ความเสื่อมถอยและการล่มสลายของราชวงศ์หมิง ของ ราชวงศ์หมิง

หายนะในศึกถู่มู่

แม้ว่าราชวงศ์หยวนของมองโกลจะถูกโค่นล้มและขับไล่ออกไป แต่ชนเผ่ามองโกลได้ไปตั้งมั่นยังถิ่นฐานเดิมในทุ่งหญ้าสเตปป์ เมื่อถึงปี ค.ศ.1388 ราชสำนักหยวนเหนือตกอยู่ใต้อิทธิพลชาวมองโกลเผ่าหวาล่า ในปี ค.ศ. 1449 ข่านอีเซน ตายีซี (เหย่เซียน) หัวหน้าเผ่าวาล่า มีความทะเยอะทะยานคิดฟื้นฟูจักรวรรดิมองโกล จึงได้รุกรานจักรวรรดิต้าหมิง ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงเริ่มอ่อนแอ จักรพรรดิเจิ้งถง หรือ หมิงอิงจงจักรพรรดิหนุ่มที่อ่อนแอและเบาปัญญาแห่งราชวงศ์หมิงทรงวิตกเรื่องการสงครามเป็นอันมาก เนื่องจากกองทัพที่อยู่ชายแดน ถูกทัพเผ่าหว่าล่าตีแตกพ่าย พระองค์จึงทรงเรียกขันทีหวางเจิ้นเพื่อปรึกษาหารือ ทว่าหวางเจิ้นนั้นแท้จริงเป็นคนโฉดชั่ว เบื้องหน้าเขาทำเป็นจงรักภักดี แต่ลับหลังตั้งกลุ่มอำนาจของตน กระทำการฉ้อราษฏร์บังหลวง ใช้อิทธิพลข่มเหงขุนนางและราษฏร กำจัดผู้ที่ไม่เห็นด้วย ยักยอกงบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังซื้อขายตำแหน่งข้าราชการ จนราชการแผ่นดินวิปริตแปรปรวน

ขันทีโฉดหวางเจิ้นได้กราบทูลให้จักรพรรดิเจิ้งถงเสด็จนำทัพไปปราบข้าศึกด้วยพระองค์เอง โดยไม่ฟังคำทัดทานของขุนนางผู้ใหญ่ หมิงอิงจงทรงมีพระบัญชาให้ระดมไพร่พล 220,000 นาย(เอกสารเดิมระบุว่า ห้าแสน) และยกทัพออกจากนครหลวงปักกิ่งทันที ทว่ากองทัพที่พระองค์ทรงนำไปนั้น ถูกเรียกรวมพลในเวลาจำกัด ไพร่พลอาวุธอยู่ในสภาพไม่พร้อมรบ เมื่ออีเซนทราบว่าทัพหมิงออกนอกด่านมาโจมตีพวกตน จึงใช้ยุทธิวิธีล่อให้ข้าศึกไล่ตามโดยแสร้งถอยทัพเพื่อรอโอกาสทำลายฝ่ายตรงข้าม ขณะที่หมิงอิงจงไม่มีความรู้เรื่องการสงคราม กลับเชื่อแต่คำพูดขันทีหวางเจิ้นคนโฉด พระองค์จึงทรงเร่งเคลื่อนทัพไล่ตามข้าศึกจนเสบียงอาหารเริ่มขาดแคลน ไพร่พลป่วยเจ็บล้มตาย เกิดความปั่นป่วนขึ้นในกองทัพ หลังจากที่ได้ทราบความเป็นไปของข้าศึกแล้ว อีเซนก็จัดทหารม้าหนึ่งหมื่นซุ่มรอไว้บนเขาและเข้าล้อมตีทัพหน้าของฝ่ายต้าหมิงที่ไล่ตามทัพเผ่าหว่าล่าเข้ามาในช่องเขา ก่อนกวาดล้างทหารหมิงได้ทั้งทัพ จักรพรรดิเจิ้งถงจึงทรงมีรับสั่งให้ถอยทัพตามคำแนะนำของขันทีหวางเจิ้น เมื่อกองทัพใหญ่ของต้าหมิงได้ถอยมาถึงถู่มู่เป่า หรือ (ป้อมถู่มู่) ถู่มู่เป่าเป็นที่สูง ไม่มีน้ำ ส่วนแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดก็ถูกทัพหว่าล่ายึดเอาไว้ ทำให้มีไพร่พลหมิงล้มตายด้วยขาดน้ำเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันทัพม้าของหว่าล่าก็ตามมาถึงและเข้าโจมตีกองทัพหมิงอย่างดุเดือด บรรดาแม่ทัพนายกองนำไพร่พลเข้าต้านทานสุดชีวิต จนบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเหตุให้จักรพรรดิเจิ้งถงทรงถูกพวกหว่าล่าจับเป็นองค์ประกัน

