อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการ ของ วาฬเพชฌฆาต

ซากดึกดำบรรพ์ Orcinus citoniensis ซึ่งเป็นวาฬในสกุลเดียวกันที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

วาฬเพชฌฆาต เป็นสปีชีส์เดียวในสกุล Orcinus ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสัตว์หลายชนิดที่ได้รับการบรรยายระบุจำแนกโดย คาโรลัส ลินเนียส ในผลงานที่ชื่อ "Systema Naturae" ในปี ค.ศ. 1758 (ศตวรรษที่ 18)[4] คอนราด แกซส์เนอร์ เป็นผู้แรกที่เขียนบรรยายลักษณะของวาฬเพชฌฆาตตามหลักวิทยาศาสตร์ใน "Fish book" งานของเขาในปี ค.ศ. 1558 บนพื้นฐานของซากวาฬเกยฝั่งที่ดึงดูดความสนใจของคนท้องถิ่นจำนวนมากในอ่าวไกรฟซ์วัลด์ [5]

วาฬเพชฌฆาตเป็น 1 ใน 35 สปีชี่ส์ของวงศ์โลมามหาสมุทรซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกประมาณ 11 ล้านปีมาแล้ว เชื้อสายวาฬเพชฌฆาตอาจแตกแยกออกมาภายหลังจากนั้นไม่นาน แม้ว่าทางสัณฐานวิทยาวาฬเพชฌฆาตมีลักษณะคล้ายคลึงกับวาฬเพชฌฆาตเล็ก, วาฬเพชฌฆาตดำ และวาฬนำร่อง แต่จากการศึกษาอันดับยีนไซโทโครม บีโดยริชาร์ด รีดัก แสดงว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับสกุลโลมาหัวบาตร (Orcaella)[6]

ชื่อสามัญ

นักวิทยาศาสตร์ที่พูดภาษาอังกฤษส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า "killer whale (วาฬเพชฌฆาต)"[7] แม้ว่า คำว่า "orca (ออก้า)" จะถูกใช้มากขึ้น วาฬเพชฌฆาตเป็นข้อสนับสนุนที่บ่งชี้ถึงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยแท้จริงแล้ว ชื่อสกุล Orcinus หมายถึง "ของอาณาจักรแห่งความตาย"[7] หรือ "เป็นสมาชิกของความตาย (Orcus)"[8]โรมโบราณเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า orca (พหูพจน์ orcae) เพื่อเรียกสัตว์ชนิดนี้ อาจเป็นไปได้ที่ยืมคำมาจากภาษากรีก ὄρυξ (ในหลายๆ คำ) ซึ่งเกี่ยวโยงถึงวาฬชนิดนี้ ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 ความนิยมของออก้าได้เติบโตอย่างมั่นคง ทั้งในชื่อและการใช้งาน คำว่าออก้าถูกใช้ในบางสิ่งที่ของการเลี่ยงความหมายโดยนัยในเชิงลบของ "นักฆ่า"[9] และเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์โลมามหาสมุทร วาฬชนิดนี้จึงเป็นญาติใกล้ชนิดกับโลมามากกว่าวาฬ[10]

บางครั้งมีการเรียกวาฬเพชฌฆาตว่า "blackfish (ปลาดำ)" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกวาฬชนิดอื่นด้วยเช่นกัน ในอดีตมีการเรียกวาฬเพชฌฆาตว่า Grampus แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครใช้ชื่อเรียกนี้แล้ว คำว่า Grampus ยังเป็นชื่อสกุลของโลมาริสโซ ซึ่งเป็นสปีชีส์เดียวในสกุลนี้[11]

โดยชื่อ "วาฬเพชฌฆาต" นี้มาจากการเรียกของกะลาสีเรือในสมัยอดีต ที่เห็นพฤติกรรมการไล่ล่าวาฬขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่นเป็นอาหาร จึงเรียกว่า "เพชฌฆาตวาฬ" (whale killer) แต่ได้ถูกเรียกขานกันสลับกันไปมาหลายครั้ง จนกลายมาเป็นวาฬเพชฌฆาตในที่สุด[12]

ประเภท

วาฬเพชฌฆาตประเภทต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

จากการศึกษาในปี ค.ศ. 1970 และ ค.ศ. 1980 นักวิจัยแถบชายฝั่งตะวันตก ของแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ร่วมกันอธิบายว่า 3 ใน 5 ชนิดของวาฬเพชฌฆาต สามารถแสดงให้เห็นความแตกต่างมากเพียงพอที่จะสามารถแบ่งแยกออกเป็นเผ่าพันธุ์[13] ชนิดย่อย, หรือแยกเป็นชนิดใหม่[14] ได้

