พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ขณะทรงพระเยาว์

ขณะทรงพระเยาว์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ (ไม่มีนามสกุล เนื่องจากพระราชบัญญัติขนานนามสกุลเริ่มมีในปี พ.ศ. 2456) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443จังหวัดนนทบุรี[14] เป็นบุตรคนที่ 3 ในพระชนกชูและพระชนนีคำ มีพระภคินี และพระเชษฐา 2 คนซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่พระอนุชาอ่อนกว่าพระองค์ 2 ปี คือ คุณถมยา[15]

พระชนกชู มีอาชีพเป็นช่างทอง เป็นบุตรชายของคหบดี ชื่อ ชุ่ม แต่ไม่ทราบนามของมารดา[14] ชุ่มมีเชื้อสายสืบมาจากผู้ดีเก่าแถวตึกขาว มีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ส่วนพระชนนีคำ มีมารดาชื่อผา แต่ไม่ทราบนามของบิดา[14] พระชนนีคำเป็นสตรีที่รู้หนังสือซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น[16] จึงได้นำความรู้นี้มาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่มีไหวพริบ และเฉลียวฉลาด

และเชื่อว่าเหล่าเครือญาติฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ เนื่องจากทางครอบครัวนิยมรับประทานข้าวเหนียว[14] ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นฐานเดิมของครอบครัว คือ บ้านช่างทอง ซึ่งตรงกับชุมชนชาวลาวด้านใต้ของธนบุรี อันเป็นชุมชนชาวลาวที่มีชื่อเสียงด้านฝีมือช่าง แต่ปัจจุบันชุมชนลาวดังกล่าวได้ย้ายไปยัง บ้านตีทอง รอบวัดสุทัศนเทพวรารามในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเครือญาติที่นิพนธ์นั้นอาจสืบเชื้อสายมาจากชาวลาวที่เคยในชุมชนบ้านช่างทองก็เป็นได้[17]

พระชนกชูได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่พระองค์มีพระชนมายุ 3 พรรษา และพระชนนีคำถึงแก่กรรมเมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา[18] หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของป้าซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างม้วนบุหรี่ และทำขนมขาย วันหนึ่ง ญาติของครอบครัวพระชนกชู มาแนะนำพระชนนีคำ ให้นำสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปฝากคุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นญาติและพระพี่เลี้ยงใน สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อถวายตัวเป็นข้าหลวง ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 7-8 พรรษา[16]

ขณะยังทรงศึกษา

เด็กหญิงสังวาลย์และแม่แฉล้มเพื่อนสมัยเรียนพยาบาล[19]

พระองค์เข้าศึกษาที่ โรงเรียนศึกษานารี ได้ไม่นาน พระองค์ก็ได้ถูกส่งไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยประทับอยู่บ้านคุณหวน หงสกุล[20] วัดมหรรณพาราม โรงเรียนเพื่อประชาชนสามัญแห่งแรก[21] พระองค์ทรงถูกเข็มเย็บผ้าตำฝ่าพระหัตถ์ ต้องเข้ารับผ่าตัดกับพระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ)

เมื่อปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ตามคำชักชวนจากพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ไปทรงศึกษาวิชาพยาบาลต่อที่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ [22]

เมื่อไปเรียนต่างประเทศจำเป็นที่จะมีนามสกุลในหนังสือเดินทาง เมื่อขณะนั้นยังไม่มีนามสกุล จึงจำเป็นต้องมีการหานามสกุลให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ใช้นามสกุลของข้าราชบริพารที่มีนามสกุลคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ คือ ขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ)[23] พระองค์จึงมีพระนามในหนังสือเดินทางว่า นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี พ.ศ. 2460)[24]

ต่อมา คุณถมยา พระอนุชาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุล "ชูกระมล" ถึงแม้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่เคยใช้นามสกุลชูกระมล ก็อยากจะถือว่าทรงเกิดมาในสกุลนี้[23]

อภิเษกสมรส

ไฟล์:Prince Mahidol and Mom Sangwal 2.JPGสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับนางสาวสังวาลย์[25] ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่น ๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์[26] ทั้งนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทรงกล่าวกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไว้ ความว่า "สังวาลย์เป็นกำพร้า...แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง"[27]

พ.ศ. 2463 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสตามกฎมณเฑียรบาล[26] เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นางสาวสังวาลย์จึงได้เดินทางกลับมา และเมื่อถึงวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม[28] นางสาวสังวาลย์จึงมีศักดิ์เป็น หม่อมสังวาลย์ และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนหม่อมสังวาลย์ เรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน[28]

ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส

หลังจากทั้ง 2 พระองค์ทรงจบการศึกษาแล้วจึงเสด็จไปที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล ซึ่งภายหลังทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[29]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2466 ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมด้วยพระราชธิดา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย[30] ประทับอยู่ได้ประมาณ 20 เดือน ก็ประชวร แพทย์จึงถวายคำแนะนำให้ประทับในที่อากาศเย็น ที่เมืองไฮเดลแบร์ก สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) สมเด็จพระบรมราชชนนีและพระราชธิดาจึงได้ตามเสด็จไปประทับด้วย[31] สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียวเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่จนถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2469[32]

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชโอรส พระราชธิดา

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประสูติพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดูแลพระโอรสธิดาอย่างใกล้ชิดด้วยความรักและการอบรมสั่งสอน และทรงทูลเรื่องนี้กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความตอนหนึ่งว่า "ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักดั่งดวงใจ...ถ้าได้ช่วยลูก ๆ ให้ได้รับการอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน"[33]

ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้ายอยู่ที่เมืองบอสตัน ประชวรโรคพระวักกะกำเริบ และพระโรคหวัด[34] แต่ก็ยังทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม แต่หลังจากสอบเสร็จ และประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ ทั้งสองพระองค์ได้พาพระราชโอรสธิดาเดินทางกลับประเทศไทย โดยประทับที่พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นในวังสระปทุม ถนนพญาไท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับเชิญเป็นแพทย์ประจำบ้านจากโรงพยาบาลแมคคอร์มิก จังหวัดเชียงใหม่[35] ในเดือนต่อมาก็เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นก็ทรงพระประชวรอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือนก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม[36] ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระชนมายุเพียง 29 พรรษา ทรงต้องรับหน้าที่อบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสพระราชธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง จนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข[37] สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงแนะให้สมเด็จพระบรมราชชนนีพาพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ เสด็จไปศึกษาต่อที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระราชชนนี

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาลให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ขึ้นสืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป[38] ขณะที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ได้เข้าเข้าเฝ้าฯ กราบทูลเชิญเพื่อให้รับราชสมบัตินั้น หม่อมสังวาลย์จึงได้เจรจาออกไปว่า "จะขออยู่อย่างอินคอกนิโต [ไม่เป็นทางการ] ให้ได้โอกาสเป็นเด็กธรรมดามากที่สุดที่จะมากได้...ถ้าจะมาบังคับให้อยู่หรูหรากันอย่างคิงเต็มที่ซึ่งจะไม่ดีเลยสำหรับเด็ก จะทำให้ลำบากและเด็กไม่เป็นสุขแล้ว เห็นจะเป็นคิงไม่ได้ เพราะจะอยู่อย่างไม่หรูหราแต่อย่างเรียบร้อย ก็ไม่ได้ทำให้เสียชื่อเสียงหรือน่าเกลียดอะไร" การเจรจาของหม่อมสังวาลย์ครั้งนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีจึงได้ตรัสชมความเฉลียวฉลาดในการเจรจาของหม่อมสังวาลย์ พระสุณิสาว่า "ฉลาดเป็นอัศจรรย์ ใจเย็นพูดจาโต้ตอบงดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครจะมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี้ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วย จนน้ำตาไหล"[39] และวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478

ในวันที่ครองราชย์นั้น สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย นายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ นายนาวาตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ร.น. และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)[40] ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงประกาศถวายพระนามพระราชชนนีว่า พระราชชนนีศรีสังวาลย์[41] ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงย้ายไปประทับที่บ้านเช่าขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ใกล้กับเมืองโลซาน เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชโอรส ทรงตั้งชื่อให้พระตำหนักใหม่ว่า "วิลล่าวัฒนา"

ในปี พ.ศ. 2481 พระราชชนนีศรีสังวาลย์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา ได้เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรกโดยประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลากว่า 2 เดือน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศพระราชชนนีเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์[42] นอกจากนั้นพระองค์ยังพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี สร้างสุขศาลา จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2481

