ประวัติศาสตร์ ของ สหภาพโซเวียต

การปฏิวัติรัสเซีย และการก่อตั้งสหภาพโซเวียต

วลาดิมีร์ เลนินผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917

สหภาพโซเวียตถูกก่อตั้งมาจากการยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิก นำโดยวลาดิมีร์ เลนิน โดยยึดอำนาจจากจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เรียกการปฏิวัติครั้งนั้นว่าการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การปฏิวัติครั้งนั้นส่งผลให้ รัฐบาลของกษัตริย์ถูกยกเลิก ระบอบการปกครองโดยกษัตริย์ถูกยกเลิก ก่อเกิดรัฐสังคมนิยมขึ้นมาแทน และเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ราชวงศ์โรมานอฟในเวลาต่อมา ผลอื่น ๆ คือ กิจการธนาคารและโรงงานทั้งหมดถูกโอนเป็นของรัฐ และบัญชีส่วนบุคคลทั้งหมดถูกโอนให้แก่รัฐ และสหภาพโซเวียตถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ 1

ยุคสตาลิน (ค.ศ. 1922–1953)

โจเซฟ สตาลินในปี ค.ศ. 1942

นับตั้งแต่สตาลินได้ถูกแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1922 สตาลินได้ดำเนินนโยบายแบบรวมอำนาจ แข็งกร้าว และรุนแรง เขาได้ริเริ่มแผนปฏิรูป 5 ปี เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการทหารและเศรษฐกิจ โดยเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก นโยบายดังกล่าวได้ทำให้เกิดการก่อตั้งนารวม (Collective farm) ขึ้น ส่งผลให้ชาวนาผู้ถือครองที่ดินอยู่ก่อนเกิดความไม่พอใจ สตาลินจึงสร้างค่ายกักกัน (Gulak) ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ในการคุมขังผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขา ตลอดการปกครองของสตาลินมีผู้คาดการณ์ว่ามีนักโทษเสียชีวิตในค่ายกักกันถึง 60 ล้านคน สตาลินได้ทำการกวาดล้างผู้ต่อต้านครั้งใหญ่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 ซึ่งบุคคลเหล่านั้นรวมถึงสมาชิกพรรคบอลเชวิคหลาย ๆ คนซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการทำการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ. 1917 ด้วย

ในปี ค.ศ. 1932 สหภาพโซเวียตได้มีส่วนร่วมในการประชุมเพื่อลดอาวุธ ณ กรุงเวียนนา ในปีถัดมาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ

ในปลายทศวรรษที่ 1930 สหภาพโซเวียตได้ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกับนาซีเยอรมนีและในปีเดียวกันความล้มเหลวในการเจรจาให้ฟินแลนด์เลื่อนเขตแดนให้ห่างจากเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก (เลนินกราดในสมัยนั้น) ออกไปอีก 25 กิโลเมตร ทำให้สหภาพโซเวียตได้ใช้กำลังบุกฟินแลนด์ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของสหภาพโซเวียต

แม้ว่าสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนีจะได้ทำข้อตกลงไม่รุกราน แต่นาซีเยอรมนีได้ละเมิดข้อตกลงและรุกรานสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 แม้ว่ากองทัพของสหภาพโซเวียตจะมียุทโธปรณ์ที่ทันสมัยซึ่งเป็นผลมาจากแผนปฏิรูป 5 ปี แต่กองทัพแดง ขาดผู้นำทางการทหารซึ่งเป็นผลมาจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ของสตาลิน ทำให้กองทัพแดงขาดบุคลากรไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ในช่วงแรกของสงครามสหภาพโซเวียตพ่ายแพ้มาโดยตลอด แต่เมื่อกำลังเสริมจากไซบีเรียมาถึงสงครามจึงเปลี่ยนไป ฝ่ายเยอรมนีประสบกับความพ่ายแพ้มาตลอดจนเสียกรุงเบอร์ลินให้แก่สหภาพโซเวียต และสิ้นสุดสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1945 อย่างไรก็ตาม สงครามดังกล่าวส่งผลให้ชาวรัสเซียเสียชีวิตไปกว่า 10 ล้านคน บ้านเรือน ไร่นา เสียหายอย่างใหญ่หลวง เมื่อสิ้นสุดสงครามสหภาพโซเวียตได้สถาปนาการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นในรัฐต่าง ๆ ที่ถูกปลดแอกจากการยึดครองของนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น โปแลนด์ โรมาเนีย เป็นต้น

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ซ่อมแซมบ้านเมืองที่เสียหายจากสงคราม ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแผ่ขยายอำนาจและก่อตั้งรัฐบริวารในยุโรบตะวันออก ต่อมาได้ก่อตั้งสภาเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ (Comecon) ในปี ค.ศ. 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นการเริ่มตันของสงครามเย็นอย่างแท้จริง ซึ่งเปลี่ยนประเทศพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา ให้กลายเป็นศัตรูกับสหภาพโซเวียต