ศึกครั้งนี้นำความอัปยศมาสู่ราชวงศ์หมิง เนื่องจากการนำทัพที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้กองทัพมหึมาของต้าหมิงถูกทำลายล้าง ส่วนองค์จักรพรรดิเจิ้งถงต้องตกเป็นเชลยของข้าศึก ประวัติศาสตร์จีนเรียกเหตุการณ์อัปยศครั้งนี้ว่าวิกฤตการณ์ถู่มู่เป่า[16] หลังชนะศึก ข่านอีเซนจึงได้ใจเหิมเกริมรวบรวมกำลัง 40,000 นายเข้าตีนครหลวงปักกิ่งต่อ ในยามนั้นเนื่องจากสถานการณ์คับขัน อวี๋เชียน เสนาบดีกลาโหมพร้อมกับเหล่าขุนนางต่างเล็งเห็นว่าบ้านเมืองไม่ควรขาดประมุข จึงไปเข้าเฝ้ากราบทูลพระพันปีให้ยก จูฉวีอี้ พระอนุชาของหมิงอิงจงขึ้นเป็นจักรพรรดิเพื่อรับศึก จูฉวีอี้ขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิหมิงจิ่งตี้ จากนั้นก็ทรงแต่งตั้งให้อวี๋เชียนเป็นแม่ทัพใหญ่รับศึกมองโกล ซึ่งอวี๋เชียนก็ได้ระดมทหารและชาวเมืองร่วมสองแสนเข้าต่อสู้ป้องกันนครปักกิ่งอย่างเข้มแข็งจนทัพหว่าล่าไม่อาจตีเมืองได้ ทั้งยังต้องสูญเสียไพร่พลมากมายจนต้องล่าถอยกลับไป

ข่านอีเซนเรียกเงินค่าไถ่หมิงอิงจงเป็นจำนวนมาก ทำให้ราษฎรต้าหมิงอัปยศอับอายเป็นอันมาก และในปีรุ่งขึ้นคือ ค.ศ.1450 ข่านอีเซนก็ปล่อยหมิงอิงจงกลับมา ซึ่งหลังจากกลับมาแล้ว พระองค์ได้ถูกกักบริเวณตามพระบัญชาของหมิงจิ่งตี้ จนถึงปี ค.ศ.1457 หมิงจิ่งตี้ประชวรหนัก หมิงอิงจงจึงถือโอกาสยึดอำนาจคืนและกักบริเวณหมิงจิ่งตี้ ซึ่งไม่นานก็สิ้นพระชนม์ ส่วนอวี๋เชียนที่เคยนำทัพปกป้องนครปักกิ่งนั้น หมิงอิงจงพิโรธที่เขาสนับสนุนหมิงจิ่งตี้ จึงให้นำตัวอวี๋เชียนไปประหาร ทำให้ประชาชนทั้งแผ่นดินต่างสลดใจกับชะตากรรมของขุนนางผู้ภักดีต่อบ้านเมือง

การครองราชย์ของจักรพรรดิว่านลี่

จักรพรรดิว่านลี่ (ครองราชย์ ค.ศ. 1572–1620) ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคเสื่อมถอยของราชวงศ์หมิงอย่างสำคัญ

