ประวัติของสโมสร ของ สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา

จุดกำเนิดของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา (1899–1922)

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1899 ฌูอัน กัมเป ได้ลงประกาศโฆษณาใน โลสเดปอร์เตส ว่ามีความต้องการที่จะก่อตั้งสโมสรฟุตบอล โดยได้รับการตอบรับอย่างดีในการนัดพบกันที่คิมนาเซียวโซเล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยมีผู้เล่น 11 คนมาร่วมได้แก่ วอลเตอร์ ไวลด์ (ผู้บริหารคนแรกของสโมสร), ลุยส์ ดีออสโซ, บาร์โตเมว เตร์ราดัส, ออตโต กุนเซิล, ออตโต แมเยอร์, เอนริก ดูกัล, เปเร กาบอต, กาเลส ปูคอล, ชูเซป โยเบต, จอห์น พาร์สันส์ และ วิลเลียม พาร์สัน ทำให้ ฟุตบอลคลับบาร์เซโลนา ก็ถือกำเนิดขึ้นมา[3]

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประสบความสำเร็จในช่วงแรกกับการแข่งขันถ้วยท้องถิ่นและระดับชาติ ได้ลงแข่งในกัมเปียวนัตเดกาตาลุนยาและถ้วยโกปาเดลเรย์ ในปี ค.ศ. 1902 สโมสรชนะถ้วยแรกในถ้วยโกปามากายา และร่วมลงแข่งในโกปาเดลเรย์ครั้งแรก แต่แพ้ 1–2 ให้กับบิซกายา ในนัดชิงชนะเลิศ[4] กัมเปร์ได้เป็นประธานสโมสรในปี ค.ศ. 1908 แต่สโมสรมีปัญหาด้านการเงินเนื่องจากไม่สามารถชนะการแข่งขันได้ตั้งแต่กัมเปียนัตเดกาตาลัน ในปี ค.ศ. 1905 เขาเป็นประธานสโมสรใน 5 วาระในระหว่างปี ค.ศ. 1908 ถึง 1925 รวม 25 ปี ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร หนึ่งในความสำเร็จคือการทำให้สโมสรมีสนามกีฬาของตัวเอง ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง[5]

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1909 สโมสรได้ย้ายไปสนามกัมเดลาอินดุสเตรีย ที่มีที่นั่งจุ 8,000 คน จากปี ค.ศ. 1910 ถึง 1914 บาร์เซโลนาได้ร่วมลงแข่งในถ้วยพิเรนีส ที่ประกอบด้วยทีมที่ดีที่สุดของ ล็องด็อก, มีดี, อากีแตน (ฝรั่งเศสใต้), บาสก์ และ กาตาลุญญา ในเวลานั้นถือเป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดที่เปิดให้เข้าแข่งขัน[6][7] ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สโมสรได้เปลี่ยนภาษาอย่างเป็นทางการของสโมสรจากภาษาสเปนกัสติยา (Castilian Spanish) เป็นภาษากาตาลา และค่อย ๆ เพิ่มความสำคัญให้กับสัญลักษณ์ที่สำคัญของอัตลักษณ์กาตาลา เพื่อให้แฟนที่สนับสนุนสโมสรแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรระหว่างการแข่งขันและเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์กลุ่มของสโมสร[8]

กัมเปร์ได้รณรงค์หาสมาชิกสโมสรเพิ่ม และในปี ค.ศ. 1922 สโมสรมีสมาชิกมากกว่า 20,000 คนและมีฐานะการเงินเพียงพอที่จะสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ สโมสรได้ย้ายไปเลสกอตส์ โดยเปิดสนามใหม่ในปีเดียวกันนี้[9] เดิมทีเลสกอตส์จุผู้ชมได้ 22,000 คน และต่อมาขยายเพิ่มเป็น 60,000 คน[10] แจ็ก กรีนเวลล์ เป็นผู้จัดการเต็มเวลาคนแรกของสโมสรและสโมสรได้เริ่มต้นพัฒนา ในช่วงระหว่างยุคของกัมเปร์ สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาชนะถ้วยกัมเปียนัตเดกาตาลัน 11 ครั้ง ถ้วยโกปาเดลเรย์ 6 ครั้ง และถ้วยพิเรนีส 4 ครั้ง ถือเป็นยุคทองยุคแรกของสโมสร[4][5]

