ประวัติศาสตร์ ของ ลัทธิคอมมิวนิสต์

คอมมิวนิสต์ช่วงต้น

จุดกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ยังคงเป็นที่ถกเถียง มีกลุ่มบุคคลและนักทฤษฎีในประวัติศาสตร์หลากหลายกลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับนักปรัชญาชาวเยอรมัน คาร์ล มากซ์ ถือว่าจุดเริ่มต้นของลัทธิคอมมิวนิสต์คือสังคมมนุษย์ในสมัยโบราณที่ส่วนมากจะเป็นนักล่า-เก็บของป่าเรียกว่า "สังคมคอมมิวนิสต์โบราณ" (primitive communism) จนกระทั่งต่อมาเมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Economic surplus) ขึ้นมา จึงเกิดระบบความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ส่วนบุคลลขึ้น และไม่แบ่งปันทรัพย์สินหรือสิ่งของใด ๆ กับผู้อื่นให้ใช้เป็นส่วนรวมอีกต่อไป

อนุสาวรีย์ที่อุทิศแด่คาร์ล มากซ์ (ซ้าย) และฟรีดริช เองเงิลส์ (ขวา) ในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ตามคำกล่าวของริชาร์ด ไปป์ แนวคิดเกี่ยวกับสังคมที่เท่าเทียมเสมอภาคและปราศจากชนชั้นถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในกรีซโบราณ[7] นอกจากนี้ยังมีขบวนการมัสดาก (Mazdak) ในเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ที่ถือว่า "มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์" (communistic) เนื่องจากท้าทายต่ออภิสิทธิ์ที่มีอยู่อย่างมากมายของชนชั้นนำและนักบวช วิพากษ์วิจารณ์การถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล และมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เสมอภาคขึ้นมา[8][9]

บางช่วงในประวัติศาสตร์ยังปรากฏว่ามีสังคมคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปมีแรงบันดาลใจมากจากคัมภีร์ทางศาสนา[10] เช่น คริสตจักรในสมัยกลางที่ปรากฏว่ามีอารามวาสีและกลุ่มก้อนทางศาสนาบางแห่งร่วมแบ่งปันที่ดินและทรัพย์สินในหมู่สมาชิกด้วยกันเอง (ดูเพิ่มที่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ทางศาสนา และลัทธิคอมมิวนิสต์คริสเตียน)

แนวคิดคอมมิวนิสต์ยังสามารถสืบย้อนไปถึงชิ้นงานในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ทอมัส มอร์ ซึ่งตำราของเขานามว่า ยูโทเปีย (ค.ศ. 1516) ได้ฉายภาพสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สิน และมีผู้ปกครองบริหารงานด้วยการใช้เหตุผล นอกจากนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งในอังกฤษโดยกลุ่มพิวริตันทางศาสนานามว่า "ดิกเกอร์ส" (Diggers) ที่สนับสนุนให้ยกเลิกสิทธิครอบครองที่ดินส่วนบุคคลไป[11] ด้านนักทฤษฎีสังคมนิยม-ประชาธิปไตยชาวเยอรมัน เอดูอาร์ด แบร์นสไตน์ กล่าวในผลงานปี ค.ศ. 1895 ครอมเวลล์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ (Cromwell and Communism) [12] ของเขาว่าในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษมีกลุ่มหลายกลุ่มโดยเฉพาะพวกดิกเกอร์สที่สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เกี่ยวกับที่ดินอย่างชัดเจน แต่ทัศนคติของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้กลับถือว่าต่อต้านและไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างมากที่สุด[12] ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์สิทธิครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลยังคงดำเนินเรื่อยไปจนถึงยุคเรืองปัญญาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ่านนักคิดอย่าง ฌ็อง-ฌัก รูโซในฝรั่งเศส และต่อมาในช่วงที่วุ่นวายที่สุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของลัทธิทางการเมือง[13]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักปฏิรูปสังคมหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งชุมชนที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ไม่เหมือนกับสังคมคอมมิวนิสต์ยุคก่อน ๆ ตรงที่พวกเขาแทนที่การมุ่งเน้นไปในทางศาสนาด้วยรากฐานการใช้ตรรกะเหตุผลและการกุศลเป็นหลัก[14] โดยหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้คือ โรเบิร์ต โอเวน ผู้ก่อตั้งชมรมสหกรณ์ นิวฮาร์โมนี ในรัฐอินดีแอนา ในปี ค.ศ. 1825 และชาลส์ โฟเรียร์ ที่ผู้ติดตามของเขาก็ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา เช่น ฟาร์มบรุก (Brook Farm; ค.ศ. 1841 – 1847) ด้วยเช่นกัน[14] ซึ่งต่อมาในภายหลัง คาร์ล มากซ์ อธิบายนักปฏิรูปสังคมเหล่านี้ว่าเป็นพวก "นักสังคมนิยมแบบอุดมคติ" (utopian socialists) เพื่อให้ตรงกันข้ามกับ "ลัทธิสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์" (scientific socialism) ของเขา (ซึ่งเป็นชื่อที่ฟรีดริช เองเงิลส์ เห็นพ้องด้วย) นอกจากนี้มากซ์ยังเรียก อ็องรี เดอ แซ็ง-ซีมง ว่าเป็น "นักสังคมนิยมแบบอุดมคติ" ด้วยเช่นกัน

ลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบปัจจุบันเติบโตมาจากขบวนการสังคมนิยมในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักวิจารณ์ฝ่ายสังคมนิยมหลายคนกล่าวโทษระบบทุนนิยมว่าเป็นต้นเหตุความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่ประกอบไปด้วยแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเขตเมืองผู้ต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มักจะเป็นอันตรายอยู่บ่อยครั้ง โดยบุคคลสำคัญที่สุดในหมู่นักวิจารณ์นี้ก็คือคาร์ล มากซ์ และภาคีของเขาอย่าง ฟรีดริช เองเงิลส์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1848 มากซ์และเองเงิลส์ได้เสนอนิยามใหม่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ และทำให้นิยามดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายด้วยจุลสารอันโด่งดังของพวกเขานามว่า แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์[14]

ลัทธิคอมมิวนิสต์สมัยใหม่

ประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลลัทธิมากซ์-เลนินในปัจจุบัน (สีแดง) และในอดีต (สีส้ม)

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ในรัสเซีย ได้สร้างเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้พรรคบอลเชวิกของวลาดีมีร์ เลนิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจและได้มาซึ่งการปกครองในระดับรัฐ ซึ่งนับเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคแรกในประวัติศาสตร์ที่มีฐานะเป็นรัฐบาลอย่างเปิดเผย การปฏิวัติดังกล่าวได้ถ่ายโอนอำนาจไปยังสภาโซเวียตของชาวรัสเซียทั้งมวล (All-Russian Congress of Soviets)[15][16][17] ที่ซึ่งพรรคบอลเชวิกถือครองเสียงข้างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้สร้างข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติขนานใหญ่ในหมู่ขบวนการลัทธิมากซ์ เนื่องจากมากซ์ได้พยากรณ์ไว้ว่าระบอบสังคมนิยมจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานการพัฒนาที่ก้าวหน้าที่สุดของระบบทุนนิยม แต่ในกรณีของรัสเซียระบอบสังคมนิยมกลับถูกสร้างขึ้นจากสังคมที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยชาวนาจำนวนมหาศาลที่ส่วนมากไม่รู้หนังสือ (อันเป็นชนส่วนมาก) และกลุ่มแรงงานส่วนน้อยในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม มากซ์กล่าวอย่างชัดเจนว่ารัสเซียอาจมีความสามารถมากพอที่จะก้าวข้ามขั้นโดยไม่ต้องใช้การปกครองด้วยชนชั้นกระฎุมพีไปได้เลย[18] ส่วนนักสังคมนิยมกลุ่มอื่น ๆ เชื่อว่าการปฏิวัติในรัสเซียครั้งดังกล่าวอาจเป็นตัวนำที่ชี้ชวนให้ชนชั้นแรงงานก่อการปฏิวัติในลักษณะเดียวในโลกตะวันตก

ด้านฝ่ายเมนเชวิก (Mensheviks) อันเป็นชนส่วนน้อยที่มีแนวคิดสังคมนิยมรุนแรงน้อยกว่า คัดค้านแผนการปฏิวัติสังคมนิยมก่อนที่ระบบทุนนิยมจะถูกพัฒนาจนสุดขั้นของพรรคบอลเชวิกของเลนิน (อันเป็นชนส่วนมาก) ทั้งนี้ความสำเร็จที่ส่งให้พรรคบอลเชวิกก้าวขึ้นสู่อำนาจมีพื้นฐานจากคำขวัญ เช่น "สันติภาพ ขนมปัง และที่ดิน" ซึ่งไปตรงใจกับความปรารถนาของสาธารณชนหมู่มากที่ต้องการให้รัสเซียยุติบทบาทในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และความต้องการของชาวนาที่อยากให้มีการปฏิรูปที่ดิน รวมถึงเสียงสนับสนุนส่วนมากให้มีสภาโซเวียต[19]