ยุคครุชชอฟ (ค.ศ. 1953–1964)

นีกีตา ครุชชอฟ

สตาลิน ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1953 โดยไม่มีการแต่งตั้งทายาททางการเมือง นีกีตา ครุชชอฟ ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นเลขานุการคนที่ 1 ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (Communist Party of the Soviet Union) ซึ่งเปรียบเสมือนตำแหน่งผู้นำของประเทศ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1956 เขาก็ทำให้โลกตะลึงด้วยการประณามความเลวร้ายของสตาลิน ผู้ทำการปฏิวัติระบบนารวม (Commune) ให้ทรัพย์สินของทุกคนเป็นของส่วนรวม และนำสหภาพโซเวียตทำ สงครามเย็น กับสหรัฐอเมริกา

ในช่วงปลายของ ค.ศ. 1950 เกิดความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียต ในเรื่องของอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ เนื่องจากจีน โดย เหมา เจ๋อตง ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับระบบทุนของโซเวียต และเห็นว่าควรรักษาแนวคิดระบบนารวมเอาไว้ การแตกแยกครั้งนี้ส่งผลให้ แอลบาเนีย กัมพูชา และ โซมาเลีย เลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับจีนแทนโซเวียต

ในช่วงเวลานี้ของสหภาพโซเวียตดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเปิดตัวดาวเทียมเทียมดวงแรกของโลก สปุตนิก 1 ส่งสุนัขไลก้าขึ้นสู่อวกาศ มนุษย์คนแรกของโลกที่ขึ้นสู่อวกาศคือ ยูริ กาการิน ในปี ค.ศ. 1963 ส่งผู้หญิงคนแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศคือ วาเลนตีนา เตเรชโควา ในปี ค.ศ. 1965 ส่ง อเล็กซี ลีโอนอฟ มนุษย์คนแรกที่เดินในอวกาศ รวมทั้งส่งโรเวอร์คันแรกไปยังดวงจันทร์ ได้แก่ Lunokhod 1 และ Lunokhod 2

แม้ครุชชอฟจะดำเนินนโยบายเน้นสันติภาพ และพยายามผ่อนคลายสงครามเย็น แต่เขาก็ดำเนินนโยบายทางการเมืองผิดพลาดหลายครั้ง อาทิ วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ในปี ค.ศ. 1962 ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้เขาสถาปนากติกาสัญญาวอร์ซอในปี ค.ศ. 1955 และยังส่งทหารเข้าไปยังโปแลนด์และฮังการีเพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ในที่สุดเขาก็ถูกยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1964

ยุคเบรจเนฟ-โคชิกิน (ค.ศ. 1964–1982)

เบรจเนฟและฟอร์ดลงนามในสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ 1

ในวันที่ 14 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1964 คณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ (Committee for State Security หรือ KGB) นำโดย เลโอนิด เบรจเนฟ และ อเล็กซี โคชิกิน ได้เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจจากครุชชอฟ โดยครุชชอฟถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง

เบรจเนฟ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี โดยมีนายโคซิกิน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเรียกยุคนี้ว่าสมัยผู้นำร่วม เบรจเนฟ-โคชิกิน การดำเนินนโยบายต่างประเทศมีลักษณะผ่อนคลาย มีการดำเนินการเจรจาการจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (SALT I,SALT II) ในปี ค.ศ. 1972และ ค.ศ. 1979 ตามลำดับ มีการดำเนินการเจรจาเพื่อความร่วมมือกันในยุโรปที่กรุงเฮลซิงกิ ในปี ค.ศ. 1975 มีการประกาศใช้ หลักการเบรจเนฟ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 เพื่อยืนยันสิทธิและพันธกิจของสหภาพโซเวียต ในการพิทักษ์ความปลอดภัยแก่ลัทธิสังคมนิยม

ในด้านการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ เบรจเนฟได้ตั้งกฎการเปลี่ยนตัวบุคคลจากภายในโปลิตบูโรขึ้นมาใหม่โดยการจัดให้มีการเปลี่ยนบุคคลต่าง ๆ โดยไม่ต้องผ่านสมัชชา แต่ผ่านแค่คณะกรรมการกลางพรรคเท่านั้น ซึ่งตามธรรมนูญของพรรคแล้วถือว่าสมัชชาพรรคเป็นองค์กรสูงสุดของพรรค ที่สามารถดำเนินเป็นอิสระจากฝ่ายผู้นำได้ ที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตประกอบด้วยสมาชิกถาวรทั้ง 14 คน กับสมาชิกสมทบทั้ง 10 คนของโปลิตบูโรเบรจเนฟ ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 ด้วยความสงบ

ยุคอันโดรปอฟ และ เชียร์เนนโค (ค.ศ. 1982–1985)

อันโดรปอฟ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ใน วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 ในช่วงเวลานั้นได้มีการเจรจาให้สหรัฐถอดขีปนาวุธรอบชายแดน แลกกับการถอนกองกำลังในอัฟกานิสถาน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ หลังสงครามอันยาวนานจึงมีแผนการถอดทัพแต่ยูริ อันโดรปอฟถึงแก่อสัญกรรมวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 ไปก่อน จากนั้นเชียร์เนนโค (Konstantin Chernenko) ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 เขาเป็นบุคคลลึกลับทาง CIA มีข้อมูลน้อยมาก เขาไม่ยอมเจรจาต่อกับสหรัฐตลอดหนึ่งปีสุดท้ายก่อนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1985

การปฏิรูปของกอร์บาชอฟ และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1985–1991)

มีฮาอิล กอร์บาชอฟ

เมื่อ มีฮาอิล กอร์บาชอฟได้ขึ้นครองอำนาจเขาได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในสหภาพโซเวียตที่เรียกว่าแผน "เปเรสตรอยคา" (Perestroika) ที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่มีผู้นำโซเวียตคนใดทำมาก่อน นอกจากนี้ เขาได้ดำเนินโยบายถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ในปีค.ศ. 1988 การปฏิรูปของกอร์บาชอฟได้ส่งผลให้เกิดกฎหมาย Law on Cooperatives ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สมัยเลนิน กฎหมายนี้ได้อนุญาตให้ประชาชนมีทรัพย์สินส่วนบุคคล และดำเนินกิจการเอกชนได้ ซึ่งขัดต่อลัทธิมาร์กซ์อย่างสิ้นเชิง

ต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ได้มีมติเห็นชอบยกเลิกการรวมอำนาจไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์ นั่นหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์ได้กระจายอำนาจสู่ประชาชนและทำให้เกิดการเลือกตั้ง ส่งผลให้อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา รัฐจำนวน 15 รัฐของสหภาพโซเวียตได้รับรองกฎหมายเลือกตั้งทั่วไป และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียในปี ค.ศ. 1991 คือ บอริส เยลซิน ได้คะแนนสูงสุดถึง 57.3% (มีการเลือกตั้งในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1991) เนื่องจากกอร์บาชอฟมีความพยายามที่จะลดความเป็นศูนย์กลางอำนาจของสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตจึงได้มีแผนจะผ่านสนธิสัญญา New Union Treaty ซึ่งจะมาแทน สนธิสัญญาการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ปี ค.ศ. 1922 ซึ่งมีแผนจะลงนามในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1991 มีเนื้อหาแปลงสหภาพโซเวียตให้เป็นสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำของรัฐนั้น ๆ

การปฏิรูปของกอร์บาชอฟส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สมาชิกซ้ายจัดของพรรคคอมมิวนิสต์ และเกิดเป็นความพยายามที่จะยึดอำนาจการบริหารจากกอร์บาชอฟ เรียกการรัฐประหารครั้งนั้นว่า รัฐประหารเดือนสิงหาคม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเนื่องจากเกิดการต่อต้านจากประชาชนส่วนมากในประเทศและเยลต์ซินสามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ ผลคือ คณะรัฐประหารถูกจับกุมและถูกสังหาร สนธิสัญญาถูกเห็นชอบ หลังจากผ่านสนธิสัญญารัฐย่อยต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียตซึ่งมีความพยายามจะแยกตัวมากก่อนหน้านี้แล้ว ได้มีการลงประชามติเห็นชอบการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต รัฐย่อยต่าง ๆ จึงได้แยกตัวจากสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์ ท้ายสุดในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 กอร์บาชอฟได้เห็นชอบโอนอำนาจการบริหารทั้งหมดจากประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต ให้กับ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และในคืนวันนั้นธงชาติสหภาพโซเวียตได้ถูกเชิญลงจากยอดเสาที่เครมลิน อันเป็นการสิ้นสุดสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์

ใกล้เคียง

สหภาพโซเวียต สหภาพยุโรป สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป สหภาพ วงศ์ราษฎร์ สหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ สหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ สหภาพดนตรี สหภาพแรงงาน สหภาพฟุตบอลแคริบเบียน

แหล่งที่มา

WikiPedia: สหภาพโซเวียต http://www.britannica.com/eb/article-9037405&gt http://books.google.com/books?id=f3ky9qBavl4C&dq http://www.historytoday.com/geoffrey-hosking/ruler... http://www.n-wisdom.com/map_volume/world_map/Weste... http://www.newcriterion.com/articles.cfm/The-Fifth... http://newsfromrussia.com/cis/2005/05/03/59549.htm... http://www.smithsonianmag.com/smart-news/soviet-ru... http://www.theodora.com/wfb/1990/rankings/gdp_mill... http://www.theodora.com/wfb/1991/rankings/gdp_per_... http://www.theodora.com/wfb1991/soviet_union/sovie...