รีเบรา, สาธารณรัฐ และ สงครามกลางเมือง (1923–1957)

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1925 ฝูงชนที่สนามกีฬาร้องเพลงชาติในการประท้วงต่อระบอบเผด็จการของ มีเกล เด รีเบรา สนามถูกปิดไป 6 เดือนจากการโต้ตอบด้วยกำลังทหาร และกัมเปร์ถูกบีบให้ถอนตัวจากการเป็นประธานสโมสร[11] จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสโมสรสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยในปี ค.ศ. 1926 ผู้บริหารบาร์เซโลนาออกมาประกาศต่อสาธารณะว่าบาร์เซโลนาก้าวสู่มืออาชีพเป็นครั้งแรก[9] สโมสรชนะการแข่งขันถ้วยสเปน มีการแต่งบทกวีเพื่อเฉลิมฉลองในชื่อ "โอดาอาปลัตโก" เขียนขึ้นโดยสมาชิกกลุ่มเจเนอเรชันออฟ '27 ที่ชื่อ ราฟาเอล อัลเบร์ตี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก "วีรกรรม" ของผู้รักษาประตูบาร์เซโลนา[12] เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1930 กัมเปร์ฆ่าตัวตายหลังจากความเครียดที่มาจากปัญหาส่วนตัวและปัญหาด้านการเงิน[5]

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังมีผู้เล่นในการดำรงตำแหน่งของ ชูเซบ เอสโกลา แต่สโมสรก็ถึงยุคแห่งการเสื่อมถอย เนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องการเมืองที่ลดความสำคัญด้านกีฬาลง[13] ถึงแม้ว่าสโมสรจะได้ถ้วยกัมเปียนัตเดกาตาลันในปี ค.ศ. 1930, 1931, 1932, 1934, 1936, และ 1938[4] ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศ (ยกเว้นข้อพิพาทเรื่องการชนะในปี ค.ศ. 1937) จากนั้น 1 เดือนหลังสงครามกลางเมืองสเปนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1936 นักฟุตบอลหลายคนจากบาร์เซโลนาและอัตเลติกเดบิลบาโอก็เข้าเป็นทหารเพื่อต่อสู้กับการปฏิวัติ[14] เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ชูเซบ ซุนยอล ประธานสโมสรและตัวแทนพรรคสนับสนุนการเมืองเสรี ถูกฆาตกรรมโดยทหารกลุ่มฟาลังเคใกล้กับเมืองกวาดาร์รามา[15] ขนานนามความทุกข์ทรมานในช่วงนี้ของประวัติศาสตร์สโมสรบาร์เซโลนาว่า บาร์เซโลนิสเม (สเปน: barcelonisme)[16] ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1937 ผู้เล่นได้เดินทางไปแข่งขันที่เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ในนามสาธารณรัฐสเปนครั้งที่ 2 การออกแข่งขันนี้ทำให้การเงินของสโมสรมั่นคงขึ้น แต่ก็เป็นผลให้ครึ่งหนึ่งของทีมหาทางลี้ภัยในเม็กซิโกและฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1938 เมืองบาร์เซโลนาถูกโจมตีทางอากาศ มีผู้เสียชีวิต 3,000 คน ระเบิดหนึ่งลูกโจมตีสำนักงานของสโมสร[17] กาตาลุญญาเข้าดูแลอีกหลายเดือนต่อมา และในฐานะสัญลักษณ์ของกาตาลานิยมที่ไม่มีการดูแล ทำให้สโมสรมีสมาชิกลดลงเหลือ 3,486 คน[18] หลังจากสงครามการเมือง มีการสั่งห้ามธงชาติกาตาลาและสโมสรฟุตบอลที่ไม่ได้ใช้ชื่อสเปน เป็นผลบังคับให้สโมสรต้องเปลี่ยนชื่อเป็น กลุบเดฟุตบอลบาร์เซโลนา (สเปน: Club de Fútbol Barcelona) และเอาธงกาตาลาออกจากตราสโมสร[10]

