วัฒนธรรมประเพณี ของ หมู่บ้านคุ้งตะเภา

ปัจจุบันการละเล่นต่าง ๆ แบบโบราณที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษได้สูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่การละเล่นที่จ้างมาแสดงจากต่างพื้นที่แทน (คลิกเพื่อชมภาพเคลื่อนไหว)

ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมด เป็นชาวพุทธเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ วัดคุ้งตะเภา ซึ่งมีอายุสองร้อยกว่าปี[65] อยู่คู่มากับการตั้งหมู่บ้านแห่งนี้

ปัจจุบันประเพณีบางอย่างยังคงหลงเหลืออยู่ แต่การละเล่นแบบโบราณซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเคยมีการละเล่นนั้น ๆ อยู่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันการจัดงานประเพณีบางอย่างเช่นการบวชนาค งานแต่งงาน ฯลฯ เมื่อมีการละเล่นเช่นลิเก ดนตรี ก็จะเป็นการ "จ้าง" มาจากต่างถิ่นแทน

ประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจะคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน ซึ่งโดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[25] คือเป็นคนไทยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานแถบเมืองพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ฯ โดยคนคุ้งตะเภานั้นมีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัย,เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากชาวพุทธเถรวาทในแถบภาคกลางตอนบนของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่การจัดประเพณีหรือกิจกรรมของหมู่บ้านมักจะจัดที่วัดประจำหมู่บ้าน[9]

ประเพณีของหมู่บ้านคุ้งตะเภา

เดือน 3 :สามประเพณีบุญบ้าน-บุญขวัญข้าว

ประเพณีทำบุญกลางบ้าน

ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา เป็นประเพณีโบราณของชาวบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนคนไทยดั้งเดิมที่มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนไปได้กว่า 700 ปี นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งยังคงสืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน

โดยประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันนั้น คล้ายคลึงกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางทั่วไป แต่มีการปรับประยุกต์ขั้นตอนบางอย่างให้สะดวกขึ้น โดยประเพณีทำบุญกลางบ้านนี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะแยกจัดพิธีเป็นสองครั้งคือ ในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ) และปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้) โดยมีบริเวณในการจัดแน่นอน โดยบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา โดยชาวบ้านจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวันทำบุญ

ขั้นตอนในการประกอบพิธีทำบุญกลางบ้านเริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกะบาน โดยทำเป็นถาดกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม ปักธงกบิล 4 ทิศ ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมไปถึงวัวควาย ไก่หรือสัตว์เลี้ยงอื่นด้วย ใส่เสื้อผ้าให้รูปคน มีการใส่ผักพล่าปลายำ พริกแห้ง เกลือ หัวหอม ข้าวสาร แล้วปักธูปลงในกะบาน และใส่สตางค์ลงไปด้วย

กะบานสะเดาะเคราะห์ของชาวบ้านคุ้งตะเภาในประเพณีทำบุญกลางบ้าน

วันจัดงานทำบุญกลางบ้านชาวบ้านจะถือกะบานนำไปวางไว้บริเวณปรำพิธีซึ่งตั้งอยู่บริเวณพระพุทธรูป โดยจะมีการก่อเจดีย์ทรายปักธงบนยอดเจดีย์และประดับด้วยใบมะพร้าว ธงกบิลฯลฯ พร้อมกับทำกำแพงล้อมทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์จากวัดคุ้งตะเภามาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดจบบทหนึ่งก็จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง ครั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบในช่วงค่ำ พระสงฆ์จะสวดบท สุมงฺคลคาถา (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ) และชาวบ้านก็จะจุดธูปเทียนในกะบานและนำกะบานไปวางไว้ตามทางสามแพร่งหรือสถานที่ ๆ กำหนดไว้ และมีการละเล่นต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ในวันที่สองจะนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย จึงเป็นอันเสร็จพิธี

คติความเชื่อของประเพณีนี้มาจากการผสานความเชื่อเรื่องผีของคนโบราณเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา มาจากคติความเชื่อเรื่องผีในการขอบคุณผีที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเสริมสวัสดิมงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งประเพณีนี้เป็นประเพณีที่แปลกกว่าประเพณีอื่น ๆ โดยจัดนอกวัด ชาวบ้านจะเลือกเอาสถานที่จัดบริเวณลานกว้างในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานด้วยกัน เป็นการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน โดยมีการก่อพระเจดีย์ทรายไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งคติการก่อเจดีย์ทรายไว้กลางหมู่บ้านนี้มาจากเรื่องราวในธรรมบทเพื่อเป็นการสร้างกุศลก่อเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน และมีการทำกะบานใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ไปวางไว้ตามทางสามแพร่งเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณในการสำรวจประชากรและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านคุ้งตะเภาได้อย่างดียิ่ง

