ประวัติ ของ วิกิพีเดีย

ดูบทความหลักที่: ประวัติของวิกิพีเดีย
เดิมวิกิพีเดียได้รับการพัฒนาขึ้นจากโครงการสารานุกรมอีกแห่งหนึ่ง นูพีเดีย

วิกิพีเดียเริ่มขึ้นจากเป็นโครงการเพิ่มเติมของนูพีเดีย โครงการสารานุกรมเสรีออนไลน์ภาษาอังกฤษ ซึ่งบทความในนูพีเดียนั้นเขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญและได้รับการตรวจสอบภายใต้กระบวนการที่เป็นทางการ นูพีเดียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2543 บริหารงานโดยบริษัทเว็บท่า โบมิส บุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างนูพีเดีย ได้แก่ จิมมี เวลส์ ผู้บริหารระดับสูงของโบมิส และแลร์รี แซงเจอร์ บรรณาธิการบริหารของนูพีเดียและวิกิพีเดียในเวลาต่อมา แต่เดิมข้อความในนูพีเดียอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเนื้อหาเปิดของนูพีเดียเอง แล้วค่อยเปลี่ยนมาใช้สัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู ก่อนหน้าที่วิกิพีเดียจะถูกก่อตั้งขึ้น โดยการผลักดันของริชาร์ด สตอลล์แมน[19]

แลร์รี แซงเจอร์และจิมมี เวลส์ร่วมกันก่อตั้งวิกิพีเดีย[20][21] เวลส์ได้ความชอบจากการกำหนดเป้าหมายในการสร้างสารานุกรมที่สามารถแก้ไขได้อย่างเปิดเผย[22][23] ส่วนแซงเจอร์มักได้รับความชอบในด้านยุทธศาสตร์การใช้วิกิเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว[24] วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2544 แลร์รี แซงเจอร์เสนอบนจดหมายกลุ่มนูพีเดียในการสร้างวิกิเป็นโครงการ "ตัวป้อน" สำหรับนูพีเดีย[25] วิกิพีเดียเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 เป็นรุ่นภาษาอังกฤษเพียงรุ่นเดียวภายใต้ชื่อโดเมน www.wikipedia.com[26] และมีการประกาศทางจดหมายกลุ่มนูพีเดียโดยแซงเจอร์[22] นโยบาย "มุมมองที่เป็นกลาง" ของวิกิพีเดียมีการประมวลขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังเปิดตัว และมีใจความคล้ายกับนโยบาย "ไม่มีอคติ" ของนูพีเดียก่อนหน้านี้ แต่นอกเหนือจากนี้ เดิมวิกิพีเดียมีกฎค่อนข้างน้อยและดำเนินการเป็นเอกเทศจากนูพีเดีย[22]

กราฟแสดงจำนวนบทความในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2544 จนถึง 9 กันยายน พ.ศ. 2550 วันที่วิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีบทความครบสองล้านบทความ

ผู้เขียนวิกิพีเดียในช่วงแรกมาจากนูพีเดีย การโพสต์สแลชดอต และดัชนีเว็บเสิร์ชเอนจิน วิกิพีเดียมีบทความประมาณ 20,000 บทความ ใน 18 ภาษา เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2544 ต่อมาวิกิพีเดียเพิ่มรุ่นภาษาเป็น 26 ภาษา เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2545, 46 ภาษา ในปลายปี พ.ศ. 2546 และ 161 ภาษา ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2547[27] นูพีเดียและวิกิพีเดียยังคงเปิดให้บริการอยู่ทั้งคู่จนกระทั่งเซิร์ฟเวอร์ของนูพีเดียถูกปิดตัวลงอย่างถาวรใน พ.ศ. 2546 และเนื้อหาถูกรวมเข้ากับวิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีบทความเกินสองล้านบทความเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2550 ทำให้วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดทำขึ้น แซงหน้าสารานุกรมหย่งเล่อ (พ.ศ. 1950) ที่ถือครองสถิติมาเป็นเวลา 600 ปีพอดี[28]

