แนวเรื่อง ของ ละครโทรทัศน์ไทย

ละครน้ำเน่า

ละครน้ำเน่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย ตัวละครมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว สามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending) มีการนำมาทำซ้ำกันบ่อยครั้ง สืบทอดเนื้อหาอุดมการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากมักมีบทและเนื้อหาแสดงเกินจริง ผู้คน/เนื้อหาในเรื่องจึงมีมิติเดียว ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากต้องการให้คนดูมาก หรือเรื่องผู้สนับสนุนและการโฆษณา

นักแสดงนำเรียก พระเอก และนางเอก ซึ่งเป็นคู่รักกัน โดยพระเอกนางเอก มักเป็นคนฐานะดี[7] จุดใหญ่ใจความ มักเป็นเรื่องแย่งผัวแย่งเมีย หรือ มีการแก่งแย่งมรดกกัน[8] ละครหลายเรื่อง มีเค้าโครง "ทั้งรัก ทั้งแค้น แน่นอุรา" ดังจะเห็นได้จากละครเรื่อง รักในรอยแค้น, ขมิ้นกับปูน, ริษยา, คลื่นซัดใจ และ บริษัทบำบัดแค้น เมื่อตัวละครแก้แค้นบรรลุตามเป้าหมายแล้ว ก็มักจะปวดร้าวอยู่ในใจ[9] ละครน้ำเน่ามักถูกวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาและพล็อตเรื่องแนวน้ำเน่า หรือแบบเดิม ๆ เพื่อดึงดูดจำนวนผู้ชมมากกว่า จะคำนึงถึงคุณค่าและไม่สร้างสรรค์[10]

ละครผี

ละครโทรทัศน์ แนวนี้มีเรื่องเกี่ยวกับภูติผีปีศาจหรือวิญญาณ เวทมนตร์ ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ การติดต่อสื่อสารข้ามภพระหว่างวิญญาณกับมนุษย์ที่ชวนให้ความรู้สึกตื่นเต้น สยองขวัญ อาจมีแนวเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ เช่น ละครแนวชีวิต ความรัก ตลก สืบสวน เช่นละครเรื่อง เกิดแต่ชาติปางไหน (2542) และละคร ภูตสาวพราวเสน่ห์ (2551) ที่ผสมผสานแนวเรื่องตลกเบาสมอง ละครผีในแนวหลอกหลอน ที่ผีมีปมความแค้นอยู่ในใจ เช่นเรื่อง ภาพอาถรรพ์ (2534), ทายาทอสูร (2535) และ เวียงร้อยดาว (2557) เป็นต้น[11]

ละครสำหรับเด็ก

ละครโทรทัศน์เพื่อเยาวชนยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นละครโทรทัศน์สำหรับเด็กที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ควรแนะนำ (น 13+) มักเน้นตัวละครที่เป็นเยาวชนและวัยรุ่น แต่ก็มีตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่หรือวัยอื่นด้วย จุดมุ่งหมายของละครประเภทนี้ คือให้ความบันเทิงเป็นหลัก และให้ความรู้ สอนให้เป็นคนดี[12] ตัวอย่างเช่น นิทานทะลุมิติ (2552) ออกฉายทางช่อง 7 และ ทีมซ่าท้าฝัน (2553) เรื่องหลังนำเสนอเนื้อหาของครูที่ให้นักเรียนก้าวหน้าทางด้านกีฬาบาสเกตบอลควบคู่ไปกับการเรียน[13]

ละครวัยรุ่น

ละครวัยรุ่น มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัยรุ่น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต นำเสนอเรื่องราวของเพื่อนและครอบครัว บอกเล่าความสนุกสนานในชีวิตวัยรุ่น ความรักในวัยเรียน ฉากเลิฟซีนในยุคก่อนนั้น มีเพียงจับมือ ถือแขน ละครในยุคนี้เช่น ม.6/16 ร้ายบริสุทธิ์ (2539), วัยร้ายไฮสคูล (2544) และ กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (2534) เป็นต้น[14] เมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือ มีการใช้โซเชียลเนตเวิร์ก ฉากเลิฟซีนก็เริ่มมากขึ้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ตบตีแย่งผู้ชาย เกย์ เลสเบี้ยน หรือเรื่องเพศสัมพันธ์[15] อาทิเรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น (2556)[16], เลิฟซิคเดอะซีรีส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ (2556) และ GPA สถาบันพันธุ์แสบ (2558) เป็นต้น

