่วนใหญ่ก็มีมาถามครับ ว่าเราเป็นหรือเปล่า และเราก็ต้องแยกภาพลักษณ์ของหนัง กับชีวิตจริงออกจากกัน แต่จริงๆ ลึกๆ ถ้าเรามองในแง่นี้ เราน่าจะดีใจนะว่าเราเล่นได้สมบทบาทจริงๆ"[34] ทางด้านมาริโอ้ เมาเร่อที่ได้รับบทโต้ง พูดถึงฉากนั้นว่า "รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่เคยจูบผู้ชายมาก่อน และไม่ได้จูบกับใครทุกวัน โอ้คิดว่ามันคือการแสดง เราเป็นนักแสดงที่ดีก็ต้องเล่นได้ทุกบทบาท"[1]

การตอบรับของนักวิจารณ์

ชลธิชา พรหมศิริ จากนิตยสารเมโทรไลฟ์ ได้พูดถึงหนังเรื่องนี้โดยรวมว่า "รักแห่งสยาม หนังรักที่หน้าหนังหวานเหมือนลูกกวาดรสสตรอเบอรี่ แต่พอได้ลิ้มลองแล้วมันกลับเป็นยาขมที่ซ่อนอยู่ภายใน คือหนังดรามาที่ไม่ได้ฟูมฟายจนเกินไป และไม่ใช่หนัง Feel good ที่ใครหลายๆ คนคิด"[36] คำวิจารณ์จากนิตยสารไบโอสโคป เขียนไว้ว่า "รักแห่งสยาม มิได้เสียดสี หาบทสรุป หรือสร้างฝัน แต่นำเสนอภาพเสมือนจริงที่ปะทะ จนผู้ชมต้องนำไปคิดต่อนอกโรงหนัง ทั้งในแง่อนาคตของตัวละคร, การซ่อนความหมายของเนื้อเรื่อง และภาพปัจจุบันของสังคมไทย"[28]

วิชญ์วิสิฐ (พิช) นักแสดงหน้าใหม่ รับบทเป็นมิว

ในส่วนของนักวิจารณ์ นันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์ชื่อดัง ได้กล่าวถึงการเล่าเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "การเลือกเรื่องแบบนี้มาเล่า ทำให้คนดูทั่วไปเข้าถึงและง่ายที่จะรู้สึกอะไรไปกับหนัง แต่ รักแห่งสยาม ไม่ได้แตะเรื่อง Gender (เพศ) ใดๆ หากแต่มุ่งไปที่น้ำหนักของ Self-discover (การค้นพบตัวเองและยอมรับ) โดยใช้ Coming-of-age (การสูญเสียและเรียนรู้ความจริง)"[37] อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการรายสัปดาห์ พูดในทำนองเดียวกันว่า "รักแห่งสยาม เป็นหนังในสไตล์ Road Movie กับ Coming-of-age ค่อนข้างคล้ายคลึงกันก็คือ การที่หนังมักจะหยิบยื่นสถานการณ์ยุ่งยากบางอย่างให้ตัวละครต้องเผชิญและผ่านพ้นไปให้ได้ เพื่อก้าวไปสู่ “การเรียนรู้” (Enlightenment) บทเรียนใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและความคิดของตัวละครไปตลอดกาล"[38] วิมลศักดิ์ ปัญชรมาศจากนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์วิจารณ์ว่า "ผู้กำกับวางจังหวะหนังอย่างมีชั้นเชิงทั้งในด้านอารมณ์ขันอยู่ในตำแหน่งที่พอดี การเล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป หนังสามารถเรียงร้อยตัวละครหลายคนที่ทับซ้อนกันอยู่ ไม่ขาดไม่เกินเหมือนการต่อภาพจิ๊กซอว์จนเป็นภาพที่สมบูรณ์"[39]

สรดิเทพ ศุภจรรยา จากเว็บไซต์ thaicinema.org พูดถึงตัวละครในเรื่องว่า "ทุกตัวละครในเรื่องนี้มีมิติ มีปูมหลังที่สามารถทำให้คนดูเข้าถึงและมีอารมณ์ร่วมไปกับความเจ็บปวดและความต้องการความรักของพวกเขาได้"[40] ไกรวุฒิ จุลพงศธร จากนิตยสารสารคดีกล่าวเกี่ยวกับการแสดงว่า "ลักษณะการแสดงที่ดูยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันกล่าวคือ สไตล์การแสดงแบบนักแสดงมืออาชีพของสินจัยและทรงสิทธิ์ที่เน้นการใช้เทคนิคที่จัดจ้าน จนถึงการแสดงแบบธรรมชาติของนักแสดงหน้าใหม่อย่างมาริโอ้และพิช ที่เน้นความสมจริงราวกับไม่ได้มีกล้องไปถ่ายพวกเขาอยู่ โดยมีเฌอมาลย์ที่ใช้สไตล์การแสดงแบบกลาง ๆ เป็นตัวเชื่อมการแสดงของทั้งสองฝั่ง"[41]

