ลัทธิขงจื๊อ
ลัทธิขงจื๊อ

ลัทธิขงจื๊อ

ลัทธิขงจื๊อ หรือ ศาสนาขงจื๊อ[1] (อังกฤษ: Confucianism) เป็นระบบด้านจริยธรรมและปรัชญาของจีน ซึ่งพัฒนาจากการสอนของขงจื๊อ (551 - 479 ปีก่อน ค.ศ.) นักปรัชญาชาวจีน ลัทธิขงจื๊อถือกำเนิดขึ้นเป็น "งานสอนด้านจริยธรรม-สังคมการเมือง" ในยุคชุนชิว แต่ภายหลังพัฒนาส่วนที่เป็นอภิปรัชญาและจักรวาลวิทยาในสมัยราชวงศ์ฮั่น[2] หลังการละทิ้งลัทธิฟาเฉียในประเทศจีนหลังราชวงศ์ฉิน ลัทธิขงจื๊อได้กลายมาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐอย่างเป็นทางการของจีน กระทั่งถูกแทนที่ด้วย "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" ของนายแพทย์ ซุนจงซาน เมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐจีน ตามด้วยคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมาหลังสาธารณรัฐจีนถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีนในจีนแผ่นดินใหญ่มนุษยนิยมเป็นแก่นของลัทธิขงจื๊อ[3] ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า มนุษย์สามารถสอน พัฒนาและทำให้สมบูรณ์ได้ผ่านความพยายามส่วนตนและร่วมกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกตนและการเกิดขึ้นเอง (self-creation) ลัทธิขงจื๊อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณธรรมและการธำรงรักษาจริยธรรม โดยมีหลักพื้นฐานที่สุด คือ เหริน (rén) ยี่ (yì) และหลี่ (lǐ)[4] เหรินเป็นข้อผูกมัดปรัตถนิยมและความมีมนุษยธรรมแก่ปัจเจกบุคคลอื่นภายในชุมชน ยี่เป็นการค้ำจุนความชอบธรรมและอุปนิสัยทางศีลธรรมในการทำดี และหลี่เป็นระบบจารีตและความเหมาะสมซึ่งตัดสินว่า บุคคลควรปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสมภายในชุมชน[4] ลัทธิขงจื๊อถือว่า บุคคลควรยอมถวายชีวิตให้ หากจำเป็น เพื่ออุทิศแก่การค้ำจุนค่านิยมทางศีลธรรมหลัก เหรินและยี่[5] ผู้นับถือลัทธิขงจื๊ออาจเป็นผู้เชื่อในศาสนาพื้นบ้านของจีนด้วยก็ได้ เพราะลัทธิขงจื๊อเป็นอุดมการณ์มนุษยนิยมและอเทวนิยม และไม่ข้องเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือในพระเจ้าที่มีตัวตน[6]หลายวัฒนธรรมและประเทศได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลัทธิขงจื๊อ รวมทั้ง จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม เช่นเดียวกับอีกหลายดินแดนที่ชาวจีนเข้าไปตั้งรกรากจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ แม้แนวคิดลัทธิขงจื๊อจะแพร่หลายในพื้นที่เหล่านี้ มีคนส่วนน้อยนอกแวดวงวิชาการที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้นับถือลัทธิขงจื๊อ[7][8] และกลับเห็นว่าจริยศาสตร์ขงจื๊อเป็นแนวปฏิบัติเติมเต็มสำหรับอุดมการณ์และความเชื่ออื่นมากกว่า ซึ่งมีทั้งประชาธิปไตย มากซิสต์ ทุนนิยม ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