ผลงาน ของ ศรีปราชญ์

กำสรวลศรีปราชญ์

เดิมเชื่อว่า ศรีปราชญ์เป็นเจ้าของบทประพันธ์เรื่อง กำสรวลศรีปราชญ์[3][4][19] เพราะเริ่มด้วยโคลงบทนี้[3]

กำสรวลศรีปราชญ์ร้างแรมสมร
เสาะแต่ปางนครล่มแล้ว
ไป่พบไป่พานกลอนโคลงท่าน จบแฮ
จวบแต่ต้นปลายแคล้วหนึ่งน้อยยืมถวาย

แต่ลักษณะทางภาษาที่เก่าแก่ รูปแบบคำประพันธ์ ตลอดจนเนื้อหาที่บรรยาย เช่น เส้นทางล่องเรือ ศิลปกรรม สถานที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้ที่กล่าวถึงในคำประพันธ์ ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันเห็นว่า กำสรวลศรีปราชญ์ ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ใช่ตอนปลายอันเป็นยุคของศรีปราชญ์ และไม่ใช่ผลงานของศรีปราชญ์ที่ไม่น่ามีตัวตนจริง[3][4]

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดีแล้วเสนอเมื่อ พ.ศ. 2502 ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นผลงานของพระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[4] ที่ทรงประพันธ์ถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สตรีสูงศักดิ์แห่งอาณาจักรสุโขทัย ในคราวที่ต้องจากกัน เพราะท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องตามเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไปพิษณุโลก เมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2006 ส่วนพระบรมราชาต้องทรงรั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่อาจติดตามขึ้นไปด้วย[3][Note 1]

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ยังเสนอให้เรียก กำสรวลศรีปราชญ์ ว่า กำสรวลสมุทร เพราะน่าจะเป็นชื่อที่ถูกต้องกว่า ทั้งนี้ กำสรวลสมุทร เป็นชื่อที่อ้างถึงในตำรา จินดามณี[3]

อื่น ๆ

ยังมีผลงานอื่น ๆ ที่เชื่อกันว่า เป็นฝีมือของศรีปราชญ์ เช่น อนิรุทธ์คำฉันท์ และ นิราศลำน้ำน้อย[19] แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นงานของเขาจริงหรือไม่ สืบเนื่องจากทฤษฎีที่ว่า เขาไม่น่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์[18]