ข้อวิจารณ์ ของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ในปี 2553 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระบุในรายงานประจำปี 2553 ปฏิเสธข่าวของนิตยสารฟอบส์ที่ลงว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก โดยอธิบายว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน มีนโยบายดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) นำที่ดินราวกึ่งหนึ่งที่มอบให้สำนักงานฯ ดูแลตั้งแต่ปี 2479 (44,000 กว่าไร่) จัดสรรให้ประชาชน ส่วนที่ดินที่เหลือก็ไม่ได้ใช้แสวงประโยชน์อย่างเอกชน แต่บริหารจัดการโดยมีนโยบายการพัฒนาระยะยาวเพื่อประโยชน์สังคมเป็นหลัก[34]

ฝ่าย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนในประชาไท ว่า ในทางปฏิบัติ รัฐบาลมิได้เป็นผู้รับผิดชอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งไม่มีอำนาจควบคุม จัดการได้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในในวงการธุรกิจ รัฐบาลและสำนักงานฯ การเขียนในรายงานประจำปี 2553 เป็นการบิดเบือนความจริง เพราะแย้งว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในมือรัฐบาล สมศักดิ์เขียนต่อไปว่า ผลประโยชน์ทั้งหมดจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะทรงจำหน่ายใช้สอย "ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ" หมายรวมถึงว่า จะทรงจำหน่ายใช้สอยในกรณีที่จะตีความว่าเป็น "ส่วนพระองค์" ก็ได้[35]

สมศักดิ์เขียนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลายครั้ง ดังนี้[35]

  1. สำนักงานฯ "ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกิจการของรัฐ เพราะคำว่า “รัฐ” และคำว่า “พระมหากษัตริย์” มีความหมายแตกต่างกัน และตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 [แก้ไขเพิ่มเติม 2491] ก็มิได้มีบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นว่า รัฐได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์แต่ประการใด"
  2. คณะกรรมการกฤษฎีกาลงความเห็นตามเสียงข้างมากว่า กฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ "ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดกำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นส่วนราชการ” และ "การที่ทรงแต่งตั้งกรรมการ [ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์] ดังกล่าว เป็นพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ มิใช่รัฐบาลเป็นผู้เสนอแนะในการแต่งตั้งแต่ประการใด การที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งดังกล่าว ก็เป็นเพียงการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มิได้มีผลทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ”
  3. สำนักงานฯ มีฐานะเป็นเอกชน เพราะ "การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมิได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของรัฐบาล [...] มิได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของรัฐบาล ที่จะจัดให้ดำเนินงานตามความประสงค์ของรัฐบาลได้ แต่การดำเนินธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นไปเพื่อจัดหา ผลประโยชน์แก่กองทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้จ่ายสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ [...] และเท่าที่เป็นมา การที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งใด ก็ถือว่ามีฐานะอย่างเอกชน ไม่มีการนับส่วนที่มีหุ้นนั้นว่าเป็นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ"
  4. สำนักงานฯ "มิใช่หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับดูแลของรัฐบาล" จึงไม่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือเทียบเท่า ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบในหนี้สินและภาระผูกพันของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"
  5. สำนักงานฯ ถือได้ว่าเป็น "หน่วยงานของรัฐ" เพราะ "สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย"[36]

จากการตีความครั้งหลังสุดของคณะกรรมการกฤษฎีกา สมศักดิ์เขียนว่า หากสำนักงานฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงการดำเนินการได้ แต่ที่จริง คณะกรรมการกฤษฎีกายังย้ำอีกว่า "โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยหรือ ที่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตนั้น บุคคลใดไม่พึงดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจดังกล่าว"[35][36]

สมศักดิ์สรุปว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทบไม่ต่างกัน เพราะ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ไม่ว่าเป็นการกำหนด "รายจ่ายประจำ" หรือการกำหนดให้มี "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และ "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ขึ้นกับการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ หรือต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น หรือ "อยู่ในการกำกับดูแลของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย" ทั้งสิ้น[35]

โดยในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ได้มีประกาศ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561[37] แก้ไขและจัดระเบียบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ โดยมีการเปลี่ยนชื่อ สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ เป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” เพื่อให้เกิดความชัดเจนของการดำเนินงาน ทำให้ข้อครหาหรือข้อโต้แย้งเรื่อง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มีความคลุมเครือ ได้รับความกระจ่างชัดเจน และไม่สามารถนำมาใช้โจมตีจากผู้ไม่หวังดีต่อสถาบันฯ ต่อไป

วันที่ 15 ธันวาคม 2557 มีข่าวกระทรวงการคลังยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระประสงค์ขอรับพระราชทานเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อพระราชทานให้ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ใช้ในการดำรงชีพและดูแลครอบครัวจำนวน 200ล้านบาท[38]


ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ http://www.apexcela.com/index.php/about-us3/organi... http://www.bbc.com/thai/thailand-40654502 http://maps.google.com/maps?ll=13.767606,100.50715... http://www.kempinski.com/en/hotels/information/his... http://law.longdo.com/law/297/rev479 http://law.longdo.com/law/297/rev479# http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7676... http://prachatai.com/journal/2011/06/35539 http://www.siambioscience.com/index.php/our-scient... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp...