ประวัติ ของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้อนุมัติจัดตั้งโรงเรียนเสนารักษ์กองทัพบกขึ้น โดยเป็นหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร ระยะเวลาศึกษา 4 ปี 6 เดือน ดำเนินการผลิตแพทย์เพื่อรับใช้กองทัพจนถึงปี พ.ศ. 2490 รวมทั้งสิ้น 4 รุ่น แล้วหยุดไปเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรอาจารย์แพทย์และอุปกรณ์การเรียนการสอน อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมมีความตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญของแพทย์ทหาร จึงได้หาแนวทางปฏิบัติต่างๆ อาทิ การรับแพทย์ภายในประเทศเข้ารับราชการ ตลอดจนให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนเตรียมทหารเข้าศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ระหว่างปีการศึกษา 2511 ถึงปีการศึกษา 2516 แล้วก็ต้องยุติไป

พระราชวังพญาไท

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 โดยกรมแพทย์ทหารบกได้เสนอเรื่องขอจัดตั้ง "โรงเรียนแพทย์ทหาร" เนื่องจากเกิดความขาดแคลนแพทย์ทหารอย่างมากในกองทัพ ทำให้มีการรื้อฟื้นแนวคิดในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 แต่ต้องชะลอโครงการไว้ก่อน

โครงการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารได้เริ่มขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานกระแสพระบรมราโชวาท ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ณ หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2516 มีใจความสำคัญว่า

เดิมทางทหารมีความจำเป็นที่จะรับสมัครแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลทหารและกิจการของทหาร เพราะว่าเวลารับสมัครแล้วไม่มีใครสมัคร และทำไมไม่มีใครสมัคร ก็เข้าใจว่า เพราะว่าการเป็นแพทย์ทหารนั้นเหนื่อย การเป็นแพทย์นี้ก็เหนื่อยอยู่แล้ว คือต้องรักษาพยาบาลคนไข้ไม่เลือก มีงานในเวลาราชการแล้ว นอกเวลาราชการก็ต้องมีงานอีก นอกจากนั้นเป็นแพทย์ทหารก็ยังมีว่า ต้องออกไปปฏิบัติงานสนาม ซึ่งอาจต้องฝ่าอันตราย คนเราที่จะต้องฝ่าอันตรายก็อาจกลัวได้ อาจเสียวว่าอาจต้องเสียชีวิต หรือจะต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้เวลาเป็นแพทย์ทหาร ไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ต้องปฏิบัติงานของตน เครื่องมือเครื่องใช้ก็อาจจะไม่ครบถ้วน ก็เกิดความรู้สึกที่ท้อใจ เพราะว่าเรียนมาแล้วมีความรู้ดี ไม่สามารถที่จะเรียนต่อ ไม่สามารถที่จะค้นคว้า ไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือ ที่ทันสมัยที่ใหญ่โต นอกจากนั้นก็มีอื่นๆ ก็คือเงินเดือนไม่มาก ทั้งการไปดูงานเมืองนอกก็ไม่ค่อยมีนัก ฉะนั้นก็ไม่มีใครอยากเป็นแพทย์ทหาร ก็มีความจำเป็นที่จะมีแพทย์ทหารทางราชการทหาร ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในด้านวิชานี้ ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่เมื่อมีการแสดงความไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วยในการนี้ก็ทำตาม คือระงับการเรียนในมหาวิทยาลัย ก็เป็นอันว่าการวุ่นวายก็ได้ผลดีคือ ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งจุดประสงค์อันนี้ก็ไม่ต้องขอบอกว่า ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง คิดเอาเอง ครั้นมาถึงเวลาที่บอกว่าไม่มาฝากแล้ว ทางราชการทหารจะตั้งโรงเรียนแพทย์เอง คือ โรงเรียน สำหรับแพทย์ทหาร ก็เกิดโวยวายขึ้นมาใหม่โวยวายว่า ทำไมทหารต้องมีแพทย์ทหาร มีโรงเรียนแพทย์ทหารตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ในการที่ทหารมาฝากเรียนก็มากินที่คนอื่น เมื่อกินที่คนอื่นเขาก็ต้องทำที่ที่อื่น ไม่มาเบียดเบียน ทำไมเมื่อเขาตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นมาจะต้องโวยวาย อันนี้ก็ต้องมีเหตุผลในสมอง ไม่ขอผ่าสมองดูว่าคิดถูกหรือไม่ถูก หรืออาจเป็นคนละคนก็ได้ หรืออาจไม่ได้ทันคิดว่าคำพูดสองอย่างนี้มันขัดกัน ฉะนั้นก็ถึงขอร้องท่านทั้งหลายว่า ถ้าจะคิดอะไรหรือจะปฏิบัติการใดๆ ก็ขอให้คิดให้รอบคอบเสียก่อน ว่าจะเอาอะไรแน่ ถ้าเอาอะไรแน่แล้วก็ปฏิบัติไปจะได้ผลดี

