อาณาจักรฤๅษีเปิดประตู ของ ราชวงศ์โชซ็อน

สนธิสัญญาคังฮวา

ดูบทความหลักที่: สนธิสัญญาคังฮวา

มเหสีของพระเจ้าโกจงคือมเหสีมิน ทรงเป็นสตรีที่เชี่ยวชาญด้านการเมือง พระนางมีความสนใจใฝ่รู้ในหลายด้าน และสนพระทัยในการต่างประเทศ บ่อยครั้งที่พระองค์จะออกมาจากที่กักกันของนางในในวังมาว่าราชการกับบรรดาขุนนางและนักปราชญ์ ซึ่งผิดหลักขงจื๊ออย่างร้ายแรง ซึ่งห้ามมิให้สตรียุ่งเกี่ยวกิจการบ้านเมือง และยังสร้างความไม่พอใจให้แก่แทวอนกุน ซึ่งต้องการจะรักษาอำนาจของตนไว้ จนในปี พ.ศ. 2425 พระเจ้าโกจงมีพระโอรสประสูติกับพระสนมองค์หนึ่ง ทำให้แทวอนกุนกล่าวโทษมเหสีมินว่าไม่ทรงทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีแต่กลับว่าราชการ มเหสีมินจึงทรงตอบโต้ด้วยการให้ขุนนางฝ่ายพระองค์ลงความเห็นให้พระเจ้าโกจงทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง สิ้นสุดการว่าราชการแทนของแทวอนกุน และส่งแทวอนกุนไปประทับที่พระราชวังอึนฮย็อนเล็ก ๆ นอกเมืองฮันยาง

ญี่ปุ่นหลังจากที่มีการฟื้นฟูเมจินั้น ได้รับเอาวิทยาการตะวันตกเข้ามาอย่างมากและปรับปรุงประเทศจนทันสมัยมีพลังอำนาจแสนยานุภาพทัดเทียมชาติตะวันตก ในปี พ.ศ. 2418 เรือรบญี่ปุ่นชื่อ อุโย บุกเข้ามาโจมตีเมืองท่าต่าง ๆ ของโชซ็อนและหนีกลับ และญี่ปุ่นก็ส่งข้อเรียกร้องจนญี่ปุ่นและโชซ็อนได้ทำสนธิสัญญาคังฮวา ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียม ทำให้โชซ็อนเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น และต้องเปิดเมืองท่าให้กับญี่ปุ่นและชาวตะวันตก ได้แก่ ปูซาน อินชอน วอนซัน รวมถึงยินยอมให้คนญี่ปุน่สามารถเข้าไปจับจองที่ดินในโชซ็อนได้โดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ

การยึดอำนาจปีคัปชิน

ดูบทความหลักที่: รัฐประหารปีคัปชิน

ในพ.ศ. 2420 โชซ็อนส่งทูตไปเยี่ยมชมการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตกของญี่ปุ่น และทูตก็ได้พบว่าญี่ปุ่นนั้นเจริญก้าวหน้าเมืองต่าง ๆ กลายเป็นเมืองใหญ่ มเหสีมินจึงทรงตระหนักว่าประเทศของพระองค์นั้นล้าสมัยเพียงใดและต้องการการพัฒนาประเทศ แต่บรรดาขุนนางขงจื๊อของพระองค์ก็แตกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหัวก้าวหน้า ที่เห็นชอบกับการรับวิทยาการตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่ และตัดความสัมพันธ์กับจีน และฝ่ายซาแด คือ ฝ่ายที่เห็นตัวอย่างจากราชวงศ์ชิงแล้วว่า ชาวตะวันตกคือภัยคุกคาม ไม่ควรข้องแวะ แต่ภายใต้อำนาจของมเหสีมิน วิทยาการตะวันตกก็เข้าสู่โชซ็อนอย่างเต็มตัว

ผลก็คือกบฏทหารเก่า ที่ถูกแทนที่ด้วยทหารที่มีเทคโนโลยีมากกว่า จึงถูกละเลยและไม่ได้รับค่าจ้าง และหันไปหาแทวอนกุน แทวอนกุนเห็นโอกาสจึงส่งทหารพวกนี้มาบุกพระราชวังเคียงบกสังหารผู้สนับสนุนมเหสีมินในพ.ศ. 2425 พระเจ้าโกจงและมเหสีมินทรงหลบหนีได้ทัน ฝ่ายจีนเกรงว่าตนจะเสียการควบคุมประเทศราช จึงส่งทัพมายึดอำนาจคืนให้มเหสีมินและจับตัวแทวอนกุนกลับไปจีน ฝ่ายญี่ปุ่นได้โอกาสจึงหาข้ออ้างให้โชซ็อนขดเชยค่าเสียหายจากกบฏและส่งทัพมาคุ้มครองสถานกงสุล มเหสีมินจึงทรงอนุญาตให้จีนส่งทัพมาประจำที่โชซ็อน เพื่อคานอำนาจกับญี่ปุ่น และทรงเชื่อคำแนะนำของจีน ที่ให้โชซ็อนทำสัญญาการค้ากับชาติตะวันตก เช่น อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย ซึ่งสัญญาเหล่านี้โชซ็อนเสียเปรียบทั้งสิ้น