ในปี พ.ศ. 2485 สมเด็จพระราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมี ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2486 และอีกสองปีต่อมาในปี พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ก็เสด็จเข้าศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สองพร้อมกับสมเด็จพระราชชนนี ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยในครั้งนี้ ทำให้สมเด็จพระราชชนนีต้องทรงประสบกับความโทมนัสอย่างใหญ่หลวงในพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคต ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระราชโอรสพระองค์ที่สอง ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษา โดยมีสมเด็จพระบรมราชชนนีรับพระราชภาระถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2490 ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์นั้น สมเด็จพระราชชนนีก็ได้ทรงลงทะเบียนเรียนแบบ audit ที่มหาวิทยาลัยนี้ด้วย ทรงศึกษาวิชาปรัชญาวรรณคดีฝรั่งเศส ภาษาบาลี และสันสกฤต หลังจากที่พระโอรสทรงอภิเษกสมรสใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระราชชนนีทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่ประทับของพระองค์และพระโอรสที่เมืองพุยยี่มา ประทับ ณ แฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองโปสต์ ในเมืองโลซานน์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระหว่างพ.ศ. 2503-2504 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชโดยดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรตลอดเกือบ 7 เดือนได้แก่ เวียดนาม (พ.ศ. 2502) อินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป (พ.ศ. 2503) ปากีสถาน สหพันธรัฐมลายู นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (พ.ศ. 2505) จีนและญี่ปุ่น (พ.ศ. 2506) ออสเตรีย (พ.ศ. 2507) อังกฤษ (พ.ศ. 2509) อิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา (พ.ศ. 2510) ในการนี้สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจในฐานะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ ได้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์โดยในระหว่างนั้นได้ทรงเสด็จฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะองคมนตรีเป็นประจำเสมอ กับยังได้ทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมายและประกาศทีสำคัญหลายฉบับ อาทิพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์อิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติเรื่องการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และประกาศเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แห่งชาติระหว่างเวลา พ.ศ. 2504-2509 และประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 เป็นต้น

นอกจากนี้สมเด็จพระราชชนนียังได้ทรงเสด็จฯ ออกรับเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ ที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้งในการมาประจำที่ประเทศไทยตลอด และยังทรงประกอบพระราจกรณียกิจอื่น ๆ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย บำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับได้ว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นผู้สำเร็จราชแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ 3 นับเนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เสด็จนิวัติประเทศไทย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขณะมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 23.30 น. วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในเหตุการณ์ 14 ตุลา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จกลับประเทศไทยในปลาย พ.ศ. 2494 สมเด็จพระบรมราชชนนียังคงประทับที่โลซานน์จนถึง พ.ศ. 2506 ช่วงนี้ได้เสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ใน พ.ศ. 2507 ได้เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยพร้อมกับเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองและเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจด้วยทรงห่วงใยราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงเสด้จเข้าเยี่ยมเยียนชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือ ทรงบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนเป็นประจำ

จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทรงริเริ่มงานพัฒนาต่าง ๆ ได้ทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อประชาชนยากจนด้อยโอกาส ทรงยึดมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย นอกจากการอภิบาลพระราชโอรสทั้งสอง และพระราชธิดา ยังได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่น ๆ อีกเป็นอเนกประการ ได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่มูลนิธิและองค์การกุศลต่างๆ ตามกำลังพระราชทรัพย์ ทั้งยังได้พระราชทานความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข, เสื้อผ้า และอาหาร ผ่านเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามแก่พระองค์ว่า "แม่ฟ้าหลวง" ด้วยเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อมาปัดเป่าทุกข์แก่ราษฎร[13] นอกจากนี้ยังทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามต่าง ๆ อาทิ พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย, พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท ,พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์ และพระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย เป็นต้น

จนวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระราชชนนี ทรงพระนามเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี[43]

สวรรคต

พระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน คณะแพทย์ถวายการรักษาเบื้องต้นที่วังสระปทุม จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จึงเชิญเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างการประทับรักษาที่โรงพยาบาล คณะแพทย์พบว่าเกิดการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะเพิ่ม ต่อมา มีพระอาการแทรกซ้อน มีการอักเสบที่พระอันตะ พระอันตคุณ (ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก) และที่พระปับผาสะ (ปอด) ข้างขวา คณะแพทย์ได้พยายามถวายการรักษาจนพระอาการทั่วไปดีขึ้นบ้าง

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม สมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการตั้งแต่เช้าจนเที่ยงของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 คงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21:17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุ 94 พรรษา[44]

สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา 3 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 [45] ต่อมา ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2538 บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ขยายเวลาลดธงครึ่งเสาต่อไปจนครบ 50 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับการแต่งกายไว้ทุกข์ถวาย โดยให้ลดธงครึ่งเสาต่อไปจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538[46]

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539พระเมรุมาศ สนามหลวง พระราชสรีรางคารถูกเชิญไปบรรจุ ณ รังษีวัฒนา สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี http://www.4forcenews.com/11100 http://www.chaoprayanews.com/2016/10/06/%E0%B8%AD%... http://hilight.kapook.com/view/19058 http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.ph... http://www.wat-srinagarin.com/th/temple/watsrin.ph... http://www.maefahluang.org/?p=3277&lang=th http://www.maefahluang.org/index.php?view=items&ci... http://www.princemahidolaward.org/complete-biograp... http://www.princess-srinagarindraaward.org/th/cont...