ระบบความเชื่อ ของ วัฒนธรรม

ดูบทความหลักที่: ศาสนา

ศาสนาและระบบความเชื่ออื่น ๆ มักรวมเป็นส่วนที่แยกไม่ได้กับวัฒนธรรม Religion ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากภาษาละติน religare มีความหมายว่า "to bind fast" หรือ "การผูกมัดที่แน่นหนา" ศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด[18]

ศาสนามักกำหนดกฎระเบียบปฏิบัติ เช่น "บัญญัติ 10 ประการ" ในศาสนาคริสต์ หรือ "ศีลห้า" ในพระพุทธศาสนา ในบางครั้งก็เกี่ยวพันกับรัฐบาล เช่นในระบอบ "เทวาธิปไตย" (theocracy) รัฐที่ปกครองโดยใช้หลักศาสนา นอกจากนี้ศาสนายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปะ

ประเพณีศูนย์ยุโรป ในบางกรณี ประเพณีศูนย์ยุโรป (Eurocentric) มีผลต่อการแบ่งภูมิภาคเป็นตะวันตกและไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งมีข้อเสียอยู่เช่นกัน วัฒนธรรมตะวันตก แผ่กระจายจากยุโรปไปถึงออสเตรเลีย แคนาดาและสหรัฐฯ ค่อนข้างเข้มข้น วัฒนธรรมตะวันตกได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากกรีกโบราณ โรมโบราณและศาสนาคริสเตียน

วัฒนธรรมตะวันตกมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจเจกมากกว่าวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก วัฒนธรรมมองมนุษย์ พระเจ้าและธรรมชาติหรือจักรวาลแยกส่วนมากกว่าวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตกบ่งชี้ด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การรู้หนังสือและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

กลุ่มศาสนาแอบราฮัม (Abrahamic religions)

ลัทธิยูดา นับได้ว่าเป็นศาสนาแรกในกลุ่ม เป็นลัทธิเทวนิยมที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดและยังอยู่ยั่งยืนถึงปัจจุบัน[19] คุณค่าและประวัติศาสตร์ของชาวยิวนับเป็นส่วนหลักสำคัญที่ เป็นรากฐานของกลุ่มศาสนาแอบราฮัมอื่น เช่นคริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม รวมทั้งศาสนาบาไฮ อย่างไรก็ดี แม้จะมีรากฐานร่วมจากแอบราฮัมด้วยกันมาแต่โบราณ แต่แต่ละศาสนาก็มีความแตกต่างกันทางศิลปะที่ชัดเจน (ทั้งทัศนศิลป์และนาฏศิลป์) ซึ่งความแตกต่างนี้เนื่องมากจากอิทธิพลภูมิภาคที่มีอยู่ก่อนโดยมีศาสนาเข้ามาในภายหลังและกลายเป็นศาสนาที่เป็นตัวแสดงลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา

ศาสนาคริสต์กลายเป็นอิทธิพลแปลงโฉมที่สำคัญของยุโรปและโลกใหม่ อย่างน้อยก็เป็นเวลานับได้ในช่วง 500 ถึง 1700 ปี มาแล้ว แนวคิดทางปรัชญาสมัยใหม่ส่วนใหญ่ได้อิทธิพลจากนักปรัชญาคริสเตียน เช่น เซนต์โทมัส อาควีนัส และ อีราสมุส มหาวิหารคริสเตียนได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญเช่นเดียวกับมหาวิหารน็อทร์-ดามในปารีส อาสนวิหารเวลส์ และโบสถ์มหานครในเม็กซิโกซิตี

