ประวัติ ของ หมู่บ้านคุ้งตะเภา

ชื่อหมู่บ้าน

นิรุกติศาสตร์

โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ดูเพิ่มได้ที่ ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา

คุ้งตะเภา มีความหมายว่า "คุ้งเรือสำเภา" มาจากศัพท์คำว่า "คุ้ง" หมายถึง ส่วนเว้าโค้งเข้าไปของฝั่งน้ำด้านที่ตรงกันข้ามกับหัวแหลม[5] และ "ตะเภา" แผลงมาจากศัพท์เดิม คือ "สำเภา"

ตำนานและความเป็นมาชื่อหมู่บ้าน

สภาพที่ตั้งของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตนั้นอยู่ติดริมแม่น้ำน่านและอยู่ใกล้กับชุมนุมการค้าที่สำคัญของภาคเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ตำบลท่าเสา โดยในสมัยก่อนการทำการค้าขายนิยมขนสินค้าขึ้นมาลงยังท่าเสาโดยอาศัยเรือเป็นยานพาหนะหลัก เพื่อส่งสินค้าไปยังเมืองทางเหนือขึ้นไปจนไปถึงหลวงพระบางโดยทางบกเพราะเหนือขึ้นไปนั้นแม่น้ำจะตื้นเขินและมีเกาะแก่งมาก แต่ในฤดูฝนนั้นแม่น้ำมักจะมีน้ำหลากท่วมเต็มตลิ่งเป็นเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ ทำให้พ่อค้าสามารถขนสินค้าขึ้นล่องไปยังเมืองเหนือโดยใช้เรือขนาดใหญ่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของตำนานเรือสำเภาล่มอันกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านนี้ในปัจจุบัน

มุขนายกมิซซังปาลเลอกัวซ์ ผู้เขียนหนังสือชื่อ "Description du Royaume Thai ou Siam" [6]

ความเป็นมาชื่อคุ้งตะเภา มีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันมาว่า เคยมีเรือสำเภาล่ม บริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัด (วัดคุ้งตะเภา) ชาวสวนที่อาศัยทำไร่นาอยู่แถบนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ต่อมามีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นและเพื่อความสะดวกปาก จึงกลายเป็น คุ้งสำเภา มาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย

ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภานั้นมีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันว่า เคยมีเรือสำเภาล่มบริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัดคุ้งตะเภา ชาวสวนที่อาศัยทำไร่นาอยู่แถบนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ต่อมา มีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นและเพื่อความสะดวกปาก จึงกลายเป็น คุ้งสำเภา มาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย[7]

ซึ่งเรื่องเรือสำเภาล่มนี้ถูกเล่าขานเป็นตำนานมานานแล้ว โดยไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ของเรือลำดังกล่าวหลงเหลืออยู่ หากในตำนานหมายถึงเรือสำเภาเดินทะเลในสมัยรัตนโกสินทร์หรืออยุธยา ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีการแต่งเสริมตำนานกันในสมัยหลัง เพราะจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์ในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของพื้นที่ภาคกลางในปัจจุบันที่ชายฝั่งทะเลในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินมาก โดยในช่วงหลังชายฝั่งได้ยื่นกลับออกไปจนเป็นพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในปัจจุบัน[8] ทำให้เรือสำเภานั้นไม่สามารถเแล่นเข้ามาสู่แผ่นดินตอนในเกินกว่าเมืองอยุธยาได้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว[6] อย่างไรก็ตามบาทหลวงปาลกัว มุขนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้กล่าวอ้างอิงถึงตำนานโบราณของสยามตอนหนึ่งไว้ในหนังสือของท่านว่าในสมัยพระร่วงเจ้า พ.ศ. 1193 หรือในสมัยสุโขทัยนั้น เรือสำเภาจีนเดินทะเลสามารถขึ้นมาได้ถึงเมืองสังคโลก หรือสวรรคโลก[6] ซึ่งหากเป็นจริงตามนี้ เรื่องเรือสำเภาล่มหน้าวัดคุ้งตะเภาอาจจะเก่าแก่ไปถึงสมัยสุโขทัยก็เป็นได้[9]

