งานสร้างภาพยนตร์ ของ รักแห่งสยาม

ที่มาและการทำงานช่วงแรก

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หรือมะเดี่ยว ผู้กำกับภาพยนตร์และเขียนบทภาพยนตร์ เริ่มเขียนบทครั้งแรกตอนสมัยเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมะเดี่ยวเองมีความคุ้นเคยกับสยามสแควร์ เนื่องด้วยเป็นสถานที่ที่ไปเป็นประจำ ได้เห็นคู่รัก วัยรุ่นมากมาย แม้กระทั่งคนวัยทำงานหรือครอบครัวก็ตาม จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทและใช้สยามสแควร์เป็นฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ใช้เวลาถึง 4 ปีในการเขียนบท[7] ซึ่งตัวละคร เรื่องราว ต่างๆ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวผู้กำกับเอง เขาหยิบยกเรื่องของพ่อแม่ พี่สาว และเรื่องส่วนตัว ขึ้นและขยายเรื่องส่วนตัวไปสู่เรื่องสากลที่คนทั่วไปร่วมรับรู้ได้[8] จนประมาณปี 2548 ชูเกียรติและสุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ พยายามหาเงินทุนเพื่อสร้างหนัง ถึงขนาดไปขายหนังที่ฮ่องกง ก่อนที่นายทุนจะให้เงินมาแต่งบต่ำมาก ชูเกียรติกลัวจะเสียบทไป จึงพับโครงการไว้และไปทำ 13 เกมสยอง ก่อน จนนายทุนยอมให้ทำในที่สุด[9] โดยให้งบเริ่มต้นที่ 15 ล้านบาท แล้วไปปิดที่ 17 ล้านบาท ซึ่งงบค่อนข้างไปลงอยู่ที่ฉากคอนเสิร์ต และค่าตัวนักแสดงนำ[2]

ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มเตรียมงานถ่ายทำช่วงกลางปี 2549[8] และเริ่มถ่ายทำเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549[10]โดยฉากแรกที่ถ่ายคือที่ร้านขายต่างหูบริเวณสยามสแควร์[11] ปิดกล้องวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2550[12] ใช้เวลาถ่ายทำเกือบ 5 เดือน หลังจากนั้นจึงเป็นงานในส่วนของงานหลังการถ่าย อย่างเช่น ตัดต่อ การลงเสียง เป็นต้น[8]

สถานที่ถ่ายทำและบรรยากาศ

ฉากหลังส่วนใหญ่ของเรื่องถ่ายทำที่สยามสแควร์

ฉากหลังส่วนใหญ่ของเรื่องถ่ายทำที่สยามสแควร์ ซึ่งการถ่ายทำมีความยากลำบากในการควบคุมปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ความชุลมุนวุ่นวายของผู้คนที่แวะเวียนผ่านเข้ามาทำกิจกรรมในสยาม บ้างก็เดินผ่าน หรือมุงดู และยังมีเสียงรบกวนต่างๆ รอบด้านที่ ทำให้การถ่ายทำค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าบริเวณสยามสแควร์ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น ร้านเปี๊ยก ดีเจสยาม เป็นต้น[13]

ฉากที่ถ่ายทำยากฉากหนึ่ง คือ ฉากบริเวณลานน้ำพุเซ็นเตอร์พอยต์ที่โต้งบอกเลิกกับโดนัท ซึ่งต้องถ่ายทำในช่วงเวลา 18.00-19.00 น. อันเป็นช่วงที่มีผู้คนพลุกพล่าน อีกทั้งมีเสียงดังจากจอเช็คเกอร์สกรีน ทำให้ทีมงานและนักแสดงไม่มีสมาธิ[7]

ฉากโรงเรียนซึ่งในเรื่องคือโรงเรียนชื่อ "เซนต์นิโคลัส" เป็นโรงเรียนที่สมมติขึ้นมา ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับที่ตัวเอกและเพื่อนในภาพยนตร์สั้นเรื่อง "12" (หนังภาคก่อนเรื่อง 13 เกมสยอง) จากภาพยนตร์เรื่องก่อนของผู้กำกับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล โดยใช้สถานที่ถ่ายทำคือ โรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์จอห์น[14]

ส่วนช่วงเวลาและบรรยากาศของเรื่องนี้ เป็นช่วงฤดูหนาว ในช่วงวันคริสต์มาส วันปีใหม่ ซึ่งมีบรรยากาศและการตกแต่งร้านค้าต่างๆ ที่ประดับประดาไปด้วยไฟ และถ่ายในช่วงนั้นจริงๆ ทั้งที่สยามสแควร์และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนคอนเสิร์ตในช่วงท้ายเรื่อง จัดที่ลานดิสคัฟเวอรีพลาซ่า ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี[7] นอกจากนี้สิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจใส่บรรยากาศอีกอย่างหนึ่งคือ ความเป็นคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในช่วงคริสต์มาส ฉากเล่นละครตอนพระกุมารประสูติ การสวดก่อนอาหาร และคอนเสิร์ตที่จัดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส รวมถึงชื่อโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ที่เป็นชื่อจริงของ ‘ซานตาคลอส[15]

