คอมมิวนิสต์แบบอื่น ของ ลัทธิคอมมิวนิสต์

รูปแบบหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิมากซ์ อย่างไรก็ตามลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวทางอื่นที่ไม่ใช่ลัทธิมากซ์ยังปรากฏให้เห็นด้วยเช่นกัน

ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย

ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย (หรือรู้จักในชื่อ ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม) คือทฤษฎีตามลัทธิอนาธิปไตย มีเป้าหมายเพื่อล้มล้างรัฐ ทรัพย์สินส่วนบุคคล และระบอบทุนนิยม และแทนที่ด้วยการเป็นเจ้าของร่วมในปัจจัยการผลิต [53][54] ประชาธิปไตยโดยตรง และเครือข่ายของหน่วยงานอาสาและสภาแรงงานที่มีโครงสร้างเป็นแนวนอน (horizontal) ซึ่งมีลักษณะการผลิตและบริโภคตามหลักการ "จากแต่ละคนตามความสามารถ ให้แต่ละคนตามความต้องการ" (From each according to his ability, to each according to his needs)[55][56]

ปีเตอร์ ครอพอตกิน นักทฤษฎีคนสำคัญตามลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย

ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยแตกต่างจากลัทธิมากซ์เนื่องจากปฏิเสธมุมมองที่ว่าจำเป็นต้องมีรัฐคอมมิวนิสต์ก่อนถึงจะสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงได้ นักทฤษฎีคนสำคัญตามแนวคิดนี้คือ ปีเตอร์ ครอพอตกิน ได้แย้งว่าสังคมนักปฏิวัติควรที่จะ "เปลี่ยนผ่านตนเองไปสู้สังคมคอมมิวนิสต์โดยทนที" หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ "ขั้นที่สูงและสมบูรณ์กว่า" ตามคำนิยามของมากซ์[57] ซึ่งเป็นแนวทางที่พยายามหลีกเลี่ยง "การแบ่งแยกชนชั้นและความปรารถนาให้รัฐเป็นผู้สอดส่องดูแลทุกอย่าง"[57]

รูปแบบบางประการของลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย เช่น ลัทธิอนาธิปไตยที่เน้นแนวทางการจราจล (insurrectionary anarchism) ถูกจัดว่าเป็นรูปแบบตามลัทธิอัตนิยม (egoism) และได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมากจากลัทธิปัจเจกนิยม (individualism)[58][59][60] ซึ่งเชื่อว่าลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีลักษะณะแบ่งปันร่วมกันหรือเป็นส่วนรวมแต่อย่างใด (คอมมิวนิสต์เองเป็นชื่อที่แปลว่า "ส่วนรวม") ในขณะที่ผู้ที่เชื่อในลัทธิดังกล่าวมองลัทธิของตนว่าเป็นแนวทางประนีประนอมความปฏิปักษ์ระหว่างปัจเจกชนและสังคม[61][62][63]

ในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคปัจจุบัน ตัวอย่างดีที่สุดของสังคมตามลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยคือดินแดนอนาธิปไตย (ดินแดนในสภาพไร้ขื่อแป) ช่วงระหว่างการปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1936 และดินแดนเสรี (Free Territory) ช่วงระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีพื้นฐานใกล้เคียงกับแนวคิดในปัจจุบันและเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ทั่วโลก กระแสนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยในสเปนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1936 ด้วยความพยายามและอิทธิพลของกลุ่มอนาธิปไตยสเปนในช่วงการปฏิวัติสเปนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองสเปน ส่วนมากรวมกลุ่มกันในอารากอน บางส่วนของเลเวนเตและอันดาลูซิอา รวมถึงพื้นที่แกนกลางของกลุ่มอนาธิปไตยกาตาลันในกาตาลุญญา แต่ภายหลังถูกบดขยี่และปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองกำลังผสมระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม) กองกำลังของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กองกำลังของเบนิโต มุสโสลินี การปราบปรามโดยพรรคคอมมิวนิสต์สเปน (ซึ่งสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน) เช่นเดียวกับการปิดกั้นทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์โดยกลุ่มประเทศในระบอบทุนนิยมและสาธารณรัฐสเปน ในขณะที่รัสเซียในช่วงการปฏิวัติ นักอนาธิปไตยอย่างเนสเตอร์ มักห์โน ดำเนินกิจกรรมจัดตั้งและปกป้องดินแดนเสรีในยูเครนผ่านกองทัพปฏิวัติ-จราจลยูเครน และกลุ่มผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่กองกำลังของฝ่ายบอลเชวิกในปี ค.ศ. 1921

ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์

ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์คือรูปแบบหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ทางศาสนาซึ่งมีหลักพื้นฐานอยู่บนศาสนาคริสต์ เป็นทฤษฎีการเมืองและศาสนศาสตร์ที่มองว่าคำสอนของพระเยซูบังคับให้ชาวคริสต์สนับสนุนลัทธิสังคมนิยมในฐานะระบอบสังคมในอุดมคติ และแม้จะไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ก่อตั้งเมื่อใด แต่นักคริสเตียนคอมมิวนิสต์หลายคนพยายามนำเสนอหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิลที่บ่งชี้ว่าชาวคริสต์ยุคแรก (รวมถึงอัครทูต) ได้ก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กของตนเองหลังการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระเยซู ด้วยเหตุนี้ผู้สนับสนุนลัทธิดังกล่าวจึงมักจะเสนอว่าพระเยซูคริสต์เป็นผู้สอนและอัครทูตเป็นผู้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติใช้ด้วยตนเอง

ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ยังถูกมองว่าเป็นรูปแบบสุดโต้งของลัทธิคริสเตียนสังคมนิยม คริสเตียนคอมมิวนิสต์จึงอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับลัทธิมากซ์ในทุกประเด็น เช่น การที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางอเทวนิยมและต่อต้านศาสนาของฝ่ายฆราวาสนิยมในลัทธิมากซ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับแง่มุมทางเศรษฐกิจและอัตถิภาวนิยมหลาย ๆ ประเด็นของทฤษฎีมากซิสต์ เช่น แนวคิดที่ว่าระบอบทุนนิยมเอาเปรียบชนชั้นแรงงานด้วยการรีดไถมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานในรูปของกำไร และแนวคิดที่ว่าระบบแรงงานว่าจ้าง (wage labor) เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์เกิดความแปลกแยก (alienation) ซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจหน้าที่ที่ไม่ยุติธรรมและฉาบฉวย นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกับลัทธิมากซ์ด้วยว่าระบอบทุนนิยมก่อให้เกิดแง่มุมด้านลบของมนุษย์ แทนที่ค่านิยมด้านบวก เช่น ความเมตตา ความกรุณา ความยุติธรรม และความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความโลภ ความเห็นแก่ตัว และความมักใหญ่ใฝ่สูง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลัทธิคอมมิวนิสต์ http://www.hetsa.org.au/pdf/34-A-08.pdf http://www.economist.com/displaystory.cfm?story_id... http://www.reocities.com/kk_abacus/vb/wd12persp.ht... http://sk.sagepub.com/reference/the-encyclopedia-o... http://socialistregister.com/index.php/srv/article... http://www.utopianmag.com/files/in/1000000034/12__... http://dwardmac.pitzer.edu/anarchist_archives/worl... http://searchworks.stanford.edu/view/1880822 http://www.loc.gov/rr/rarebook/coll/rad.html http://www.nestormakhno.info/english/platform/cons...