ลักษณะ ของ สิงโต

โครงกระดูกสิงโตแอฟริกากำลังโจมตีละมั่ง ตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์กระดูก โอคลาโฮมาซิตี โอคลาโฮมา

สิงโตเป็นสัตว์ที่สูงที่สุด (สูงจรดหัวไหล่) ในวงศ์แมวและมีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเสือโคร่ง สิงโตมีกะโหลกศีรษะคล้ายกับเสือโคร่งมาก แม้ว่าบริเวณกระดูกหน้าผากจะยุบลงและแบนราบ กับหลังเบ้าตาสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกศีรษะของสิงโตมีโพรงจมูกกว้างกว่าเสือโคร่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความแปรผันในของกะโหลกศีรษะของสัตว์ทั้งสองชนิด ปกติแล้วจึงมีเพียงโครงสร้างของขากรรไกรล่างเท่านั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นสปีชีส์ใด[29] สีขนของสิงโตจะมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลืองจางๆถึงค่อนข้างเหลือง ออกแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าและพู่หางมีสีดำ ลูกสิงโตที่เกิดมาจะมีจุดลายรูปดอกกุหลาบสีน้ำตาลบนลำตัวคล้ายกับเสือดาว แม้ว่าจุดเหล่านี้จะจางหายไปเมื่อสิงโตโตเต็มวัย แต่บ่อยครั้งกลับยังสามารถพบเห็นได้จางๆบนขาและส่วนท้องโดยเฉพาะในสิงโตเพศเมีย

สิงโตเป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวในวงศ์เสือและแมวที่แสดงความแตกต่างระหว่างเพศอย่างชัดเจน และแต่ละเพศก็จะบทบาทพิเศษต่างกันไปในฝูง ในกรณีสิงโตเพศเมีย เป็นนักล่าไม่มีแผงคอหนาเป็นภาระเช่นในเพศผู้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอุปสรรคต่อสิงโตเพศผู้ที่จะอำพรางตัวเข้าใกล้เหยื่อและสร้างความร้อนเป็นอย่างมากเมื่อต้องวิ่งไล่ติดตามเหยื่อ สีของแผงคอในสิงโตเพศผู้อยู่ระหว่างสีเหลืองอ่อนถึงดำ ปกติจะเข้มขึ้นเรื่อยๆเมื่อสิงโตมีอายุมากขึ้น

ในการเผชิญหน้ากับสิงโตตัวอื่น แผงคอจะทำให้สิงโตดูมีขนาดใหญ่ขึ้น

น้ำหนักของสิงโตที่โตเต็มที่จะอยู่ระหว่าง 150–250 กก. (330–550 ปอนด์) สำหรับเพศผู้ และ 120–182 กก. (264–400 ปอนด์) สำหรับเพศเมีย[30] โนเวลล์ (Nowell) และแจ็คสัน (Jackson) รายงานว่าน้ำหนักตัวของสิงโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 181 กก.สำหรับเพศผู้ และ 126 กก.สำหรับเพศเมีย มีสิงโตเพศผู้ตัวหนึ่งที่ถูกยิงตายใกล้กับภูเขาเคนยามีน้ำหนัก 272 กก. (600 ปอนด์)[16] สิงโตมีแนวโน้มของขนาดตัวที่แปรผันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและบริเวณถิ่นอาศัย ผลการบันทึกน้ำหนักของสิงโตที่กระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ในกรณีสิงโตในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มของน้ำหนักตัวมากกว่าสิงโตในแอฟริกาตะวันออก 5 %[31]

ส่วนศีรษะและลำตัวยาว 170–250 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว – 8 ฟุต 2 นิ้ว) ในสิงโตเพศผู้ และ 140–175 ซม. (4 ฟุต 7 นิ้ว – 5 ฟุต 9 นิ้ว) ในสิงโตเพศเมีย สูงจรดหัวไหล่ราว 123 ซม. (4 ฟุต) ในเพศผู้ และ 107 ซม. (3 ฟุต 6 นิ้ว) ในเพศเมีย หางยาว 90–105 ซม. (2 ฟุต 11 นิ้ว - 3 ฟุต 5 นิ้ว) ในเพศผู้ และ 70–100 ซม. (2 ฟุต 4 นิ้ว – 3 ฟุต 3 นิ้ว) ในเพศเมีย[30] สิงโตตัวที่ยาวที่สุดเป็นสิงโตเพศผู้แผงคอสีดำที่ถูกยิงตายใกล้กับมุคส์ซู (Mucsso) ทางตอนใต้ของประเทศแองโกลาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1973 สิงโตที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติคือสิงโตกินคนซึ่งถูกยิงตายในปี ค.ศ. 1936 นอกเมืองเฮกทอร์สพริต (Hectorspruit) ในทางตะวันออกของจังหวัดทรานสวาล (Transvaal) ประเทศแอฟริกาใต้ มีน้ำหนัก 313 กก. (690 ปอนด์)[32] สิงโตในที่เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตในธรรมชาติ สิงโตที่หนักที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้เป็นสิงโตเพศผู้ที่สวนสัตว์โคลเชสเตอร์ (Colchester) ในประเทศอังกฤษ มีชื่อว่าซิมบา (Simba) ในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งมีน้ำหนักถึง 375 กก. (826 ปอนด์)[33]

มีลักษณะเด่นชัดมากที่ปรากฏในสิงโตเพศผู้และเพศเมียคือมีขนกระจุกที่ปลายหาง ในสิงโตบางตัว ขนกระจุกจะปกปิด"เงี่ยงกระดูก"หรือ"ปุ่มงอก"ซึ่งยาวประมาณ 5 มม.ซึ่งเกิดจากส่วนสุดท้ายของกระดูกหางรวมตัวกัน สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวเพียงชนิดเดียวที่มีขนกระจุกที่ปลายหาง หน้าที่ของขนกระจุกและเงี่ยงกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เมื่อแรกเกิดลูกสิงโตจะไม่มีขนกระจุกนี้ ขนกระจุกจะเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อมีอายุประมาณ 5½ เดือน และสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่ออายุ 7 เดือน[34]

ขนแผงคอ

แผงคอของสิงโตเพศผู้ที่โตเต็มวัยเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของสบีชีส์นี้ ซึ่งไม่พบในสัตว์ในวงศ์เดียวกันชนิดอื่น ส่งผลให้มันแลดูมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยในแสดงออกของการข่มขู่ได้ดีเยี่ยมเมื่อเผชิญหน้ากับสิงโตตัวอื่นและคู่แข่งที่สำคัญในแอฟริกา ไฮยีนาลายจุด[35] การที่มีหรือไม่มีแผงคอ รวมถึงสีและขนาดนั้นเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางพันธุกรรม การเจริญเติบโต สภาพอากาศ และการสร้างเทสโทสเตอโรน มีหลักทั่วไปว่าขนแผงคอสีเข้มกว่าและใหญ่กว่าคือสิงโตที่มีสุขภาพดีกว่า การเลือกคู่ของนางสิงห์นั้นมักจะเลือกสิงโตเพศผู้ที่มีแผงคอหนาแน่นและมีสีเข้มที่สุด[36] จากการศึกษาในประเทศแทนซาเนียยังแสดงให้เห็นว่าขนแผงคอที่ยาวเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการประสบความสำเร็จในการต่อสู้ระหว่างสิงโตเพศผู้ด้วยกันอีกด้วย แผงคอที่เข้มดำอาจบ่งบอกถึงช่วงเจริญพันธุ์ที่ยาวนานกว่าและลูกหลานที่มีโอกาสรอดชีวิตสูง แม้ว่าต้องอดอยากในเดือนที่ร้อนที่สุดของปีก็ตาม[37] ในฝูงที่ประกอบไปด้วยสิงโตเพศผู้ 2-3 ตัว มีทางเป็นไปได้ที่นางสิงห์จะจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศผู้ที่มีขนแผงคอใหญ่ที่สุด หนักที่สุด[36]

สิงโตซาโว เพศผู้มีขนแผงคอเพียงหรอมแหรม จากอุทยานแห่งชาติซาโวตะวันออก ประเทศเคนยา

นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่าสถานะความแตกต่างในระดับชนิดย่อยสามารถแบ่งแยกได้ทางสัณฐานวิทยา ซึ่งรวมถึง ขนาดของขนแผงคอ รูปร่างทางสัณฐานของสิงโตสามารถระบุบถึงความแตกต่างของชนิดย่อยได้ เช่น สิงโตบาร์บารีและสิงโตแหลมกูดโฮพ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาระบุบว่าปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อสีและขนาดของขนแผงคอสิงโต เช่น อุณหภูมิในสภาพแวดล้อม[37] เช่น อากาศหนาวเย็นของสวนสัตว์ในยุโรปและอเมริกาเหนืออาจมีผลทำให้ขนแผงคอหนาและหนักขึ้น ดังนั้น แผงคอจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการระบุบถึงชนิดย่อย[11][38] แต่อย่างไรก็ตาม สิงโตเอเชียเพศผู้มีขนแผงคอบางกว่าสิงโตแอฟริกาโดยเฉลี่ย[39]

มีรายงานถึงสิงโตเพศผู้ที่ไม่ปรากฏขนแผงคอในประเทศเซเนกัลและอุทยานแห่งชาติซาโวตะวันออกในประเทศเคนยา และสิงโตขาวเพศผู้ตัวแรกเริ่มจากทิมบาวัตติ (Timbavati) นั้นก็ไม่มีแผงคอด้วยเช่นกัน ฮอร์โมน เทสโทสเตอโรนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญของขนแผงคอ ดังนั้นสิงโตที่ได้รับการทำหมันนั้นบ่อยครั้งที่มีแผงขอเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากไปการนำเอาต่อมบ่งเพศที่เป็นแหล่งสร้างเทสโทสเตอโรนออกไป[40] สิงโตที่ไม่มีขนแผงคออาจพบในประชากรสิงโตที่มีการผสมพันธุ์ในเชื้อสายที่ใกล้ชิด ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำ[41]

ภาพวาดฝาผนังของสิงโตถ้ำยุโรปได้แสดงถึงสัตว์ที่ไม่มีขนแผงคอหรือมีเพียงเล็กน้อยซึ่งชี้ให้เห็นว่าสิงโตชนิดนี้ไม่มีขนแผงคอ[25]

สิงโตขาว

สิงโตขาวเป็นสิ่งที่เกิดจากลักษณะด้อยของหน่วยพันธุกรรม เป็นรูปแบบที่หาได้ยากของสิงโตชนิดย่อย Panthera leo krugeri

สิงโตขาวไม่ได้รับการจำแนกออกเป็นชนิดย่อยของสิงโต แต่เป็นลักษณะพิเศษทางภาวะพันธุกรรมที่เรียกว่าภาวะด่าง (leucism)[10] ซึ่งเป็นสาเหตุให้สีซีดลง เป็นภาวะที่พบในเสือโคร่งขาวเช่นเดียวกัน ภาวะนี้คล้ายกับภาวะการมีเม็ดสีมากเกินไป (melanism) เช่นเดียวกับเสือดำ ลักษณะของสิงโตขาวไม่ใช่ภาวะเผือก ยังมีเม็ดสีปกติในตาและหนัง บางครั้งสามารถพบสิงโตขาวทรานเวล (Panthera leo krugeri) ได้ในบริเวณอุทยานแห่งชาติครูเกอร์และเขตสงวนส่วนบุคคลทิมบาวาติ (Timbavati Private Game Reserve) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงในทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา แต่ในสถานที่เลี้ยงกับพบเห็นได้เป็นเรื่องปกติจากการเพาะพันธุ์ด้วยการคัดเลือกอย่างจงใจ โดยทั่วไปแล้วขนของสิงโตจะมีสีครีมซึ่งเกิดจากยีนด้อย[42] มีรายงานว่า มีการเพาะพันธุ์สิงโตขาวในค่ายพักในแอฟริกาใต้เพื่อใช้เป็นเหยื่อสำหรับเกมล่า (canned hunt)[43]

เควิน ริดชาร์ดซัน (Kevin Richardson) ผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมสัตว์ โดยเฉพาะกับเสือและสิงโตในแอฟริกา ปัจจุบันเขาทำงานอยู่ในสถานที่พิเศษที่ชื่อว่าอาณาจักรสิงโตขาวในเมืองบรูเดอร์สทรูม (Broederstroom)[44] ซึ่งห่างจากโจฮันเนสเบิร์ก 50 ไมล์[45] สถานที่นี้สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของร็อดนีย์ ฟูห์ร (Rodney Fuhr)[46] และสร้างสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์เรือง White Lion: Home is a Journey[45] ที่แห่งนี้มีสิงโตขาวถึง 39 ตัว[44] ริดชาร์ดซันได้ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะป้องกันและรักษาสายพันธุ์สิงโตสีขาวไว้ สถานอนุรักษ์นี้ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวแต่มีแผนที่จะยกให้เป็นสาธารณสมบัติในเร็วๆ นี้[47]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สิงโต http://books.google.com.au/books?id=ecgil9AfV1QC&p... http://www.adelaide.edu.au/acad/publications/paper... http://www.beringia.com/research/lion.html http://www.etymonline.com/index.php?term=panther http://books.google.com/?id=O8SgPwAACAAJ http://www.junglephotos.com/africa/afanimals/mamma... http://news.nationalgeographic.com/news/2002/04/04... http://news.nationalgeographic.com/news/2002/06/06... http://news.nationalgeographic.com/news/2002/08/08... http://www.pawnation.com/2009/04/29/lion-tamer/