ประเพณีแรกตักข้าว

เมื่อเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวนำข้าวขึ้นยุ้งฉางแล้ว ชาวคุ้งตะเภามีคติความเชื่อเรื่องหนึ่งคือ "แรกตักข้าว" คือเป็นวันแรกที่จะทำการตักข้าวที่เก็บเกี่ยวจากปีก่อนออกจากฉางมาทำการสี โดยกำหนดวันแรกตักไว้ตรงกับ วัน 3 ค่ำเดือน 3 มีความเชื่อว่าถ้าตักข้าวเก่าในฉางออกมาก่อนวันที่กำหนดนี้ ข้าวในฉางจะถูก ผีตะมอย กิน คือถ้าตักหนึ่งขัน ข้าวในฉางก็จะหายไปหนึ่งขัน เพื่อไม่ให้นำข้าวใหม่มาสีกินก่อนเวลาอันควร

คตินี้น่าจะมาจากอุบายของคนโบราณและสอดคล้องกับสภาพของข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวในปีก่อน โดยก่อนที่จะถึงวัน 3 ค่ำเดือน 3 ข้าวใหม่จะยังไม่แห้งดี ไม่สมควรแก่การบริโภค แต่เมื่อถึงเดือน 3 ข้าวก็จะแห้งพอสมควรที่จะนำไปสีนำมารับประทานได้ และเพื่อให้ใช้ข้าวเก่าค้างยุ้งมารับประทานให้หมดไม่เหลือทิ้งไว้ ทำนองได้ใหม่ไม่ลืมเก่านั่นเอง

แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีบ้านใดทำพิธีนี้อีกแล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน ประเพณีนี้พึ่งสูญหายไปเมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้ คงเหลือไว้แต่เพียงคำบอกเล่าเท่านั้น

ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก

ประเพณีก่อข้าวเปลือกประจำปีของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจัดตรงกับ วัน ขึ้น 14-15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะแบ่งข้าวเปลือกที่ตนเองทำการเพาะปลูกได้ในปีก่อนนำมาถวายวัด โดยในวัน ขึ้น 14 ค่ำ จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก และอาจมีการละเล่นบ้างตามความเหมาะสม และวันรุ่งขึ้น มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ในวัด พร้อมกับทำพิธีถวายองค์เจดีย์ (ข้าวเปลือก) จึงเสร็จพิธี

พิธีนี้คล้ายพิธีสู่ขวัญข้าว ตามความเชื่อโบราณของคนในแถบลุ่มอารยธรรมอุษาคเนย์ ที่เชื่อกันว่าทุกสิ่งมี "ขวัญ" สถิตย์อยู่ เมื่อชาวบ้านทำนาเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวได้แล้ว ก่อนนำข้าวมาบริโภคหรือจำหน่าย จะมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" ทำนองเป็นการบูชาผีที่สถิตย์อยู่ในข้าว เป็นการแสดงความเคารพต่อสรรพสิ่งและนบน้อมต่อธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเมื่อรับวัฒนธรรมแบบชาวพุทธเถรวาทซึ่งปฏิเสธการบูชาเซ่นทรวงเข้ามา จึงได้ "ปรับ" ประเพณีนี้ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของตน คือการนำข้าวแรกเกี่ยวไปถวายพระเพื่อเป็นการทำบุญเป็นสิริมงคลแทน ซึ่งชาวบ้านคุ้งตะเภาก็ได้ถือปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา แต่ด้วยสภาพสังคมและการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ทำให้การจัดพิธีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกในวัด มีผู้มาร่วมงานบางตา แต่โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ไม่มาร่วมงาน ก็ยังคงแบ่งข้าวเปลือกฝากมาถวายวัดตามประเพณีนี้ตลอดมา

ชาวบ้านคุ้งตะเภาในประเพณีสงกรานต์

เดือน 4 :ประเพณีตรุษไทย (วันปีใหม่ไทย)

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถีอเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี แต่ต่อมาได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถึอตามปฏิทินทางจันทรคติและยึดถือมา จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวก เพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย[66] แต่ชาวคุ้งตะเภายังคงรักษาธรรมเนียมตรุษไทยไว้โดยจัดทำบุญติดต่อกัน 2 วัน คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึง วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ในสมัยโบราณจะมีการ "กวนข้าวแดง" ซึ่งส่วนประกอบหลัก ๆ ของข้าวแดงก็มี ข้าว อ้อย น้ำตาล ฯลฯ โดยมีการรวมตัวคนในหมู่บ้านมาช่วยกวนข้าวแดงด้วยกันเพื่อนำไปแจกจ่ายคนในหมู่บ้านและถวายพระสงฆ์ ซึ่งนอกจากข้าวแดงแล้วยังมี ขนมต้ม และขนมจีนซึ่งแต่ละบ้านจะทำกันเองและนำมาแจกจ่ายกันในวันทำบุญ

ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการรวมตัวเพื่อกวนข้าวแดงกันอีกต่อไปแล้ว คงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติเท่านั้น จะมีพิเศษบ้างก็แต่ชาวบ้านจะนำอ้อย ขนมจีน ขนมต้ม มาถวายพระมาก แต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่ซื้อหากันมา มิได้เป็นสิ่งที่เกิดจากความสามัคคีของคนในชุมชนอย่างที่ควรจะเป็นอีกแล้ว

เดือน 5 :ประเพณีสงกรานต์

ชาวคุ้งตะเภาสรงน้ำสมโภชพระบรมธาตุเจ้าวัดคุ้งตะเภาในวันมหาสงกรานต์

การจัดประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านคุ้งตะเภาคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น คือมีการทำบุญ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในวันสุดท้ายจะมีพิธีสรงน้ำพระตามประเพณี และในบางปีจะมีการรวมตัวจัดอุปสมบทหมู่อีกด้วยเพื่อบวชลูกหลานซึ่งกลับมาจากต่างถิ่น โดยทุกเช้าของทั้งสามวันจะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในวัดคุ้งตะเภา โดยในวันแรกจะมีการทอดผ้าป่าสามัคคีของคณะชาวบ้านคุ้งตะเภาและลูกหลานของชาวหมู่บ้านที่ไปทำงานต่างถิ่น ในวันที่สองมีการบวชนาคสามัคคี โดยเวลาเที่ยง มีการทำพิธีปลงผมนาค เวลาบ่ายทำการแห่นาค เมื่อถึงช่วงเย็นมีการเทศน์สอนนาค และอุปัชฌาย์พร้อมทั้งกรรมวาจา-อนุสาวนาจารย์ พระอันดับจะลงอุโบสถเพื่อประกอบการอุปสมบทนาคในเวลาตี 5 ของวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 15 เมษายน อันเป็นวันมหาสงกรานต์ เมื่อบวชนาคเสร็จ เวลาเช้ามีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระบวชใหม่ และในเวลาบ่ายของวันนั้นมีการจัดพิธีแห่อัญเชิญสมโภชพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานบนบุษบกชั่วคราวกลางมณฑลพิธี จากนั้นประกอบพิธีขอขมาและสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้า พระพุทธรูปสำคัญและพระสงฆ์ในวัดพร้อมกับผู้สูงอายุ และเมื่อสรงน้ำพระเสร็จ ชาวบ้านก็จะนำน้ำธูปเทียนดอกไม้ไปสักการะเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษที่ตั้งอยู่ในวัดหรือบ้านของตน ๆ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสงกรานต์ที่จัดในวัดประจำหมู่บ้าน

พิธีเวียนเทียนพระภิกษุใหม่

ในการบวชนาคหมู่ (บรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรหมู่) ของชาวบ้านคุ้งตะเภานั้น มีพิธีกรรมที่น่าสนใจยิ่งพิธีกรรมหนึ่งคือ "พิธีเวียนเทียนพระบวชใหม่" ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันไม่มีวัดใดประกอบพิธีนี้อีกแล้ว แต่วัดคุ้งตะเภายังคงอนุรักษ์พิธีกรรมนี้อยู่จนปัจจุบัน