สังคมนิยมสากลที่สอง (Second International) อันเป็นองค์การสังคมนิยมระหว่างประเทศถูกยุบในปี ค.ศ. 1916 จากความแตกแยกภายในซึ่งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามประเทศต้นกำเนิด โดยพรรคสังคมนิยมสมาชิกในองค์การจากแต่ละประเทศไม่สามารถรักษาจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ได้ แต่กลับสนับสนุนบทบาทของรัฐบาลตามแนวทางของชาติตนแทน ด้วยเหตุนี้เลนินจึงก่อตั้ง สังคมนิยมสากลที่สาม (Third International) หรือ "โคมินเทิร์น" ในปี ค.ศ. 1919 และได้ส่งเงื่อนไขยี่สิบเอ็ดข้อ (Twenty-one Conditions) ซึ่งรวมเอาคติประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic socialism) ไว้ภายใน ให้แก่พรรคการเมืองสังคมนิยมในยุโรปที่ต้องการจะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ในฝรั่งเศสมีตัวอย่างให้เห็นคือสมาชิกส่วนมากที่เป็นพรรคแรงงานสากลสาขาฝรั่งเศสหรือ "แอสเอฟอิโอ" (French Section of the Workers' International; SFIO) แยกตัวออกมาในปี ค.ศ. 1921 เพื่อก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สากลสาขาฝรั่งเศสหรือ "แอสเอฟอิเซ" (French Section of the Communist International; SFIC) ดังนั้นคำว่า "คอมมิวนิสซึม" หรือลัทธิคอมมิวนิสต์จึงถูกใช้หมายถึงวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นภายใต้โคมินเทิร์น โครงการของพวกเขาก็คือหลอมรวมแรงงานทั่วโลกเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันสำหรับการปฏิวัติ ซึ่งจะตามมาด้วยการสถาปนาระบอบการปกครองแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) เช่นเดียวกับการพัฒนาภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (ค.ศ. 1918 – 1922) พรรคบอลเชวิกได้ยึดเอาทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการผลิตทั้งหมดและประกาศนโยบายที่ชื่อว่า สงครามลัทธิคอมมิวนิสต์ (war communism) ซึ่งยึดเอาบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมและทางรถไฟมาอยู่ใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด เก็บรวบรวมและปันสวนอาหาร และริเริ่มการจัดการอุตสาหกรรมแบบกระฎุมพี หลังจากริเริ่มนโยบายดังกล่าวไปได้ 3 ปี และเกิดเหตุการณ์กบฏโครนสตัดท์ขึ้นในปี ค.ศ. 1921 เลนินจึงได้ประกาศ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy; NEP) ในปีเดียวกัน เพื่อจำกัด "สถานที่และเวลาแก่ระบบทุนนิยม" นโยบายดังกล่าวยังคงอยู่ไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 1928 เมื่อโจเซฟ สตาลิน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคและริเริ่ม แผนห้าปี (Five Year Plans) มาลบล้างนโยบายเก่าของเลนิน และหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1922 พรรคบอลเชวิกได้สถาปนาสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ยูเอสเอสอาร์) หรือเรียกโดยย่อว่า "สหภาพโซเวียต" ขึ้นมาจากจักรวรรดิรัสเซียในอดีต

ไปรษณียากรของสหภาพโซเวียตแสดงภาพการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของโลก "สปุตนิก 1"

หลังจากรับเอาคติประชาธิปไตยรวมศูนย์มาแล้ว พรรคการเมืองแนวลัทธิเลนินก็หันมาจัดโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น (hierarchy) โดยมีสมาชิกระดับหน่วยย่อยเป็นฐานล่างสุด ถัดขึ้นมาถึงจะเป็นสมาชิกระดับอภิสิทธิ์ที่เรีกยว่า คาดส์ (cadres) ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งจากบุคคลระดับสูงภายในพรรคเท่านั้น โดยจะต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและยึดมั่นในแนวทางของพรรคอย่างมากจึงจะได้รับแต่งตั้ง[20] ถัดมาเกิดการกวาดล้างครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1937 – 1938 ตามนโยบายของสตาลินที่ต้องการจะทำลายขั้วตรงข้ามที่อาจแข็งข้อภายในพรรคคอมมิวนิสต์ และในการพิจารณาคดีที่มอสโกได้กล่าวหาสมาชิกพรรคบอลเชวิกดั้งเดิมหลายคนที่มีบทบาทเด่นในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 หรือในรัฐบาลของเลนินหลังจากนั้น เช่น คาเมนเนฟ, ซีโนวีฟ, รืยคอฟ และบูคาริน ว่าได้กระทำความผิด จึงตัดสินให้ลงโทษและนำไปประหารชีวิตในท้ายที่สุด[21]

