ลักษณะ ของ สัตว์

สัตว์มีลักษณะหลายประการที่จำแนกชัดเจนจากสิ่งมีชีวิตอื่น สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตยูแคริโอตและหลายเซลล์[8][9] ต่างจากแบคทีเรียที่เป็นโพรแคริโอต ต่างจากโพรทิสตาที่เป็นยูแคริโอตแต่เป็นเซลล์เดียว และต่างจากพืชและสาหร่ายที่สามารถสร้างอาหารได้เอง[10] แต่สัตว์นั้นเป็นเฮเทโรทรอพ[9][11] กล่าวคือต้องรับอาหารจากแหล่งอื่นมาย่อยสลายภายใน[12] สัตว์เกือบทั้งหมดหายใจด้วยออกซิเจน[13] สัตว์ทั้งหมดเคลื่อนไหวได้เอง[14] (สามารถขยับร่างกายได้โดยธรรมชาติ) อย่างน้อยในช่วงหนึ่งของวัฎจักรชีวิต แต่ในสัตว์บางชนิด ได้แก่ ฟองน้ำ ปะการัง หอยแมลงภู่ และเพรียง มักจะเกาะอยู่กับที่ในช่วงหลังของชีวิต บลาสตูลาเป็นระยะหนึ่งในช่วงการเกิดเอ็มบริโอที่เป็นเอกลักษณ์ของสัตว์ส่วนใหญ่[15] อันเป็นกระบวนการที่ทำให้เซลล์สามารถเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ได้

โครงสร้าง

สัตว์ทั้งหมดประกอบขึ้นจากเซลล์ที่ล้อมไปด้วยสารเคลือบเซลล์ต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นจากคอลลาเจนและไกลโคโปรตีนที่ยืดหยุ่น[16] ระหว่างการเจริญเติบโต สารเคลือบเซลล์ของสัตว์ก่อตัวเป็นโครงร่างที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เซลล์สามารถขยับและจัดเรียงตัวเองใหม่ได้ ทำให้โครงสร้างที่ซับซ้อนสามารถก่อตัวขึ้นได้ โครงร่างนี้สามารถแข็งตัวขึ้นและกลายเป็นโครงร่างเปลือก กระดูก หรือ ขวาก[17] ในทางกลับกัน เซลล์ของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์อื่น (สาหร่าย พืช และเห็ดราเป็นหลัก) จะยึดอยู่กับที่ด้วยผนังเซลล์ และพัฒนาขึ้นระหว่างการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ[18] เซลล์สัตว์มีรอยต่อระหว่างเซลล์ที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ไทต์ จังก์ชัน แกบจังก์ชัน และเดสโมโซม[19]

ร่างกายของสัตว์ส่วนมาก ยกเว้นฟองน้ำและพลาโคซัว แยกออกเป็นเนื้อเยื่อต่าง ๆ [20] รวมถึงกล้ามเนื้อที่ทำให้เคลื่อนไหวได้ และเนื้อเยื่อประสาทที่ถ่ายทอดสัญญาณและควบคุมร่างกาย โดยปกตินั้นจะมีห้องย่อยอาหารภายใน ไม่ว่าจะมีทางเข้าเดียว (อย่างในทีโนโฟรา ไนดาเรีย และหนอนตัวแบน) หรือสองทางเข้า (อย่างในไบลาทีเรียส่วนใหญ่)[21]

การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโต

การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกือบจะปรากฏในสัตว์ทุกชนิด ดังเช่นในแมลงปอเหล่านี้

สัตว์เกือบทั้งหมดสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ[22] สัตว์เหล่านี้จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์แฮพล็อยด์สองชนิดจากไมโอซิส อันได้แก่สเพอร์แมโทซูน เซลล์สืบพันธุ์ขนาดเล็กที่เคลื่อนไหวเองได้ และเซลล์ไข่ที่มีขนาดใหญ่กว่าและเคลื่อนไหวเองไม่ได้[23] สองเซลล์นี้จะรวมตัวกันเป็นไซโกต[24] ที่เจริญเติบโตขึ้นด้วยไมโอซิสอยู่ภายในทรงกลมกลวง เรียกว่า บลาสตูลา ในฟองน้ำ ตัวอ่อนบลาสตูลาจะว่ายน้ำไปสู่ตำแหน่งใหม่ ยึดติดกับก้นทะเล และเจริญเติบโตกลายเป็นฟองน้ำตัวใหม่[25] ในสัตว์กลุ่มอื่น ๆ ส่วนใหญ่ บลาสตูลาจะเข้าสู่การจัดเรียงใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น[26] เริ่มแรกมันจะบุ๋มลงไป เกิดเป็นแกสตรูลาที่มีห้องย่อยอาหารและเนื้อเยื่อคัพภะสองชั้น ได้แก่ เอ็กโทเดิร์มอยู่ด้านนอก และเอนโดเดิร์มอยู่ด้านใน[27] ในกรณีส่วนใหญ่นั้น ชั้นที่สามที่เรียกว่า เมโซเดิร์ม จะเจริญขึ้นระหว่างสองชั้นนั้น[28] เนื้อเยื่อคัพภะเหล่านี้ภายหลังจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ[29]

กรณีซ้ำ ๆ ของการผสมพันธุ์โดยอาศัยเพศระหว่างสายเลือดเดียวกันโดยปกติจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางสายเลือดภายในกลุ่มประชากร เนื่องจากความชุกที่เพิ่มขึ้นของลักษณะด้อยอันตราย[30][31] สัตว์ได้วิวัฒนาการกลไกจำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ระหว่างสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน[32] ในบางสปีชีส์ เช่น Malurus splendens ตัวเมียจะผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายตัว ทำให้เกิดรุ่นลูกที่มีคุณภาพทางพันธุกรรมมากขึ้น[33]

สัตว์บางชนิดสามารถสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ ซึ่งมักก่อให้เกิดการโคลนของพันธุกรรมรุ่นพ่อแม่ การสืบพันธุ์ในลักษณะนี้อาจเกิดได้จากการขาดออกเป็นท่อน การแตกหน่อดังเช่นในไฮดราและไนดาเรียอื่น ๆ หรือไม่ผสมพันธุ์เลยโดยไข่ซึ่งเจริญพันธุ์แล้วไม่ได้ผ่านการผสมพันธุ์ดังเช่นในเพลี้ยอ่อน[34][35]

ใกล้เคียง

สัตว์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีแกนสันหลัง สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (ภาพยนตร์) สัตว์ขาปล้อง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์ป่าสงวน

แหล่งที่มา

WikiPedia: สัตว์ http://palaeos.com/metazoa/metazoa.html http://philschatz.com/biology-concepts-book/conten... http://employees.csbsju.edu/SSAUPE/biol116/Zoology... http://micro.magnet.fsu.edu/cells/animalcell.html http://adsabs.harvard.edu/abs/2011PNAS..10813624P http://adsabs.harvard.edu/abs/2018NatCo...9.1730P //citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/summary?doi=10.1.1... http://www.windows.ucar.edu/tour/link=/earth/Life/... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1693093 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2614224