อิทธิพลอิสลามเป็นอิทธิพลที่ครอบงำภาคเหนือของแอฟริกา ภูมิภาคตะวันออกกลางและตะวันออกกลางเป็นเวลานานเกือบ 1,500 ปี บางครั้งมีการผสมผสานกับศาสนาอื่นบ้าง อิทธิพลอิสลามอาจเห็นได้จากปรัชญาต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น อิบันบาจจาห์ (Ibn Bajjah) อิบันตูเฟล (Ibn Tufail) อิบันคาห์ดุน (Ibn Khaldun) และอะเวอร์โรส (Averroes) นอกจากนี้ยังมี เรื่องร้อยกรองและวรรณคดี เช่น เฮวี อิบันยักดานห์ (Hayy ibn Yaqdhan) เดอะแมดแมนออฟเลย์ลา (The Madman of Layla) เดอะคอนเฟอเรนซ์ออฟเดอะเบิร์ด (The Conference of the Birds) และเดอะมาสวานิ (Masnavi) ในศิลปะและสถาปัตยกรรมก็มีอิทธิพลอิสลามที่สำคัญเช่น สุเหร่าอูเมย์ยาด (Umayyad Mosque) โดมทองแห่งเยรุซาเล็ม (Dome of the Rock) สุเหร่าไฟซาล ฮาไกโซเฟีย (ซึ่งเคยเป็นทั้งโบสถ์และสุเหร่า) พร้อมทั้งสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมแบบอย่างอาหรับ (Arabesque) อื่น ๆ

ศาสนายูดาและศาสนาบาไฮ ปกติเป็นศาสนากลุ่มน้อยอยู่ในชาติต่าง ๆ แต่ก็ยังมีส่วนที่เด่นชัดในวัฒนธรรมรวมและศาสนารวมของชาตินั้น ๆ บุคคลสำคัญที่นับถือศาสนายูดาซึ่งเป็นที่รู้จักได้แก่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเฮนรี คิสซิงเจอร์ นักดนตรี นักแสดง เช่น พอลลา อับดุล แซมมี เดวิส จูเนียร์และบ็อบ ดีแลน สำหรับศาสนาบาไฮที่เด่นคือโบสถ์บาไฮที่สวยงาม นักดนตรีเช่น ดิสซีกิลลิสปี และนักคิดเช่น อาเลน ลีรอย ล็อก เฟรเดริก เมเยอร์ และริชาร์ด เซนต์บาร์บ เบเกอร์ เป็นต้น

มานุษยวิทยาสายหลักมีมุมมองทางวัฒนธรรมว่าประชาชนจะมีความรู้สึกต่อต้านเมื่อถูกบอกว่ามีสัตว์และวิญญาณฝังอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์[20]

ศาสนาตะวันออกและปรัชญา

แอกนี, ฮินดู เทพแห่งเพลิง

ปรัชญาและศาสนามักจะกลมกลืนผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแนวคิดตะวันออก ประเพณีศาสนาและปรัชญาตะวันออกหลายกลุ่มมีต้นตอมาจากอินเดียและจีนและแผ่ขยายไปทั่วเอเซียจาก การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (cultural diffusion) และการย้ายถิ่นของประชากร ศาสนาฮินดูเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา นิกายมหายานซึ่งแพร่กระจายขึ้นเหนือและตะวันออกจากอินเดียสู่ธิเบต จีน มองโกเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลี อ้อมลงใต้จากจีนสู่เวียดนาม พุทธศาสนานิกายเถรวาทแพร่กระจายจากอินเดียสู่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ศรีลังกา บางส่วนทางภาคใต้ของจีน กัมพูชา ลาว พม่าและไทย

ปรัชญาอินเดียรวมถึงปรัชญาฮินดู มีองค์ประกอบที่ไม่แสวงหาวัตถุ ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งจากอินเดีย คือ (Carvaka?) สอนให้แสวงหาความสุขจากโลกวัตถุ ทั้งลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าซึ่งมีบ่อเกิดในจีนได้มีอิทธิพลฝังลึกทั้งในศาสนาและแนวคิดทางปรัชญารวมทั้งในหลักการปกครองบ้านเมืองและศิลปะไปทั่วเอเซีย

ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2444พ.ศ. 2543) สองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเซียที่มีความแตกต่างในแนวคิดทางปรัชญาการเมืองได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น คานธีให้ความหมายใหม่กับคำว่า "อหิงสา" ซึ่งเป็นความเชื่อหลักของทั้งศาสนาฮินดู และศาสนาเชน และได้ปรับความหมายใหม่มาเป็นแนวคิด "ความไม่รุนแรง" (nonviolence) และการไม่ต่อต้าน (nonresistance) ซึ่งกว้างไกลออกไปจากวงกรอบล้อมของอินเดีย ในระยะเดียวกัน ปรัชญาคอมมิวนิสต์ของเมาเซตุงได้กลายเป็นระบบความเชื่อนอกศาสนาที่มีอำนาจมาก

ศาสนาพื้นบ้าน

ศาสนาพื้นบ้านที่นับถือโดยชนเผ่าต่าง ๆ มีอยู่ทั่วไปในเอเซีย แอฟริกาและอเมริกา อิทธิพลของศาสนาเหล่านี้มีมากพอควร ซึ่งมีทั้งเผยแพร่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมและในบางกรณีกลายเป็นศาสนาประจำชาติ เช่นศาสนาชินโต เช่นเดียวกับศาสนาหลักต่าง ๆ ศาสนาพื้นบ้านสามารถตอบสนองความต้องการการปกป้องคุ้มครองยามมีภัย ช่วยรักษาความเจ็บป่วย ล้างความอับโชคและช่วยทำพิธีต่าง ๆ รวมทั้งการเป็นช่องการเกิดและตายของมนุษย์

ความฝันอเมริกัน

"ความฝันอเมริกัน" (The "American Dream") เป็นความเชื่อของชาวอเมริกันจำนวนมาก ว่าด้วยการทำงานหนัก กล้าหาญและมีความมุ่งมั่น โดยไม่คำนึงถึงชั้นสังคม บุคคลสามารถบรรลุสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้เสมอ[21] ความคิดนี้มีรากมาจากความเชื่อที่ว่าสหรัฐอเมริกาคือ "เมืองบนเนินเขา เป็นแสงที่ก่อให้เกิดประเทศ" ซึ่งเป็นคุณค่าที่ยึดถือโดยชาวยุโรปผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก ๆ และได้ยึดถือคุณค่านี้สืบมาหลายชั่วคน[22]

แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอื่นด้วย เช่นกรณีของ "ความฝันออสเตรเลียอันยิ่งใหญ่" แม้จะสะท้อนไปทาง "การเป็นเจ้าของบ้าน" มากกว่า

การแต่งงาน

โบสถ์คริสเตียนเกือบทั้งหมดมักใช้เป็นที่ประกอบพิธีแต่งงาน ซึ่งปกติส่วนหนึ่งของพิธีมักรวมถึงการปวารณาที่จะสนับสนุนโบสถ์ ในการแต่งงาน ชาวคริสเตียนจะมีความสัมพันธ์คู่ขนานไปกับพระเยซูและโบสถ์ของตน ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีความเชื่อว่าการหย่าร้างผิดศีลธรรม และคู่หย่าร้างไม่อาจแต่งงานใหม่ในโบสถ์ได้ หากไม่ทำพิธีล้างบาปอย่างเป็นทางการก่อน

แหล่งที่มา

WikiPedia: วัฒนธรรม http://www.civilization.ca/cultur/culture.asp http://www.dfait-maeci.gc.ca/cfsi-icse/cil-cai/hom... http://www.library.utoronto.ca/utel/nonfiction_u/a... http://www.library.utoronto.ca/utel/nonfiction_u/a... http://www.bioeticaunbosque.edu.co/ http://www.blackwell-synergy.com/doi/abs/10.1111/j... http://www.defineculture.com http://www.etymonline.com/index.php?term=culture http://www.everyculture.com/ http://www.everyculture.com/Sa-Th/Thailand.html