ในรัชสมัยจักรพรรดิว่านลี่แห่งราชวงศ์หมิง โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ไดเมียวของญี่ปุ่นได้ก่อการกำเริบเสิบสานตั้งตนเป็นใหญ่คิดรุกรานอาณาจักรโชซ็อน (เกาหลี) ซึ่งเป็นประเทศราชของราชวงศ์หมิง เหตุการณ์การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1592 จักรพรรดิว่านลี่มีพระราชโองการส่งทหารเข้าช่วยเหลืออาณาจักรโชซ็อน แต่การช่วยโชซ็อนทำศึกทำให้ราชวงศ์หมิงประสบปัญหาการเงินมหาศาล ท้องพระคลังร่อยหรอ ในช่วงต้นของการครองราชย์จักรพรรดิว่านหลี่ทรงห้อมล้อมตัวเองด้วยขุนนางที่ปรึกษาที่มีความสามารถและใช้ความพยายามอย่างรอบคอบในการจัดการเรื่องต่างๆของราชสำนัก จาง จวีเจิ้ง ขุนนางผู้มีความสามารถ ได้ทำการคลี่คลายความขัดแย้งกันทางสังคมและกอบกู้การปกครองของราชวงศ์หมิงด้วยวิธีดำเนินการปฏิรูป เขาปรับปรุงระบบขุนนางและราชสำนัก ทำให้ช่วยประคับประคองความอยู่รอดของราชวงศ์หมิงได้บ้างระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อราชสำนักหมิงสิ้นจางจวีเจิ้งก็ไม่มีใครหลังจากเขามีฝีมือพอที่จะรักษาเสถียรภาพของการปฏิรูปเหล่านี้ไว้ได้และราชวงศ์หมิงก็กลับมาเสื่อมและตกต่ำเช่นเดิม[17] ในไม่ช้าเหล่าขุนนางก็เริ่มทะเลาะเบาะแว้งกันแบ่งเป็นกลุ่มทางการเมือง เมื่อเวลาผ่านไป จักรพรรดิว่านลี่ทรงเริ่มเบื่อหน่ายเรื่องในราชสำนักและการทะเลาะกันเรื่องการเมืองบ่อยครั้งในหมู่ขุนนางอำมาตย์ พระองค์จึงทรงเลือกที่จะหลบอยู่ด้านหลังพระราชวังต้องห้ามอยู่กับบรรดาขันทีและนางสนมและทรงเลิกออกว่าราชการ[18] เหล่าบัณฑิต-ขุนนางเจ้าหน้าที่ต่างต้องสูญเสียอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ส่วนขันทีกลายเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างจักรพรรดิที่ห่างไกลและเจ้าขุนนางของพระองค์; ขุนนางอาวุโสคนใดที่ต้องการหารือเรื่องต่างๆของบ้านเมืองจะต้องโน้มน้าวขันทีที่มีอิทธิพลด้วยการติดสินบนเพื่อเรียกร้องหรือส่งข้อความถึงจักรพรรดิ[19]

ขันทีครองอำนาจ

ความเป็นอยู่ของขันทีและนางสนมช่วงราชวงศ์หมิงตอนปลายสะท้อนความฟุ่มเฟือยและความเสื่อมโทรม

แม้จักรพรรดิหงหวู่ห้ามไม่ให้ขันทีเรียนรู้วิธีอ่านหรือมีส่วนร่วมในการเมือง ด้วยการลดอิทธิพลและอำนาจของขันทีไม่ให้เข้าสู่การเมืองถือเป็นความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในรัชกาลของพระองค์ จนถึงยุคขันทีในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อและหลังจากนั้น ขันทีก็เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองมาขึ้น โดยเข้ามาจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขนาดใหญ่ อำนาจสั่งกองทัพและเข้ามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งขุนนางเจ้าหน้าที่

เหล่าขันทีแห่งราชวงศ์หมิงได้พัฒนาระบบราชการเป็นของตนเองที่มีการจัดระบบขนานไปกับราชสำนักส่วนกลาง แต่ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการส่วนกลาง[15] แม้ว่าจะมีขันทีเผด็จการหลายจำนวนมากในราชสำนักหมิงเช่น หวางเจิ้น, หวางจีและหลิวจิน อำนาจเผด็จการขันทีมากเกินไปแต่ยังไม่ปรากฏเด่นชัดเจนจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1590 เมื่อ จักรพรรดิว่านลี่ทรงเพิ่มสิทธิเหนือระบบราชการพลเรือนและให้อำนาจแก่พวกเขาในการเก็บภาษีภายใน[19][20][21]