ในด้านการกำกับภาพ นิตยสารบีเควิจารณ์ไว้ว่า "ภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ทำได้ไม่ดีเรื่องการกำกับภาพ ผู้กำกับเสนอภาพที่น่าเบื่อด้วยมุมกล้องแบบตรงๆ และการให้แสงที่ไม่แน่นอนจากบ้านถึงโรงเรียน จากสตูดิโอถึงสยามสแควร์ ขาดอารมณ์สื่อและทิศทางของภาพ"[42] แต่ในทางกลับกัน นิตยสารสตาร์พิกส์กลับชมว่า "หนังสามารถทำให้คนดูได้เห็นถึงอารมณ์อันหลากหลายของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นสุขสดใสหรือทุกข์หม่นเศร้า นอกเหนือจากจะถ่ายทอดเรื่องราวอย่างไม่มีขาดตกบกพร่องแล้ว ยังมี “โชว์” เป็นของแถมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นฉากแสดงความหวังที่ผึ้งไต่ขึ้นจากแก้วน้ำ หรือการถ่ายลองเทคในสยามสแควร์โดยตามตัวละครวัยรุ่นแทบทั้งเรื่อง ซึ่งเดินสวนกันไปมาจากทุกทิศ"[9]

เรื่องเพลงประกอบภาพยนตร์ พลากร เจียมธีระนาถ จากนิตยสารฟิล์มแมกซ์ พูดถึงว่า "เพลงประกอบที่คุณชูเกียรติคิดเองทำเองเกือบทั้งหมด ซึ่งทั้งเพราะแบบไม่เกรงใจใคร เนื้อหาก็สื่อความหมายและเติมเต็มความไม่ต่อเนื่องในบางช่วงตอน อีกทั้งยังช่วยรักษาระดับอารมณ์ของเรื่องราวให้เดินหน้าไปได้อย่างไหลลื่น"[43] นอกจากนี้รักแห่งสยามยังถูกเปรียบเทียบกับหนังอีกหลายเรื่องที่ใกล้เคียงกันอย่าง Love Actually, มหัศจรรย์แห่งรัก และ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ด้วย[41]

หลังจากออกฉายภาพยนตร์ไปแล้ว 10 ปี เดอะแมตเทอร์ พูดถึง รักแห่งสยามว่า "ได้ทำให้ทั้งหนังหรือละคร เปิดพื้นที่ให้สำหรับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น"[44]

การออกฉายและรายได้

ป้ายภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม โรงภาพยนตร์สกาลา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550งานแถลงข่าวคอนเสิร์ต "Nokia Music Presents The Love of Siam Special Greeting" ที่เซ็นทรัลเวิลด์

รักแห่งสยาม ออกฉายทั่วไปในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 จากจำนวนโรง 146 โรง โดยสัปดาห์แรกทำรายได้ 18.5 ล้านบาท[45] ส่วนรายได้ในสัปดาห์ที่ 2 จากการที่ภาพยนตร์เรื่อง โปงลางสะดิ้ง ลำซิ่งส่ายหน้า เข้าในสัปดาห์นี้ ทำให้รายได้ในสัปดาห์ที่ 2 ของรักแห่งสยาม น้อยลงกว่าการเปิดตัวกว่าครึ่ง แต่ก็ถือว่ากระแสยังดีอยู่ ทำรายได้ไปอีก 7.5 ล้านบาท[46] และปิดรายได้รวมที่ 42 ล้านบาท[2]

หลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย กระแสต่าง ๆ เกิดขึ้นตามเว็บ เกิดกลุ่มแฟนคลับ และมีการเรียกร้องให้ฉายฉบับ “Director's Cut”[47] ซึ่งมีความยาวมากกว่าฉบับปกติที่ออกฉายตามโรงทั่วไป คือ ยาวประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ และต่อด้วยส่วนที่ถูกตัดออกไปอีก 20 นาที[48] ออกฉายที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551[49][50]ถึง 5 มีนาคม พ.ศ. 2551[51] ฉายด้วยแผ่นดีวีดี ผ่านเครื่องฉาย[52] ซึ่งส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร ความเกี่ยวเนื่องที่มีมิติรายละเอียดมากขึ้น[53]

สำหรับในต่างประเทศ รักแห่งสยาม ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง [54] เทศกาลภาพยนตร์อูดิเน่ที่ประเทศอิตาลี[55] และเทศกาลหนังพูชอนที่เกาหลีใต้

ที่ไต้หวันออกฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551[56] มีการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์อย่างครึกโครม รวมถึงเชิญวิชญ์วิสิฐและชูเกียรติมาร่วมประชาสัมพันธ์ที่ไต้หวัน รวมค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นเงิน 31,000 ดอลลาร์สหรัฐ[57] ภาพยนตร์ทำรายได้บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสของไต้หวันในสัปดาห์แรกที่อันดับ 12 ซึ่งในสัปดาห์เดียวกันกับที่ สี่แพร่ง ฉายสัปดาห์แรกที่อันดับ 4[58] หลังจากนั้นในสัปดาห์ที่ 2 ขึ้นมาที่อันดับที่ 10 บนตารางอันดับ นอกจากนั้นยังมีการจำหน่ายตุ๊กตาไม้กว่า 300 ตัวก็ขายหมดก่อนการฉายรอบปฐมทัศน์รอบแรก และยอดขายตั๋วล่วงหน้าในสัปดาห์แรก 1,000 ใบขายหมดตั้งแต่สัปดาห์แรก

ในญี่ปุ่น เดิมที รักแห่งสยาม ผู้ซื้อหนังตั้งใจจะออกเป็นรูปแบบดีวีดี แต่เนื่องจากได้รับรางวัลมหานิยมที่เทศกาลหนังโอซาก้า ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 จึงได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แบบจำกัดโรง โดยฉายที่โตเกียว 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (เข้าฉายเพียง 2 สัปดาห์) [59] ส่วนในสิงคโปร์ออกฉายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยเรตของภาพยนตร์อยู่ที่ M18 คือผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถรับชมได้[60]

กิจกรรมเกี่ยวกับภาพยนตร์

กระแสตอบรับที่ดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงมีกิจกรรมเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ โดยกลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบในภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ได้ส่งหนังสือถึง บริษัท สหมงคลฟิล์มฯ เพื่อขอให้นำฟิล์มภาพยนตร์ รักแห่งสยาม มาฉายเป็นรอบพิเศษ ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ในรอบเวลา 20.00 น. ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยครั้งนัก โดยในการฉายภาพยนตร์รอบพิเศษนี้ มีผู้ชมเกือบเต็มความจุของโรง คือ 900 ที่นั่ง[61]

นอกจากนี้ยังมีการจัดคอนเสิร์ตรอบพิเศษ ชื่อว่า "Nokia Music Presents The Love of Siam Special Greeting"[62] ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ที่เอสเอฟเวิลด์ซีนีมา เซ็นทรัลเวิลด์รอบ 13.00 และ 18.00 น. ซึ่งคอนเสิร์ตครั้งนี้มีคนดูมากกว่า 400 คน[51] พร้อมกับดารานักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ และวงออกัส นอกจากนี้ยังมีแขกรับเชิญคือ คิว วงฟลัวร์ สุกัญญา มิเกล และธนกฤต พานิชวิทย์[63] ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา[64]

รางวัล

ทีมงานและนักแสดง ร่วมถ่ายรูปในงานสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2007

รางวัลแรกที่ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ได้รับไปคือรางวัลหนังแห่งปี 2550 จากนิตยสารไบโอสโคป ด้วยเหตุผล "ท้าทายสังคม ทั้งในแง่ประเด็นหนัง การนำเสนอ ที่สะท้อนภาพสังคมไทยในยุคนี้ รวมถึงความกล้าในการทำหนังรักดราม่าความยาวกว่าสองชั่วโมงครึ่ง ที่หาดูได้ยากในตลาดหนังไทยยุคปัจจุบัน"[65] และได้รับรางวัลร่วมกับหนังอีก 3 เรื่อง อย่าง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์, มะหมา 4 ขาครับ และแสงศตวรรษ ซึ่งการมอบรางวัลไบโอสโคปอวอร์ดสนี้มีการมอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546[28][66] การมอบรางวัลคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 5 รักแห่งสยาม ได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย เปล่งพานิช) [67] ทางด้านการแจกรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ได้รับ 3 รางวัลคือ รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์),รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม[68] และอีกงานแจกรางวัลคือรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 16 ได้รับรางวัลไปอีก 6 รางวัลคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล), ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย เปล่งพานิช),ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์),บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม[69]