ประวัติการเรียกชื่อหมู่บ้าน

ชื่อ "คุ้งตะเภา" เป็นนามพระราชทาน เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางประทับจัดการคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือ พร้อมสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้น ในปี พ.ศ. 2313 หลังเสียกรุงศรีอยุธยาได้เพียง 3 ปี

ต่อมา เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 1132 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์เสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี และประทับชำระคณะสงฆ์จัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล[10] พระองค์ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนในแถบคุ้งสำเภาที่อพยพลี้ภัยสงคราม ได้ย้ายกลับมาตั้งครัวเรือนเหมือนดังเดิม ทรงสร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภาล่ม พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[11][12][13] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อวัดคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน

จากข้อมูลคำประพันธ์ในขุนช้างขุนแผน พบหลักฐานว่า คนทั่วไปยอมรับนามวัด ที่ได้รับพระราชทานเมื่อคราวตั้งวัดคุ้งตะเภา เมื่อ จุลศักราช 1132 มาเรียกหมู่บ้านนี้ว่า คุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว[9] ดังปรากฏในเสภาตอนหนึ่ง[14]ใน ขุนช้าง–ขุนแผน ดังนี้

"...อ้ายมอญมือด่างบางโฉลง     เมียชื่ออีโด่งเป็นชาวเหนือ
ลักถ้วนลักถี่ทั้งตีเรือ     ครกกระบากสากกะเบือไล่เก็บครบ
ถัดไปอ้ายทองอยู่หนอกฟูก     เมียชื่ออีดูกลูกตาจบ
กลางวันปิดเรือนเหมือนชะมบ     แต่พอพลบคนเดียวเที่ยวย่องเบา
อ้ายมากสากเหล็กเจ๊กกือ     เมียมันตาปรือชื่ออีเสา
ถัดไปอ้ายกุ้ง "คุ้งตะเภา"     ..."

ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่สมเด็จพระพันวษา พระราชทานนักโทษฉกาจให้แก่ขุนแผนเพื่อนำร่วมทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี "อ้ายกุ้ง (ชาว) คุ้งตะเภา" ปรากฏตัวในรายชื่อ 35 นักโทษด้วย และเนื่องจากข้อความในขุนช้างขุนแผนดังกล่าว เป็นวรรณคดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นในสมัยของพระองค์ โดยมีเค้าโครงเรื่องเดิมจากสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาหรือทุ่งบ้านคุ้งตะเภาในอดีต ยังได้ถูกใช้เป็นชื่อเรียกครอบคลุมเขตย่านตำบลแถบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกมาตั้งแต่โบราณ เพราะในแถบย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกด้านตรงข้ามกับตำบลท่าเสาในสมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้านใดตั้งขึ้น คนทั่วไปจึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาเรียกขานย่านบริเวณตำบลแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกว่า ตำบลคุ้งตะเภา มาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกแถบตำบลนี้ว่า "ตำบลคุ้งตะเภา" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว โดยในสมัยนั้นหมู่บ้านคุ้งตะเภา เรียกว่า "ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา" อยู่ในเขตการปกครองของ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิฐ แขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก[15][16]

คุ้งแม่น้ำน่านช่วงหลังวัดคุ้งตะเภาที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เส้นทางเชื่อมต่อสำคัญของแหล่งอารยธรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

บริบทสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ซ้าย: กลองมโหระทึกสำริดในวัฒนธรรมดองซอน ขุดพบที่ม่อนวัดศัลยพงษ์ ตำบลท่าเสา ในปี พ.ศ. 2470[17]
กลาง: ซากกระดูกที่กลายเป็นหินและโบราณวัตถุของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่บ้านบุ่งวังงิ้ว ทางใต้ของหมู่บ้านคุ้งตะเภา (สองหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ในพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านคุ้งตะเภา)
ขวา: ถ้วยกระเบื้องแบบจีน พบบนเนินทรายกลางแม่น้ำน่านบริเวณบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา (หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเส้นทางคมนาคมและชุมนุมการค้าสำคัญโดยรอบหมู่บ้านคุ้งตะเภาในช่วงต่อมา ก่อนจะหมดความสำคัญลงในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา)

หมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบลุ่มอันเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำพัดของแม่น้ำน่านที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบกสิกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานบริเวณรอบหมู่บ้านคุ้งตะเภาที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ดังการค้นพบเครื่องมือหินขัดและซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบุ่งวังงิ้วซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และการค้นพบกลองมโหระทึกสำริดที่บ้านท่าเสาซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. 24701[18]

ภาพถ่ายวิถีชีวิตริมน้ำแม่น้ำน่านสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพนี้ถ่ายจากฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของบ้านท่าเสา ฝั่งตรงข้ามคือแถบย่านทุ่งบ้านคุ้งตะเภา[19]

บริบทสมัยประวัติศาสตร์

และเนื่องด้วยหมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในทำเลที่ตั้งอันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้นในบริเวณแถบนี้จึงมีการเคลื่อนไหวและย้ายถิ่นฐานของผู้คนมาโดยตลอด[20][21] จนมาในสมัยอาณาจักรขอมเมืองพระนครเป็นใหญ่เหนือภูมิภาคแถบนี้ก็ได้ปรากฏหลักฐานว่าแถบตำบลท่าเสา-ท่าอิฐเป็นแหล่งชุมชนการค้าที่สำคัญแล้ว[22] จนมาในสมัยสุโขทัย ได้มีการการปรากฏขึ้นของเมืองฝางอันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยสุโขทัยที่มีที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือน้ำของหมู่บ้านคุ้งตะเภา[23] ทำให้แถบโดยรอบของคุ้งตะเภามีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะทางผ่านและจุดเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาณาจักรตั้งแต่นั้นมา[24]

การตั้งถิ่นฐาน

ชาติพันธุ์คนบ้านคุ้งตะเภา

การอพยพมาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาเป็นชาวบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีการย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งแต่เมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม จากบริบทด้านชาติพันธุ์และสำเนียงภาษาของชาวบ้านคุ้งตะเภานั้น ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ชัดเจนว่าพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น "คนไทยเหนือ" ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[25] คือเป็นกลุ่มคนชาติพันธ์ไทยเดิมที่อยู่แถบเมืองพิษณุโลก, พิจิตร และสุโขทัย ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ปลายดินแดนหัวเมืองทางเหนือของอาณาจักรอยุธยา อันเป็นรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมล้านนา โดยคนคุ้งตะเภาดั้งเดิมนั้นจะมีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัยเดิม เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง ในเรื่องนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าสำเนียงการพูดของคนคุ้งตะเภานั้น เป็นสำเนียงดั้งเดิมของคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย[26] โดยกล่าวว่าคนบ้านคุ้งตะเภานั้น

"มีสำเนียงพูดเหน่อ... แบบเดียวกับสำเนียงชาวบ้านฝาง บ้านท่าอิฐ บ้านทุ่งยั้ง ..บ้านท่าเสา.. และหมู่บ้านในเขตอำเภอพิชัย ที่อยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน และเหมือนกับสำเนียงพื้นบ้านของชาวสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อันเป็นกลุ่มหัวเมืองเหนือในสมัยอยุธยา หรือบ้านเมืองที่เคยอยู่ในเขตแคว้นของสุโขทัยแต่เดิม"

– พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร[27]

ข้อเท็จจริงที่ว่าคนคุ้งตะเภาเป็นคนไทยดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับตำนานหมู่บ้านและข้อสันนิษฐานจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่เล่าสืบกันมาว่ากลุ่มคนที่มาตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภากลุ่มแรกเป็นทหารจากเมืองสุโขทัยที่เดินเท้าไปรบทางลาว2 เมื่อเดินทัพผ่านมาทางนี้เห็นเป็นที่อุดมสมบูรณ์ดีไม่มีใครจับจอง เมื่อเสร็จศึกจึงชวนกันมาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนกลายมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในปัจจุบัน[28] ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าดังกล่าวประกอบกับบริบททางประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถบนี้ ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นเรื่องที่มีที่มาจากเค้าโครงความจริง เพราะโดยสภาพที่ตั้งของหมู่บ้านคุ้งตะเภานั้นเป็นเส้นทางผ่านของอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งตั้งอยู่ใกล้จุดเคลื่อนและแวะพักทัพสำคัญในสงครามระหว่างลาว2กับไทยในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย, อยุธยา, ธนบุรี ไปจนถึงสมัยสงครามปราบเงี้ยวในสมัยรัชกาลที่ 5

