สากลศักราช

สามัญศักราช ศักราชกลาง หรือ สากลศักราช (อังกฤษ: Common Era: CE) หรือ ปัจจุบันศักราช (อังกฤษ: Current Era: CE) เป็นระบบนับปี (ปีปฏิทิน) สำหรับปฏิทินเกรกอเรียนและปฏิทินจูเลียน ซึ่งนับปีตั้งแต่เริ่มยุคปัจจุบันเป็นต้นมา อันตรงกับคริสต์ศักราช (ค.ศ.) 1 ส่วนปีก่อนหน้านี้เรียกว่า ปีก่อนสามัญศักราช (before the Common/Current Era: BCE) ระบบสามัญศักราชสามารถใช้แทนระบบศักราชไดโอไนซัส (Dionysian era) ซึ่งแบ่งศักราชออกเป็น ค.ศ. (Christian Era: CE; anno Domini: AD; หรือ year of the/Our Lord)[1] กับ ก่อน ค.ศ. (before Christ: BC) ฉะนั้น ทั้งระบบสามัญศักราชและระบบศักราชไดโอไนซัสจึงเท่าเทียมกันในทางจำนวน เป็นต้นว่า สามัญศักราช 2020 ย่อมตรงกับ ค.ศ. 2020 และ ปีที่ 400 ก่อนสามัญศักราช ย่อมตรงกับ ปีที่ 400 ก่อน ค.ศ.[1][2][3] ระบบสามัญศักราชที่ใช้กับปฏิทินเกรกอเรียนนี้เป็นระบบปฏิทินตามกฎหมายที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลกปัจจุบัน และเป็นมาตรฐานทั่วโลกที่สถาบันระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ และสหภาพไปรษณีย์สากล ยึดถือมานานหลายทศวรรษแล้วการระบุปีด้วยสามัญศักราชสามารถย้อนหลังไปถึง ค.ศ. 1615 อันเป็นเวลาที่สามัญศักราชปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือของโจฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ด้วยชื่อภาษาละตินว่า "vulgaris aerae" (สามัญศักราช)[4][5] และต่อมาปรากฏในชื่อภาษาอังกฤษว่า "Vulgar Era" (สามัญศักราช) เมื่อ ค.ศ. 1635 ส่วนชื่อ "Common Era" (สามัญศักราช) พบได้เก่าแก่ที่สุดใน ค.ศ. 1708,[6] ครั้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สามัญศักราชเป็นที่ใช้งานแพร่หลายมากขึ้นในหมู่นักวิชาการชาวยิว จนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สามัญศักราชและปีก่อนสามัญศักราชกลายเป็นที่นิยมใช้ในงานวิชาการและวิทยาศาสตร์ ทั้งใช้งานทั่วไปมากขึ้นในเหล่านักเขียนและนักพิมพ์ที่ต้องการเน้นย้ำแนวคิดฆราวาสนิยมหรือความอ่อนไหวต่อผู้มิใช่คริสต์ศาสนิกชนด้วยการไม่อ้างถึงพระเยซูว่า ไครสต์ (Christ) หรือ ดอมินัส (Dominus) อย่างโจ่งแจ้ง โดยหันไปย่อชื่อ "คริสต์ศักราช" ว่า "ค.ศ." แทน[7][8]