ประวัติ ของ ศาสนาพุทธในประเทศพม่า

เจดีย์ชเวดากอง ถูกสร้างขึ้นในสมัยมอญเรืองอำนาจ

พระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนประเทศพม่าในระยะแรก คือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทหรือนิกายหินยานได้เข้าไปประดิษฐานที่เมืองสุธรรมบุรีหรือเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนชาวพม่าตอนเหนือมีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง พงศาวดารมอญพม่าและตำนานพระพุทธศาสนาเถรวาทในพม่ากล่าวว่า พ่อค้าชาวมอญสองนายจากบริเวณพม่าตอนล่างได้เส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้านำมาประดิษฐานไว้ในวัดเล็กๆ วัดหนึ่ง ต่อมาเป็นที่สร้างเจดีย์พระเกศาธาตุหรือเจดีย์ชเวดากอง[4]

ส่วนพระพุทธศาสนาลัทธิอาจริยวาทหรือนิกายมหายานได้เผยแผ่มาจากแคว้นเบงกอลและโอริศาของอินเดีย พระภิกษุมอญมีส่วนในการสร้างอาณาจักรพม่าในยุคแรก ดังที่หนังสือประวัติศาสตร์พม่าบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในพุทธศักราช 1587 (ค.ศ. 1044) พระเจ้าอนุรุทธะ (พระเจ้าอโนรธา) ขึ้นครองราชย์ที่กรุงพุกามซึ่งตั้งอยู่ตรงใต้จุดบรรจบของแม่น้ำอิรวดีกับแม่น้ำซินต์ พระเจ้าอนุรุทธะไม่ทรงพอพระทัยในศาสนาที่ประชาชนนับถืออยู่ในขณะนั้นซึ่งเป็นศาสนาที่มีส่วนผสมปนเปของหลักพระพุทธศาสนานิกายมหายานกับความเกรงกลัวอำนาจธรรมชาติแบบพื้นเมือง ซึ่งพระองค์ไม่เห็นด้วย ในขณะนั้นพระภิกษุมอญรูปหนึ่งชื่อพระชินอรหันต์ได้เดินทางมายังอาณาจักรพุกาม ท่านเป็นผู้หนึ่งในหมู่ชนจำนวนน้อยที่ไม่นิยมรับความเชื่อแบบฮินดูที่เมืองสะเทิม ในเวลานั้นไม่นานนักพระชินอรหันต์ก็สามารถชักนำให้พระอนุรุทธะหันมานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทได้”[5]

เจดีย์ชเวซีโกน ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ

เมื่อขึ้นครองราชย์ประชาชนมีความเชื่อหลากหลาย แต่สงบได้เพราะพุทธศาสนาดังที่อ้างไว้ว่าตอนที่พระเจ้าอโนรธายังมิได้ขึ้นครองบัลลังก์นั้น ในเมืองพุกามยังมีความเชื่อถืออันผิดๆ โดยเฉพาะความเชื่อแบบพวกอะยีกำลังครอบงำแผ่นดินพุกามอยู่ขณะนั้น เมื่อพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองบัลลังก์และทรงปรารถนาในศาสนาอันชอบ ในเพลาเดียวกันนั้นพระชินอรหันต์ได้เดินทางจาริกจากเมืองสะเทิมมาเผยแผ่ศาสนายังเมืองพุกาม จึงทรงขอร้องให้พระชินอรหันต์เผยแผ่ศาสนาในพุกาม ด้วยความช่วยเหลือของพระชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อของเหล่าอะยีลงได้ พวกอะยีถูกจับสึกแล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ความเชื่อแบบอะยีจึงค่อยๆ หมดไปจากพุกาม พระเจ้าอโนรธาทำให้ประชาชนทั่วแผ่นดินพุกามหันมานับถือพุทธศาสนาและยังเป็นการรวมชาติโดยผนึกความเชื่อต่างๆ ให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หากไม่มีความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะรวมชาติได้ หลังรวบรวมดินแดนของชาวพม่าให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พระเจ้าอโนรธายังได้จัดทัพไปตีได้เมืองสะเทิมของชาวมอญ พร้อมกับอันเชิญพระภิกษุสงฆ์ พระไตรปิฎก และพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์จากเมืองสะเทิมไปยังเมืองพุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคัมภีร์ได้ช่วยพระชินอรหันต์เป็นอย่างมากในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้เป็นที่แพร่หลาย นอกจากนี้พระเจ้าอโนรธามังช่อยังได้ทรงส่งสมณทูตไปติดต่อกับลังกา และเชิญไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกามาด้วย พระเจ้าอโนรธามิได้สร้างพระเจดีย์เฉพาะในพุกามแต่ยังทรงสร้างเจดีย์ในทุกที่ที่เสด็จไปถึง ในบรรดาเจดีย์เหล่านี้เจดีย์ที่โดดเด่นที่สุดคือ เจดีย์ชเวซีโกน

