คอมมิวนิสต์แบบลัทธิมากซ์ ของ ลัทธิคอมมิวนิสต์

ลัทธิมากซ์

ดูบทความหลักที่: ลัทธิมากซ์
คาร์ล มากซ์

มากซ์และเองเงิลส์พยายามหาแนวทางที่จะนำจุดจบมาสู่ระบบทุนนิยมและการกดขี่ผู้ใช้แรงงานเหมือนกับนักสังคมนิยมคนอื่น ๆ แต่ในขณะที่นักสังคมนิยมคนอื่นหวังถึงการค่อย ๆ ปฏิรูปสังคมในระยะยาว ทั้งมาร์กซ์และเองเกิลส์คิดว่ามีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่ระบอบสังคมนิยมได้ นั่นคือการปฏิวัติ[30]

ตามที่ข้อสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ของมากซ์กล่าวไว้ว่า ลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคมชนชั้นคือความไม่สนใจซึ่งกันและกัน และยังกล่าวอีกว่าความคิดแบบคอมมิวนิสต์คือสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา เพราะมันนำมาซึ่งความหยั่งรู้และการพบกับอิสรภาพแห่งมนุษย์อย่างแท้จริง มากซ์ในที่นี้กล่าวตามนักปรัชญาชาวเยอรมัน จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกิล (G.W.F. Hegel) ที่กล่าวว่าอิสรภาพมิใช่เพียงแค่การมิให้อำนาจเข้ามาควบคุมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการกระทำที่มีสำนึกศีลธรรมอีกด้วยไม่เพียงแค่ระบอบคอมมิวนิสต์จะทำให้คนทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการเท่านั้น แต่การทำให้มนุษย์ที่มีสถานภาพเดียวกันและความเหมือนกันนั้น จะทำให้พวกเขาไม่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์สู่ตนเองอีกต่อไป ในขณะที่เฮเกิลคิดถึงการใช้ชีวิตตามหลักจรรยา ผ่านมโนภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับมากซ์แล้ว คอมมิวนิสต์นั้นเกิดขึ้นได้จากวัตถุและผลิตผล[31] โดยเฉพาะการพัฒนารายได้ที่ประชาชนจะได้รับจากการผลิต

อุดมการณ์ทางการเมือง
เน้นเรื่องสังคม
กษัตริย์นิยม
เสรีนิยม
อนุรักษนิยม
ฟาสซิสต์
เน้นเรื่องเศรษฐกิจ
ทุนนิยม
สังคมนิยม
คอมมิวนิสต์
ลัทธิเลนิน
ลัทธิสตาลิน
ลัทธิเหมา

ลัทธิมากซ์นั้นยึดถือว่ากระบวนการแตกแยกระหว่างชนชั้นที่ต่างกัน ผสมกับการดิ้นรนต่อสู้ที่จะปฏิวัติ จะนำชัยชนะมาสู่ชนชั้นแรงงาน และนำมาซึ่งการก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ที่ที่สิทธิ์ในการการครอบครองทรัพย์สมบัติส่วนบุคคลจะค่อย ๆ ถูกลบล้างไป และรายได้ของประชาชนจากการผลิต และความเป็นอยู่ที่ยึดติดอยู่กับชุมชนจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ตัวมากซ์เองนั้นชี้แจงไว้เพียงเล็กน้อย เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่เมื่ออยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ แต่กล่าวถึงข้อมูลเฉพาะส่วนหลัก ๆ ที่เป็นแนวทางไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวกับการลดขอบเขตของสิ่งที่บุคคลพึงกระทำ เห็นได้จากคำขวัญของกลุ่มเคลื่อนไหวลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีความว่า สังคมคอมมิวนิสต์คือโลกที่ทุก ๆ คนทำในสิ่งที่พวกเขาถนัด และได้รับตามที่พวกเขาต้องการ ตัวอย่างที่อธิบายแนวคิดของมากซ์มาจากผลงานเขียนเพียงไม่กี่ชิ้นของเขาที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยละเอียดคือ แนวคิดลัทธิของเยอรมัน (The German Ideology) ในปี ค.ศ. 1845 งานชิ้นนั้นมีใจความว่า:

"ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีใครถูกจำกัดภาระหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในทุกๆ สาขาที่เขาต้องการ เมื่อสังคมกำหนดเป้าหมายการผลิตทำให้มันเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งหนึ่งวันนี้ และทำให้อีกสิ่งในวันพรุ่ง ล่าสัตว์ในตอนเช้า ตกปลาในตอนกลางวัน ต้อนวัวในตอนเย็น และวิจารณ์หลังอาหารค่ำ ดังที่ตัวเองปรารถนา โดยไม่ต้องมีอาชีพเป็นนักล่าสัตว์ ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์และนักวิจารณ์"

วิสัยทัศน์ที่มั่นคงของมากซ์ ทำให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมที่เป็นระบบ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง และเป็นทฤษฎีทางการเมืองที่อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำการปฏิวัติเพื่อที่จะได้สิ่งใดๆ มาที่มีข้อกังขาเล็กน้อย

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นิยามของคำว่า ระบอบสังคมนิยม และ ระบอบคอมมิวนิสต์ มักถูกใช้แทนกัน อย่างไรก็ตาม มากซ์และเองเงิลส์เห็นว่า สังคมนิยมคือระดับปานกลางของสังคมที่ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่จากการผลิตมีมวลชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ยังคงความแตกต่างระหว่างชนชั้นไว้เล็กน้อย โดยที่พวกเขาสงวนนิยามของระบอบคอมมิวนิสต์ไว้ว่า เป็นขั้นสุดท้ายของสังคมที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี และรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

หลักเกณฑ์เหล่านี้ต่อมาจึงถูกพัฒนา โดยเฉพาะจากวลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งมีอิทธิพลในการกำหนดลักษณะของพรรคคอมมิวนิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ให้โดดเด่น นักเขียนรุ่นต่อมาเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของมาร์กซ์โดยมอบอำนาจให้กับรัฐให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสังคมดังกล่าว โดยแย้งว่าการที่จะให้เป็นคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ได้นั้น ต้องเริ่มมาจากการเป็นสังคมนิยมเสียก่อน จึงค่อย ๆ แปลงสังคมภายใต้ระบอบสังคมนิยม ให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์[32]

คนรุ่นเดียวกับมาร์กซ์บางคน เช่น อนาธิปัตย์อย่างมิคาเอล บาคูนิน ก็สนับสนุนแนวคิดคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันในทัศนคติของพวกเขาในเรื่องของวิธีที่จะนำไปสู่สังคมสามัคคีที่ไร้ชนชั้นได้ จนมาถึงทุกวันนี้ยังคงมีการแบ่งกลุ่มเคลื่อนไหวของคนงานอยู่ระหว่างกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และกลุ่มอนาธิปัตย์ โดยที่พวกอนาธิปัตย์มีความคิดเป็นปฏิปักษ์และต้องการที่จะล้มล้างทุกอย่างที่เป็นของรัฐบาล แต่ในหมู่พวกเขาก็มีนักอนาธิปัตย์-คอมมิวนิสต์อย่าง ปีเตอร์ โครพอตคิน ที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไร้ชนชั้นในทันที ในขณะที่นักอนาธิปัตย์-สหการนิยมเชื่อในสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในสังคม ตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่เชื่อในสังคมไร้ชนชั้น นั่นคือไม่มีผู้นำ)

ลัทธิเลนิน

ดูบทความหลักที่: ลัทธิเลนิน
รูปปั้นวลาดีมีร์ เลนิน ในเมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก

เราต้องการบรรลุระเบียบทางสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม: ในสังคมใหม่ที่ดีกว่านี้จะต้องไม่มีคนรวยหรือคนจน ทุกคนต้องทำงาน คนทำงานทุกคนจะต้องได้ผลประโยชน์จากแรงงานของตน ไม่ใช่แค่คนรวยจำนวนหนึ่งเท่านั้น เครื่องจักรและการปรับปรุงอื่น ๆ ต้องถูกใช้เพื่อบรรเทาภาระงานของทุกคน ไม่ใช่เพื่อให้คนรวยร่ำรวยขึ้นบนความทุข์ยากของคนนับสิบนับล้าน สังคมใหม่ที่ดีกว่านี้มีชื่อว่าสังคมสังคมนิยม และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสังคมดังกล่าวเรียกว่า "ลัทธิสังคมนิยม"

