อาหารและการล่าเหยื่อ ของ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

ภาพตัดตามยาวแสดงส่วนประกอบของฟันกรามของมนุษย์

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสัตว์ที่มีแหล่งอาหารหลากหลายรูปแบบ บางชนิดต้องการอาหารเฉพาะอย่าง บางชนิดต้องการอาหารแล้วแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย แต่โดยรวมลักษณะนิสัย การกินอาหารและการล่าเหยื่อ รวมทั้งโครงสร้างทางสรีรวิทยา จะมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก โดยการปรับตัวเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจู่โจมเหยื่อและการป้องกันตัว ความสามารถในการเสาะแสวงหาอาหารตามต้องการ การล่าเหยื่อ การกลืนกินและการเคี้ยวรวมถึงการย่อยอาหาร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรูปร่างและลักษณะนิสัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จะมีฟันเป็นสิ่งแสดงถึงลักษณะในการดำรงชีวิต ดังเคยมีคำกล่าวว่า "ถ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด ยกเว้นมนุษย์เกิดสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ โดยทิ้งไว้เพียงซากดึกดำบรรพ์คือฟันเพียงอย่างเดียว มนุษย์เราก็สามารถจำแนกชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมได้อย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับที่ได้มีการจำแนกเอาไว้แล้วในปัจจุบัน" ซึ่งเป็นการจำแนกโดยนำเอาลักษณะทางกายวิภาคมาประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดมีฟันยกเว้นเพียงวาฬบางชนิดเท่านั้น อิคิดนาและตัวกินมดยักษ์ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของฟันเพื่อให้เป็นไปตามอาหารที่กิน[9]

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั่วไปจะมีฟัน 2 ชุดตลอดชีวิต เรียกว่าไดฟีโอดอนท์ (diphyodont) คือมีฟันน้ำนมและฟันแท้ และมีการปรับเปลี่ยนสภาพของฟันในการใช้งานด้านต่าง ๆ เช่นการตัด การคาบ การแทะ การจับ การกัด การฉีกและการเคี้ยว การที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีฟันหลายรูปแบบใน 1 ชุด เรียกว่าเฮเทอโรดอนต์ (heterodont) ซึ่งมีความแตกต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ ที่มีฟันเพียงแค่ชุดเดียวเป็นแบบไฮโมดอนต์ (homodont)

รูปแบบโดยทั่วไปของฟันจะมี 4 แบบคือ ฟันตัด จะมีลักษณะเป็นขอบที่คม ใช้สำหรับในการกัด คาบและเม้มเหยื่อ ฟันเขี้ยว จะมีลักษณะเป็นโคนยาวเพื่อใช้ในการแทงโดยเฉพาะ ฟันกรามหน้าจะมีลักษณะเป็นฟันที่แบน ใช้ในการตัด ฉีกและบด ที่บริเวณด้านบนจะมีปุ่มฟันประมาณ 1 - 2 ปุ่ม และสุดท้ายคือฟันกราม จะมีขนาดใหญ่สุดและมีปุ่นฟันเป็นจำนวนมาก มีหน้าที่ในการฉีกและเคี้ยว ส่วนมากจะเป็นฟันแท้มากกว่าฟันน้ำนม

ฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่เจริญเติบโตเต็มที่ ส่วนใหญ่จะมีไม่เกิน 44 ซี่ และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดจะมีน้อยกว่านี้ 2 - 4 ซี่ด้วยกัน ตามตัวอย่างสูตรฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีหลายแบบ เช่น

หมูบ้าน มีสูตรการคำนวณหาจำนวนฟัน ดังนี้

( 1 1 1 , C 0 0 , P 0 0 , M 3 3 ) X 2 = 16 {\displaystyle (1{\tfrac {1}{1}},C{\tfrac {0}{0}},P{\tfrac {0}{0}},M{\tfrac {3}{3}})X2=16}

กระต่าย มีสูตรการคำนวณหาจำนวนฟัน ดังนี้

( 1 2 2 , C 0 0 , P 3 2 , M 2 3 ) X 2 = 28 {\displaystyle (1{\tfrac {2}{2}},C{\tfrac {0}{0}},P{\tfrac {3}{2}},M{\tfrac {2}{3}})X2=28}