ภาพช้างบรรทุกปืนใหญ่ของกำลังไพร่พลเกณฑ์พหลมณฑลพิษณุโลก กำลังจะเดินกระบวนไปปราบฮ่อธงเหลือง ณ หลวงพระบาง ในปี พ.ศ. 2418 ครั้งนั้นกระบวนทัพนี้ได้ผ่านบ้านคุ้งตะเภาไปลงแม่น้ำโขงที่เมืองปากลายด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสงครามที่คนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากที่คุ้งตะเภาไปทำศึกนั้นจะเป็นสงครามในครั้งใด แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชพงศาวดารที่ระบุสงครามระหว่างไทยกับลาวหลวงพระบางหรือสงครามกับลาวล้านนาครั้งล่าสุด ก็มีเพียงสงครามที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เพื่อขับไล่พม่า ในช่วงปี พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2314[29] ซึ่งเมื่อพิจารณาสอบทานพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีดังกล่าวเทียบกับปีที่สร้างวัดคุ้งตะเภา ที่ระบุว่ามีการอนุญาตให้ตั้งวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2313 แล้ว ก็ไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะเป็นสงครามในครั้งนั้น เพราะสงครามครั้งนั้นจบในปี พ.ศ. 2314 ซึ่งหมู่บ้านคุ้งตะเภาคงจะตั้งมาก่อนหน้านั้นจนเป็นชุมชนก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

และนอกจากการเป็นเส้นทางเดินทัพเข้าสู่ภาคเหนือ (ล้านนา) แล้ว ในหมู่บ้านคุ้งตะเภายังปรากฏคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่กล่าวถึงถนนโบราณที่ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1047 ที่เคยเป็นทางผ่านเดินทัพส่งกำลังไพร่พลเพื่อเข้าสู่หลวงพระบาง (ล้านช้าง) โดยทางบก ทางเส้นนี้จะไปสุดที่บ้านปากลาย เพื่อลงเรือในแม่น้ำโขงขึ้นไปที่หลวงพระบาง โดยต้นทางถนนโบราณที่เป็นท่าเรือที่ขึ้นจากแม่น้ำน่านในอดีต (คนคุ้งตะเภาเรียกว่าท่าควาย หรือบ้านท่าควาย) จะปรากฏเป็นลักษณะร่องลึกอันเกิดจากการเดินเท้าของคนจำนวนมาก (ในช่วงเส้นทางจากห้าแยกป่าขนุนลงไปทางวัดใหม่เจริญธรรมตรงไปท่าทรายชลิตดาในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันถูกถมและลาดยางหมดแล้ว) ทำให้เมื่อมีน้ำหลากน้ำก็จะท่วมท่าเข้ามาถนนเสมอ ด้วยเพราะทางเส้นนี้เป็นทางเดินทัพโบราณ เวลายกกองทัพมาพักที่ท่าเสาแล้ว เมื่อจะเคลื่อนทัพไปลาวทางบกหรือเมืองฝาง ก็จะข้ามแม่น้ำน่านมาขึ้นที่นี่เพื่อผ่านไปเมืองฝางตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยกรุงธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวปราบก๊กเจ้าพระฝางที่เมืองฝางสวางคบุรี ก็ได้มีการเล่าสืบกันมาว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินและเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็เคยเดินทัพผ่านมาทางนี้ด้วย[30] และแม้ในสงครามครั้งหลังสุดที่ใช้เส้นทางนี้ คือในปี พ.ศ. 2484 สมัยสงครามอินโดจีน กองทัพไทยโดยการนำของหลวงหาญสงคราม (พิชัย หาญสงคราม) ผู้บัญชาการกองพลพายัพในกรณีพิพาทอินโดจีน ก็ได้อาศัยเส้นทางนี้ทำสะพานไม้ข้ามแม่น้ำน่านเพื่อเดินทางเข้าไปยึดเมืองปากลายคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย[31]