– วลาดีมีร์ เลนิน ค.ศ 1903[33]

ลัทธิเลนินคือตัวตนของทฤษฎีการเมืองที่พัฒนาโดยและตั้งชื่อตามนักปฏิวัติชาวรัสเซีย วลาดีมีร์ เลนิน ผู้ซึ่งภายหลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำโซเวียต สำหรับองค์กรทางประชาธิปไตยของพรรคแนวหน้าการปฏิวัติและความสำเร็จของเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ อันจะเบิกทางไปสู่การสถาปนาลัทธิสังคมนิยมในทางการเมือง ลัทธิเลนินประกอบขึ้นจากทฤษฎีเศรษฐกิจและการเมืองต่าง ๆ ซึ่งพัฒนามาจากลัทธิมากซ์ เช่นเดียวกับการตีความทฤษฎีมากซิสต์ของเลนินเองเพื่อให้สามารถไปประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติกับสภาพแวดล้อมเงื่อนไขของจักรวรรดิรัสเซีย ที่เป็นสังคมเกษตรกรรมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ลัทธิเลนินถูกนำไปปฏิบัติใช้เป็นระยะเวลา 5 ปีในฐานะปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจตามแนวทางมากซิสต์ในแบบฉบับของรัสเซีย ซึ่งบังคบใช้จริงและยังให้เกิดผลโดยพวกบอลเชวิก พรรคการเมืองแนวหน้าผู้นำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน

ลัทธิมากซ์-เลนิน ลัทธิสตาลิน และลัทธิทรอตสกี

ลัทธิมากซ์-เลนินและลัทธิสตาลิน

โจเซฟ สตาลิน ค.ศ. 1942

ลัทธิมากซ์-เลนิน คือแนวคิดทางการเมืองที่พัฒนาโดยโจเซฟ สตาลิน[34] ซึ่งถ้ายึดถือตามผู้เสนอแล้วเป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากลัทธิมากซ์และลัทธิเลนิน ลัทธิดังกล่าวอธิบายแนวคิดทางการเมืองแบบจำเพาะที่สตาลินริเริ่มปฏิบัติในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ระดับรัฐ) และโคมินเทิร์น (ระดับสากล) อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าแท้จริงแล้วสตาลินได้ปฏิบัติตามแนวทางลัทธิมากซ์และเลนินตามชื่อลัทธิหรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์[35] เนื่องจากมีเนื้อหาสาระบางแง่มุมที่อาจจะเบี่ยงเบนไปจากเนื้อหาสาระของลัทธิมากซ์ เช่น แนวทาง สังคมนิยมประเทศเดียว[36][37] ทั้งนี้ลัทธิมากซ์-เลนินคือแนวคิดของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เห็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด จึงเป็นลัทธิซึ่งเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่โดดเด่นมากที่สุด

ลัทธิมากซ์-เลนินยังอาจกล่าวถึงในฐานะระบบเศรษฐกิจ-สังคมและแนวคิดทางการเมืองซึ่งริเริ่มโดยสตาลินในสหภาพโซเวียต และภายหลังถูกลอกเลียนและนำไปใช้บนพื้นฐานจากตัวแบบโซเวียต (Soviet model) โดยรัฐอื่น ๆ เช่น การวางแผนจากส่วนกลาง และรัฐพรรคการเมืองเดียว เป็นต้น ในขณะที่ลัทธิสตาลินจะกล่าวถึงการปกครองในแบบฉบับของสตาลิน เช่น การกดขี่ทางการเมือง และลัทธิบูชาบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ลัทธิมากซ์-เลนินยังคงอยู่หลังกระบวนการล้มล้างลัทธิสตาลิน (de-Stalinization) นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับสุดท้ายก่อนถึงแก่กรรม เลนินเคยกล่าวเตือนถึงอันตรายจากบุคลิกของสตาลินมาก่อน และเร่งเร้าให้รัฐบาลโซเวียตหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผู้นำแทน[38]