มนุษย์ มีสูตรการคำนวณหาจำนวนฟัน ดังนี้

( 1 2 2 , C 1 1 , P 2 2 , M 3 3 ) X 2 = 32 {\displaystyle (1{\tfrac {2}{2}},C{\tfrac {1}{1}},P{\tfrac {2}{2}},M{\tfrac {3}{3}})X2=32}

สุนัข มีสูตรการคำนวณหาจำนวนฟัน ดังนี้

( 1 3 3 , C 1 1 , P 4 4 , M 2 3 ) X 2 = 42 {\displaystyle (1{\tfrac {3}{3}},C{\tfrac {1}{1}},P{\tfrac {4}{4}},M{\tfrac {2}{3}})X2=42}

ตัวตุ่น มีสูตรการคำนวณหาจำนวนฟัน ดังนี้

( 1 3 3 , C 1 1 , P 4 4 , M 3 3 ) X 2 = 44 {\displaystyle (1{\tfrac {3}{3}},C{\tfrac {1}{1}},P{\tfrac {4}{4}},M{\tfrac {3}{3}})X2=44}

ภาพแสดงฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อ

จากสูตรการคำนวณหาตัวเลขฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมด้านบน โดยคำนวณจากจำนวนฟันแต่ละชนิดบนขากรรไกรด้านบนและด้านล่าง โดยเป็นจำนวนของฟันเพียงด้านซ้ายหรือด้านขวาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้นจำนวนฟันทั้งหมดจะต้องคูณด้วย 2 เพื่อให้ได้ตัวเลขของฟันทั้ง 2 ด้าน โดยการแทนสัญลักษณ์ดังนี้

  • 1 = incisor หรือฟันซี่หน้า
  • C = canine หรือเขี้ยว
  • P = premolar หรือฟันกรามหน้า
  • M = molar หรือฟันกราม

ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้น จะมีจำนวนฟันที่แตกต่างกันออกไป เช่นฟันของสุนัขและกระต่าย สุนัขจะมีฟันกรามบน 2 ซี่ ฟันกรามล่าง 3 ซี่ แต่กระต่ายจะมีฟันกรามบน 3 ซี่และฟันกรามล่าง 2 ซี่ เป็นต้น ซึ่งสามารถแบ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจากลักษณะของฟันและนิสัยในการล่าเหยื่อและการกินอาหารได้ดังนี้

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืช

กวางจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชผักและหญ้าอื่น ๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่สัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์ที่กินหญ้าเช่น ม้า หมู กวาง วัว ม้าลาย ยีราฟ ควาย แพะและแกะเป็นต้น สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกกลุ่มคือสัตว์ฟันแทะและกระต่าย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร จะมีฟันและเขี้ยวซี่เล็ก ๆ ฟันกรามค่อนข้างกว้าง ตัวฟันด้านหน้าจะสูงและมีการเคลือบฟันเป็นสันเพื่อไว้สำหรับบดอาหาร สัตว์ฟันแทะเช่นกระรอก กระจ้อนจะมีฟันตัดในลัษณะคล้ายกับสิ่วอยู่ตลอดชีวิต เมื่อมีการหักหรือสึกกร่อนก็สามารถสร้างใหม่ขึ้นทดแทน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืช จะมีการปรับตัวเพื่อการกินอาหารหลากหลายประการ เซลลูโลสซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตของพืช ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยของกลูโคลสจะเรียงตัวจับกันเป็นสายยาวด้วยพันธะทางเคมี ซึ่งจะมีน้ำย่อยอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่จะสามารถย่อยให้แตกสลายได้ สัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิดจะไม่มีเอมไซม์สำหรับย่อยสลายเซลลูโลส ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนอยู่ภายในส่วนของระบบทางเดินอาหาร ที่มีการหมักอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ แบคทีเรียจะทำหน้าที่ย่อยสลายเซลลูโลสให้เป็นกรดไขมัน น้ำตาลและแป้ง เพื่อให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชสามารถดูดซืมไปใช้เลี้ยงร่างกาย