สงครามเย็น

ดูบทความหลักที่: สงครามเย็น

สหภาพโซเวียตผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจจากบทบาทนำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากเหนือภูมิภาคยุโรปตะวันออกและบางส่วนของเอเชีย และหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง จักรวรรดิต่าง ๆ ในยุโรปและจักรวรรดิญี่ปุ่นก็แตกแยกออกเป็นส่วน ๆ บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์หลายแห่งจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างบทบาทนำในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช

ต่อมาด้วยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต พรรคการเมืองแนวลัทธิมากซ์-เลนินที่ยึดถือสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบต่างพากันก้าวขึ้นสู่อำนาจในบัลแกเรีย เชโกสโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และโรมาเนีย นอกจากนี้ยังเกิดการตั้งรัฐบาลแนวลัทธิมากซ์-เลนินภายใต้การนำของนายพลตีโตในยูโกสลาเวียด้วยเช่นกัน แต่นโยบายความเป็นอิสระของตีโตทำให้ยูโกสลาเวียถูกขับออกจาก "โคมินเทิร์น" ซึ่งเป็นองค์การสืบทอดต่อจากโคมินฟอร์ม ดังนั้นยูโกสลาเวียจึงกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อิสระที่ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตหรือเป็นประเทศใน "ลัทธิตีโต" เช่นเดียวกับแอลเบเนียก็เป็นรัฐอิสระในลัทธิมากซ์-เลนินอีกแห่งหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง[22]

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1950 ฝ่ายนิยมลัทธิมากซ์-เลนินในจีนก็สามารถควบคุมจีนแผ่นดินใหญ่ทั่วทุกแห่งหนได้สำเร็จ นอกจากนี้ในช่วงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอีกหลายประเทศเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจในประเทศของตน ซึ่งได้บทสรุปจากสงครามทั้งสองครั้งนั้นก็แตกต่างกันไป ไม่เพียงเท่านั้นยังพยายามรวมกลุ่มกับฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายสังคมนิยมเพื่อต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมของโลกตะวันตกในประเทศยากจนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งและภัยคุกคามต่อลัทธิทุนนิยมในโลกตะวันตกตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[23] ซึ่งสภาพการแข่งขันของทั้งสองค่ายนี้ถึงจุดสูงสุดในช่วงสงครามเย็น เมื่อสองชาติมหาอำนาจของโลกที่ยังคงเหลืออยู่อันได้แก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้แบ่งขั้วทางการเมืองและผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ ต้องเข้าร่วมกับค่ายใดค่ายหนึ่งเท่านั้น ชาติมหาอำนาจทั้งสองยังสนับสนุนให้เกิดการแผ่ขยายระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตนไปสู่ประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ส่งผลให้เกิดการขยายขนาดของกองทัพ การกักตุนอาวุธนิวเคลียร์ และการแข่งขันด้านสำรวจอวกาศ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (ราคาตลาด) ในปี ค.ศ. 1965 จากข้อมูลของเยอรมันตะวันตก (ค.ศ. 1971)
  > 5,000 มาร์ก
  2,500 – 5,000 มาร์ก
  1,000 – 2,500 มาร์ก
  500 – 1,000 มาร์ก
  250 – 500 มาร์ก
  < 250 มาร์ก