การคัดเลือกนักแสดง

นักแสดงหน้าใหม่ทั้ง 4 คนได้ผ่านการทดสอบบทโดยส่วนใหญ่มาจากโมเดลลิ่ง อย่างอธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์ (เบสท์), กัญญา รัตนเพชร (ตาล) สำหรับมาริโอ้ เมาเร่อ (โอ้) ผู้กำกับเคยเห็นการถ่ายนิตยสารต่าง ๆ ของมาริโอ้มาก่อนจึงเรียกมาทดสอบการแสดง[14] ส่วนวิชญ์วิสิฐเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นนักร้องนักดนตรีเช่นกันและเคยทำงานเพลงด้วยกันมาก่อน[16] จากนั้นผู้กำกับจึงให้นักแสดงเวิร์กชอป ทดลองแสดงบทร่วมกัน[17]

การคัดเลือกตัวแสดงหลักทั้ง 3 คน อย่างสินจัย เปล่งพานิช ผู้กำกับตั้งใจตั้งแต่ตอนที่เขียนบทแล้วว่า คนที่จะมารับบท “สุนีย์” จะต้องเป็น สินจัย เปล่งพานิช เท่านั้น[18] สินจัยตอบรับในบทบาทนี้โดยให้ความเห็นไว้ว่า "ได้อ่านบทเรื่องนี้ก็รู้สึกสนใจ ชอบที่ตัวบท และก็มะเดี่ยวด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ เขาทำหนังออกมาดีและน่าสนใจมาก"[19] ส่วนการคัดเลือกตัวละคร “ แตง” และ “ จูน” เดิมทีผู้กำกับไม่ได้มองเฌอมาลย์ไว้ เพราะผู้กำกับมีความเห็นว่าเป็นรุ่นใหญ่ไปแล้ว แต่เมื่อติดต่อไปก็ตอบรับบท [18] เฌอมาลย์เผยว่า "อยากเล่น เพราะบทของหนังดี อ่านบทแล้วประทับใจ"[20]

ทางด้านทรงสิทธิ์ก็ตอบรับบทของกรเช่นกัน "ชอบตรงแนวความคิด ตั้งแต่เริ่มอ่านบทแล้ว และเรื่องนี้ไม่เหมือนทุกเรื่อง ซึ่งยังไม่เคยเล่นอะไรแบบนี้ และก็เป็นหนังเรื่องแรกที่ต้องร้องไห้เยอะที่สุดเลยด้วย"[18]

บทภาพยนตร์ การกำกับการแสดงและการตัดต่อ

วงออกัส นักแสดงรุ่นเด็ก

บทภาพยนตร์ที่ใช้เวลาเขียน 4 ปีเรื่องนี้ เดิมเป็นบทที่เน้นไปที่เรื่องราวของวัยรุ่น คือเป็นเรื่องราวของโต้งและมิว ซึ่งก็ถูกยกเลิกไปก่อน จนเวลาผ่านไปชูเกียรติหยุดไปทำอย่างอื่นและมีปัญหาทางครอบครัว คือพ่อป่วย จึงเริ่มเพิ่มเนื้อหาในส่วนของครอบครัว สำหรับบทเดิม ได้วางตัวละครเดิมไว้คือ กั๊ก เล้าโลม (มิว) ,ป็อป เดอะซิงเกอร์ (โต้ง),ตู่ นพพล (กร), ตั๊ก บงกช (จูน,แตง) และ เจน ชมพูนุช (หญิง) [21] แต่ได้เปลี่ยนนักแสดงเพราะนักแสดงโตขึ้น และได้พัฒนาบท จนเป็นที่มาของบทปัจจุบัน[22] และเมื่อนักแสดงได้อ่านบทและทำความเข้าใจบทแล้ว ก็มีการแลกเปลี่ยน รายละเอียด ภาพของตัวละคร กับชูเกียรติ ก่อนการแสดงจริง[23] อย่างเช่นในบทเกี่ยวกับสุนีย์ หลังจากที่สินจัยอ่านบทเสร็จ ชูเกียรติถามความเห็นในแง่ความเป็นแม่ อย่างในฉากที่สุนีย์ตามหาลูกที่หายออกจากบ้าน ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้เขียนบทกับนักแสดง[24] สินจัยอธิบายเพิ่มว่า "เป็นการถ่ายทำที่ ไม่ต้องท่องบทมา ไม่ต้องเตรียมตัวมาว่าจะมีฉากร้องไห้ หรือว่าฉากอะไร การแสดงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเริ่มถ่ายทำ"[25]