ผู้ใช้จากวิกิพีเดียภาษาสเปนบางส่วนแตกสาขาวิกิพีเดียออกไปสร้างเป็นเอนซีโกลเปเดียลีเบร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 โดยให้เหตุผลว่า กลัวว่าจะมีการโฆษณาเชิงพาณิชย์และการขาดการควบคุมในวิกิพีเดียที่สามารถรู้ได้ว่ามีวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นศูนย์กลาง[29] ในปีเดียวกัน เวลส์ประกาศว่าวิกิพีเดียจะไม่มีการโฆษณา และเว็บไซต์ได้เปลี่ยนชื่อโดเมนเป็น wikipedia.org[30] โครงการสารานุกรมวิกิอื่นมีการริเริ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้แนวคิดที่แตกต่างกันในรูปแบบการแก้ไขอย่างเปิดเผยและมุมมองเป็นกลางของวิกิพีเดีย วิกิอินโฟไม่มีการควบคุมเรื่องมุมมองเป็นกลางและอนุญาตให้นำเนื้อหาที่เป็นงานค้นคว้าต้นฉบับมาลงได้ โครงการใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิกิพีเดีย อย่างเช่น ซิติเซนเดียม สคอลาร์พีเดีย คอนเซอร์เวพีเดีย และโนลของกูเกิล ที่ซึ่งบทความมีลักษณะเป็นเรียงความมากกว่าเล็กน้อย[31] ได้เริ่มต้นตั้งคำถามถึงข้อจำกัดที่สัมผัสได้ของวิกิพีเดีย อาทิ นโยบายด้านการกลั่นกรอง งานค้นคว้าต้นฉบับ และการโฆษณาเชิงพาณิชย์

แม้ว่าวิกิพีเดียภาษาอังกฤษจะมีจำนวนบทความแตะระดับสามล้านบทความเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 แต่อัตราการเติบโตของรุ่นภาษาอังกฤษ ในแง่ของจำนวนบทความและผู้ร่วมพัฒนา ปรากฏว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี พ.ศ. 2550[32] ในปี พ.ศ. 2549 วิกิพีเดียมีบทความใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1,800 บทความต่อวัน แต่ในปี พ.ศ. 2553 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวลดลงเหลือ 1,000 บทความต่อวันเท่านั้น ทีมศึกษาจากศูนย์วิจัยพาโลอัลโตให้เหตุผลว่าแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลมาจากการกีดกันที่เพิ่มมากขึ้นของโครงการ[33] ผู้ใช้ใหม่หรือผู้ใช้ไม่ประจำมีอัตราการแก้ไขถูกย้อนกลับหรือถูกลบออกสูงกว่ากลุ่มผู้ใช้ประจำและมีประสบการณ์มากกว่าอย่างมาก หรือที่รู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "คาบาล" ทำให้เป็นการยากยิ่งขึ้นที่จะขยายและรักษาฐานผู้ใช้ใหม่เอาไว้ในระยะยาวได้ ทั้งยังทำให้การสร้างบทความใหม่ซบเซาลง ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ได้เสนอแนะว่าอัตราการเติบโตนั้นเริ่มลดลงตามธรรมชาติ เนื่องจากบทความที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความสำคัญ เช่น ประเทศจีน มีผู้สร้างขึ้นแล้วในวิกิพีเดีย[34][35]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจัดทำโดยเฟลีเป ออร์เตกา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเรย์ ฮวน การ์โลส ในมาดริด พบว่า วิกิพีเดียรุ่นภาษาอังกฤษสูญเสียฐานผู้พัฒนาไปกว่า 49,000 คน ในช่วงไตรมาสแรกของ พ.ศ. 2552 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2551 ที่สูญเสียฐานอาสาสมัครไปเพียง 4,900 คน[36][37] เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า "จำนวนอาสาสมัครออนไลน์ผู้เขียน แก้ไข และตรวจตรา [วิกิพีเดีย] นับล้านคน กำลังถอนตัวออกไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน" ขอบเขตของกฎการแก้ไขและกรณีพิพาทเกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านี้เป็นเหตุผลที่อาสาสมัครมีแนวโน้มหดหายลงตามที่บทความดังกล่าวอ้าง[38] ด้านจิมมี เวลส์แย้งข้อมูลดังกล่าว โดยปฏิเสธการสูญเสียฐานอาสาสมัครและตั้งคำถามถึงขั้นตอนวิธีที่ใช้ในการศึกษา[39]

ใกล้เคียง

วิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาไทย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพีเดียภาษาสเปน วิกิพีเดียภาษาคาซัค วิกิพีเดียภาษารัสเซีย วิกิพีเดียภาษาอินโดนีเซีย วิกิพีเดียภาษาไซลีเซีย วิกิพีเดียภาษากาตาลา วิกิพีเดียภาษาอาหรับอียิปต์

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกิพีเดีย http://www.caslon.com.au/wikiprofile1.htm http://www.pcworld.idg.com.au/index.php/id;1866322... http://www.livenews.com.au/Articles/2008/09/09/Wik... http://m.smh.com.au/technology/technology-news/tec... http://www.parl.gc.ca/LEGISINFO/index.asp?Session=... http://www.aaronsw.com/weblog/whowriteswikipedia http://www.alexa.com/data/details/traffic_details/... http://www.alexa.com/site/ds/top_sites?ts_mode=glo... http://www.amazon.com/gp/reader/1594201536/ref=sib... http://androgeoid.com/2011/04/local-points-of-inte...