การสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่า ของ ศาสนาพุทธในประเทศพม่า

มหาวิทยาลัยปริยัติศาสนา ในมัณฑะเลย์ ดำเนินการโดยกระทรวงการศาสนาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ประเทศพม่ามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสิบครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ดังหลักฐานบันทึกไว้ว่า “ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกัน คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน 429 แผ่น ณ เมืองมัณฑะเลย์ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง มีพระมหาเถระ 3 รูป คือพระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้พลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม 2,400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือน จึงสำเร็จ[17]

ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ 2 ในพม่าหรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ 6 ที่เรียกว่าฉัฎฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (การนับปีเร็วกว่าไทย 1 ปี จึงเริ่มเท่ากับ พ.ศ. 2498 ปิด พ.ศ. 2500 ตามที่พม่านับ) การทำสังคายนาครั้งนี้มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรกแล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ สำคัญสำหรับการทำสังคายนาครั้งนี้มากเพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยการประชุมซึ่งประมุขหรือผู้แทนของประเทศนี้เป็นหัวหน้า เช่นเป็นสมัยของไทย สมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลองทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า 2,500 ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ 200 ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย[18]

พระพุทธศาสนาในพม่ามีความเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การเจริญหรือเสื่อมของคณะสงฆ์ก็ย่อมมีส่วนกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ดังนั้นกษัตริย์จึงมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ดังที่มีการบรรยายถึงการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ไว้ว่า “กษัตริย์พม่าได้ทรงริเริ่มการปฏิรูปศาสนา หรือการชำระสถาบันสงฆ์ให้บริสุทธิ์ เพื่อจะได้ยึดทรัพย์สมบัติของทางสงฆ์มาให้เป็นที่ยอมรับทั้งทางกฎหมายและสังคม สังฆะที่ร่ำรวยย่อมหมายถึงว่าพระสงฆ์ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามกฎของพระวินัย ดังนั้นการปฏิรูปจึงนับว่าถูกต้องชอบธรรมตามอุดมการณ์ การปฏิรูปศาสนาส่งผลทางวัตถุให้ขนาดของสังฆะลดลงทางด้านอุดมการณ์เท่ากับว่าทำให้พระศาสนาบริสุทธิ์ขึ้น เมื่อสังฆะบริสุทธิ์ขึ้นประชาชนต่างก็จะมาทำบุญเพิ่มขึ้น เพราะบุญที่บุคคลจะได้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของพระที่บุคคลนั้นนับถือ สังฆะเองก็จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเพิ่มขึ้น เพราะโดยหลักการถือว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ทรงปกป้องและอุปถัมภ์ค้ำจุนพระศาสนา ถ้าประชาชนและพระมหากษัตริย์ไม่ได้หันมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สุดท้ายจะนำกลับไปสู่ลัทธิเจ้าของที่ดินของวัดและรัฐก็ต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปสังฆะใหม่หมุนเวียนไปไม่รู้จบ[19]

พระพุทธศาสนาเถรวาทกับประเทศพม่ามีความผูกพันกันมาอย่างยาวนานต้องพานพบกับความเสื่อมและความเจริญ แต่ก็สามารถอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของพม่าเรื่อยมา มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนมีการศึกษาพระพุทธศาสนามาโดยตลอด แม้ว่าปัจจุบันพม่าจะไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนในอดีต คณะสงฆ์พม่าก็ยังมีอิทธิพลสำหรับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการเป็นผู้นำในการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐ คณะสงฆ์พม่ายังได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทจากทั่วโลก ดังเช่นในปีพุทธศักราช 2550 ได้มีการก่อตั้งสมาคมพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติขึ้น และได้ประชุมครั้งแรกระหว่างช่วงวันที่ 9–11 มีนาคม 2550 ที่เมืองย่างกุ้ง และประชุมที่เมืองสะกายเป็นครั้งที่สอง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศาสนาพุทธในประเทศพม่า http://www.allmyanmar.com/new%20allmyanmar.com/Bud... http://www.nibbana.com/ http://www.seasite.niu.edu/burmese/cooler/80Scenes... http://press.princeton.edu/titles/8392.html http://www.press.umich.edu/titleDetailDesc.do?id=2... http://www.bps.lk/olib/wh/wh399.pdf http://www.buddhanet.net/e-learning/buddhistworld/... http://www.myanmarnet.net/videoclips.htm http://english.dvb.no/e_docs/511947_con.htm http://www.saddhamma.org/