ลักษณะทางกายวิภาค ของ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีลักษณะทางกายวิภาคแตกต่างกันตามแต่ละสปีชีส์ มีขนาดร่างกายแตกต่างกันออกไป เช่นค้างคาวกิตติ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในปัจจุบัน มีปีกสำหรับบินในอากาศ น้ำหนักตัวน้อยมากเฉลี่ยประมาณ 2 กรัม ความยาวของลำตัวประมาณ 29 - 38 มิลลิเมตร แตกต่างจากช้างแอฟริกาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีลักษณะทางกายวิภาคที่แตกต่างจากค้างคาว เช่นเดียวกับวาฬที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ ที่มีขนาดร่างกายใหญ่โต น้ำหนักตัวประมาณ 107,272 กิโลกรัม ความยาวของลำตัวประมาณ 32 เมตร โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ยังคงลักษณะเฉพาะตัว ที่สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมการอยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมได้ โดยลักษณะทางโครงสร้างทางกายภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้[8]

ผิวหนัง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีผิวหนังและโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนจากเดิมมาก โดยเฉพาะผิวหนังจะเป็นสิ่งที่ใช้ในการจัดหมวดหมู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ผิวหนังจะเป็นตัวกลางระหว่างตัวของสัตว์ในชนิดต่าง ๆ และสภาพสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นตัวบ่งบอกศักยภาพของสัตว์ เช่น ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั่วไป จะมีลักษณะที่หนากว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จะประกอบไปด้วยอิพิเดอร์มิสหรือหนังกำพร้า และเดอร์มิสหรือหนังแท้

โดยทั่วไปหนังแท้จะมีความหนามากกว่าหนังกำพร้า ซึ่งจะเป็นเพียงชั้นผิวหนังบาง ๆ ที่มีขนขึ้นปกคลุมเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยในการป้องกันผิวหนังไม่ให้ได้รับอันตราย แต่สำหรับในบริเวณที่มีการใช้งานและมีการสัมผัสกับสิ่งของมาก เช่นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะมีความหนาเพิ่มมากขึ้น และมีสารเคอราทิน (keratin) สะสมอยู่ภายใต้ชั้นของผิวหนัง

ขน

หนูมีขนขึ้นปกคลุมร่างกาย เพื่อช่วยในการป้องกันผิวหนังขนของเม่นที่มีลักษณะแหลมคม เพื่อช่วยในการป้องกันอันตรายจากศัตรูนักล่า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ขนสัตว์

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จะมีลักษณะเด่นเฉพาะที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ คือมีขนขึ้นปกคลุมร่างกาย แม้ว่ามนุษย์ที่จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แต่มีขนขึ้นปกคลุมตามร่างกายเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่ขนของวาฬที่มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนมากจะเป็นขนที่มีลักษณะแข็ง ๆ (bristle) ใช้สำหรับรับรู้ความรู้สึกประมาณ 3 - 4 เส้นที่บริเวณปลายจมูก ซึ่งขนนั้นเป็นลักษณะเด่นชัดที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ขนที่ขึ้นปกคลุมร่างกายเกิดจากตุ่มขน (hair follicle) ภายใต้ชั้นของหนังกำพร้า แต่จะจมลึกลงไปอยู่ภายใต้ชั้นของผิวหนังที่เป็นชั้นหนังแท้ และเจริญอย่างต่อเนื่อง

เซลล์ในตุ่มขน จะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เซลล์ที่เกิดก่อนหน้านี้จะถูกดันให้โผล่ขึ้นมาด้านบน และตายเนื่องจากไม่มีสารอาหารหล่อเลี้ยง จึงเหลือเพียงแค่เคอราทินที่สะสมอยู่ภายใต้ชั้นของหนังกำพร้า และอัดแน่นเช่นเดียวกับเล็บมือและเล็บเท้า สำหรับขนที่ขึ้นปกคลุมผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (pelage) มี 2 ชนิด คือ

  • ขนบริเวณชั้นล่าง (under hair) จัดเป็นขนที่มีความอ่อนนุ่มและมีจำนวนมาก หนาแน่นเป็นฉนวนเพื่อปกป้องร่างกายในสัตว์น้ำ เช่นขนของแมวน้ำ นากและบีเวอร์ ซึ่งจะมีขนชั้นล่างที่ละเอียดและสั้น รวมทั้งมีปริมาณที่หนาแน่นเพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ตัวของพวกมันเปียกน้ำ
  • ขนบริเวณชั้นบน (guard hair) จัดเป็นขนที่ยาวและหยาบ แข็งกระด้าง สำหรับทำหน้าที่ป้องกันชั้นผิวหนัง และเป็นขนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอยู่ในน้ำ โดยขนบริเวณชั้นบนนี้จะเปียกลู่ไปตามน้ำ คลุมขนบริเวณชั้นล่างไว้เหมือนกับห่มผ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขึ้นจากน้ำ จะสะบัดตัวเพื่อให้ตัวแห้ง ทำให้ขนบริเวณชั้นบนตั้งขึ้นและเกือบแห้งสนิท

เมื่อเซลล์ใต้ตุ่มขนเจริญเติบโตมาจนถึงระยะหนึ่ง ขนจะหยุดการเจริญเติบโตและติดแน่นอยู่กับตุ่มขนจนกว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนขนใหม่ เซลล์ใต้ตุ่มขนนี้จึงจะหลุดร่วงไป แต่สำหรับมนุษย์นั้นจะมีความแตกต่างกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมีการทิ้งและสร้างขนใหม่ตลอดชีวิต สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้นจะมีช่วงระยะเวลาในการผลัดขน เช่น สุนัขจิ้งจอกและแมวน้ำจะมีการผลัดขนในทุกช่วงฤดูร้อน ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่จะผลัดขนเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้นคือในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ทำให้ขนที่ขึ้นปกคลุมร่างกายในช่วงฤดูร้อนจะมีความบางมากกว่าในช่วงฤดูหนาว

สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่จัดเป็นสัตว์กินเนื้อ ที่มีขนขึ้นปกคลุมร่างกายในลักษณะของขนเฟอร์ คือมีเส้นขนที่สั้น ละเอียดและมีปริมาณหนาแน่น ซึ่งมีมากมายหลากหลายชนิดในทางตอนเหนือของโลก เช่นเพียงพอนซึ่งจะมีขนสีขาวปกคลุมร่างกายในช่วงฤดูหนาว แต่จะเปลี่ยนแปลงสีขนเป็นสีดำในช่วงฤดูร้อน ซึ่งแต่เดิมนักสัตววิทยาเคยเชื่อว่าเส้นขนสีขาวนั้น บริเวณเส้นขนชั้นล่างจะช่วยให้สัตว์ที่อาศัยในแถบขั้วโลกช่วยรักษาความร้อนภายในร่างกายเอาไว้ โดยลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย

ปัจจุบันนักสัตววิทยาได้ทำการค้นคว้าพบว่า ไม่ว่าขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในแถบขั้วโลกจะมีสีขาวหรือสีดำ การถ่ายเทความร้อนจากร่างกายและการถ่ายเทอากาศ มีโอกาสเกิดขึ้นได้พอ ๆ กัน ในช่วงระยะเวลาฤดูหนาว ขนสีขาวของสัตว์ในแถบขั้วโลกจะช่วยอำพรางร่างกายให้กลมกลืนกับหิมะ เป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่า กระต่ายในแถบทวีปอเมริกาเหนือจะมีการผลัดขนด้วยกัน 3 ครั้งคือในช่วงฤดูร้อนจะมีขนสีเทาอมน้ำตาล ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะมีขนสีเทา และในเมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูหนาวจะสลัดขนสีเทาทิ้ง กลายเป็นขนสีขาวที่ซ่อนอยู่ภายใต้ขนสีเทา

แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในแถบขั้วโลก จะมีสีขนที่ธรรมดา ไม่สดใส มีหน้าที่ในการปกป้องชั้นผิวหนังเพียงอย่างเดียว และมักมีการเปลี่ยนแปลงสีขนให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบ ๆ ตัว เช่น ลายของเสือดาว ลายของเสือโคร่ง และลายบนจุดของลูกกวาง กวางพรองฮอร์นแอนทีโลป จะมีหย่อมขนสีอยู่บริเวณสองข้างของตะโพก แถบขนสีนี้เกิดจากขนยาวสีขาวที่สามารถยกตั้งขึ้นได้ โดยมีกล้ามเนื้อบริเวณตะโพกยึดอยู่ เมื่อเวลาตกใจหรือพบเห็นภัยอันตราย หย่อมขนสีนี้จะเข้มขึ้นและเป็นประกายอย่างเห็นได้ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เป็นสัญญาณเตือนภัยให้แก่กวางตัวอื่น ๆ ภายในฝูง หรือกวางหางขาว จะชูขนสีขาวที่บริเวณหางและโบกไปมาคล้ายธง เพื่อเป็นการเตือนภัยให้แก่กวางตัวอื่นในฝูงเช่นกัน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะมีการเปลี่ยนแปรสภาพเส้นขน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานต่าง ๆ กัน เช่นบริสเทิล (bristle) ของหมู แผงขนบนคอม้าและสิงโต เส้นขนรับความรู้สึกหรือไวบริซี (vibrisae) ที่อยู่บริเวณปลายจมูกของสัตว์หลายชนิด จะมีเส้นประสาทสำหรับรับรู้ความรู้สึกขนาดใหญ่ร่วมอยู่ด้วย เวลาขนสำหรับรับรู้ความรู้สึกไหวตัว จะส่งกระแสความรู้สึกไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง สำหรับกลุ่มสัตว์หากินในเวลากลางคืนและพวกที่อาศัยในดินหรือฝังตัวอยู่ภายใต้พื้นดิน จะมีเส้นขนที่รับรู้ความรู้สึกที่ยาว เพื่อใช้สำหรับรับรู้ความรู้สึกในระยะไกล

ต่อม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จะมีต่อมอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งมีความหลากหลายของต่อมมากที่สุด ต่อมนั้นจัดแยกประเภท 4 ประเภทคือต่อมเหงื่อ ต่อมกลิ่ม ต่อมน้ำมันและต่อมน้ำนม ซึ่งต่อมทั้งหมดนี้เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพมาจากกลุ่มเซลล์บริเวณชั้นผิวหนังกำพร้า ซึ่งแยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ต่อมเหงื่อ ต่อมเหงื่อ เป็นต่อมที่มีลักษณะเป็นท่อขด ซ่อนอยู่ภายใต้ชั้นของผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย ไม่พบต่อมเหงื่อในสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ต่อมเหงื่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแบ่งเป็น 2 ชนิดคือต่อมเอคไครน์ (ecrine glands) และต่อมอโพไครน์ (apocrine glands) ต่อมเอคไครน์นั้นจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ไม่ขน โดยเฉพาะบริเวณตามฝ่ามือและฝ่าเท้าของสัตว์ มีหน้าที่ในการสร้างเหงื่อที่มีลักษณะเป็นน้ำ และทำหน้าที่หลักในการปรับและควบคุมอุณภูมิของร่างกาย โดยการทำให้เย็นด้วยการระเหยน้ำ

สำหรับม้า ลิงเอพหรือลิงไม่มีหางรวมทั้งมนุษย์ จะมีต่อมเอคไครน์กระจายอยู่ทั่วทั้งร่างกาย แต่สำหรับวาฬและสัตว์ฟันแทะเช่นกระต่าย กระรอก หนู จะมีต่อมเอคไครน์ในปริมาณที่น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ปัจจุบันนักสัตววิทยาได้ค้นคว้าและพบว่าสุนัขนั้นจะมีต่อมเหงื่อกระจายอยู่ทั่วทั้งตัวเช่นเดียวกับมนุษย์ และคนผิวดำจะมีปริมาณต่อมเหงื่อมากกว่าคนผิวขาว ทำให้สามารถทนความร้อนได้มากกว่าอีกด้วย สำหรับต่อมอโพไครน์นั้น จะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่าต่อมเอคไครน์ มีลักษณะเป็นท่อยาวและขดซ้อนมากกว่า ท่อสำหรับสร้างเหงื่อมักจะซ่อนอยู่ภายใต้ชั้นผิวหนังแท้และเปิดเข้าที่ตุ่มขนและจะเจริญเติบโตในระยะแรกรุ่น

ต่อมอโพไครน์มีมากในบริเวณอก ท่อรูหู และอวัยวะเพศ สารที่สร้างขึ้นในต่อมอโพไครน์จะมีลักษณะคล้ายกับน้ำนมสีขาว มีสีเหลืองเจือปนเล็กน้อย ซึ่งเมื่ออยู่ที่ชั้นผิวหนังจะแห้งและกลายเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ไม่มีหน้าที่ในการปรับและควบคุมอุณหภูมิของร่างกายเช่นเดียวกับต่อมเอคไครน์ แต่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฎจักรในการสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และมีหน้าอื่นอีกเล็กน้อยเท่านั้น

  • ต่อมกลิ่น ต่อมกลิ่นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้น เกือบทุกชนิดจะมีต่อมกลิ่นเพื่อใช้สำหรับในการสื่อสารระหว่างกัน ใช้ในการจับจองถิ่นและประกาศอาณาเขต ใช้ในการเตือนหรือใช้สำหรับในการป้องกันตัวจากสัตว์นักล่า ต่อมกลิ่นนั้นจะอยู่ตามแต่ลักษณะของร่างกาย เช่นต่อมกลิ่นของกวางจะอยู่ที่บริเวณเบ้าตา ข้อเท้าและง่ามนิ้ว สำหรับกระจ้อนหรือกระถิก ต่อมกลิ่นจะอยู่ที่บริเวณหนังตาและแก้ม บีเวอร์และอูฐหลายชนิดจะมีต่อมกลิ่นที่พีนิสหรืออวัยวะเพศ สุนัขจิ้งจอก หมาป่าจะมีต่อมกลิ่นอยู่ที่บริเวณโคนหาง สกังค์ มิงค์และเพียงพอน มีต่อมกลิ่นที่แปลกกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น คืออยู่ที่บริเวณทวารหนัก และสามารถฉีดสารออกไปได้ไกลหลายฟุต เมื่อต้องการป้องกันตัวและหลบหนีจากศัตรู
  • ต่อมน้ำมัน ต่อมน้ำมันจะเป็นต่อมที่อยู่ร่วมกับตุ่มขน บางต่อมจะสามารถเปิดออกที่ผิวตัวได้อย่างอิสระ เซลล์ที่บุอยู่ภายในท่อจะหลุดลอกออกในระหว่างการสร้างเซลล์ และจะมีการสร้างเสริมขึ้นมาใหม่สำหรับในการสร้างสารครั้งต่อไป เซลล์ต่อมเหล่านี้จะมีไว้สำหรับในการสะสมไขมัน และเมื่อเซลล์ที่ตายกำจัดออกมาในรูปของสารหล่อลื่นที่เรียกว่าซีบัม (sebum) และส่งผ่านไปในตุ่มขน สารนี้จะทำให้ผิวหนังมีความอ่อนนุ่มและเป็นมัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่จะมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วทั้งร่างกายรวมทั้งมนุษย์ ที่จะมีต่อมน้ำมันมากที่บริเวณหนังศีรษะและใบหน้า
  • ต่อมน้ำนม ต่อมน้ำนมเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่ไม่มีในสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นและใช้เป็นชื่ออันดับของสัตว์ เกิดจากเซลล์บุผิวที่มีการขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดแนวเต้านมขึ้นที่บริเวณหน้าอกหรือหน้าท้อง ต่อมน้ำนมนั้นเป็นต่อมอโพไครน์ที่แปรสภาพมาจากต่อมเหงื่อ มาทำหน้าที่เป็นต่อมในการสร้างน้ำนมแทน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพศเมียทุกชนิด จะต้องมีต่อมน้ำนมที่สามารถทำงานได้ดี สามารถผลิตน้ำนมเพื่อใช้ในการเลี้ยงดูลูกอ่อน ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพศผู้ ต่อมน้ำนมจะไม่ทำงาน

เขา

เขาชนิดฮอร์น พบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกประเภท

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางสปีชี่ส์ จะมีเขางอกจากบริเวณศีรษะเพื่อใช้สำหรับต่อสู้หรือดึงดูดเพศเมียในฤดูผสมพันธุ์ เขาเป็นโครงสร้างที่ยื่นออกมาจากบริเวณส่วนหัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่นเขาของกวางมูสหรือกวางเรนเดียร์ที่มีลักษณะเป็นชั้น ๆ หรือเขาของแพะ แกะที่มีลักษณะโค้งงอไปด้านหลัง หรือเขาของกระทิงที่มีลักษณะกางออกจากบริเวณหัวทั้งสองข้าง โดยทั่วไปลักษณะต่าง ๆ ของเขาในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีดังนี้

  • เขาชนิดฮอร์น (horn) เขาชนิดฮอร์นจัดเป็นเขาที่มีความแข็งแรง คงทน พบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกประเภทเช่นแกะ แพะ วัวและควาย สามารถพบเห็นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้ง 2 เพศ ไม่มีเฉพาะเพศผู้เท่านั้น ฮอร์นมีลักษณะเป็นเขาที่ภายในกลวง ประกอบไปด้วยปลอกนอกซึ่งเป็นปลอกแข็ง ๆ ที่เกิดจากเยื่อเคอราทินห่อหุ้มแกนกระดูกเอาไว้ จะงอกออกมาจากกะโหลกศีรษะ ไม่มีการแตกแยกออกเป็นแขนงของเขา แต่อาจจะมีการโค้งงอหรือม้วนตัวได้ ตามปกติทั่วไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีเขาชนิดฮอร์น จะไม่มีการสลัดเขาทิ้ง แต่ถ้ามีการสลัดเขาทิ้งจะทิ้งเพียงเฉพาะปลอกด้านนอกแล้วสร้างปลอกขึ้นมาใหม่ กวางพรองฮอร์นแอนทีโลปจะมีการสลัดปลอกทิ้งทุกปี ภายหลังจากฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกวางชนิดนี้ และเขาของกวางตัวผู้เท่านั้นที่จะมีการแตกแขนงเป็นชั้น ๆ
  • เมดูซ่า ' เขาชนิดแอนต์เลอร์จัดเป็นเขาที่เมื่อมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะมีแต่เพียงกระดูกเท่านั้น ในช่วงระหว่างการเจริญเติบโตของเขาจะมีผิวหนังที่อ่อนนุ่มและมีเส้นเลือดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และทำหน้าที่ห่อหุ้มกระดูกเอาไว้ เรียกว่าเวลเวต (velvet) ต่อมาเมื่อเขาชนิดแอนต์เลอร์มีการเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนฤดูการผสมพันธุ์ เส้นเลือดที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเวลเวตไว้จะเกิดการตีบตัน ทำให้เวลเวตเริ่มเกิดการฉีกขาด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีเขาชนิดแอนต์เลอร์จะใช้เขาถูกับต้นไม้ เพื่อช่วยให้การหลุดลอกของเขาเร็วยิ่งขึ้น เขาชนิดแอนต์เลอร์จะหลุดออกภายหลังจากฤดูผสมพันธุ์เสร็จสิ้น และจะมีกระปู๋เล็กเล็ก งอกขึ้นมาใหม่ในช่วงระยะเวลา 5 ปี และเจริญงอกขึ้นมาเป็นเขาใหม่ และจะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ รวมทั้งมีความสวยงามเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

การสร้างเขาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในแต่ละครั้ง จะต้องมีกระบวนการสะสมของเกลือแร่เอาไว้ กวางขนาดใหญ่ที่มีเขาสวยงามจะต้องสะสมเกลือแร่ของแคลเซียมที่ได้จากผักที่กินเป็นอาหาร เพื่อใช้สำหรับในการสร้างเขา แต่สำหรับนอแรด จะมีวิธีการปรับเปลี่ยนนอที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ คือปรับเปลี่ยนมาจากขน ไม่มีแกนกระดูกภายใน นอแรดนั้นเกิดจากการที่เยื่อบุผิวที่มีสารเคอราทินและเส้นใยเคอราทินสะสมรวมกันอยู่

ใกล้เคียง

สัตว์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีแกนสันหลัง สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (ภาพยนตร์) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ขาปล้อง สัตว์เทพทั้งสี่ สัตว์หาง