พัฒนาการของหมู่บ้าน

สมัยกรุงศรีอยุธยา

หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านท่าเสา ที่มีหลักฐานประวัติการมีอยู่ของชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ราชทูตแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 23 บริเวณแถบหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงเป็นบริเวณที่มีความเจริญมาช้านานแล้ว[32] แต่คงไม่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏความมีตัวตนของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในเอกสารอื่นใดในสมัยอยุธยา

อย่างไรก็ดีตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่ตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันคงมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่มานานแล้ว โดยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหมู่บ้านเก่าแก่ใกล้เคียงคือหมู่บ้านท่าเสา ท่าอิฐ บางโพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยสำเนียงกลุ่มเมืองในแคว้นสุโขทัย โดยคนคุ้งตะเภามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหมู่บ้านท่าเสามากที่สุด เพราะอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำน่าน และผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านมีบรรพบุรุษหรือมีความเชื่อมโยงกับคนในบ้านท่าเสา คนในรุ่นปัจจุบันหลายคนเมื่อสืบสายสกุลลงไปก็มีความเกี่ยวข้องกับคนบ้านท่าเสา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลักฐานของกระทรวงมหาดไทย หมู่บ้านคุ้งตะเภาได้เคยอยู่ในเขตการปกครองของตำบลท่าเสามาก่อนที่จะแยกมาตั้งเป็นตำบลใหม่ในภายหลัง[33]

สมัยกรุงธนบุรี

ในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาคงได้อพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความปลอดภัยกว่า ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารว่ามีชุมนุมเจ้าพระฝางอยู่ที่เมืองฝางเหนือบ้านคุ้งตะเภาไป ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าในช่วงสงครามครั้งนั้นคนคุ้งตะเภาคงได้ละทิ้งถิ่นฐานและเข้าไปอาศัยหลบภัยอยู่ในเมืองฝางด้วย จวบจนสิ้นชุมนุมเจ้าพระฝางใน พ.ศ. 2313 ชาวคุ้งตะเภาที่ยังมีความผูกพันกับถิ่นฐานที่อยู่สืบมาแต่บรรพบุรษก็ได้กลับเข้ามายังถิ่นฐานเดิมเพื่อบูรณะสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่เป็นการมั่นคง ดังปรากฏหลักฐานว่าทางการได้อนุญาตให้ชาวคุ้งตะเภาสามารถตั้งวัดคุ้งตะเภาได้ในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จประทับจัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด

แต่ชาวคุ้งตะเภาก็คงได้พบกับการถูกเกณฑ์ไปสงครามรบพุ่งกับพม่าอีกหลายครั้ง ตลอดช่วงกรุงธนบุรีจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่แถบนี้ในช่วงนั้นก็คงมีความสงบพอสมควร เพราะในแถบบางโพ ท่าอิฐ ท่าเสา คุ้งตะเภา ไม่ได้เคยเป็นทางผ่านและสมรภูมิรบมาตลอดช่วงเวลาสงครามกับพม่า

สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หมู่บ้านคุ้งตะเภานั้น เมื่อมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลังการสงครามกับพม่าสงบราบคาบลงในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ก็คงมีความเจริญและมีขนาดชุมชนที่ใหญ่โตพอสมควร ดังปรากฏหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2395 มีคนคุ้งตะเภาได้อพยพย้ายออกจากหมู่บ้านไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแสวงหาที่ทำกินและตั้งบ้านเรือนใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า จนกลายมาเป็นหมู่บ้านป่าขนุนในปัจจุบัน[34]