ชูเกียรติกล่าวว่า "การกำกับนักแสดงรุ่นเด็กจะเลือกเด็กที่เป็นธรรมชาติกับกล้อง ให้รวมกลุ่มนักแสดงเด็ก จับให้มาเป็นเพื่อนกันแล้วการแสดงจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เน้นให้ตามบทจะเล่าเหตุการณ์แล้วให้ไปเตรียมตัวกัน ส่วนผู้ใหญ่ต้องอ่านบท เพราะต้องเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบความคิด"[26] วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ เขียนไว้ในนิตยสารไบโอสโคปเกี่ยวกับการกำกับการแสดงของชูเกียรติไว้ว่า "ชูเกียรติ เข้าใจในความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละคร อันรวมไปถึงการชี้ให้นักแสดงเห็นถึงความเป็นมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ในแต่ละฉาก ตั้งแต่การช่วยสร้าง ภูมิหลังของตัวละคร ความคาดหวังในชีวิต ความรัก และอื่น ๆ จนถึงกระตุ้นให้นักแสดงเทียบเคียงประสบการณ์ชีวิต ของตนเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนเสี้ยวต่าง ๆ ของตัวละคร"[27] ส่วนลำดับการถ่ายทำ วิชญ์วิสิฐ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "พี่มะเดี่ยวจะเลือกฉากที่แสดงยาก ถ่ายทำทีหลังเพื่อให้นักแสดงเข้าใจถึงตัวละครตัวนั้น สามารถเรียกตัวละครเข้ามาอยู่ในตัวเองได้"[23]

นอกจากนี้ ในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ชูเกียรติยังตั้งใจเทิดทูนผู้กำกับชาวโปแลนด์ที่ชื่อ คริสซ์ตอฟ เคียสลอฟสกี้ ในฉากผึ้งไต่แก้วน้ำ ที่ตั้งใจถ่ายให้เหมือนแบบช็อตต่อช็อตในภาพยนตร์เรื่อง The Decalogue และนอกจากนั้นถ้าสังเกตดี ๆ ในภาพยนตร์ในส่วนของห้องนอนโต้งมีโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Heaven ที่เป็นหนังที่เคียสลอฟสกี้เขียนบทก่อนตาย[28]

เมื่อทำการตัดต่อ ซึ่งชูเกียรติก็ร่วมรับหน้าที่ตัดต่อด้วย มีความยาวกว่า 2 ชั่วโมง 45 นาที ก่อนออกฉายจริง ปรัชญา ปิ่นแก้ว ในฐานะผู้สร้างจึงเสนอให้ผู้อื่นมาช่วยดูหนัง เพื่อตัดทอนฉากที่ผู้กำกับอยากเก็บไว้ออกไปบ้าง จนเหลือความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง ตามที่ออกฉาย[22]

การประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลของภาพยนตร์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550[29] หลังจากนั้นจึงเป็นกิจกรรมเดินสายของทางทีมนักแสดงและผู้กำกับ โดยเริ่มจากการออกบูธขายของที่ระลึกและมีวงออกัสแสดงเพลงจากอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ในงานแฟตเฟสติวัล ครั้งที่ 7 ที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 10-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[30] และยังมีกิจกรรมการกุศลร่วมกันคือในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นักแสดงและผู้กำกับเรื่องรักแห่งสยามนำโดย กบ ทรงสิทธิ์, นก สินจัย และ พลอย เฌอมาลย์ ร่วมกันทำกระปุกออมสินรูปหัวใจ ในรูปแบบเปเปอร์มาร์เช่ต์ ให้คนดูหนังได้บริจาค เพื่อนำไปช่วยรักษาโรคหัวใจให้เด็ก ๆ ผู้ยากไร้ที่มูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[31] ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ทำบุญไปด้วย

จนในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 จึงได้มีการจัดรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีการจัดมินิคอนเสิร์ต "รักแห่งสยาม Premier Concert: Siam In Love" กันที่เวทีลานดิสคัฟเวอรี่ พลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ก่อนการฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันเดียวกัน[32] ซึ่งภาพยนตร์เข้าฉายจริงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[33]

ใกล้เคียง

รักแห่งสยาม รักแห่งสยาม (ดีวีดี) รักแรก โคตรลืมยาก รักแรกตั้ง (ครอบครัว) รักแท้อยู่เหนือกาลเวลา รักแท้แม่ไม่ปลื้ม รักแท้เลือกไม่ได้ รักแท้แซ่บหลาย รักแรกในความทรงจำ รักหลงโรง

แหล่งที่มา

WikiPedia: รักแห่งสยาม http://www.allmovie.com/cg/avg.dll?p=avg&sql=1:433... http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/23/WW06_0605... http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/30/WW06_0605... http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=voidone&gr... http://www.boomerangshop.com/boomweb/productdetail... http://www.boomerangshop.com/web/productdetail.asp... http://www.centerpoint108.com/free/teen_news_index... http://www.deknang.com/index.php?option=content&ta... http://www.deknang.com/index.php?option=content&ta... http://www.fridae.com/newsfeatures/article.php?art...