ลัทธิเหมาคือรูปแบบหนึ่งของลัทธิมากซ์-เลนินซึ่งข้องเกี่ยวกับผู้นำจีน เหมา เจ๋อตง หลังการล้มล้างลัทธิสตาลิน สหภาพโซเวียตยังคงยึดมั่นในลัทธิมากซ์-เลนิน แต่กระแสต่อต้านลัทธิแก้ (Anti-revisionism) บางส่วน เช่น ลัทธิฮกไฮ (Hoxhaism) และลัทธิเหมา ต่างแย้งว่าลัทธิมากซ์-เลนินหลังยุคสตาลินคือรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไป ดังนั้นนโยบายของคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียและจีนจึงแตกต่างและถอยห่างออกจากสหภาพโซเวียต

ลัทธิมากซ์-เลนินถูกวิจารณ์จากแนวคิดคอมมิวนิสต์และมากซิสต์แนวอื่น ๆ ว่ารัฐมากซิสต์-เลนินนิสต์ไม่ได้สถาปนาระบอบสังคมนิยม หากแต่เป็นระบอบทุนนิยมรัฐ (state capitalism) เสียมากกว่า[32] ซึ่งตามแนวทางลัทธิมากซ์แล้ว เผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) เป็นตัวแทนถึงการปกครองของชนหมู่มาก (ประชาธิปไตย) มากกว่าที่จะเป็นของพรรคการเมืองเดียว ถึงขนาดที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งลัทธิมากซ์ ฟรีดริช เองเงิลส์ เคยอธิบาย รูปแบบจำเพาะ ของการปกครองนี้ไว้ว่าเป็นระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย[39] นอกจากนี้ เองเงิลส์ยังอธิบายว่าทรัพย์สินของรัฐแท้จริงแล้วก็คือทรัพย์สินของเอกชน (ทรัพย์สินส่วนตน) ตามธรรมชาติของระบอบทุนนิยม[40] เว้นแต่หากเหล่าชนชั้นกรรมาชีพสามารถควบคุมอำนาจทางการเมือง (รัฐ) ได้ ทรัพย์สินนั้นต่างหากจะถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะโดยแท้จริง[41] ซึ่งคำถามที่ว่าชนกรรมาชีพแท้จริงแล้วมีอำนาจควบคุมเหนือรัฐมากซิสต์-เลนินนิสต์หรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่ลัทธิมากซ์-เลนินด้วยกันเอง และลัทธิคอมมิวนิสต์สายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับลัทธิคอมมิวนิสต์สายอื่น ๆ แล้ว ลัทธิมากซ์-เลนินอาจไม่ใช่ทั้งลัทธิมากซ์ ลัทธิเลนิน หรือการรวมกันของลัทธิทั้งสอง แต่เป็นเพียงบทนิยามที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เรียกการที่สตาลินบิดเบือนแนวคิดมากซ์-เลนินไปจากเดิม[42] แล้วนำเอาแนวคิดของตนดังกล่าวไปบังคับใช้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและโคมินเทิร์น ในสหภาพโซเวียตเรียกขานแนวทางต่อต้านลัทธิมากซ์-เลนินนี้ว่า ลัทธิทรอตสกี ซึ่งเรียกขานตนเองว่าเป็นลัทธิในแนวทางมากซ์และเลนิน (Marxist and Leninist tendency)

ลัทธิทรอตสกี

ลัทธิทรอตสกี คือแนวคิดตามแนวทางมากซ์และเลนินที่พัฒนาโดยเลออน ทรอตสกี แต่ต่อต้านลัทธิมากซ์-เลนิน ลัทธิดังกล่าวสนับสนุนทฤษฎีการปฏิวัติถาวร (permanent revolution) และการปฏิวัติโลก แทนที่ทฤษฎีสองขั้นและแนวทางสังคมนิยมประเทศเดียว นอกจากนี้ยังสนับสนุนลัทธิชนกรรมาชีพสากล (proletarian internationalism) และการปฏิวัติคอมมิวนิสต์อีกครั้งหนึ่งในสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งทรอตสกีอ้างว่าได้กลายเป็น รัฐแรงงานเสื่อมสภาพ (degenerated worker's state) ไปเสียแล้วภายใต้การนำของสตาลิน และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผิดเพี้ยนไปในรูปแบบใหม่ แทนที่จะเป็นเผด็จการโดยชนกรรมาชีพตามแนวทางลัทธิมากซ์แบบดั้งเดิม

