สังคมโชซอน ของ ราชวงศ์โชซ็อน

การแบ่งชนชั้นในสมัยโชซ็อนมีรากฐานมาจากสังคมในปลายสมัยโครยอ มีกษัตริย์โชซ็อนอยู่ที่ยอดพีระมิด รองลงมาเป็นชนชั้นปกครอง คือ พวกขุนนาง ปราชญ์ขงจื๊อต่าง ๆ ชนชั้นของโชซ็อนเป็น 4 ชั้น

  1. ยังบัน แปลว่า สองชนชั้น ประกอบด้วย มุนบัน ชนชั้นปราชญ์ คือ ขุนนางฝ่ายบุ๋น และมูบัน ชนชั้นนักรบ คือ ขุนนางฝ่ายบู๊ยังบันเป็นชนชั้นที่มีเอกสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ลูกหลานของยังบันเท่านั้นที่มีสิทธิ์สอบควากอ (จอหงวน) ในสมัยต้นโชซ็อนรายได้ของยังบันคือรายได้จากที่ดินของตนในการทำเกษตรกรรมหรือให้เช่า แต่ในสมัย พระเจ้าเซโจ กษัตริย์องค์ที่ 7 โของ พระเจ้าเซจงมหาราช ได้ยึดที่ดินของยังบันไปเป็นของทางราชการหมด ทำให้ยังบันมีเพียงรายได้จากเบี้ยหวัดจากราชสำนักเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วยังบันจะได้รับการยกเว้นภาษี
  2. จุงอิน แปลว่า ชนชั้นกลาง เป็นคนกลุ่มที่เป็นลูกจ้างของทางราชการ สอบควากอได้เพียงระดับต่ำ คือ มิได้ไปเป็นขุนนางปกครองบ้านเมืองแต่เป็นคนงานในราชสำนัก อาชีพของจุงอินมีสี่อย่าง คือ ล่ามแปลภาษา นักกฎหมาย แพทย์ (ชาย) และโหรหลวง
  3. ซังมิน คือ สามัญชนทั่วไป คือ ชาวบ้านชาวนาชาวไร่ กรรมกร ชาวประมง ซึ่งจะต้องถูกเก็บภาษีจากโจ (ที่ดิน) โพ (เสื้อผ้า) และยอก (ส่วยแทนการเกณฑ์ทหาร) ซังมินจะต้องรองรับภาษีที่สูงลิบลิ่วเหล่านี้ และบ่อยครั้งที่ไม่พอใจลุกฮือต่อต้านจนทางการต้องเอากำลังมาปราบ
  4. ช็อนมิน คือ ทาส พวกนี้ไม่ใช่คน ทางราชการจะเข้ามาควบคุมชนชั้นนี้เสมือนเป็นสิ่งของชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นสมบัติส่วนบุคคลสามารถซื้อขายกันได้ และทางราชการเองก็มีช็อนมินไว้เป็นสมบัติเป็นจำนวนมากเพื่อใช้งานในราชสำนัก ช็อนมินที่ไม่ได้มีเจ้าของก็จะประกอบอาชีพที่สังคมดูถูกเช่น คนฆ่าสัตว์ นักแสดงกายกรรม ผู้หญิงก็จะมีสามอาชีพ คือ มูดัง (ร่างทรง) คีแซง (นางโลม) และอึยนยอ (แพทย์หญิง) แต่ควากอขุนนางฝ่ายบู้ก็เปิดโอกาสให้ช็อนมินผู้ชายเข้าไปเป็นทหารเช่นกัน

การแบ่งชนชั้นทางสังคมโชซ็อนนั้นเข้มงวดมากในต้นสมัยโชซ็อน แต่หลังจากสงครามกับญี่ปุ่นและการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ชนชั้นล่างก็เริ่มที่จะลืมตาอ้าปากได้ขณะที่ชนชั้นบนก็ยากจนขัดสนลง สตรียังบันนั้นจะต้องเชื่อฟังสามี เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านออกนอกบ้านได้นาน ๆ ครั้ง เมื่อออกนอกบ้านต้องปกปิดหน้าตา แต่สตรีในระดับชั้นล่างกลับมีอิสรภาพมากกว่า สามารถไปไหนมาไหนก็ได้