ผู้เฒ่าชาวบ้านคุ้งตะเภาถือแว่นเทียนชัยในพิธีเวียนเทียนพระภิกษุบวชใหม่

พิธีเวียนเทียนพระบวชใหม่นี้ จะประกอบเมื่อพระภิกษุใหม่ได้ผ่านการบรรพชาอุปสมบทในอุโบสถเสร็จแล้ว ซึ่งสถานที่จัดพิธีเวียนเทียนฯ นั้น จะจัดบนศาลาการเปรียญของวัด โดยมี "หมอทำพิธี" และพระสงฆ์บวชใหม่ นั่งอยู่กลางมณฑลพิธี บางครั้งก็จะมีพานพุ่มบายสีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางพิธีด้วย โดยให้ญาติโยมนั่งล้อมพระสงฆ์และหมอพิธีเป็นวงกลม เมื่อก่อนเริ่มพิธีหมอพิธีจะทำน้ำมนต์ธรณีสาร เมื่อเสร็จแล้วจะกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย (ตั้งนะโมสามจบ) กล่าวคาถาขอขมากรรม (บทบาลีที่ขึ้นต้นด้วย: โย โทโส โมหจิตฺเตน...) เมื่อกล่าวคำขอขมาเสร็จแล้วจะขึ้นบทชุมนุมเทวดา (บทบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สคฺเค กาเม จ รูเป...) และขึ้นบทเฉพาะสำหรับพิธีกรรมนี้เป็นทำนองเหล่ (ดูเพิ่มได้ที่:วิกิซอร์ซ) เมื่อกล่าวจบแล้วปี่พาทย์จะประโคมเพลงสาธุการ หมอพิธีจะนำใบพลูเก้าใบห่อและจุดแว่นเทียนชัยจำนวน 9 เล่ม นำไปเวียนเทียนรอบพระประธานสามรอบ และส่งต่อให้ชาวบ้านที่นั่งล้อมวงมณฑลพิธีนำไปทำพิธีเวียนเทียนแบบพราหมณ์ โดยการประคองเทียนวนขึ้นลงสามรอบและใช้มือขวาปัดควันเทียนเข้ามณฑลพิธี และส่งต่อไปยังคนด้านซ้ายเพื่อทำเช่นนั้นต่อไปจนสำเร็จครบสามรอบมณฑลพิธีจึงส่งเทียนชัยให้แก่หมอพิธีเพื่อนำเวียนรอบพระประธานอีกครั้ง และเป่าดับเทียนให้ควันลอยถูกตัวพระสงฆ์บวชใหม่เป็นอันเสร็จพิธีกรรม หลังจากนั้นประธานพระสงฆ์จะนำพระภิกษุใหม่ให้พรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียนพระใหม่อย่างสมบูรณ์ และเป็นการเสร็จพิธีกรรมสุดท้ายในงานบรรพชาอุปสมบทของชาวบ้านคุ้งตะเภา

การประกอบพิธีกรรมเวียนเทียนพระบวชใหม่นี้เป็นพิธีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์พรแก่พระภิกษุบวชใหม่ และแสดงสักการะแก่พระสงฆ์ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญใหม่ของชุมชน เป็นการผสมผสานความเชื่อคติพราหมณ์และพุทธกันได้อย่างลงตัว เมื่อดูจากเนื้อหาของบทเวียนเทียนฯ แล้วจะพบว่าเป็นการ "บอก" วัตถุประสงค์แห่งการบวชให้พระภิกษุใหม่ทราบอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การศึกษาเพื่อให้มีปัญญาดุจดังพระอานนท์ การกำจัดทำพระนิพพานให้แจ้งเป็นต้น และด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมนี้สามารถทำให้พระใหม่รู้สึกตัวว่าได้เข้าสู่สมณภาวะอันเป็นฐานะที่สูงยิ่งของชุมชนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระตุ้นให้พระภิกษุใหม่มีความละอายในการกระทำผิดศีล และตั้งใจปฏิบัติตนในเพศภาวะแห่งพระสงฆ์ให้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง

ในปัจจุบันหาชมพิธีนี้ได้ยากแล้ว สันนิษฐานว่าในชั้นหลังชุมชนอื่น ๆ ตัดพิธีนี้ออกไปเนื่องจากความเข้าใจว่าเป็นพิธีของพราหมณ์ ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของพิธีนี้ และเลยไปถึงการไม่เข้าใจอุบายของคนโบราณในการตักเตือนพระภิกษุใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องการความสะดวกและประหยัดเวลาในการประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบท ทำให้ชุมชนที่เลิกพิธีนี้ไปขาดการสืบต่อผู้รู้ในพิธี และเลือนหายไปจากสำนึกของคนในรุ่นหลังอย่างน่าเสียดาย