ในปี ค.ศ. 1943 บาร์เซโลนาเผชิญกับคู่แข่ง เรอัลมาดริด ในรอบรองชนะเลิศของโกปาเดลเฆเนราลิซิโม นัดแรกแข่งที่เลสกอตส์ บาร์เซโลนาชนะ 3–0 ก่อนการแข่งในนัดที่ 2 จอมพลฟรันซิสโก ฟรังโกเข้าเยี่ยมห้องเปลี่ยนชุดของทีมบาร์เซโลนา ฟรังโกเข้าเตือนพวกเขาว่าที่เขาเล่นได้นั้นเนื่องจาก "เป็นความกรุณาต่อระบอบการปกครอง" ในนัดถัดมาเรอัลมาดริดชนะการแข่งขันขาดลอย 11–1[19] ถึงแม้ว่ามีความลำบากในสถานการณ์การเมือง แต่บาร์เซโลนาก็ยังประสบความสำเร็จในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 และ 1950 ในปี ค.ศ. 1946 ชูเซบ ซามีเตียร์ ผู้จัดการทีมและผู้เล่นอย่าง เซซาร์, รามัลเลตส์ และ เบลัสโก นำบาร์เซโลนาชนะในลาลิกาครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 และยังชนะอีกครั้งในปี ค.ศ. 1948 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1949 พวกเขายังได้รับรับถ้วยละตินคัปครั้งแรกในปีนั้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1950 ได้เซ็นลาดิสเลา คูบาลา ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลให้การก่อร่างสร้างตัวของสโมสร

ในวันอาทิตย์ที่ฝนตกของปี ค.ศ. 1951 กลุ่มคนออกจากสนามกีฬาเลสกอตส์ด้วยเท้าเปล่า หลังจากสโมสรชนะราซินเดซันตันเดร์ โดยปฏิเสธการขึ้นรถรางและสร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่ของจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก การประท้วงรถรางเกิดขึ้นในบาร์เซโลนาซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากแฟนทีมบาร์เซโลนา เหตุการณ์ที่เกิดเช่นนี้ทำให้แสดงให้เห็นความเป็นอะไรที่มากกว่ากาตาลุญญา ชาวสเปนหัวก้าวหน้ามองว่าสโมสรเป็นผู้พิทักษ์ซึ่งซื่อสัตย์ต่อสิทธิและเสรีภาพ[20][21]

ผู้จัดการ เฟอร์ดินานด์ เดาชีก (สโลวัก: Ferdinand Daučík) และ ลัสโซล คูบาลา นำทีมให้ได้รับถ้วย 5 รางวัล รวมถึงในลาลิกา, โกปาเดลเฆเนราลิซิโม (ต่อมาใช้ชื่อว่า โกปาเดลเรย์), ละตินคัป, โกปาเอบาดัวร์เต และโกปามาร์ตีนีรอสซี ในปี ค.ศ. 1952 ต่อมาในปี ค.ศ. 1953 สโมสรชนะในลาลิกาและโกปาเดลเฆเนราลิซิโม อีกครั้ง[10]

กลุบเดฟุตบอลบาร์เซโลนา (1957–1978)

สนามกีฬากัมนอว์ สนามการแข่งขันของสโมสรที่เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1957 ด้วยทุนจากผู้สนับสนุนสโมสร[22]

ด้วยการนำทีมของผู้จัดการเอเลเนียว เอร์เรรา กับนักฟุตบอลยอดเยี่ยมยุโรปแห่งปี ค.ศ. 1960 ลุยส์ ซัวเรซ และนักฟุตบอลชาวฮังการี 2 คนที่ได้รับคำแนะนำจากคูบาลา คือ ซันดอร์ คอชซิส (ฮังการี: Sándor Kocsis) และซอลตัน ซีบอร์ (ฮังการี: Zoltán Czibor) ที่ทำให้ทีมได้ชนะการแข่งขันระดับชาติ 2 รางวัลในปี ค.ศ. 1959 และในลาลิกาและอินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัป ในปี ค.ศ. 1960 และในปี ค.ศ. 1961 พวกเขาเป็นทีมแรกที่ชนะเรอัลมาดริดได้ในการแข่งขันยูโรเปียนคัป แต่ก็แพ้ให้กับไบฟีกาในรอบชิงชนะเลิศ[23][24][25]

