ศาสนาแบบอินเดีย

ศาสนาแบบอินเดีย (อังกฤษ: Indian religions) คือศาสนาที่มีต้นกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย ได้แก่ ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาซิกข์[web 1] ศาสนาเหล่านี้ถือว่าเป็นศาสนาตะวันออก แม้ศาสนาแบบอินเดียจะเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อินเดีย แต่ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในอนุทวีปอินเดียเท่านั้น ยังได้แพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย[web 1]ชาวฮารัปปาในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุราว 3300-1300 ปีก่อนคริสต์ศักราชมีวัฒนธรรมแบบเมืองมาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของศาสนาพระเวท ชาวทราวิฑและตระกูลภาษาดราวิเดียนในอินเดียใต้ก็มีมาก่อนศาสนาพระเวทเช่นกันประวัติศาสตร์นับจุดเริ่มต้นของศาสนาแบบอินเดียที่ศาสนาพราหมณ์ของชาวอินโด-อารยัน ซึ่งต่อมาได้รวบรวมคำสอนเป็นคัมภีร์พระเวท และเรียกยุคที่มีการเรียบเรียงคัมภีร์พระเวทว่ายุคพระเวท ซึ่งตรงกับช่วง 1750-550 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] จากนั้นจึงเป็นยุคปฏิรูป ซึ่งได้พัฒนาศาสนาพราหมณ์มาเป็นศาสนาฮินดูในปัจจุบัน[2] มีขบวนการสมณะเป็นขบวนการศาสนาที่เกิดขึ้นแยกจากสายพระเวทและดำรงอยู่คู่ขนานกันมา ศาสนาพุทธ[3] ศาสนาเชน[4] สำนักโยคะ[5] ความเชื่อเรื่องสังสารวัฏ และโมกษะ[6] ก็มีที่มาจากขบวนสมณะนี้ด้วยยุคปุราณะซึ่งตรงกับช่วง 200 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง ค.ศ. 500 และต้นยุคกลางซึ่งตรงกับ ค.ศ. 500-1,100 เป็นช่วงที่เกิดสำนักใหม่ ๆ ขึ้นในศาสนาฮินดู เช่น ขบวนการภักติ ลัทธิไศวะ ลัทธิศักติ ลัทธิไวษณพ จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคอิสลามราว ค.ศ. 1,100-1,500 และคุรุนานักเทพตั้งศาสนาซิกข์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15[web 2] และแพร่หลายมากในภูมิภาคปัญจาบเมื่อถึงยุคที่จักรวรรดิอังกฤษเข้าปกครองอินเดีย กระแสการตีความศาสนาฮินดูใหม่เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอินเดีย