สังคมนิยม

สังคมนิยม (อังกฤษ: Socialism) เป็นระบบสังคมและเศรษฐกิจซึ่งมีลักษณะคือ สังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและการจัดการเศรษฐกิจแบบร่วมมือ[1][2] ตลอดจนทฤษฎีและขบวนการทางการเมืองซึ่งมุ่งสถาปนาระบบดังกล่าว[3][4] "สังคมเป็นเจ้าของ" อาจหมายถึง การประกอบการสหกรณ์ การเป็นเจ้าของร่วม รัฐเป็นเจ้าของ พลเมืองเป็นเจ้าของความเสมอภาค พลเมืองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือที่กล่าวมารวมกัน[5] มีความผันแปรของสังคมนิยมจำนวนมากและไม่มีนิยามใดครอบคลุมทั้งหมด[6] ความผันแปรเหล่านี้แตกต่างกันในประเภทของการเป็นเจ้าของโดยสังคมที่ส่งเสริม ระดับที่พึ่งพาตลาดหรือการวางแผน วิธีการจัดระเบียบการจัดการภายในสถาบันการผลิต และบทบาทของรัฐในการสร้างสังคมนิยม[7]ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมอาศัยลัทธิองค์การการผลิตเพื่อใช้ หมายความว่า การผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองอุปสงค์ทางเศรษฐกิจและความจำเป็นของมนุษย์โดยตรง และระบุคุณค่าวัตถุตามคุณค่าการใช้ประโยชน์หรืออรรถประโยชน์ ซึ่งตรงข้ามกับการผลิตมาเพื่อสะสมทุนและเพื่อกำไร[8] ในแนวคิดดั้งเดิมของเศรษฐกิจสังคมนิยม มีการประสานงาน การทำบัญชีและการประเมินค่าอย่างเดียวกันโดยปริมาณทางกายภาพร่วม (common physical magnitude) หรือโดยการวัดแรงงาน-เวลาแทนการคำนวณทางการเงิน[9][10] มีสองข้อเสนอในการกระจายผลผลิต หนึ่ง ยึดตามหลักที่ว่าให้กระจายแก่แต่ละคนตามการเข้ามีส่วนร่วม และสอง ยึดตามหลักผลิตจากทุกคนตามความสามารถ ให้แก่ทุกคนตามความจำเป็น วิธีการจัดสรรและประเมินคุณค่าทรัพยากรที่แน่ชัดยังเป็นหัวข้อการถกเถียงในการถกเถียงการคำนวณสังคมนิยมที่กว้างกว่าในการกำหนดเป้าหมาย การเมืองแบบสังคมนิยมเคยเป็นทั้งชาตินิยมและนานาชาตินิยม สร้างผ่านพรรคการเมืองและการเมืองที่ต่อต้านพรรคการเมือง ในบางครั้งทับซ้อนกับสหภาพการค้า ในบางครั้งเป็นอิสระและมีความสำคัญกับเหล่าสหภาพ และมีให้เห็นทั้งในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา เริ่มจากการเคลื่อนไหวทางสังคมนิยม ประชาธิปไตยสังคมนิยมนำเศรษฐกิจแบบผสมมารวมเป็นส่วนหนึ่งกับตลาด ที่มีการแทรกแซงของรัฐในรูปแบบของ การกระจายรายได้ กฎระเบียบ และรัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตยเศรษฐกิจ(Economic democracy) เสนอลักษณะของสังคมนิยมทางการตลาด(Market socialism) ซึ่งมีการควบคุมการกระจายอำนาจของ บริษัท สกุลเงิน การลงทุน และทรัพยากรธรรมชาติ มากขึ้น