ในคริสต์ทศวรรษ 1960 สโมสรประสบความสำเร็จน้อยลง เรอัลมาดริดถือครองแชมป์แต่เพียงผู้เดียว สนามกีฬาของสโมสรกัมนอว์สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1957 ซึ่งหมายถึงสโมสรมีเงินไม่มากที่จะซื้อตัวผู้เล่นใหม่[25] ส่วนในด้านบวกแล้ว เป็นทศวรรษแห่งการแจ้งเกิดของ ชูเซบ มาเรีย ฟุสเต และ กาเลส เรชัก สโมสรชนะในถ้วยโกปาเดลเฆเนราลิซิโม ในปี ค.ศ. 1963 และถ้วยแฟส์คัปใน ค.ศ. 1966 สโมสรกลับมาเล่นได้ดีอีกครั้งในการชนะคู่แข่งเดิม เรอัลมาดริด โดยชนะ 1–0 ในถ้วยโกปาเดลเฆเนราลิซิโมปี ค.ศ. 1968 ในนัดตัดสินที่สนามเบร์นาเบวต่อหน้าจอมพลฟรังโก โดยการนำทีมของอดีตนักบินสาธารณรัฐ ซัลบาดอร์ อาร์ตีกัส ในฐานะผู้จัดการทีม เมื่อจบยุคระบอบเผด็จการของจอมพลฟรังโก ในปี ค.ศ. 1974 สโมสรก็ได้เปลี่ยนชื่อทางการเป็น ฟุบบอลกลุบบาร์เซโลนา และเปลี่ยนตราสัญลักษณ์สโมสรมาเป็นแบบเดิม กับตัวอักษรดั้งเดิม[26]

ในฤดูกาล 1973–74 สโมสรซื้อตัว โยฮัน ไกรฟฟ์ จากอายักซ์ ด้วยค่าตัว 920,000 ปอนด์ ถือเป็นสถิติโลกในสมัยนั้น[27] ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วในฮอลแลนด์ ไกรฟฟ์ได้สร้างความประทับใจอย่างรวดเร็วให้กับแฟนสโมสร เมื่อเขาบอกกับสื่อยุโรปว่าที่เขาเลือกบาร์เซโลนา มากกว่าที่จะเลือกเรอัลมาดริดเพราะว่า เขาไม่สามารถเล่นกับสโมสรที่เกี่ยวข้องกับจอมพลฟรังโกได้ เขายังเป็นที่โปรดปรานเมื่อเขาตั้งชื่อลูกชายในภาษากาตาลาว่า คอร์ดี (Jordi) ตามชื่อนักบุญท้องถิ่น[28] อีกทั้งยังมีนักฟุตบอลคุณภาพอย่าง ควน มานวยล์ อาเซนซี, การ์เลส เรซัก, และ อูโก โซติล ก็ทำให้ให้ทีมชนะในลาลิกาในฤดูกาล 1973–74 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960[4] โดยชนะเรอัลมาดริด 5–0 ที่สนามเบร์นาเบว ขณะแข่งขัน[29] ไกรฟฟ์ยังได้รับเลือกเป็นนักฟุตบอลยุโรปยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ. 1973 สำหรับฤดูกาลแรกของเขากับบาร์เซโลนา (เป็นการได้รับบัลลงดอร์ครั้งที่ 2 ของเขา ครั้งแรกได้รับขณะเล่นให้กับอายักซ์ในปี ค.ศ. 1971) ไกรฟฟ์ยังได้รับรางวัลนี้อีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 (เป็นคนแรกที่ทำได้) ในปี ค.ศ. 1974 ขณะที่เขายังเล่นให้กับบาร์เซโลนา[30]

นูเญซและปีแห่งความมั่นคง (1978–2000)