อันเป็นผลสำคัญยิ่งให้สภาการศึกษาวิชาทหารได้ให้ความเห็นชอบ ในการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ทหารเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2516 [4]

ต่อมาเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2517 กรมแพทย์ทหารบกได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อของสถาบัน จึงขออนุมัติเปลี่ยนชื่อจาก "วิทยาลัยแพทย์ทหาร" เป็น "วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า" จนถึงปัจจุบัน

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ในการประชุมร่วมระหว่างกองบัญชาการทหารสูงสุดและผู้แทนสามเหล่าทัพ ได้อนุมัติให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยงานในความรับผิดชอบของกองทัพบก โดยให้กรมแพทย์ทหารบก มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการผลิตนักเรียนแพทย์ทหารปีละ 32 นาย ในโครงการจัดตั้ง 10 รุ่น (รุ่นที่ 1 จบปีการศึกษา 2524 ถึงรุ่นที่ 10 จบปีการศึกษา 2534)

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้รับอนุมัติเข้าสมทบกับ มหาวิทยาลัยมหิดล[5] เพื่อประสาทปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต ทำให้การก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีความสมบูรณ์ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้เปิดดำเนินการได้ จึงถือเอาวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็นวันสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าใช้หลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาในการศึกษา 7 ปี (เตรียมแพทย์ 2 ปี ปรีคลินิก 2 ปี คลินิก 2 ปี และแพทย์ฝึกหัด 1 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2523 จนมีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเป็น 6 ปี (เตรียมแพทย์ 1 ปี ปรีคลินิก 2 ปี คลินิก 3 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2530 ผู้บัญชาการทหารบกอนุมัติให้ผลิตนักเรียนแพทย์ทหารเพิ่มจาก 32 เป็น 65 นายต่อปี ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มให้พอกับความต้องการของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึงปี พ.ศ. 2544 จากนั้นชะลอโครงการประมาณ 2 ปีเนื่องจากสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ภายหลังในปี พ.ศ. 2547 จึงกลับมารับนักเรียนแพทย์ทหารเป็น 65 นายต่อ

ในปี พ.ศ. 2548 ความขาดแคลนแพทย์และศักยภาพของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทำให้กระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณสนับสนุน รับนักเรียนแพทย์ทหารได้เป็น 100 นายต่อปี แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกำลังพลของกองทัพ ไม่สามารถบรรจุแพทย์ทหารเข้ารับราชการได้ทุกนาย วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจึงได้ทำข้อตกลงกับสถาบันพระบรมราชชนก ให้รับบัณฑิตแพทย์เข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดนโยบายการรับบุคคลเข้าศึกษา 100 คนแบ่งเป็น นักเรียนแพทย์ทหาร และนักศึกษาแพทย์ชาย-หญิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าก่อตั้งครบ 20 ปี จึงได้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า "พระมงกุฎเกล้าเวชวิทยา" นอกจากนี้ยังทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ "มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า"[6][7] อีกด้วย

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน อาทิเช่น สนับสนุนการวิจัยให้แก่นักเรียนแพทย์ทหาร ตลอดจนอาจารย์แพทย์ทั้งชั้นปรีคลินิก และให้ทุนการศึกษาแก่ผู้มีผลการเรียนดีไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ การสนับสนุนการศึกษาต่อและดูงานต่างประเทศของอาจารย์และนักเรียนแพทย์ทหาร การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ สระว่ายน้ำ อาคารหอพัก โรงประกอบเลี้ยงและซักรีด ทั้งยังหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ทหาร เป็นต้น

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ทหาร ซึ่งได้จัดสรรให้แก่เหล่าทัพต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแพทย์ในกองทัพ และในชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี

ใกล้เคียง

วิทยา วิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก วิทยาการหุ่นยนต์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vboard.ph... http://www.op.mahidol.ac.th/oraa/files/joined_inst... http://www9.si.mahidol.ac.th/ http://www.pcm.ac.th http://www.pcm.ac.th/ http://www.pcm.ac.th/control.php?&topgroupname=1&g... http://www.pcm.ac.th/control.php?&topgroupname=10&... http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/100 http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/123 http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/14