ละครแนวข้ามเวลา

ละครแนวข้ามเวลา ส่วนใหญ่จะเดินทางข้ามไปยังอดีต แกนเรื่อง เป็นเรื่องราวความรักของพระเอก นางเอก ที่ไม่สมหวัง แล้วเดินทางข้ามเวลา ไปสร้างเรื่องสร้างราวต่าง ๆ ในละครไทยมักมี เหตุการณ์ประหลาดทั้งหลาย เช่น วิญญาณหลุดออกจากร่าง ไปจนถึงการมีวัตถุพิเศษที่เชื่อมโยงระหว่างสองช่วงเวลา หรือการมีเวทมนตร์คาถาที่ทำให้มิติเวลาบิดผัน[17] ตัวอย่างของละครแนวนี้เช่น บุพเพสันนิวาส, ทวิภพ, บ่วงบรรจถรณ์, แต่ปางก่อน, อตีตา, หัวใจรักข้ามภพ, สู่ฝันนิรันดร และ รอยไหม เป็นต้น[18]

ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ

ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็นละครที่สร้างมาจากนิทานพื้นบ้าน ตำนานเมือง บริษัทผู้สร้างละครแนวนี้ที่ถือว่าครองตลาดในปัจจุบันคือ สามเศียร[19] ซึ่งผลิตละครให้ทางช่อง 7 ออกฉายช่วงเช้าวันเสาร์ อาทิตย์ ละครบางเรื่องมีเรตติ้งดีไม่แพ้ละครช่วงหลังข่าว อย่างเรื่อง สี่ยอดกุมาร ฉบับปี 2559 มีเรตติ้งดีจนผู้จัดยืดเรื่อง มีจำนวนตอนถึง 81 ตอน ออกฉายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 อวสานตอนเดือนกุมภาพันธ์ 2560 หรือเรื่อง แก้วหน้าม้า ได้รับความนิยม เรตติ้งอยู่ที่ 11 มีจำนวนตอน 102 ตอน ละครพื้นบ้าน สังข์ทอง มีกลุ่มเป้าหมายใหญ่คือช่วงอายุ 6-9 ปี เรตติ้งในกลุ่มนี้ถึง 10.603 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี เรตติ้งเฉลี่ย 9.515[20]

ละครโลดโผน

ละครโลดโผน หรือ ภาษาปากว่า ละครบู๊ เป็นละครที่นำเสนอฉากคิวบู๊ เช่น เตะ ต่อย ฉากระเบิด ยิงปืน[21] ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงด้านการกำกับละครบู๊ เช่น ฉลอง ภักดีวิจิตร ละครเรื่องแรกของฉลอง คือ ระย้า ในปี 2541 ทำเรตติ้งสูงถึง 25 ซึ่งไม่เคยมีละครบู๊เรื่องใดทำได้สูงเท่านี้มาก่อน[22]

ละครซูเปอร์ฮีโรและจินตนิมิต

ละครโทรทัศน์ไทย มีตัวละครที่เป็นซูเปอร์ฮีโร แนวเหนือมนุษย์ มีความสามารถพิเศษ และเครื่องแต่งกายอันโดดเด่น อย่างเช่น อินทรีแดง ที่ถูกสร้างมาเป็นละครโทรทัศน์เช่นกัน หรือ นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว ที่มีพลังพิเศษ มีจุดอ่อนที่ทำให้หมดพลัง มีอุดมการณ์และศัตรูที่ชัดเจน[23] เรื่อง ลูกผู้ชายพันธุ์ดี ผู้ได้สืบทอดตะกรุดสายฟ้า ได้ช่วยกำจัดเหล่าร้ายและตามหาคนที่ฆ่าพ่อของตัวเอง เรื่อง คมแฝก มีไม้กระบองที่ปัดกระสุนได้ เรื่อง ยอดมนุษย์ดาบเทวดา ผู้สามารถใช้ดาบได้อย่างเก่งกาจ เรื่อง ลูกผู้ชายไม้ตะพด ที่ครอบครองไม้ตะพดวิเศษ เรื่อง ธิดาพญายม ลูกสาวของเทพที่จำเป็นต้องลงมาตามล่านักโทษแห่งสรวงสวรรค์ และ เรื่อง อังกอร์ เสือที่แปลงกายมาอยู่ในร่างผู้หญิง[24]