สมัยรัชกาลที่ 5
เดิมบ้านเรือนแถบนี้จะเป็นทรงไทยแบบภาคกลาง แต่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ชาวบ้านคุ้งตะเภานิยมเปลี่ยนไปสร้างบ้านเรือนไม้หลังคาแบบทรงมะนิลากระเบื้องว่าวแทน

ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในเมืองอุตรดิตถ์จากอิทธิพลตะวันตก ชาวบ้านคุ้งตะเภาในช่วงนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ โดยเริ่มหันมาเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยนั้นมากขึ้น ดังรูปแบบอาคารบ้านขุนพิเนตรจีนภักดิ์ ที่เป็นเรือนไม้หลังคาแบบทรงตะวันตกมุงกระเบื้องว่าวสถาปัตยกรรมแบบ ARCH ของโรมัน ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 (อาคารหลังนี้สร้างโดยช่างชาวจีนชื่อเถ้าแก่โฮก) [35] โดยอิทธิพลรูปแบบบ้านตะวันตกดังกล่าวได้กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในช่วงกว่าร้อยปีก่อนปล้ว และทำให้ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นพยายามเปลี่ยนรูปแบบบ้านทรงไทยภาคกลางแบบมาเป็นรูปแบบใหม่จนเกือบหมด บ้านทรงไทยภาคกลางแบบโบราณเดิมหลังสุดท้ายของหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นของปู่สุด มากคล้าย อดีตกำนันตำบลคุ้งตะเภาเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ปัจจุบันถูกแม่น้ำน่านซัดจมตลิ่งไปหมดแล้ว ทำให้บ้านรุ่นเก่า ๆ ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคงเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเป็นบ้านที่มีการปรับปรุงแบบใหม่ในช่วงหลังจากนี้ เช่นเปลี่ยนหลังคาเป็นแบบมะนิลา แทนที่จะเป็นทรงจั่วแบบไทยภาคกลาง

ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีหลักฐานยืนยันได้ว่าคนคุ้งตะเภายังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาในวัด ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการบวชเรียนและส่งพระเณรชาวคุ้งตะเภาไปเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมที่พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร โดยมีสายวัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นสำนักเรียนหลักที่ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาจะส่งพระเณรไปศึกษาต่อ และในสมัยนี้เคยมีพระชาวคุ้งตะเภาสำเร็จเป็นเปรียญธรรมในสนามหลวงต่อหน้าพระที่นั่งด้วย[36] ซึ่งยังคงเป็นสมัยสอบปากเปล่าต่อหน้าพระที่นั่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนเปลี่ยนเป็นสอบด้วยข้อเขียนในช่วงหลัง

สงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หมู่บ้านคุ้งตะเภาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยมีเพียงรถไฟขนส่งอ้อย (รถไฟลากอ้อย) ของโรงงานน้ำตาลวังกะพี้สายที่วิ่งผ่านบริเวณทางรถไฟบ้านไร่คุ้งตะเภา ได้ถูกเครื่องบินของสัมพันธมิตรยิงกราดใส่จนได้รับความเสียหาย (ปัจจุบันเส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางระบายน้ำชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม) เพราะคิดว่าเป็นทางรถไฟสำคัญของทหารญี่ปุ่น (ประมาณปี พ.ศ. 2487) อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวบ้านคุ้งตะเภาก็มีการขุดหลุมหลบภัยและมีการพรางแสงตามบ้านเรือน เพื่อป้องกันระเบิดสัมพันธมิตรที่เคยมาทิ้งใส่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์จนพินาศ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487[37] ซึ่งในการทิ้งระเบิดครั้งนั้นทำให้คนคุ้งตะเภาเสียชีวิตไป 1 ราย

โดยก่อนหน้านั้นในเวลาเย็นของวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ได้มีเครื่องบินทิ้งระเบิด 4 เครื่องยนต์ บี 24 (Consolidated B-24 Liberator) ของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร มาโจมตีเส้นทางลำเลียงรถไฟของทหารญี่ปุ่น ที่ฝั่งบางโพ-ท่าเสา-อุตรดิตถ์ ได้ถูกปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ยิงโต้ตอบจนตกที่ม่อนดินแดงใกล้บ้านไร่คุ้งตะเภา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้นำเศษชิ้นส่วนของเครื่องบินรบ B-24 ที่ตก มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันหลงเหลือภาชนะที่ทำจากเศษชิ้นส่วนของปีกเครื่องบิน B-24 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

