สุนทรียภาพ

สุนทรียภาพ คือความงามในธรรมชาติหรืองานศิลปะที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าใจและรู้สึกได้ หรือเป็นความรู้สึกและความเข้าใจของแต่ละบุคคลที่มีต่อความงามในธรรมชาติหรืองานศิลปะสุนทรียภาพ (aesthetics) เป็นคำในภาษากรีก เดิมหมายถึงการรับรู้ทางความรู้สึก (sense perception) จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 บอมการ์เทิน (Baumgarten) นักปรัชญาชาวเยอรมันได้ให้ความหมายใหม่โดยหมายถึง การรับรู้และชื่นชมความงาม เป็นที่ทราบดีว่าสุนทรียภาพเป็นเรื่องของอัตวิสัย (subjective) ซึ่งแต่ละคนย่อมให้คุณค่าสุนทรียภาพแตกต่างกันไป (Whittick, A., 1974: 11) ดังเช่นความหมายของสุนทรียภาพในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่ให้ความหมายไว้ว่า ความเข้าใจและความรู้สึกของแต่ละบุคคลที่มีต่อความงามในธรรมชาติหรืองานศิลปะ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2539: 827)ในความหมายทั่วไปคำว่าสุนทรียภาพมักจะใช้ร่วมกับคำว่าความสวยงาม (beauty) แม้ว่าความสวยงามเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียภาพ แต่ในสาขาวิชานี้ ถือว่าสุนทรียภาพมีความหมายกว้างและครอบคลุมมากกว่า กล่าวคือนักสุนทรียศาสตร์มีความเห็นว่าสุนทรียภาพอาจจะไม่ใช้ความสวยงามเพียงอย่างเดียว ความเศร้าโศก (tragic) ความน่าเกลียด (ugly) ความขบขัน (comic) และความน่าพิศวง (sublime) ก็ทำให้เกิดอารมณ์สุนทรียได้เช่นเดียวกัน (ฐานิศวร์ เจริญพงศ์, 2543: 58) รวมถึงลักษณะของอารมณ์หรือความรู้สึกน่าสนใจ (interested) ความไม่น่าสนใจ (disinterested) ความเพลิดเพลินใจ (pleasure) กินใจ (empathy) ลืมตัว (attention span) (ทวีเกียรติ ไชยยงยศ, 2538: 3)