ละครอิงประวัติศาสตร์

ละครอิงประวัติศาสตร์ เป็นละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ดำเนินเรื่องในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์[25] ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส มีเนื้อหาละครในช่วงยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[26] เป็นละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดนับตั้งแตประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเมื่อปี 2558[27] ละครที่มีเรื่องราวในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้แก่ละครเรื่อง สายโลหิต และ ฟ้าใหม่[28] ละครเรื่อง รัตนโกสินทร์ ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3[29] เรื่อง ข้าบดินทร์ มีเนื้อเรื่องเกิดขึ้นสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[30] ละครที่เล่าเรื่องราวในช่วงรัชกาลที่ 5 ยุคที่ประเทศชาติบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง และประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำหลายอย่าง เช่น บ่วงบาป, นางทาส, ลูกทาส, สี่แผ่นดิน, ร่มฉัตร และ ทวิภพ[31]

ละครเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ละครหรือซีรีส์ที่มีเนื้อเรื่องนำเสนอเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ บางครั้งเรียกละครวาย ที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์ หรือตัวละครรักเพศเดียวกัน[32] คู่รักนี้รู้จักว่า คู่จิ้น ซึ่งได้สร้างให้นักแสดงคู่นั้นมีชื่อเสียงมาแล้วหลายคู่ บางคู่ได้ไปโชว์ตัวที่ต่างประเทศมาแล้ว เช่น ปุณกับโน่ ใน เลิฟซิคเดอะซีรีส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ, ก็อตกับบาส จาก เดือนเกี้ยวเดือน 2Moons The Series, สกายกับต่อ ใน โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์[33]

ละครโทรทัศน์ที่มีเกย์นำเสนอเรื่องราวเริ่มได้ความนิยมในสื่อในช่วงปี 2540 ละครในช่วงนั้นเช่น รักไร้อันดับ (2540), ท่านชายกำมะลอ (2540), ซอยปรารถนา 2500 (2541), กามเทพเล่นกล (2541), ชายไม่จริงหญิงไม่แท้ (2541), รักเล่ห์เพทุบาย (2542), สะพานดาว (2542), เมืองมายา (2543), ไม้แปลกป่า (2544), และ รักแปดพันเก้า (2547) และในยุคต่อมาการยอมรับเกย์มากขึ้น ส่งผลต่อตัวละครเกย์มากขึ้นใน ช่วงปี พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2558 เช่นเรื่อง มงกฎดอกส้ม (2554), กี่เพ้า (2555), ละครชุด Hormones วัยว้าวุ่น ฤดูกาลที่ 1 – 2 (ฤดูกาลที่ 1 พ.ศ. 2556, ฤดูกาลที่ 2 พ.ศ. 2557), ชิงรักหักสวาท (2557), มาลีเริงระบำ (2557), ละครชุด Hormones 3 The Final Season (2558), นางชฎา (2558)[34]

ในปัจจุบันเริ่มมีละครหรือซีรีส์ที่มีตัวละครเกย์ หรือกะเทยเป็นตัวละครหลัก เช่น ไดอารีตุ๊ดซีส์ เดอะซีรีส์ ที่ทำออกมา 2 ฤดูกาล[35]

ละครสะท้อนสังคม

ละครแนวสะท้อนสังคมมีไม่มากนัก สร้างออกมาก็ไม่โด่งดังมาก อย่างเรื่อง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ เคยสร้างก็ไม่ดังเท่าไร ยังมีการสร้างละครเสนอมุมมองด้านอาชีพ อย่างเรื่อง เลือดเข้าตา (2538) ที่เสนอภาพตำรวจเลว หรือเรื่อง สงครามนางฟ้า (2551) ที่นำเสนอภาพลักษณ์แอร์โฮสเตส ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับจากสังคม[36]

ใกล้เคียง

ละครโทรทัศน์ไทย ละครโน ละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น ละครโทรทัศน์เกาหลี ละครโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์จีน ละครโทรทัศน์ของสถานีทีวีอาซาฮิ ละครโอเปร่า ละครโทรทัศน์ เซเลอร์มูน ละครโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ฟูจิ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ละครโทรทัศน์ไทย http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636221 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/741776 http://www.positioningmag.com/content/59431 http://prachatai.com/journal/2012/08/41983 http://campus.sanook.com/1390793/ http://entertain.teenee.com/series/154125.html http://www.tvdigitalwatch.com/analysis-rating-lako... http://drama.zubzip.com/?drama http://www.komchadluek.net/detail/20150929/214231.... http://www.komchadluek.net/news/ent/163776