แต่ฝ่ายหัวก้าวหน้าที่ต่อต้านจีนไม่พอใจ จึงยกกำลังบุกพระราชวังยึดอำนาจในพ.ศ. 2427 สังหารฝ่ายซาแดไปมาก เรียกว่า การยึดอำนาจปีคัปชิน แต่สองวันถัดมาก็ถูกกองทัพจีนของหยวนซื่อไข่ปราบปรามจนราบคาบ ในพ.ศ. 2428 จีนและญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาเทียนจิน ตกลงจะถอนทัพออกจากโชซ็อน

กบฏทงฮัก

ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลายก็เป็นโอกาสให้ลัทธิทงฮัก (การเรียนรู้ตะวันออก) ถือกำเนิด ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญในการพิ่งพาตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวตะวันตก แต่การกระทำของทางราชการที่ไปทำสัญญญากับชาวตะวันตกทำให้พวกทงฮักไม่พอใจ แม้ว่าผู้คิดค้นลัทธิ คือ แชร์เจอู จะถูกประหารชีวิตไปแล้วก็ตามในพ.ศ. 2407 แต่ลัทธิของเขาก็ยังอยู่ ปลุกระดมบรรดาชาวไร่ชาวนาชาวบ้านที่ยากจนให้เดินขบวนประท้วงที่เมืองฮันยางในพ.ศ. 2437 เมื่อทางราชการไม่ฟังจึงก่อจลาจล มเหสีมินทรงเรียนกองทัพจากจีนมากช่วยปราบกบฏ จีนจึงให้หยวนซื่อไข่ไปปราบกบฏทงฮัก ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นดังนั้นจึงยกทัพเข้ามาบ้าง อ้างว่าจีนละเมิดสนธิสัญญาเทียนจิน ทำให้ชาวบ้านทงฮักผู้น่าสงสารถูกทั้งจีนและญี่ปุ่นสังหารเสียชีวิตไปมากมาย

แม้กบฏทงฮักจะถูกทำลายไปแล้ว แต่ทั้งจีนและญี่ปุ่นไม่ยอมถอนทัพกลับคืน และทำสงครามกันในโชซ็อน เรียกว่า สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 จนกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดพระราชวังเคียงบก คุมตัวพระเจ้าโกจงและมเหสีมิน ทางโชซ็อนจึงต้องจำนนทำตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น ให้ขับกองทัพจีนกลับไปให้หมด และตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ โชซ็อนหยุดส่งบรรณาการให้จีน เป็นประเทศเอกราช ทำลายยอนกึมมุน (ประตูใช้รับทูตราชวงศ์ชิง) และสร้างทงนิมมุน (ประตูเอกราช) ขึ้นแทน

การล้มล้างสถาบันจักรพรรดิโชซ็อนของจักรวรรดิญี่ปุ่น

เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นเห็นว่าพระมเหสีมิน จายองทรงเป็นอุปสรรคสำคัญในการครอบครองคาบสมุทรเกาหลี (มีผู้กล่าวว่า พระมเหสีมินจายองเปรียบเสมือนความเป็นชาติของโชซ็อน) มิอุระ โกโร่ ผู้นำกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นในโชซ็อนขณะนั้นจึงมีคำสั่งให้ ลอบสังหารพระมเหสีมินในพ.ศ. 2438 ซึ่งก็ไม่ทราบแน่ชัดว่ารัฐบาลกลางของจักรวรรดิญี่ปุ่นมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ โดยกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นบุกเข้าไปใน พระราชวังเคียงบก และสังหารพระนางอย่างโหดเหี้ยมภายในพระตำหนัก จากนั้นจึงเผาพระศพของพระนางภายหลังจากที่แน่ใจแล้วว่าสิ้นพระชนม์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์ มีแต่ชาวรัสเซียชื่อ เซอเรอดิน-ซาบาติน ที่เห็นทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่นบุกเข้าไปในฝ่ายในของวัง เรียกว่า เหตุการณ์ปีอึลมี

ขณะเดียวกัน พระเจ้าโกจง ก็ทรงลี้ภัยไปประทับที่สถานกงสุลรัสเซีย ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นได้อำนาจก็ทำการปรับปรุงจักรวรรดิโชซ็อนให้ทันสมัย โดยยกเลิกประเพณีเก่า ๆ โดยเฉพาะสั่งให้ผู้ชายทุกคนตัดจุก (ลัทธิขงจื๊อห้ามตัดผม) สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเกาหลีอย่างมาก ชาวโชซ็อนทุกชนชั้นจึงรวมตัวกันเป็น สมาคมเอกราช (ทงนิบ-ฮย็อบพี) ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าโกจงทรงทนการรบเร้าจากสมาคมเอกราชมิได้ จึงทรงกลับมาประทับที่พระราชวังทอกซู และมีพระบรมราชโองการเลื่อนฐานะของอาณาจักรโชซ็อน เป็นจักรวรรดิโชซ็อนพร้อมเปลี่ยนสถานะของพระองค์จากพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรโชซ็อนเป็น สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโชซ็อน ภายหลังญี่ปุ่นได้สยบพระราชอำนาจของพระองค์ลงได้และสั่งให้นำตัวพระราชวงศ์ทั้งหมดไปอยู่ที่เกาะญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์โชซ็อนที่ยาวนานถึง 600 ปีจึงสิ้นสุดเพียงเท่านี้