จุดกำเนิดของลัทธิมาคส์ ของ ลัทธิมากซ์

คาร์ล มาคส์ เป็นนักปรัชญาเศรษฐศาสตร์สายสังคมนิยม (Socialism) และนักปรัชญาจิตนิยมเยอรมันสายเฮเกิล ซึ่งสำนักคิดทั้ง 2 ตระกูลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อมาคส์นั้นมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

  • เศรษฐศาสตร์สายสังคมนิยมนั้นเกิดขึ้นจากการวิพากษ์ต่อระบอบทุนนิยมที่เป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป (the industrial revolution) ในช่วง ศตวรรษที่ 18 – 19 ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม และช่องว่างมหาศาลระหว่างคนรวย และคนจน ความนี้ถูกนำเสนอ ค.ศ. 1832 โดยนักคิดชาวฝรั่งเศสคือ ปีแยร์ เลอรู และมารี แรโบ ความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลอย่างสูงในอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นคือประเทศอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของยุโรป โดยผู้ที่นำความคิดสังคมนิยมมาเผยแพร่ในอังกฤษคือรอเบิร์ต โอเวน ใน ค.ศ. 1827
  • ปรัชญาจิตนิยมเยอรมันสายเฮเกิลเป็นหลักปรัชญาของ เกออร์ค เฮเกิล ที่กล่าวว่าอำนาจจิตของมนุษย์คือสิ่งที่สร้างประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ของมนุษย์เกิดเพราะความขัดแย้งของ จิต (mind) ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่ธรรมชาติภายนอก จิตจะมีผลต่อการกระทำ โดยการกระทำนั้น ๆ เกิดขึ้นตามหลักการทางตรรกศาสตร์ ดังนั้นโลกจึงก้าวไปข้างหน้าด้วยการกระทำอันมีผลมาจากจิตหรือความคิด ความขัดแย้งใด ๆ จึงเป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิด ทุก ๆ ความขัดแย้งส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งเชิงคุณภาพและเหตุผล ประวัติศาสตร์ทั้งหมดจึงคือประวัติศาสตร์ของความคิด และพลังที่ผลักดันประวัติศาสตร์คือเหตุผล แต่อารมณ์ที่ดูไร้เหตุผลก็มีอิทธิพลต่อการใช้เหตุผลของมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์ก็จะไม่สามารถใช้อารมณ์ตัดสินทุกสิ่งเพราะเหตุผลคอยควบคุมอารมณ์เอาไว้ ความคิดดังกล่าวนี้เฮเกิลเรียกว่า วิภาษวิธี