ศาสนาพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์ (อังกฤษ: Brahmanism) หรือ ศาสนาพระเวท (อังกฤษ: Vedic religion; สันสกฤต: वैदिकधर्म) เป็นศาสนาของชาวอินเดียโบราณซึ่งใช้กลุ่มภาษาอินโด-อารยัน ราว 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1][2][3] โดยยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลักความเชื่อและแนวปฏิบัติ[4] และมีพัฒนาการจนเป็นศาสนาฮินดูในเวลาต่อมา[5][1] จึงถือว่าศาสนาพระเวทเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู[6] โดยมีสำนักพราหมณ์ต่าง ๆ เป็นผู้สืบทอดพระเวทมาจนปัจจุบัน[7]แม้พระเวทจะมีหลักคำสอนที่ลึกซึ้งมีแบบแผน แต่ไม่แน่ชัดว่าหลักคำสอนนั้นส่งผลในทางปฏิบัติของชาวบ้านเพียงใด[7] มีหลักฐานชี้ว่าในศาสนาพระเวทมีสองสายที่ขัดแย้งกัน สายหนึ่งเน้นพิธีกรรมที่มีรูปแบบหยุมหยิม ค่าใช้จ่ายมาก ขั้นตอนซับซ้อน แต่อีกสายกลับตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้ แล้วเน้นความหมายของพิธีกรรมต่อคุณค่าภายในใจและความจริงสากลมากกว่า ทั้งสองสายมีอิทธิพลต่อศาสนาแบบอินเดียทั้งศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดูโดยเฉพาะ[8][9]นักวิชาการบางคนมองว่าศาสนาพระเวทป็นการผสมผสานความเชื่อของชาวอินโด-อารยันในเอเชียกลางกับชาวฮารัปปาในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ[10]