ส่วนรางวัลจากนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่มอบให้ภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม เช่น อันดับ 1 หนังกระแสร้อนแห่งปี 2550 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์[70] รางวัลสุดยอดแห่งปี 2007 จากผู้อ่านนิตยสารฟลิกส์ ในสาขาหนังไทย และ ดาราหญิง (สินจัย เปล่งพานิช),[71] รางวัลจากนิตยสารเอนเตอร์เทน ในสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย เปล่งพานิช) [72], รางวัลจากนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ 3 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) และ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย เปล่งพานิช) [73]

ในการประกาศผลรางวัลสตาร์พิกส์ไทยฟิล์มสอวอร์ดส ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสารสตาร์พิกส์ รักแห่งสยามยังได้รับรางวัลมากถึง 9 รางวัล จากรางวัลทั้งหมด 12 รางวัล ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (มาริโอ้ เมาเร่อ) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย เปล่งพานิช) นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) กำกับภาพยอดเยี่ยม (จิตติ เอื้อนรการกิจ) ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (กิตติ เครือมณี) และภาพยนตร์ยอดนิยม[74]

การมอบรางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2007 ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ได้รับ 6 รางวัล คือ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล), รางวัลผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย เปล่งพานิช ), รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ไลลา บุณยศักดิ์), รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) และรางวัลเพลงและดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (กิตติ เครือมณี) [75]

สำหรับกระแสในอินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ยังกวาดรางวัลจาก เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการจัดมอบรางวัลให้ผลงานดีเด่นรอบปี ทางด้านภาพยนตร์ จากการลงคะแนนของสมาชิกเว็บไซต์ พันทิปดอตคอม ไปทั้งหมด 8 รางวัล รวมถึงรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการเข้าชิง 13 รายชื่อ จาก 9 สาขา

สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติลงมติส่ง รักแห่งสยาม เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม[76] มีคู่แข่ง 67 ประเทศ[77] ทางคณะกรรมการให้ความเห็นว่า "หนังมีความลุ่มลึก เล่าเรื่องหลากหลายมิติ และยังตีแผ่ทัศนคติของคนไทยที่ยังไม่เปิดรับพฤติกรรมชายรักชาย"[78] ส่วนรางวัลประเภทอื่น รักแห่งสยาม ยังได้รับรางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิต ประจำปี 2551 (สาขาสื่อภาพยนตร์) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ในด้านความรักและความเข้าใจของคนในครอบครัว และให้แง่คิดที่เหมาะกับเด็ก และเยาวชน จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551[79]

ในด้านรางวัลจากต่างประเทศ ในงานเทศกาลหนังซีเนมะนิลา ที่จัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม เข้าชิง 3 สาขาในสายภาพยนตร์อาเซียน ซึ่งมาริโอ้ เมาเร่อ ได้รับรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม[80] และยังได้รับรางวัลซิลเวอร์บันนีทรอฟี จากเทศกาลมิกซ์บราซิล ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นรางวัลมหาชนนิยม[81]

ใกล้เคียง

รักแห่งสยาม รักแห่งสยาม (ดีวีดี) รักแรกตั้ง (ครอบครัว) รักแรก โคตรลืมยาก รักแท้อยู่เหนือกาลเวลา รักแท้แม่ไม่ปลื้ม รักแท้เลือกไม่ได้ รักแท้แซ่บหลาย รักแรกในความทรงจำ รักแลกภพ

แหล่งที่มา

WikiPedia: รักแห่งสยาม http://www.allmovie.com/cg/avg.dll?p=avg&sql=1:433... http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/23/WW06_0605... http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/30/WW06_0605... http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=voidone&gr... http://www.boomerangshop.com/boomweb/productdetail... http://www.boomerangshop.com/web/productdetail.asp... http://www.centerpoint108.com/free/teen_news_index... http://www.deknang.com/index.php?option=content&ta... http://www.deknang.com/index.php?option=content&ta... http://www.fridae.com/newsfeatures/article.php?art...