การเพาะปลูก ของ หญ้าฝรั่น

ดอกของหญ้าฝรั่นในจังหวัดโอซะกะ ประเทศญี่ปุ่น

C. sativus เจริญเติบโตในชีวนิเวศแบบทุ่งไม้พุ่มทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทุ่งไม้พุ่มหรือทุ่งไม้พุ่มแคระอเมริกาเหนือ และสถานที่ภูมิอากาศร้อน กึ่งแห้งแล้งมีลมโชย กระนั้นก็สามารถอยู่รอดในฤดูหนาวที่หนาวเย็นได้โดยสามารถทนความเย็นได้ถึง −10 °C (14 °F) และถูกหิมะปกคลุมในช่วงเวลาสั้น ๆ[8][13] ต้องมีการชลประทานถ้าไม่ได้เพาะปลูกในบริเวณที่สิ่งแวดล้อมมีความชื้น เช่น รัฐแคชเมียร์ที่ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1,000–1,500 มม. (39–59 นิ้ว) พื้นที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นในประเทศกรีก (500 มม.หรือ 20 นิ้วต่อปี) และสเปน (400 มม.หรือ 16 นิ้ว) แต่ก็ยังห่างไกลนักเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกในประเทศอิหร่าน เวลาเป็นหัวใจหลักที่สำคัญ ฝนที่เหลือเฟือในฤดูใบไม้ผลิและอากาศแห้งในฤดูร้อนนั้นเหมาะสมที่สุด ฝนที่ตกก่อนหน้าจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้หญ้าฝรั่นออกดอกมากขึ้น ฝนตกหรืออากาศหนาวระหว่างช่วงการออกดอกจะทำให้ผลผลิตลดต่ำลง สภาวะร้อนและชื้นติดต่อกันจะสร้างความเสียหายให้กับพืช[14] เช่นเดียวกับการขุดดินที่เกิดจากกระต่าย หนู และนก นีมาโทดา โรคใบสนิม และโรคหัวเน่า เป็นภัยคุกคามการเพาะปลูกหญ้าฝรั่นเช่นกัน

หญ้าฝรั่นเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในเมื่อได้รับแสงแดดจัด การปลูกเลี้ยงกระทำได้ดีในพื้นราบที่เอียงเข้าหาแสงแดด (นั่นคือ เอียงไปทางทิศใต้ในซีกโลกเหนือ) เพื่อให้ได้รับแสงมากที่สุด การเพาะปลูกมักกระทำในเดือนมิถุนายนในซีกโลกเหนือ หัวหญ้าฝรั่นจะถูกฝังลงไปในดินลึก 7-15 ซม. (2.8–5.9 นิ้ว) ทั้งนี้ความลึกและระยะห่างของการฝังหัวหญ้าฝรั่นขึ้นกับภูมิอากาศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิต การปลูกด้วยหัวแม่พันธุ์จะให้ผลิตผลหญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพสูงกว่าแม้ว่าจะแทงตาดอกและให้หัวลูกน้อยกว่า เพื่อให้ได้หญ้าฝรั่นที่คล้ายเส้นด้าย เกษตรกรชาวอิตาลีจะปลูกโดยการฝังหัวลึก 15 ซม.(5.9 นิ้ว) แต่ละแถวห่างกัน 2–3 ซม. การสร้างหัวและดอกที่เหมาะสมที่สุดคือ 8–10 ซม. เกษตรกรชาวกรีก, โมร็อกโก และสเปนมีการวางแผนปลูกด้านความลึกและระยะห่างที่ต่างกันไป ตามแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม

C. sativus ชอบดินร่วนซุย ไม่จับตัวแน่น น้ำไหลผ่านและอุ้มน้ำได้ดี และดินเป็นดินเหนียวปนหินปูนที่มีสารอินทรีย์สูง การยกร่องช่วยให้สามารถระบายน้ำได้ดี การใส่ปุ๋ยคอก 20–30 ตันต่อเฮกตาร์จะช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ให้แก่ดินได้ หลังจากนั้นจะทำการปลูกหัวหญ้าฝรั่นลงไป[15] หลังจากพักตัวตลอดฤดูร้อน หัวหญ้าฝรั่นจะแทงใบแคบสีเขียวขึ้นมาและเริ่มมีตาดอกในต้นฤดูใบไม้ร่วง ดอกจะบานช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง การเก็บเกี่ยวจำเป็นต้องกระทำอย่างรวดเร็วเพราะหลังจากที่ดอกบานในตอนเช้า ดอกจะเหี่ยวอย่างรวดเร็วหลังผ่านไปหนึ่งวัน[16] ดอกของหญ้าฝรั่นจะบานพร้อมกันในช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์[17] ดอกหญ้าฝรั่น 150 ดอกจะได้ผลผลิตหญ้าฝรั่นแห้ง 1 กรัม (0.035 ออนซ์) ถ้าต้องการหญ้าฝรั่นแห้ง 12 กรัม (ผลผลิตหญ้าฝรั่นสด 72 กรัม) ต้องใช้ดอก 1 กก. (1 ปอนด์สำหรับผลผลิตหญ้าฝรั่นแห้ง 0.2 ออนซ์) ดอกหนึ่งดอกจะมีผลผลิตหญ้าฝรั่นสดเฉลี่ย 30 มิลลิกรัม (0.46 กรัม) หรือหญ้าฝรั่นแห้ง 7 มิลลิกรัม (0.11 กรัม)[15]

พันธุ์

สายพันธุ์ที่แตกต่างให้ยอดเกสรเพศเมียที่ต่างกันอย่างมากในด้านรสชาติและความวาว

ความหลากหลายสายพันธุ์ของหญ้าฝรั่นก่อให้เกิดรูปแบบผลผลิตแยกตามภูมิภาคและลักษณะ พันธุ์จากประเทศสเปนประกอบด้วยสายพันธุ์ที่มีชื่อการค้าว่า "Spanish Superior" และ "Creme" ซึ่งมีสีสว่าง มีรสชาติและกลิ่นนุ่มนวล ได้รับการจัดลำดับมาตรฐานโดยรัฐบาล พันธุ์อิตาเลียนมีกลิ่นและรสชาติแรงกว่าพันธุ์สเปนเล็กน้อย พันธุ์ที่มีกลิ่นและรสชาติแรงที่สุดเป็นพันธุ์อิหร่าน มีการปลูกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในประเทศนิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ มีบางส่วนที่ปลูกเป็นหญ้าฝรั่นอินทรีย์ ในสหรัฐอเมริกา พันธุ์ Pennsylvania Dutch มีผลผลิตออกจำหน่ายในปริมาณน้อย[18][19]

ผู้บริโภคจัดให้บางสายพันธุ์เป็นหญ้าฝรั่นคุณภาพสูง หญ้าฝรั่น "Aquila (ดาว)" หรือ zafferano dell'Aquila มีสารซาฟราแนล (safranal) และโครซิน (crocin) สูง มีรูปร่างใกล้เคียงกับเส้นด้าย มีกลิ่นหอมฉุนผิดปกติและสีเข้ม สายพันธุ์นี้ปลูกในพื้นที่แปดเฮกตาร์ในหมู่บ้านนาเวลลิ (Navelli) ของแคว้นอาบรุซโซ ประเทศอิตาลีใกล้กับเมืองลากวีลา หญ้าฝรั่นถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศอิตาลีโดยพระลัทธิโดมินิกันจากยุคมืดของสเปน พืนที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่นใหญ่ที่สุดของประเทศอิตาลีอยู่ในซัน กาวีโน มอนเรอาลี (San Gavino Monreale) แคว้นปกครองตนเองซาร์ดิเนีย ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกถึง 40 เฮกตาร์หรือคิดเป็นผลผลิต 60% ของประทเศ ผลผลิตมีสารโครซิน ไพโครโครซิน (picrocrocin) และซาฟราแนลสูงเช่นเดียวกัน สายพันธุ์ "Mongra" หรือ "Lacha" ของรัฐแคชเมียร์ (Crocus sativus 'Cashmirianus') เป็นสายพันธุ์ที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ยากที่สุด เนื่องด้วยภัยแล้งซ้ำซาก, โรคใบไหม้ และความล้มเหลวของการเพาะปลูกในพื้นที่ควบคุมโดยประเทศอินเดียของรัฐแคชเมียร์ รวมถึงการห้ามการส่งออกของอินเดีย หญ้าฝรั่นของรัฐแคชเมียร์มีสีแดง-ม่วงเข้ม ซึ่งถือได้ว่ามีสีเข้มที่สุดในโลก มีรสชาติและกลิ่นที่รุนแรง รวมถึงการให้สีด้วย

แหล่งที่มา

WikiPedia: หญ้าฝรั่น http://www.uni-graz.at/~katzer/engl/Croc_sat.html http://www.abc.net.au/landline/stories/s556192.htm http://www.abc.net.au/news/newsitems/200311/s98204... http://www.etymonline.com/index.php?search=saffron... http://www.foodwiki.com/init/default/food/FW_USDA0... http://books.google.com/?id=7IHcZ21dyjwC http://books.google.com/?id=AaTpWEIlgNwC http://books.google.com/?id=WsUaFT7l3QsC http://books.google.com/?id=iX05JaZXRz0C http://books.google.com/?id=l-QJaUp31T4C