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร จะมีท่อทางเดินอาหารขนาดใหญ่และยาว และจะต้องกินพืชเป็นอาหารในปริมาณครั้งละมาก ๆ เพื่อการอยู่รอด เช่นช้างแอฟริกันที่มีขนาดร่างกายใหญ่โตและมีน้ำหนักถึง 6 ตัน จำเป็นที่จะต้องกินพืชประมาณ 135 - 150 กิโลกรัมต่อวัน จึงจะพอเพียงต่อความต้องการ และสามารถย่อยสลายดูดซึมไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหารบางชนิด เช่น ม้าและกระต่าย จะมีท่อทางเดินอาหารยื่นออกมาเป็นแขนงเรียกว่าซีคัม (cecum) ไว้สำหรับทำหน้าที่ในการหมักและดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกาย กระต่ายป่าหรือกระต่ายบ้านและสัตว์ฟันแทะบางชนิด จะกินก้อนอุจจาระของตนเองเพื่อนำไปย่อยสลายซ้ำอีกครั้ง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อ

สิงโตจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อเป็นอาหาร

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อเป็นอาหาร ได้แก่ หมาป่า สุนัขจิ้งจอก อีเห็น แมว วูลฟ์เวอริน เสือ สิงโต เสือดาว เสือชีตาห์ ไฮยีน่า หมาใน ฯลฯ จะมีฟันและเขี้ยวเล็บที่แหลมคม เพื่อใช้สำหรับกัดและขย้ำเหยื่อ รวมทั้งมีขาคู่หน้าและกงเล็บที่แข็งแรงสำหรับใช้ในการตะปบและฆ่าเหยื่อ เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าพืช ท่อทางเดินอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อเป็นอาหารจะสั้นลง และในส่วนของซีคัมจะหดลงหรือหายไป มีการกินอาหารเป็นมื้อเมื่อเวลาหิว และมีเวลาพักผ่อนหลังจากการกินอาหารเพื่อให้เนื้อสัตว์ที่กินเข้าไปได้ย่อยสลาย

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อเป็นอาหาร จะมีความว่องไว ปราดเปรียวและมีชีวิตที่ตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร การไล่ล่าเหยื่อเพื่อเป็นอาหาร ทำให้การติดตามและค้นหาเหยื่อ กระทำด้วยความฉลาดและไหวพริบ มีการวางแผนการในการล่า สมองจะมีการพัฒนามากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ เช่นแมวจะมีความฉลาดและไหวพริบในการล่าหนู เสือและสิงโตจะมีการซุ่มโจมตีเหยื่อรวมทั้งการวางแผนในการล่าเหยื่ออีกด้วย ซึ่งการวิวัฒนาการนี้จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร

แต่ความสำเร็จในการไล่ล่า จะเป็นตัวกระตุ้นให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร มีการพัฒนาการในการป้องกันอันตรายของตนเองจากศัตรูนักล่า ด้วยการเพิ่มความสามารถในด้านการตรวจสอบ คือการพัฒนาอวัยวะในการรับความรู้สึกให้ไวมากขึ้นกว่าเดิม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหารบางชนิด สามารถเอาตัวรอดจากเสือและสิงโตได้ด้วยขนาดของร่างกายที่ใหญ่โตมาก เช่นช้าง หรือการรวมกลุ่มกันเพื่อป้องกันตัวและลูกอ่อนเช่น ม้าลาย ตัวจามรี เป็นต้น โดยการล้อมวงเข้าหากันเพื่อป้องกันลูกอ่อนที่อยู่ภายในวงล้อม เมื่อเสือและสิงโตเข้าใกล้จะถูกดีดด้วยเท้าหลัง จนยอมแพ้และล่าถอยไปเอง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินแมลง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินแมลงเป็นอาหาร ได้แก่ตัวตุ่น และสัตว์ฟันแทะเช่นหนู กระรอก กระแต กระจ้อน ตัวกินมด สมเสร็จและค้างคาว ซึ่งส่วนใหญ่นักสัตววิทยาจะแยกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินแมลงเป็นอาหาร จะทำได้อย่างไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร หรือแม้แต่สัตว์กินพืชบางชนิดก็ยังกินแมลงเป็นอาหารเข้าไปด้วย