ในปี ค.ศ. 1978 ชูเซบ ยุยส์ นูเญซ เป็นประธานสโมสรที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสโมสร การเลือกตั้งเช่นนี้ใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงของสเปนที่เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1974 หลังจบสิ้นระบบเผด็จการของจอมพลฟรังโก เป้าหมายหลักของนูเญซคือการพัฒนาบาร์ซาสู่สโมสรระดับโลกโดยให้ความมั่นคงกับสโมสรทั้งในและนอกสนาม จากคำแนะนำของไกรฟฟ์ นูเญซได้เลือกลามาซีอาเป็นสถาบันเยาวชนของบาร์เซโลนาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1979[31] เขาดำรงตำแหน่งประธานเป็นเวลานาน 22 ปี และมีผลต่อภาพลักษณ์ของบาร์เซโลนาอย่างมาก นูเญซได้ถือนโยบายอย่างเคร่งครัดที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างทำงานและวินัย โดยให้ค่าตัวนักฟุตบอลอย่าง เดียโก มาราโดนา, โรมารีอู, โรนัลโด เท่ากับจำนวนเงินที่พวกเขาต้องการ[32][33]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1979 สโมสรชนะในยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพครั้งแรก โดยชนะทีมฟอร์ทูนาดึสเซลดอร์ฟ 4–3 ในนัดชิงชนะเลิศที่แข่งที่เมืองบาเซิล ที่มีผู้ชมแฟนสโมสรเดินทางมาชมมากกว่า 30,000 คน ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1982 มาราโดนาเซ็นสัญญาด้วยค่าตัวสถิติโลกสมัยนั้น กับจำนวนเงิน 5 ล้านปอนด์ กับสโมสรฟุตบอลโบคาจูเนียส์[34] ในฤดูกาลถัดมา ภายใต้การดูและของผู้จัดการทีม เมนอตตี บาร์เซโลนาชนะการแข่งขันโกปาเดลเรย์โดยชนะเรอัลมาดริด ในยุคของมาราโดนากับบาร์ซาค่อนข้างสั้น ต่อมาไม่นานเขาก็ย้ายไปอยู่กับนาโปลี ในการเริ่มฤดูกาล 1984–85 สโมสรได้จ้าง เทอร์รี เวเนเบิลส์ เป็นผู้จัดการทีม และเขาสามารถนำทีมชนะในลาลิกาได้ พร้อมกับลูกทีมจากการนำโดยกองกลางชาวเยอรมัน แบร์นด์ ชุสเทอร์ ในฤดูกาลถัดมาสโมสรเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในถ้วยยุโรปอีกครั้ง แต่ก็แพ้ไปในการยิงจุดโทษกับสโมสรฟุตบอลสแตอาวาบูคูเรชตี (โรมาเนีย: Steaua Bucureşti) ที่เมืองเซบิยา[32]

หลังฟุตบอลโลก 1986 ผู้ทำประตูสูงสุด แกรี ไลน์เคอร์ ได้เซ็นสัญญากับสโมสร พร้อมกับผู้รักษาประตู อันโดนี ซูบีซาร์เรตา แต่สโมสรก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับเมื่อมีชุสเทอร์ ต่อมาเวเนเบิลส์ถูกไล่ออกเมื่อเริ่มฤดูกาล 1987–88 และได้ ลุยส์ อาราโกเนส มาแทน นักฟุตบอลต่อต้านต่อประธานสโมสรนูเญซ ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า เอสเปเรีย (สเปน: Hesperia) และจบฤดูกาลด้วยชัยชนะ 1–0 ในการแข่งโกปาเดลเรย์ ชิงชนะเลิศกับเรอัลโซเซียดัด[32]

โยฮัน ไกรฟฟ์ นำทีมชนะในลาลิกา 4 สมัยติดต่อกัน ในฐานะผู้จัดการทีมของบาร์เซโลนา

ในปี ค.ศ. 1988 โยฮัน ไกรฟฟ์ ได้กลับมายังสโมสรในฐานะผู้จัดการทีมและเขาได้รวบรวมทีมที่รู้จักในชื่อ ทีมในฝัน เขาได้รวมนักฟุตบอลสเปนอย่าง ชูเซบ กวาร์ดีโอลา, โคเซ มารี บาเกโร และ ตซีกี เบกีริสไตน์ และยังเซ็นสัญญากับดาราจากต่างประเทศอย่าง โรนัลด์ กุมัน (ดัตช์: Ronald Koeman), ไมเคิล เลาดรูป (เดนมาร์ก: Michael Laudrup), โรมารีอู, และ ฮริสโต ชตอยชคอฟ (บัลแกเรีย: Hristo Stoichkov)[35] ภายใต้คำแนะนำของไกรฟฟ์ บาร์เซโลนาชนะในการแข่งขันลาลิกา 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ถึง 1994 ชนะซามพ์โดเรียในนัดชิงชนะเลิศทั้งในยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1989 และถ้วยยุโรป 1992 ที่สนามกีฬาเวมบลีย์ สโมสรยังชนะในโกปาเดลเรย์ ในปี ค.ศ. 1990, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ ในปี ค.ศ. 1992 และชนะในซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 3 ครั้ง กับจำนวนถ้วยรางวัล 11 ถ้วย ทำให้ไกรฟฟ์เป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดของสโมสรจนถึงวันนี้ เขายังเป็นผู้จัดการทีมที่รับตำแหน่งนี้นานที่สุด เป็นเวลา 8 ปี[36] แต่ชะตาของไกรฟฟ์ก็ได้เปลี่ยนไปใน 2 ฤดูกาลท้ายสุดของเขา เมื่อเขาพลาดหลายถ้วย ทำให้เขาต้องออกจากสโมสรไป[32]

บ็อบบี ร็อบสัน เข้ามาแทนที่ไกรฟฟ์ในระยะเวลาสั้น ๆ ในฤดูกาล 1996–97 ฤดูกาลเดียว เขานำโรนัลโดมาจากพีเอสวีไอนด์โฮเวิน และยังชนะใน 3 ถ้วยคือ โกปาเดลเรย์, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ และซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ถึงแม้ว่าการเข้ามาของร็อบสันจะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ทางสโมสรก็ยังรอตัวลุยส์ วาน กัล[37] เช่นเดียวกับมาราโดนา โรนัลโดก็ออกจากสโมสรไปไม่นานจากนั้น ไปอยู่กับอินเตอร์มิลาน แต่ก็ได้วีรบุรุษคนใหม่อย่าง ลูอิช ฟีกู, เปตริก ไคลเฟิร์ท (ดัตช์: Patrick Kluivert), ลุยส์ เอนรีเก และ รีวัลดู ที่ทำให้ทีมชนะในโกปาเดลเรย์และลาลิกาในปี ค.ศ. 1998 และในปี ค.ศ. 1999 สโมสรฉลอง 100 ปี เมื่อชนะในปริเมราดิบิซิออน (ลาลิกา) รีวัลดูเป็นนักฟุตบอลคนที่ 4 ของสโมสรที่ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของทวีปยุโรป แต่ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการแข่งขันในประเทศ แต่ก็พ่ายให้กับเรอัลมาดริดในแชมเปียนส์ลีก ส่งผลให้วาน กัลและนูเญซลาออกในปี ค.ศ. 2000[37]

นูเญซออก ลาปอร์ตาเข้ามา (2000–2008)

ฝ่ายการตลาดของสโมสรได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ โดยนำดาราดัง รอนัลดีนโย มาทำการตลาด[38]

การจากไปของนูเญซและวาน กัล ไม่สามารถเปรียบได้กับการจากไปของ ลูอิช ฟีกู ซึ่งในตอนนั้นอยู่ในฐานะรองกัปตันทีม ได้กลายเป็นที่ชื่นชอบและชาวกาตาลาถือว่าเป็นพวกเดียวกับเขา แต่แล้วแฟนบาร์ซาก็ต้องคลุ้มคลั่งเมื่อฟีกูตัดสินใจย้ายไปอยู่กับทีมคู่แข่งอย่างเรอัลมาดริด เมื่อเขามาเยือนสนามกัมนอว์ เขาก็ต้องพบกับการตอบรับอย่างศัตรูอย่างสุดโต่ง ในการกลับมาเยือนครั้งแรกของเขา ผู้สนับสนุนสโมสรต่างก่อกวนอย่างเสียสติ มีการโยนขวดวิสกีลงมาในสนาม[39] ส่วนประธานสโมสร ชูอัง กัสปาร์ต เข้ามาทำหน้าที่แทนนูเญซ ในปี ค.ศ. 2000 เขาดำรงตำแหน่ง 3 ปี สโมสรเริ่มตกต่ำลงและผู้จัดการทีมเปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออกหลายครั้ง วาน กัลมารับหน้าที่ผู้จัดการทีมเป็นครั้งที่ 2 กัสปาร์ตไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ และในปี ค.ศ. 2003 เขาและวาน กัล ลาออกจากสโมสร[40]