เมื่อการเก็บภาษีอยู่ในมือเหล่าขันที เกิดสภาพการผูกขาดที่ดินรุนแรงมาก พระราชวงศ์และบรรดาเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษีอากรของราชสำนักหมิงก็นับวันมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ของสังคมก็นับวันรุนแรงขึ้น มีเสนาบดีและขุนนางบางคนพยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมให้เบาบางลง และเรียกร้องให้ยับยั้งสิทธิ พิเศษของเสนาบดีขันทีและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย เสนาบดีเหล่านี้เทียวบรรยายวิชาการและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจึงถูกเรียกกันว่าเป็น ”พรรคตงหลินตั่ง” แต่แล้วพวกเขาก็ต้องถูกเสนาบดีขันทีและขุนนางที่มีอำนาจโจมตีและทำร้าย

ขันทีที่โดดเด่นและร้ายกาจคือ เว่ย์ จงเสียน (1568–1627) เรืองอำนาจมากในราชสำนัก จักรพรรดิเทียนฉี (ครองราชย์ ค.ศ. 1620–1627) และมีคู่แข่งทางการเมืองของเขาถูกทรมานจนตายส่วนใหญ่เป็นนักวิจารณ์เสียงร้องจากฝ่ายพรรคตงหลินตั่ง เขาสั่งวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาตลอดราชวงศ์หมิงและสร้างพระราชวังส่วนตัวที่สร้างขึ้นด้วยเงินทุนสำหรับการสร้างสุสานของจักรพรรดิก่อนหน้านี้ เพื่อนและครอบครัวของเขาได้รับตำแหน่งที่สำคัญโดยไม่มีคุณสมบัติ เว่ย์จงเสียนยังใส่ร้ายเหล่าขุนนางที่จงรักภักดีและมีความสามารถ เป็นเหตุให้ราชสำนักหมิงสูญเสียบุคคลากรที่มีความสามารถไปเป็นจำนวนมาก[22] ความไม่มั่นคงของราชสำนักหมิงดำเนินมาพร้อมภัยพิบัติทางธรรมชาติโรคระบาดและการจลาจล ความเสื่อมมาถึงจุดสูงสุด ในช่วงการครองราชย์รัชสมัยจักรพรรดิฉงเจิน พระองค์ทรงขับไล่และปลดเว่ย์ จงเสียนออกจากราชสำนักซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายของเว่ย์จงเสียน

การรุกรานของชาวแมนจู

ชาวหนี่เจินหรือต่อมาเป็นชาวแมนจู มีเอกลักษณ์คือการโกนผมด้านหน้าและไว้หางเปียด้านหลัง ได้เริ่มเข้ารุกรานแผ่นดินจีนในช่วงปลายราชวงศ์หมิงกองทัพชนเผ่าแมนจูเข้าตีเมืองหน้าด่านหนิงหยวนของราชวงศ์หมิง

ปลายราชวงศ์หมิงที่มีแต่ความเสื่อมโทรม ทำให้ไม่สามารถควบคุมดินแดนแมนจูเรียทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ห่างไกลในฐานะประเทศราชได้ เปิดโอกาสให้ชนเผ่าชาวหนี่เจินตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว มีหัวหน้าเผ่าคือ นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ (ค.ศ. 1616–26) ได้เริ่มตั้งตนเป็นอิสระและหยุดส่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชวงศ์หมิง อีกทั้งถือโอกาสเริ่มรวบรวมชนเผ่าหนี่เจินน้อยใหญ่รอบข้างเป็นปึกแผ่น จนในที่สุดก็ได้รวมดินแดนแมนจูเรียทั้งหมดมาครอบครอง

ในปี ค.ศ. 1610 นู่เอ๋อร์ฮาชื่อได้เริ่มประกาศสงครามกับราชสำนักหมิง ซ่องสุมกำลังพลและทำการวางระบบแปดกองธงขึ้น โดยแต่ละกองธงนั้นเป็นทั้งหน่วยงานการปกครองและเป็นองค์กรทางทหารในตัว กระทั่งปี ค.ศ. 1616 เมื่อนู่เอ๋อร์ฮาชื่อเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสมแล้ว ท่ามกลางการสนับสนุนของผู้นำทั้ง 8 กองธง จึงสถาปนาตนขึ้นเป็นข่านหรือปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรโฮ่วจิน (อาณาจักรจินยุคหลัง) ตามราชวงศ์จินซึ่งเป็นอาณาจักรของชาวหนี่เจินอีกเผ่าหนึ่งที่ท้าทายราชวงศ์ซ่งของจีนมาแล้ว

หลังสถาปนาโฮ่วจิน นู่เอ๋อร์ฮาชื่อก็เริ่มนำทัพชนเผ่าหนี่เจินรุกรานแผ่นดินจีนของราชวงศ์หมิง ชาวหนี่เจินก็ได้ทำศึกมีชัยเหนือทหารของต้าหมิงหลายครั้ง จนเหล่าขุนนางทั้งหลายต่างครั้นคร้ามกันไปทั่ว จนไม่มีใครอาสาไปรับศึกอีก กระทั่งในปี 1626 นู่เอ๋อร์ฮาชื่อที่กำลังฮึกเหิมได้นำทัพหนี่เจิน 130,000 คนข้ามแม่น้ำเหลียวเข้าโจมตีเมืองหน้าด่านหนิงหยวนบริเวณมณฑลเหลียวหนิงใกล้กับคาบสมุทรเหลียวตง จนในที่สุดราชสำนักหมิงต้องส่งแม่ทัพเอก หยวน ชงหวน (袁崇焕)ได้นำทัพไปยันกองทัพโฮ่วจินที่บุกมาถึงเมืองหน้าด่านหนิงหยวน กองมัพหมิงของหยวน ชงหวนรับศึกอย่างแข็งขัน จนทหารของโฮ่วจินล้มตายเป็นจำนวนมาก นูรฮาชีเองก็บาดเจ็บสาหัสจนต้องมีคำสั่งถอยทัพไปยังเสิ่นหยาง แล้วเสียชีวิตลงที่นั่น

ในปี ค.ศ. 1636, หฺวัง ไถจี๋โอรสของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ได้สืบตำแหน่งข่านต่อ ได้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์จาก "โฮ่วจิน" เป็น "ต้าชิง" (ราชวงศ์ชิง) ตั้งเมืองหลวงที่เสิ่นหยาง ซึ่งยึดได้มาจากราชวงศ์หมิงในปี ค.ศ. 1621[23][24] หฺวัง ไถจี๋ได้รับวัฒนธรรมประเพณีและระบบปกครองแบบจีนมาปรับใช้ ทั้งสำคัญคือได้นำระบบยศจักพรรดิแบบจีนมาใช้ด้วย ทรงได้ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ และเปลี่ยนชื่อชนเผ่าจาก"หนี่เจิน" มาเป็น "ชาวแมนจู"[24][25] ถือเป็นการท้าทายอำนาจของราชสำนักหมิงอย่างยิ่ง

เมื่อเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ชิง หฺวัง ไถจี๋ได้นำทัพแมนจูแบ่งเป็น 3 ทัพบุกจีนอีกครั้ง หยวน ชงหวนถูกจักรพรรดิฉงเจินเรียกตัวมา แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารในแถบเหอเป่ย เหลียวตงทั้งหมด เมื่อกองทัพแมนจูไม่สามารถบุกตีเมืองที่เป็นด่านสำคัญอย่างหนิงหยวนได้ จึงได้เปลี่ยนกลยุทธใหม่ โดยในปี ค.ศ. 1629 หวงไท่จี๋นำทัพหลายแสนคนผ่านไปยังด่านหลงจิ่ง ต้าอันโข่ว อ้อมเหอเป่ยมุ่งตรงไปยังราชธานีปักกิ่งแทน

การล่มสลายของราชวงศ์หมิง

ดูบทความหลักที่: การพิชิตหมิงของชิง
ด่านชานไห่แนวป้องกันส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองจีน เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของราชวงศ์หมิงที่คอยป้องกันมิให้ชนเผ่าป่าเถื่อนชาวแมนจูเข้าประเทศจีน จนกระทั่งถูกเปิดด่านโดย อู๋ ซานกุ้ยแม่ทัพหมิงผู้ทรยศ ในปี ค.ศ. 1644