ภาพถ่ายอาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย บนที่ดอนแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกในคราวน้ำท่วมใหญ่เมืองอุตรดิตถ์ในปี พ.ศ. 2493 ครั้งนั้นเป็นน้ำล้นตลิ่ง จึงทำให้หมู่บ้านคุ้งตะเภาเก่าที่ตั้งอยู่ที่ลุ่มริมแม่น้ำน่านถูกน้ำท่วมอย่างหนัก
ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในปี พ.ศ. 2493 หมู่บ้านคุ้งตะเภาประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านคุ้งตะเภาที่ตั้งอยู่เลียบริมแม่น้ำน่านในพื้นที่ตะกอนแม่น้ำพัดโบราณถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายมาก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมโดยแม่น้ำน่านได้ถูกลดความสำคัญในฐานะเส้นทางคมนาคมค้าขายสำคัญของภูมิภาคลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว จาการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ใน พ.ศ. 2459 ทำให้ชาวบ้านคุ้งตะเภาตัดสินใจทำการย้ายที่ตั้งกลุ่มหมู่บ้านเดิมที่อยู่ในที่ลุ่มเลียบริมแม่น้ำน่านขึ้นมาตั้งในพื้นที่ดอนสูงกว่าจนถึงปัจจุบัน

ยุคเมืองปิด

และหลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ที่ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐหมดความสำคัญลงดังกล่าว ได้มาประกอบกับการที่ทางราชการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ปิดกั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำของชาวบ้านคุ้งตะเภายุติลงสิ้นเชิง ชาวบ้านจึงต้องเปลี่ยนมาใช้เส้นทางคมนาคมทางรถไฟหรือทางบกเป็นหลัก เมื่อจะไปจังหวัดอื่นทางรถยนต์ชาวบ้านคุ้งตะเภาจำเป็นต้องลงเรือและข้ามแม่น้ำน่านเข้าตลาดบางโพเพื่อโดยสารรถออกไปทางสายศรีสัชนาลัย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 หรือถนนบรมอาสน์) ซึ่งเป็นถนนทางออกสายเดียวของจังหวัด โดยในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 นั้น เส้นทางคมนาคมทางบกในจังหวัดอุตรดิตถ์มีเพียงไม่กี่เส้นทาง และกว่าไฟฟ้าจะเข้ามาถึงหมู่บ้านคุ้งตะเภาก็ล่วงไปถึงปี พ.ศ. 2518[38] ด้วยทำเลที่ตั้งและความไม่สะดวกในการคมนาคมทางบกในช่วงนั้นดังกล่าว ทำให้หมู่บ้านคุ้งตะเภากลายเป็นหมู่บ้านโดดเดี่ยวในมุมปิด ไม่เหมือนเมื่อครั้งการคมนาคมทางน้ำรุ่งเรือง

ปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันนี้ หลังจากทางการได้ตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ผ่านกลางตัวหมู่บ้านในประมาณปี พ.ศ. 2522 ทำให้หมู่บ้านคุ้งตะเภาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ เพราะทางเส้นนี้เป็นเส้นทางส่วนหนึ่งของถนนสายเอเชียที่ตัดผ่านมาจากจังหวัดพิษณุโลกผ่านบ้านคุ้งตะเภาเข้าสู่จังหวัดแพร่ ทำให้เส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกหลักของจังหวัดอุตรดิตถ์และกลายเป็นทางผ่านสำคัญเพื่อเข้าสู่ภาคเหนือ และหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ตัวเมืองอุตรดิตถ์หลายครั้ง ทำให้เริ่มมีผู้หันมาพัฒนาที่ดินที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านที่ไม่เคยประสบอุทกภัยมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ในเขตตำบลคุ้งตะเภา ที่ไม่เคยประสบอุทกภัยเลยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งการพัฒนาที่ดินดังกล่าวอาจส่งผลให้หมู่บ้านคุ้งตะเภากลายเป็นแหล่งที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ได้ในอนาคต[9]

ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา

ชาวบ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิมใช้ภาษาถิ่นสำเนียงสุโขทัย อันสำเนียงโบราณที่สืบมาตั้งแต่ผู้คนในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

สำเนียงพูดในภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ยังคงมีพูดกันอยู่ใน หมู่ 4, 3 ตำบลคุ้งตะเภา) เป็นส่วนหนึ่งของสำเนียงในภาษาถิ่นสุโขทัย ซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่ตรงกับภาษาเขียนและสำเนียงพูดของชาวภาคกลางมาแต่โบราณ [39] ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา เป็นสำเนียงโบราณที่สืบมาตั้งแต่ผู้คนในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปัจจุบันพบได้ในจังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณาจักรสุโขทัยโบราณ โดยคนคุ้งตะเภาดั้งเดิมนั้นจะมีสำเนียงการพูดภาษาถิ่นสุโขทัย คล้ายคนสุโขทัยเดิม และเมืองฝางสวางคบุรี ในเรื่องนี้ สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย ได้กล่าวว่า

...สำเนียงสุโขทัยเก่า หลงเหลืออยู่ในพื้นที่... นอกเขตจังหวัดสุโขทัย เช่น... บริเวณตำบลรอบ ๆ วัดพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี (คือ ตำบลผาจุก, ตำบลคุ้งตะเภา) คือข้าพระโยมสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์สุโขทัย ถวายขาดไว้ในพุทธศาสนา คือไม่ต้องไปราชการทัพ ทำให้สำเนียงสุโขทัยหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นอกจังหวัดสุโขทัยด้วย...

– สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย[40]
การแต่งกายของชาวบ้านคุ้งตะเภา ในยุค พ.ศ. 2500

โดยปัจจุบันคนบ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิม ยังคงใช้สำเนียงพูดแบบสุโขทัยอยู่ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในไม่กี่แห่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ยังใช้สำเนียงแบบสุโขทัยโบราณ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงสำเนียงการพูดของ ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา และ ภาษาถิ่นบ้านพระฝาง พบว่ามีการใช้คำศัพท์ใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าสำเนียงสุโขทัยแบบอื่น จึงเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า ชาวบ้านคุ้งตะเภา อาจสืบเชื้อสายมาจากครัวเรือน ที่พระมหากษัตริย์ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยพระราชทานพระบรมราชูทิศไว้ในพระพุทธศาสนา ตามธรรมเนียมโบราณ เมื่อ ๗๐๐ ปี ก่อน เพื่อให้เป็นผู้ดูแลรักษาพระทันตธาตุ แห่งพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี ก็เป็นได้[41]

ข้อสันนิษฐานที่ว่าคนคุ้งตะเภาอาจเป็นคนไทยดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องใกล้เคียงกับตำนานหมู่บ้าน และข้อสันนิษฐานจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่เล่าสืบกันมาว่ากลุ่มคนที่มาตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภากลุ่มแรกเป็นทหารจากเมืองสุโขทัยโบราณ เมื่อเดินทางผ่านมาทางนี้เห็นเป็นที่อุดมสมบูรณ์ดีไม่มีใครจับจอง จึงชักชวนกันมาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนกลายมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในปัจจุบัน[42]

ใกล้เคียง

หมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์) หมู่บ้านหาดเสือเต้น หมู่บ้านป่าขนุน หมู่บ้านสันติคีรี หมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่ากล้วย หมู่บ้านกกค้อ หมู่บ้านลุ่ม หมู่บ้าน (ประเทศไทย)

แหล่งที่มา

WikiPedia: หมู่บ้านคุ้งตะเภา http://maps.google.com/maps?ll=17.65299,100.143802... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6529... http://www.rottourthai.com/showthread.php?t=51 http://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-roy... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.oknation.net/blog/print.php?id=464165 http://www.globalguide.org?lat=17.65299&long=100.1... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65299,100.1438... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%...