หลังจากในยุคแห่งความผิดหวังของกัสปาร์ต สโมสรก็ฟื้นกลับมาอีกครั้ง จากประธานหนุ่มคนใหม่ ชูอัน ลาปอร์ตา และผู้จัดการทีมหนุ่มคนใหม่ อดีตนักฟุตบอลชาวดัตช์ ฟรังก์ ไรการ์ด (ดัตช์: Frank Rijkaard) ในส่วนของนักฟุตบอล มีนักฟุตบอลต่างชาติไหลบ่าเข้ามารวมกับนักฟุตบอลสเปน ทำให้สโมสรกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง บาร์ซาชนะในลาลิกาและซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา ในฤดูกาล 2004–05 และกองกลางของทีม รอนัลดีนโย ได้รับรางวัลนักฟุตบอลแห่งปีของฟีฟ่า[41]

ในฤดูกาล 2005–06 บาร์เซโลนาก็ยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ในลีกและถ้วยซูเปอร์คัปได้อีก[42] ในแชมเปียนส์ลีก บาร์ซาชนะสโมสรจากอังกฤษ สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล ในรอบตัดสิน ชนะ 2–1 โดยตามหลังอาร์เซนอล 1–0 ที่มีจำนวนคน 10 บนสนาม 15 นาที ก่อนเวลาจะหมด พวกเขาก็กลับมาชนะได้ 2–1 เป็นชัยชนะถ้วยยุโรปครั้งแรกในรอบ 14 ปีของสโมสร[43] พวกเขายังได้ลงแข่งฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ 2006 แต่ก็ได้พ่ายให้กับ อินเตร์นาเซียวนัล สโมสรของบราซิลในนัดตัดสิน ในช่วงท้ายเกม[44] ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นอย่างดีในฤดูกาล 2006–07 แต่ก็จบฤดูกาลด้วยการไม่ได้ถ้วยอะไรมาครอง และต่อมาในการออกทัวร์ก่อนเปิดฤดูกาลในสหรัฐอเมริกา ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างนักฟุตบอล ซามูแอล เอโต กับผู้จัดการทีม ไรการ์ด ที่ตำหนิเรื่องการไม่ได้ถ้วยใดมาครอง[45][46] ในลาลิกานั้น บาร์ซาถือเป็นอันดับ 1 เกือบทั้งฤดูกาล แต่ด้วยความไม่ลงรอยกัน ตั้งแต่เริ่มปีใหม่ ทำให้เรอัลมาดริดกลับขึ้นมาเป็นแชมป์ของลีกได้ ส่วนในฤดูกาล 2007–08 บาร์เซโลนาก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นในปีก่อน ๆ ทำให้ผู้จัดการทีมบาร์เซโลนาชุดบี ชูเซบ กวาร์ดีโอลา ขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีมแทนไรการ์ด จนจบฤดูกาล[47]

บาร์ซาชนะอัตเลติกเดบิลบาโอในรอบชิงชนะเลิศโกปาเดลเรย์ 2009 กับจำนวนประตู 4–1 ทำลายสถิติเป็นผู้ชนะมากที่สุดถึง 25 ครั้งสำหรับการแข่งขันนี้ อีก 3 วันต่อมาก็ชนะเรอัลมาดริดในลาลิกาทำให้บาร์เซโลนาเป็นผู้ชนะเลิศในฤดูกาล 2008–09 และจบฤดูกาลด้วยการชนะแชมป์ปีที่แล้วของแชมเปียนส์ลีก สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 2–0 ที่สนามสตาดีโอโอลิมปีโก ที่กรุงโรม เป็นชัยชนะครั้งที่ 3 ในแชมเปียนส์ลีก และเป็นทีมสเปนทีมแรกที่ได้ 3 ถ้วยในฤดูกาลเดียวกัน[48][49][50] สโมสรยังชนะการแข่งขันซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา 2009 แข่งกับอัตเลติกเดบิลบาโอ[51] และในยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2009 ที่แข่งกับสโมสรฟุตบอลชาคห์ตาร์โดเนตสค์[52] บาร์เซโลนาก็ได้ชัยชนะมา ถือเป็นสโมสรยุโรปสโมสรแรกที่ชนะได้ทั้งในถ้วยในบ้านและถ้วยซูเปอร์คัพ ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 บาร์เซโลนาก็ชนะในฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ 2009[53] ทำให้เป็นทีมแรกที่สามารถได้ถ้วยถึง 6 ถ้วยมาครอง[54] บาร์เซโลนายังสร้างสถิติใหม่ 2 สถิติให้กับวงการฟุตบอลสเปนในปี ค.ศ. 2010 โดยการเป็นผู้ชนะในลาลิกากับคะแนนสูงถึง 99 คะแนน และได้ถ้วยซูเปอร์คัพของสเปนมากที่สุด เป็นครั้งที่ 9[55]