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 อันเป็นผลมาจากการแถลงการณ์เลขที่ 142-เอช โดยสภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต[24] แถลงการณ์ดังกล่าวได้รับทราบการประกาศเอกราชของอดีตสาธารณรัฐโซเวียตและสถาปนาเครือจักรภพรัฐเอกราชขึ้นแทน ซึ่งการลงนามรับรองแถลงการณ์ดังกล่าวมีเหตุต้องล่าช้าออกไปหรือไม่มีการลงนามรับรองเลยแต่อย่างได้ ในขณะที่หนึ่งวันก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโซเวียต มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ผู้นำสหภาพโซเวียตคนที่แปดและคนสุดท้าย) ประกาศลาออก ยุบตำแหน่ง และถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดแก่ประธานาธิบดีรัสเซีย บอริส เยลต์ซิน ซึ่งรวมถึงสิทธิ์ครอบครองรหัสปล่อยขีปนาวุธนำวิถีของสหภาพโซเวียต ต่อมา เวลา 7.32 น. ของเย็นวันเดียวกันนั้น ธงชาติสหภาพโซเวียตถูกลดลงจากยอดเสาของพระราชวังเครมลินเป็นครั้งสุดท้าย และแทนที่ด้วยธงชาติรัสเซียแบบที่ใช้ก่อนการปฏิวัติ[25]

ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม สาธารณรัฐโซเวียตแต่ละแห่งรวมถึงรัสเซียเองได้แยกตัวออกจากการเป็นสหภาพมาก่อนแล้ว โดยที่อดีตสาธารณรัฐโซเวียตทั้ง 11 แห่ง ได้ร่วมลงนามในพิธีสารอัลมา-อาตา ซึ่งได้สถาปนาเครือจักรภพรัฐเอกราชและประกาศยุบสหภาพโซเวียตหนึ่งสัปดาห์ก่อนการล่มสลายอย่างเป็นทางการ[26][27]

ปัจจุบัน

ในปัจจุบันมีประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลลัทธิมากซ์-เลนินและใช้ระบบพรรคการเมืองเดี่ยวเหลือเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน คิวบา ลาว และเวียดนาม ส่วนเกาหลีเหนือไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์ตามแบบฉบับลัทธิมากซ์-เลนินแล้ว หากแต่ยึดถืออุดมการณ์ตามหลัก จูเช ที่ฉายภาพว่าพัฒนามาจากลัทธิมากซ์-เลนินแทน ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคการเมืองสืบทอดที่หลงเหลืออยู่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญในหลายประเทศ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นรัฐบาลปกครองรัฐเกรละของอินเดีย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเนปาล[28] และพรรคคอมมิวนิสต์บราซิลที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานสังคมนิยมประชาธิปไตย

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่ตกทอดมาจากลัทธิเหมาหลายด้าน เช่นเดียวกันกับลาว เวียดนาม และคิวบา (มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า) โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ผ่อนคลายการควบคุมทางเศรษฐกิจลงเพื่อกระตุ้นการเติบโต ทั้งนี้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาจีนสามารถลดระดับความยากจนลงจากร้อยละ 51 ในสมัยเหมา เจ๋อตุง มาเป็นเพียงร้อยละ 6 ในปี ค.ศ. 2001[29] ในขณะเดียวกันยังได้ริเริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้สำหรับกิจการที่อิงกับระบบตลาดเป็นหลัก โดยที่ไม่ต้องกังวลการควบคุมหรือการแทรกแซงจากรัฐบาลกลาง ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ประกาศตนว่ายึดถือในอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน เช่น เวียดนาม ก็พยายามริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจให้อิงกับระบบตลาดด้วยเช่นกัน

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจนี้บางครั้งถูกวิจารณ์จากโลกภายนอกว่าเป็นการถอยกลับไปหาลัทธิทุนนิยม แต่พรรคคอมมิวนิสต์แย้งว่าเป็นการปรับตัวที่จำเป็นเพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และเพื่อใช้สมรรถนะทางอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเหล่านี้ ที่ดินทั้งมวลถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมและบริการที่จำเป็น รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นภาครัฐจึงถือเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจหลักในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว และรัฐเป็นผู้มีบทบาทกลางในการประสานงานเพื่อให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลัทธิคอมมิวนิสต์ http://www.hetsa.org.au/pdf/34-A-08.pdf http://www.economist.com/displaystory.cfm?story_id... http://www.reocities.com/kk_abacus/vb/wd12persp.ht... http://sk.sagepub.com/reference/the-encyclopedia-o... http://socialistregister.com/index.php/srv/article... http://www.utopianmag.com/files/in/1000000034/12__... http://dwardmac.pitzer.edu/anarchist_archives/worl... http://searchworks.stanford.edu/view/1880822 http://www.loc.gov/rr/rarebook/coll/rad.html http://www.nestormakhno.info/english/platform/cons...