ในการที่จะให้พุทธศาสนาแพร่หลาย พระเจ้าอโนรธายังทรงให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกกันในวัด พุทธศาสนาที่พระเจ้าอโนรธาได้ทรงอุปถัมภ์นั้นยังมั่นคงมาได้จวบจนปัจจุบัน การนำพุทธศาสนาจากแผ่นดินของชาวมอญสู่พุกามนั้น พม่ายกย่องพระชินอรหันต์ภิกษุมอญเป็นดุจผู้ส่องไฟนำทาง พระเจ้าอโนรธาเป็นดุจผู้หว่านเมล็ดแห่งพุทธศาสนาบนดินแดนพม่า ส่วนเหล่าอะยีนั้นถูกตีตราให้เป็นพวกมิจฉาทิฐิโดยประมาณว่าเป็นกลุ่มนักบวชที่แผ่อิทธิพลเหนือชาวบ้านด้วยการเอานรกมาขู่ ยกสวรรค์มาอ้าง และหากินกับลาภสักการระ การนำพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาสู่อาณาจักรของชาวพม่านั่นจึงถือเป็นการทำลายอำนาจมืดจากความเชื่อผิดๆ ภาพของพระเจ้าอโนรธาในแบบเรียนจึงเป็นภาพปฏิวัติทางความคิดเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมของชาวพุทธพม่า[6]

ทุกหนทุกแห่งที่พระเจ้าอนุรทธะทรงได้ชัยชนะในการสงคราม แทนที่พระองค์จะสร้างเสาหินแห่งชัยชนะไว้ กลับสร้างอิฐจารึกบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต และพระนามาภิไธยเป็นภาษาสันสกฤต และทำให้พุกามกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษานิกายเถรวาท[7]

ความมั่งคั่งในอาณาจักรพุกามทำให้มีการสร้างวัดนับไม่ถ้วนในพุกาม และยังมีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันประมาณห้าพันวัด ส่วนเจดีย์ในพุกามมีสองประเภทใหญ่ๆ คือแบบสถูปตันและแบบกลวงกลมหรือถ้ำจำลอง เจดีย์อันดับแรกคือเจดีย์ชเวซีโกนของพระเจ้าอนุรทธะมีลักษณะเป็นรูปปิรามิด มีฉัตรทองกั้นอีกชั้นหนึ่ง ทั้งเจดีย์ปิดทองมีมณีมีค่าประดับฉัตรบนยอดเจดีย์ [8]

หลังยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อเป็นต้นมา กษัตริย์ของพม่าองค์ต่อๆ มาทรงให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ดังที่หม่องอ่องกล่าวว่า “พระเจ้ามินดงทรงโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งชุด รวมทั้งคำอธิบายลงบนแผ่นหินกว่า 5,000 แผ่น และทรงสนับสนุนพระสงฆ์ผู้เคร่งวินัยให้อพยพไปพม่าตอนล่าง”[9] พระภิกษุบางรูปเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นกษัตริย์ครองราชย์บัลลังก์ ดังเช่นเรื่องของ พระธรรมเจดีย์ กษัตริย์สมัยอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญ เมื่อพระนางเชงสอบู ทรงเลือกบาตรใหญ่สองใบ ใบหนึ่งบรรจุอาหารที่จัดสรรอย่างวิเศษ และอีกใบหนึ่งใส่เครื่องราชอิสริยยศ พระนางก็ทรงนิมนต์พระภิกษุทั้งสอง คือพระธรรมเจดีย์บุตรบุญธรรมและพระธรรมปาละ มาบิณฑบาตในท้องพระโรงต่อหน้าข้าราชสำนักที่แต่งเต็มยศอย่างงดงามตระการตายิ่ง เมื่อพระทั้งสองรูปมาถึงและให้เลือกบาตรคนละใบ พระธรรมเจดีย์เลือกได้บาตรที่ใส่เครื่องราชอิสริยยศและได้รับเลือกเป็นกษัตริย์จึงต้องสึก เพื่ออภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนางเชงสอบูและรับราชบัลลังก์ (ค.ศ. 1472)[10]

มณฑปครอบพระไตรปิฎกซึ่งจำรึกลงบนแผ่นหินอ่อน ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามินดง บริเวณวัดกุโสดอว์

ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์สมัยอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญทางตอนใต้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธศาสนาในดินแดนมอญขณะนั้นเสื่อมลงมาก จึงโปรดให้มีการชำระปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์โดยทรงให้ภิกษุทุกรูปในดินแดนมอญลาสิกขา และรับการอุปสมบทใหม่จากพระอุปัชฌาย์และพระอันดับที่ล้วนได้รับการอุปสมบทจากลังกาเป็นผู้ให้อุปสมบท แต่หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาในประเทศพม่าก็เสื่อมลงอีก สาเหตุทั้งเนื่องจากสงครามระว่างพม่าด้วยกันเอง และสงครามระหว่างพม่ากับมอญ กระทั่งถึงประมาณ พ.ศ. 2300 เมื่อพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าได้ยกทัพไปทำลายกรุงหงสาวดีอย่างราบคาบ ทำให้ชนชาติมอญสูญสิ้นอำนาจลงอย่างเด็ดขาด หลังสงครามพระพุทธศาสนาในพม่าได้รับการทำนุบำรุงจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยพระเจ้ามินดง (พ.ศ. 2395–2420) พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่พม่าระหว่าง พ.ศ. 2411–2414 ณ เมืองมัณฑะเลย์ และโปรดเกล้า ฯ ให้จารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อนแล้วทำมณฑปครอบไว้ ซึ่งยังปรากฏอยู่ที่วัดกุโสดอว์เชิงเขามัณฑะเลย์จนถึงทุกวันนี้ ปี พ.ศ. 2429 พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกล้มล้างลง จึงส่งผลให้พระพุทธศาสนาได้รับผลกระทบกระเทือนตามไปด้วย แต่ถึงกระนั้นประชาชนในพม่าก็ยังคงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นตลอดมา จนเมื่อพม่าได้รับเอกราช เมื่อ พ.ศ. 2591 ฯพณฯ อู นุ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อ พ.ศ. 2493 และต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายรับรองให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในปี พ.ศ. 2500 ในปัจจุบันมีพระพุทธศาสนาที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลพม่า จำนวน 9 นิกาย เช่น นิกายสุธรรมมา เป็นต้น[11]

หม่องทินอ่อน นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปยังดินแดนที่ห่างไกลหลายแห่งด้วยกัน สมณทูตคณะหนึ่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ประชาชนในสุวรรณภูมิ เมืองหลวงของสุวรรณภูมิคือเมืองสะเทิม (Thaton) ในพม่าตอนล่าง ในขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยเชื่อกันว่าจุดศูนย์กลางของสุวรรณภูมิอยู่ที่นครปฐมโดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่นพระปฐมเจดีย์[12]

นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านมีความเชื่อสอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์พม่าโดยได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าอโศกได้ส่งสมณทูตเก้าสายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาพระโสณะและพระอุตระไปสุวรรณภูมิคือบริเวณเมืองสะเทิมของมอญและเมืองไทยตลอดจนแหลมมลายู ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังการะบุว่าดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ห่างจากลังกา 700 โยชน์”[13]

จากประวัติศาสตร์บางตอนพบว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 6 เพราะได้พบหลักฐานเป็นคำจารึกภาษาบาลี นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งชื่อว่า ตารนาถ เสนอว่าพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เข้ามาสู่พม่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาได้มีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำเอาพระพุทธศาสนาแบบมหายานลัทธิตันตระ เข้าไปเผยแผ่ ในครั้งนั้นพม่ามีเมืองพุกามเป็นเมืองหลวง มีชื่อเรียกชาวพม่าว่า "มรัมมะ" ส่วนชาวมอญ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม" และถิ่นใกล้เคียงรวมๆ เรียกว่า รามัญประเทศ หรือ อาณาจักรสุธรรมวดี จนพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่เข้ามาก่อนและแบบมหายานที่เข้ามาทีหลังเจริญรุ่งเรืองในพม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี[14]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศาสนาพุทธในประเทศพม่า http://www.allmyanmar.com/new%20allmyanmar.com/Bud... http://www.nibbana.com/ http://www.seasite.niu.edu/burmese/cooler/80Scenes... http://press.princeton.edu/titles/8392.html http://www.press.umich.edu/titleDetailDesc.do?id=2... http://www.bps.lk/olib/wh/wh399.pdf http://www.buddhanet.net/e-learning/buddhistworld/... http://www.myanmarnet.net/videoclips.htm http://english.dvb.no/e_docs/511947_con.htm http://www.saddhamma.org/