ยุคของกวาร์ดีโอลา (2008–2012)

ลิโอเนล เมสซิ ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร

หลังจากที่ลาปอร์ตาออกจากสโมสรในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 ซันดรู รูเซลย์ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานคนใหม่ โดยเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เขาได้คะแนน 61.35% (ลงคะแนนเลือกเขา 57,088 เสียง) ซึ่งถือเป็นสถิติการลงคะแนนมากที่สุด[56] รูเซลย์ได้เซ็นสัญญานำนักฟุตบอลเข้ามาอย่าง ดาบิด บียา จากบาเลนเซีย กับค่าตัว 40 ล้านยูโร[57] และ คาเบียร์ มาเชราโน จากลิเวอร์พูล ด้วยค่าตัว 19 ล้านยูโร[58] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2010 บาร์เซโลนาชนะในการแข่งขันกับคู่ปรับสำคัญเรอัลมาดริด ในเอลกลาซิโก ถึง 5–0 ในฤดูกาล 2010–11 บาร์เซโลนายังสามารถครองแชมป์ลาลิกา เป็นฤดูกาลที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 96 คะแนน[59] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 สโมสรชนะในโกปาเดลเรย์นัดตัดสิน แต่ก็แพ้ให้กับเรอัลมาดริด 1–0 ที่สนามเมสตายา ในบาเลนเซีย[60] ในเดือนพฤษภาคม บาร์เซโลนาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2011 นัดตัดสิน 3–1 ที่สนามกีฬาเวมบลีย์ เหมือนเมื่อเจอกันครั้งก่อนในแชมเปียนส์ลีก 2009 ทำให้สโมสรชนะในถ้วยนี้เป็นครั้งที่ 4[61] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 บาร์เซโลนาดึงเซสก์ ฟาเบรกัสมาจากอาร์เซนอล และได้ทำให้บาร์เซโลนาป้องกันแชมป์ซูเปอร์คัปของสเปนได้โดยชนะเรอัลมาดริด เป็นถ้วยอย่างเป็นทางการใบที่ 73 ของทีม[62] ต่อมาเดือนเดียวกัน บาร์เซโลนาชนะสโมสรฟุตบอลโปร์ตูในยูฟ่าซูเปอร์คัพ ทำให้กวาร์ดีโอลานำทีมชนะถ้วย 12 ใบจาก 15 การแข่งขันในเพียง 3 ปี ถือเป็นสถิติผู้จัดการทีมที่ได้ถ้วยรางวัลมากที่สุดของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา[63] หลังจากนั้นในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน บาร์เซโลนายังชนะในฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ[64] ทำให้ถ้วยรวมโดยการนำทีมของ กวาร์ดีโอลา เพิ่มเป็น 13 ถ้วย จาก 16 การแข่งขันใน 3 ปีครึ่ง[65]

ใกล้เคียง

สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี สโมสรฟุตบอลเชลซี สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล สโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา http://www.fcbarcelona.cat http://www.fcbarcelona.cat/web/castellano/noticies... http://www.fcbarcelona.cat/web/catala/noticies/clu... http://www.fcbarcelona.cat/web/english/club/club_a... http://www.fcbarcelona.cat/web/english/club/club_a... http://www.fcbarcelona.cat/web/english/club/histor... http://www.fcbarcelona.cat/web/english/futbol/temp... http://www.fcbarcelona.cat/web/english/noticies/fu... http://www.fcbarcelona.cat/web/english/noticies/fu... http://www.rcdespanyol.cat/principal.php?modulo=es...