ทรอตสกีและผู้สนับสนุนดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหนือสหภาพโซเวียตและขับไล่สตาลินออกจากการปกครอง ได้แบ่งการจัดตั้งเป็นฝ่ายซ้ายต่อต้าน (Left Opposition) ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อลัทธิทรอตสกี อย่างไรก็ตาม สตาลินสามารถรวบรวมอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จไว้ได้สำเร็จในท้ายที่สุด ส่งผลให้ความพยายามของทรอตสกีล้มเหลวและต้องลี้ภัยออกจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1929 ในขณะที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศนั้น ทรอตสกียังคงดำเนินการต่อต้านสตาลินอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การก่อตั้งสังคมนิยมสากลที่สี่ (Fourth International) ในปี ค.ศ. 1938 ขึ้นมาแข่งกับโคมินเทิร์น ท้ายที่สุดแล้วทรอตสกีถูกลอบสังหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี ตามคำสั่งของสตาลิน

ทั้งนี้การเมืองตามแบบฉบับของทรอตสกีแตกต่างไปจากสตาลินและเหมาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการประกาศเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในระดับสากล (แทนที่จะเป็นแนวทางสังคมนิยมประเทศเดียว) และการสนับสนุนเผด็จการโดยชนกรรมาชีพบนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยโดยแท้จริง

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมคือกรอบปรัชญาทางเศรษฐกิจและการเมืองกว้าง ๆ ที่เน้นการต่อต้านแง่มุมอำนาจนิยมภายในลัทธิมากซ์ ซึ่งในช่วงต้นรู้จักกันในชื่อ คอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย[43] และมีจุดยืนตรงกันข้ามกับลัทธิมากซ์-เลนิน[44] รวมถึงแนวคิดย่อยอื่น ๆ เช่น ลัทธิสตาลิน ลัทธิเหมา และลัทธิทรอตสกี[45] นอกจากนี้ยังมีจุดยืนที่เน้นไปทางปฏิรูปนิยมเช่นเดียวกับพวกประชาธิปไตยสังคมนิยม[46] กระแสลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมักจะยึดถือผลงานชิ้นหลัง ๆ ของมากซ์และเองเงิลส์ โดยเฉพาะ กรุนด์ริสเซอ (เยอรมัน: Grundrisse; ปัจจัยพื้นฐาน) และ สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส (The Civil War in France)[47] ซึ่งเน้นความเชื่อของมากซ์ที่ว่าชนชั้นแรงงานสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้โดยไม่ต้องพึงพานักปฏิวัติหรือรัฐเข้ามาเป็นตัวกลางหรือตัวช่วยในการปลดแอกตนเอง[48] ดังนั้นลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมจึงถือเป็นแนวคิดกระแสหลักหนึ่งในสองกระแสภายใต้ลัทธิสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเคียงคู่กับอนาธิปไตย[49]

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมยังรวมถึงแนวคิดกระแสอื่น ๆ เช่น ลัทธิลุกเซิมบวร์ค ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย โซซียาลิสม์อูบาร์บารี (ฝรั่งเศส: Socialisme ou Barbarie; สังคมนิยมหรืออนารยชน) แนวทางจอห์นสัน-ฟอเรสต์ ลัทธิสังคมนิยมโลก ลัทธิเลททริหรือสภาวะนิยม (Lettrism หรือ Situationism) ออปอเรซโม (อิตาลี: Operaismo) หรืออัตินิยม (autonomism) และฝ่ายซ้ายใหม่[50] ซึ่งบ่อยครั้งที่ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดฝ่ายซ้ายยุคหลัง (post-left) และอนาธิปไตยแบบสังคมนิยม นักทฤษฎีตามลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมที่มีชื่อเสียง เช่น ออนทอน พันเนอคุก, รายา ดูนาเยฟสกายา, ซี.แอล.อาร์. เจมส์, คอร์นีเลียส กัสโตรรีอาดีส, เมาริซ บรินตัน, กี เดอบอร์, ดานียาล เกแรง, แอเนสโต สเครปันติ และราอูล วาเนญอง