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่เคี้ยวเอื้อง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ วัวป่าไบซัน จะมีกระเพาะอาหารขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ซึ่งเมื่อแทะเล็มหรือกินหญ้าเข้าไปเป็นอาหาร หญ้าจะผ่านหลอดอาหารเข้าสู่รูเมน (rumen) ซึ่งจะมีจุลินทรีย์ที่ทำการย่อยสลายอาหาร และทำให้กลายเป็นก้อนขนาดเล็ก เรียกว่าคัด (cud) เมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชเป็นอาหาร อยู่ในเวลาที่พักหรืออยู่เฉย ๆ ก็จะสามารถสำรอกเอาคัดกลับเข้ามาที่ปาก เพื่อเคี้ยวตัดเส้นใยของพืชให้สั้นลง หรือที่เรียกกันว่าเคี้ยวเอื้อง

ภายหลังเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่เคี้ยวเอื้อง เคี้ยวคัดเสร็จเรียบร้อยก็จะกลืนอาหารกลับลงไปที่รูเมนอีกครั้ง เพื่อให้แบคทีเรียย่อยสลายเซลลูโลส อาหารจะผ่านไปยังกระเพาะอาหาร ส่วนที่ 2 คือเรทิคูลัม (reticulum) ต่อไปยังโอมาซัม (omasum) และสิ้นสุดกระบวนการย่อยสลายอาหารที่อโบมาซัม (abomasum) ซึ่งจะเป็นกระเพาะอาหารที่แท้จริง มีน้ำย่อยโปรตีนและมีการย่อยสลายอาหารตามปกติเกิดขึ้นที่อโบมาซัม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชและสัตว์

กระรอกสามารถสะสมเมล็ดพืชไว้ยามขาดแคลนอาหาร

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น นม แรคคูน มนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ในอันดับไพรเมต ซึ่งตามปกติสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่กินสัตว์ด้วยกันเป็นอาหารหลายชนิด จะใช้การกินพืชผักผลไม้เช่นลูกเบอรี่แทนในเวลาที่อาหารขาดแคลน เช่นสุนัขจิ้งจอกจะกินหนูและสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก หรือนกตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร แต่ถ้าอาหารภายในป่าเกิดการขาดแคลน ก็จะเปลี่ยนมากินผลไม้เช่นแอปเปิล มะเดื่อหรือข้าวโพดแทนเพื่อการอยู่รอด

โดยทั่วไป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ จะใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการเสาะแสวงหาอาหาร ซึ่งสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อการหาอาหารด้วยเช่นกัน ในเขตอบอุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงของอาหารตามฤดูกาล มีความเด่นชัด เช่นช่วงฤดูร้อน อาหารจะอุดมสมบูรณ์ สามารถหาได้ง่ายต่อการดำรงชีวิต แต่ในฤดูหนาว อาหารจะเริ่มหายากและขาดแคลน ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดที่กินสัตว์เป็นอาหาร ต้องออกเดินทางเพื่อเสาะแสวงหาอาหารเพื่อการอยู่รอด ทำให้ต้องเดินทางไกลเพื่อหลีกหนีจากสภาพการขาดแคลนอาหาร

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิดจะมีการจำศีลโดยการนอนในตลอดช่วงฤดูหนาว และมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด ที่จะต้องมีการสะสมอาหารเอาไว้สำหรับฤดูการขาดแคลนอาหาร โดยจะพบมากในประเภทของสัตว์ฟันแทะ เช่นกระรอก กระแต และหนูเป็นต้น โดยจะสะสมเมล็ดพืชหรือผลไม้แห้ง เมล็ดสนแล้วฝังซ่อนเอาไว้ในหลาย ๆ ที่ด้วยกัน โดยเฉพาะกระรอกชิพมังค์ สามารถสะสมเมล็ดสนและลูกนัทได้มากถึง 8 แกลลอนด้วยกัน

ใกล้เคียง

สัตว์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีแกนสันหลัง สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (ภาพยนตร์) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ขาปล้อง สัตว์เทพทั้งสี่ สัตว์หาง