  • สายพันธุ์ทั่วไป (Resident) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่มากในแถบชายฝั่ง บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ ของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนมากจะล่าปลาเป็นหลัก บางครั้งก็ล่าหมึกบ้าง อยู่รวมกันเป็นกลุ่มอย่างเหนียวแน่นและซับซ้อน เป็นรูปแบบทางสังคมที่มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง เรียกว่า "Matriarch" ตัวเมียของสายพันธุ์นี้มีครีบด้านข้างโค้งมน พบเห็นได้บ่อยครั้งแถบบริติชโคลัมเบีย และตอนใต้ของอะแลสกา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล นักวิจัยสามารถระบุวาฬเพชฌฆาตกว่า 300 ตัวได้ ในช่วง 30 ปี และได้ตั้งชื่อให้เข้ากับกลุ่มที่มันอาศัย พร้อมทั้งมอบหมายเลขให้ด้วย
  • สายพันธุ์อพยพ (Transient) พวกนี้จะล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นหลัก ไม่กินปลา อาศัยในแถบตอนใต้ของอะแลสกา ส่วนมากอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 2-6 ตัว ไม่อยู่รวมในกลุ่มครอบครัวตลอดเวลา ตัวเมียมีครีบที่ค่อนข้างจะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฝูงของมันจะเดินทางไปทั่ว โดยไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด อาจจะพบเห็นได้บางที่ หรือไม่พบเห็นเลย หรือกลับมาที่เดิมในช่วง 10 ปี ทำให้เป็นการยากที่นักวิจัยจะทำการศึกษาเรื่องของมัน พวกมันถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 เมื่อมันถูกจับได้ที่บริติชโคลัมเบีย แต่มันปฏิเสธที่จะกินปลาเป็นเวลาถึง 72 วัน อย่างไรก็ตาม มันจะยอมกินก็ต่อเมื่อมันหิวจัด เป็นสาเหตุให้นักวิจัยเริ่มตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับ วาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์อื่น ซึ่งการศึกษาเรื่องของมันก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่อาร์เจนตินา และนิวซีแลนด์
  • สายพันธุ์ทะเลลึก (Offshore) พวกนี้จะอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลเปิด ส่วนมากจะล่าปลา, เต่าทะเล และปลาฉลามเป็นอาหาร สามารถพบเห็นพวกมันได้ในฝูงขนาดใหญ่ ประมาณ 60 ตัวขึ้นไป ในปัจจุบันยังมีความเข้าใจน้อยมากเกี่ยวกับวาฬเพชฌฆาตชนิดนี้ แต่สามารถแยกแยะออกจากสายพันธุ์ ที่กล่าวมาได้ทางพันธุกรรม ตัวเมียจะมีครีบที่หลังโค้งมน ขนาดของสายพันธุ์นี้ส่วนมากจะเล็กกว่า สายพันธุ์ทั่วไปกับสายพันธุ์อพยพ และนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุตัวของสายพันธุ์นี้ได้เพียง 40 ตัวเท่านั้น ทำให้ยากที่จะประเมินข้อมูลได้

ปัจจุบันนี้ แม้วาฬเพชฌฆาตจะถูกจัดให้เพียงสปีชีส์เดียวและเป็นเพียงสกุลเดียว แต่จากการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์พบว่า วาฬเพชฌฆาตอาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม หรือ 4 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน หรืออาจะมากกว่า โดยแบ่งไปตามลักษณะภายนอก เช่น ขนาดลำตัว รูปร่างของครีบหลัง ลายบนหลัง ลายด้านข้าง สี รวมถึงพฤติกรรม และถิ่นที่อยู่อาศัย โดยสถานที่ ๆ เดียวที่สามารถพบวาฬเพชฌฆาตทุกประเภทได้ คือ แอนตาร์กติกา หรือ มหาสมุทรใต้

โดยเมื่อกว่า 700,000 ปีที่แล้ว วาฬเพชฌฆาตถูกแบ่งออกมาเป็นกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ต่อมาเมื่อ 450,000 ปีก่อน คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบแอนตาร์กติกา ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็นอีกหลายกลุ่ม ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็ค่อยแยกออกจากกันในเวลาที่ตามมา[3] ซึ่งวาฬเพชฌฆาตแต่ละกลุ่มนั้นจะแยกกันอยู่ต่างหาก ไม่มีการพบปะหรือพบเจอกันเลย[12]

ในประเทศไทย พบวาฬเพชฌฆาตเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง โดยในปี ค.ศ. 1993 พบในทะเลอันดามันทั้งหมด 9 ครั้ง โดยเป็นที่หมู่เกาะสุรินทร์ 5 ครั้ง และหมู่เกาะสิมิลัน 4 ครั้ง และพบอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 ที่ฝั่งอ่าวไทย บริเวณเกาะช้าง โดยเป็นวาฬตัวเมียขนาดเล็กที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ตัว ซึ่งในตอนแรกเชื่อว่าเป็นโลมาอิรวดี[15] จนกระทั่งพบอีกครั้งในต้นปี ค.ศ. 2016 โดยนักท่องเที่ยวสามารถบันทึกภาพไว้ได้เมื่อต้นปี ค.ศ. 2016 ที่หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต[16]

วาฬเพชฌฆาตเผือก

ในต้นปี ค.ศ. 2012 นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียพบวาฬเพชรฆาตตัวผู้ตัวหนึ่ง เป็นวาฬเพชฌฆาตเผือกที่นอกชายฝั่งคาบสมุทรคัมชัตคา ในรัสเซีย ซึ่งนับเป็นวาฬเพชฌฆาตเผือกโตเต็มวัยตัวแรกที่ถูกค้นพบ โดยก่อนหน้านั้นมีพบวาฬเพชฌฆาตเผือก 2 ตัวที่รัสเซีย แต่ยังไม่ใช่ตัวโตเต็มวัย แต่กับตัวนี้เป็นตัวโตเต็มวัย จึงคาดว่ามีอายุ 16 ปี หรือมากกว่า และตั้งชื่อให้ว่า "ไอซ์เบิร์ก" (ภูเขาน้ำแข็ง)[17]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วาฬเพชฌฆาต http://www.wwf.org.au/articles/toxic-orcas/ http://books.google.ca/books?id=LpMxr35NBCcC&pg=PA... http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2014-06-11/... http://www.orca-lofoten.com/english/forsk.htm http://www.superteacherworksheets.com/reading-comp... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1748-... http://www.marien-greifswald.de/Wal.657.0.html http://courses.washington.edu/mb351/readings/baird... http://www.itis.gov/servlet/SingleRpt/SingleRpt?se... http://www.afsc.noaa.gov/nmml/species/species_kill...