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมคือการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายจัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีพรรคกรรมกรคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (KAPD) เป็นหลักสำคัญขององค์กร และยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวตามเหตุผลและหลักการของมาร์กซิสต์และสังคมนิยมแบบอิสรนิยม

หลักการสำคัญของลัทธินีคือให้รัฐบาลและเศรษฐกิจควรจะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์คณะแรงงาน (workers' council) ซึ่งประกอบด้วยการเลือกผู้แทนจากสถานที่ทำงานและสามารถให้มีการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งได้ทุกเมื่อ จากแนวคิดดังกล่าว หลักการของสภาคอมมิวนิสต์จึงขัดต่อลัทธิอำนาจนิยม สังคมนิยมรัฐ และทุนนิยมรัฐ รวมไปถึงการต่อต้านพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ เนื่องจากจะนำไปสู่พรรคการเมืองเผด็จการในที่สุด ทั้งยังสนับสนุนประชาธิปไตยโดยชนชั้นแรงงาน ซึ่งเหล่าผู้ใช้แรงงานจะสามารถจัดตั้งสหพันธ์แรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของตน นอกจากนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมมักจะถูกมองว่ามีส่วนคล้ายกับลัทธิอนาธิปไตย เนื่องจากแนวคิดต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมตามแบบลัทธิเลนินและปฏิเสธแนวคิดของพลพรรคแนวหน้านิยม (party vanguardism)

ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย

โรซา ลุกเซิมบวร์ค

ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายคือกรอบมุมมองตามลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือโดยฝ่ายซ้าย วิจารณ์แนวคิดและแนวปฏิบัติทางการเมืองหลังระลอกการปฏิวัติโดยพวกบอลเชวิกและพวกประชาธิปไตยสังคมนิยมที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง โดยคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายแสดงจุดยืนที่ว่าตนเองคือกลุ่มก้อนที่มีแนวคิดยึดโยงตามลัทธิมากซ์และชนกรรมาชีพอย่างแท้จริงมากกว่าคอมมิวนิสต์ตามลัทธิมากซ์-เลนิน ซึ่งสนับสนุนโดยคอมมิวนิสต์สากลหลังการประชุมครั้งที่หนึ่ง (เดือนมีนาคม ค.ศ. 1919) และระหว่างการประชุมครั้งที่สอง (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. 1920)[51]

คอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายประกอบไปด้วยขบวนการทางการเมืองหลายกลุ่ม ไล่ตั้งแต่พวกลัทธิมากซ์-เลนิน (ที่ถูกมองว่าแท้จริงคือพวกฝ่ายซ้ายของระบอบทุนนิยมมากกว่า) และพวกลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย (บางส่วนถือว่าเป็นพวกสังคมนิยมสากล) เช่นเดียวกับกลุ่มปฏิวัติสังคมนิยมอื่น ๆ อีกหลายแนว เช่น ลัทธิเดอเลออน (De Leonism) ที่มักจะถูกมองว่าเป็นพวกสังคมนิยมสากลในบางโอกาส[52]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลัทธิคอมมิวนิสต์ http://www.hetsa.org.au/pdf/34-A-08.pdf http://www.economist.com/displaystory.cfm?story_id... http://www.reocities.com/kk_abacus/vb/wd12persp.ht... http://sk.sagepub.com/reference/the-encyclopedia-o... http://socialistregister.com/index.php/srv/article... http://www.utopianmag.com/files/in/1000000034/12__... http://dwardmac.pitzer.edu/anarchist_archives/worl... http://searchworks.stanford.edu/view/1880822 http://www.loc.gov/rr/rarebook/coll/rad.html http://www.nestormakhno.info/english/platform/cons...