นิกายหลัก ของ ศาสนาฮินดู

ดูบทความหลักที่: นิกายในศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดูไม่มีหลักคำสอนหลักกลาง ในขณะเดียวกันชาวฮินดูเองจำนวนมากก็ไม่ได้อ้างว่าเป็นของนิกายหรือประเพณีใด ๆ[48] อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาเชิงวิชาการนิยมแบ่งออกเป็น 4 นิกายหลัก ได้แก่ ลัทธิไวษณพ, ลัทธิไศวะ, ลัทธิศักติ และ ลัทธิสมารตะ[49][50] นิกายต่าง ๆ นี้แตกต่างกันหลัก ๆ ที่เทพเจ้าองค์กลางที่บูชา, ธรรมเนียมและมุมมองต่อการหลุดพ้น[51] Julius J. Lipner ได้ระบุไว้ว่าการแบ่งนิกายของศาสนาฮินดูนั้นแตกต่างจากในศาสนาหลักอื่น ๆ ของโลก เพราะนิกายของศาสนาฮินดูนั้นคลุมเครือกับการฝึกฝนของบุคคลมากกว่า เป็นที่มาของคำว่า "Hindu polycentrism" (หลากหลายนิยมฮินดู, ฮินดูตามท้องถิ่น)[52]

ปัญจเทวะ คือเทพเจ้าทั้ง 5 ที่ได้รับการบูชาพร้อมกันในลัทธิสมารตะ

ลัทธิไวษณพ บูชาพระวิษณุ[53] และปางอวตารของพระองค์ โดยเฉพาะ พระกฤษณะ และ พระราม[54] ลักษณะของนิกายนี้โดยทั่วไป ไม่ใช่ลักษณะนักพรตติดอาราม แต่มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมชุมชนและการปฏิบัติที่นับถือศรัทธา ความรักสนุกนี้มีที่มาจากการสื่อนัย ๆ ถึงลักษณะอัน "ขี้เล่น ร่าเริง และสนุกสนาน" ของพระกฤษณะรวมถึงอวตารองค์อื่น ๆ[51] พิธีกรรมและการปฏิบัติจึงมักเต็มไปด้วยการระบำในชุมชน, ขับร้องดนตรี ทั้ง กีรตัน (Kirtan) และ ภชัน (Bhajan) โดยเชื่อกันว่าเสียงและดนตรีเหล่านี้จะมีพลังในการช่วยทำสมาธิและมีพลังอำนาจเชิงความเชื่อ[55] การเฉลิมฉลองและพิธีกรรมในศาสนสถานของไวษณพมักมีความประณีต ละเอียดลออ[56] ส่วนรากฐานเชิงศาสนศาสตร์ของไวษณพนั้นมาจากภควัทคีตา, รามายณะ และปุราณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุ[57]

ลัทธิไศวะ มุ่งเน้นที่พระศิวะ ศาสนิกชนไศวะมีแนวโน้มไปทางปัจเจกพรตนิยม (ascetic individualism) และแตกออกเป็นนิกายแยกย่อยได้อีก[51] แนวทางปฏิบัติของไศวะรวมถึงการศรัทธาแบบภักติ แต่ความเชื่อโน้มเอียงมาทางนิกายแบบ nondual, monistic อย่าง Advaita และ ราชโยคะ[49][55] ไศวะมีทั้งกลุ่มที่นิยมบูชาในศาสนสถาน บางส่วนก็มุ่งเน้นที่การปฏิบัติโยคะ ทั้งหมดเพื่อพยายามเข้าเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับพระศิวะทั้งสิ้น[58] ลักษณะขององค์อวาตารนั้นไม่ค่อยพบ และไศวะบางกลุ่มมองพระเป็นเจ้าในลักษณะของครึ่งบุรุษ-ครึ่งสตรี (อรธนารีศวร) ไศวะนั้นมีความเกี่ยวพันกับศักติ โดยมักมองว่าองค์ศักติเป็นพระสวามีของพระศิวะ[49] การเฉลิมฉลองประกอบด้วยเทศกาลต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมในศาสนพิธีและเดินทางไปแสวงบุญยังสถานที่แสวงบุญเช่น Kumbh Mela ร่วมกับไวษณพ[59] ลัทธิไศวะพบได้ทั่วไปในแถบหิมาลัย ตั้งแต่กัศมีร์จนถึงเนปาล และในอินเดียใต้[60]

ลัทธิศักติ บูชาเทวีหรือศักติเป็นพระมารดาของจักรวาล[51] พบมากเปนพิเศษในรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกของอินเดีย เช่น รัฐอัสสัม และเบงกอลตะวันตก เทวีที่บูชานั้นมีรูปลักษณ์ตั้งแต่พระแม่ปราวตี ซึ่งทรงอ่อนโยนไปจนถึงองค์ที่มีพระลักษณะดุดันเช่น พระแม่ทุรคา และ พระแม่กาลี ศาสนิกชนเชื่อว่าศักติเป็นพลังอำนาจที่คอยรองรับความเป็นบุรุษ ระเบียบการปฏิบัติของศักติเกี่ยวข้องกับแนวทางแบบตันตระ[61] การเฉลิมฉลองมีทั้งเทศกาล ซึ่งบางส่วนมีพิธีกรรมที่นำเทวรูปดินเหนียวแช่ลงให้ละลายไปในแม่น้ำ[62]

ลัทธิสมารตะ บูชาเทพเจ้าฮินดูองค์หลัก ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ พระศิวะ, พระวิษณุ, องค์ศักติ, พระคเนศ, พระสุริยะ และ พระการติเกยะ[63] ธรรมเนียมแบบสมารตะนั้นเกิดขึ้นราวหลังยุคคาสสิกของฮินดูตอนต้น ราวเริ่มต้นคริสตกาล หลังศาสนาฮินดูเริ่มรวมเข้ากับการปฏิบัติแบบพราหมณ์และความเชื่อพื้นมือง[64][65]

ใกล้เคียง

ศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูในประเทศไทย ศาสนาฮินดูแบบบาหลี ศาสนาฮินดูในประเทศมาเลเซีย ศาสนาฮินดูในประเทศเวียดนาม ศาสนาฮินดูกับกลุ่มแอลจีบีที ศาสนาฮินดูในประเทศญี่ปุ่น ศาสนาฮินดูในประเทศมัลดีฟส์