สังคมในจักรวรรดิต้าหมิงวุ่นวายมากยิ่งขึ้นการต่อสู้ในชนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังต้องรับศึกกับกองทัพแมนจูที่เข้าประชิดพระนครเข้าทุกที ในปี ค.ศ. 1627 มณฑลส่านซีเกิดทุพภิกขภัย แต่ข้าราชการยังคงบีบบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษี จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ประชาชนที่ประสบภัยเป็นพันเป็นหมื่นรวมตัวขึ้นเป็นกองทหารชาวนาหลายกลุ่มหลายสาย ปี ค.ศ. 1644 กองทหารชาวนา นำโดยหลี่ จื้อเฉิง บุกเข้าไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงต้องผูกพระศอสิ้นพระชนม์

แม้หลี่จื้อเฉิงจะสามารถยึดครองปักกิ่งไว้ได้ ทว่าแรงกดดันจากกองทัพอื่นๆก็ยังไม่จบสิ้น ยังมีกำลังทหารแตกทัพของราชวงศ์หมิง กองกำลังของอู๋ ซานกุ้ย (吴三桂) ที่ด่านซันไห่กวน (山海关) และกองทัพจากแมนจูจากทางตะวันออกเฉียงเหนือคอยคุกคามอยู่

หลี่จื้อเฉิงได้ส่งหนังสือให้อู๋ซานกุ้ยยอมสวามิภักดิ์ จากนั้นก็ได้ให้อู๋เซียง บิดาของอู๋ซานกุ้ยที่อยู่ในเมืองหลวงเขียนจดหมายไปกล่อมอีกทาง อีกทั้งได้ส่งคณะทูตนำเงินทองมากมาย พร้อมหนังสือแต่งตั้งให้อู๋ซานกุ้ยขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยา แต่ในขณะที่อู๋ซานกุ้ยกำลังเดินทางมาเมื่อสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิง กลับได้พบกับคนรับใช้ที่หนีออกมาจากเมืองหลวงที่มาส่งข่าวว่าบัดนี้อู๋เซียงถูกจับเป็นตัวประกันและถูกริบทรัพย์สมบัติ นอกจากนั้นเฉินหยวนหยวน (陈圆圆)อนุภรรยาของอู๋ซานกุ้ยยังถูกแม่ทัพหลิวจงหมิ่นชิงตัวไป

และด้วยเหตุนี้จึงได้ทำให้อู๋ซานกุ้ยตัดสินใจที่จะหันกลับไปจับมือกับแม่ทัพตัวเอ่อกุ่น (多爾衮) ของแมนจู จากนั้นส่งคนให้แสร้งไปส่งข่าวยอมสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิงเพื่อถ่วงเวลาเอาไว้ก่อน ทว่าในภายหลังเมื่อหลี่จื้อเฉิงได้ทราบข่าวว่าอู๋ซานกุ้ยสวามิภักดิ์ต่อแมนจูแล้ว จึงได้นำทัพราว 6 หมื่นเพื่อลงมาปราบปราม แต่ในยามนั้นอู๋ซันกุ้ยได้ลอบเปิดด่านให้กองทัพแมนจูยกเข้ามาอ้อมตีกองทัพของหลี่จื้อเฉิง จนหลี่ต้องถอยทัพกลับปักกิ่งโดยมีทัพของอู๋ซานกุ้ยไล่ตามมา หลี่แก้แค้นด้วยการตัดศีรษะบิดาของอู๋ซันกุ้ยเสียบประจานที่กำแพงเมืองปักกิ่ง จนทหารแมนจูได้เข้ายึดปักกิ่งได้สำเร็จ กองทัพหลี่จื้อเฉิงที่พ่ายแพ้ถอยร่นไปก็ถูกโจมตีและสังหารไปในที่สุด ถือว่าเป็นอันอวสานของราชวงศ์ที่ปกครองโดยชาวฮั่น

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราชวงศ์หมิง http://english.people.com.cn/english/200012/28/eng... http://jwsr.ucr.edu/archive/vol12/number2/pdf/jwsr... //www.worldcat.org/issn/1076-156X http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsI... https://books.google.com/books?id=8ePxMW066j8C&pg=... https://books.google.com/books?id=cwq4CwAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=hUEswLE4SWUC&pg=... https://web.archive.org/web/20070222011511/http://... https://www.jstor.org/stable/4527509