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

เดือน 7 :ประเพณีถวายสลากภัต

การจัดงานทำบุญถวายสลากภัตของชาวบ้านคุ้งตะเภาจัดระหว่างขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี [67] โดยชาวบ้านจะนำสำรับภัตตาหารและผลไม้มาถวายพระสงฆ์ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ร่วม 30 วัด กว่าร้อยรูป มาฉันภัตตาหารและถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ในอดีตมีการจับฉลากเลือกพระสงฆ์รับสังฆทานตามประเพณี และเวลากลางคืนมีการละเล่นต่าง ๆ เช่นชกมวยคาดเชือก มวยไทยสายพระยาพิชัย ฯลฯ สำหรับวัดในแถบตำบลคุ้งตะเภา-ป่าเซ่า นิยมมีการจัดมหรสพดนตรีเป็นงานใหญ่ บางหมู่บ้านก็ขอทางวัดจัดให้มีกีฬาชกมวยไทย เป็นงานเอิกเริกประจำปีของหมู่บ้านนั้น ๆ

เดือน 10 :ประเพณีสารทไทย

ชาวบ้านคุ้งตะเภาจัดงานทำบุญวันสารทตรงกับวัน แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีการรวมตัวคนในหมู่บ้านมาร่วมกันกวนข้าวกระยาสารทเพื่อถวายพระสงฆ์และแจกจ่ายคนในหมู่บ้าน และมีการละเล่นต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันคงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติ การรวมตัวเพื่อกวนข้าวกระยาสารทไม่มีอีกแล้ว มีแต่ข้าวกระยาสารทซึ่งซื้อหามาถวายพระสงฆ์แทน โดยหลังจากการทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์แล้ว ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าว จะนำกล้วยไปรับขวัญข้าวตั้งท้องที่กลางนาอีกด้วย

เดือน 11 :ประเพณีเทศน์มหาชาติ

ชาวบ้านจุดเทียนพระคาถาพัน 1,000 เล่ม เพื่อบูชาคาถาเวสสันดรชาดกบาลี ตามประเพณีการเทศน์มหาชาติ

ประเพณีการจัดเทศน์มหาชาติของหมู่บ้านคุ้งตะเภา จัดตรงกับ วันแรม 4,5,6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยจัดในวัดประจำหมู่บ้าน

ซึ่งในวันแรกจะมีการเทศน์ พระมาลัยสูตร 3 ธรรมาสน์ ตามประเพณี เพื่อเป็นการชี้แจงอานิสงส์การฟังมหาชาติเวสสันดรชาดกในวันถัดไป ตามกัณฑ์เทศน์พระมาลัยนั้น องค์แสดงเป็นพระศรีอาริยเมตไตย จะชี้แจงผลานิสงส์ที่จะให้มาเกิดในยุคพระศรีอาริย์ โดยบอกเหตุว่า ผู้ใดฟังเวสสันดรชาดกครบ 13 กัณฑ์ พันพระคาถา ตั้งใจมุ่งมาบังเกิดในยุคของพระศรีอาริย์ก็จะสำเร็จผลดังปรารถนา ซึ่งพระมาลัยสูตรนั้น เป็นเรื่องที่พระภิกษุชาวสิงหล (ศรีลังกา) แต่งขึ้น เมื่อประมาณ พ.ศ. 900 กล่าวถึงพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งลงไปเยี่ยมเมืองนรกและสวรรค์และได้พบกับพระศรีอาริยเมตไตยบนสวรรค์นั้น

ในวันที่สองเวลาเช้า พระสงฆ์ในวัดจะขึ้นธรรมมาสน์อ่านเวสสันดรชาดกเป็นภาษาบาลี และเจ้าภาพผู้รับขันกัณฑ์เทศน์ทั้ง 13 กัณฑ์ จะจุดเทียนธูปบูชาตามคาถาของกัณฑ์ที่ตนรับเป็นเจ้าภาพไว้ (เช่นทานกัณฑ์ มีคาถาบาลี 209 คาถา (ประโยค) เจ้าภาพจะนำเทียนและธูปเท่ากับจำนวน 209 คาถา มาจุดบูชา) ต่อมาในเวลาบ่าย พระสงฆ์จะขึ้นเทศน์เวสสันดรชาดกเป็นทำนองเหล่ ครบ 13 กัณฑ์ ทั้งหมดเสร็จสิ้นในเวลาเย็นของวันนั้น

ในวันที่สามเวลาเช้ามีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์และมีเทศน์อานิสงส์ฟังเวสสันดรชาดก เป็นอันเสร็จสิ้น

คติของประเพณีนี้สืบเนื่องมาจากช่วงเดือน 11 ข้าวกำลังออกรวง ชาวบ้านว่างงานรอเก็บเกี่ยว จึงจัดพิธีเทศน์มหาชาติขึ้นโดยมีการรวมตัวคนในหมู่บ้านมาจัดประดับศาลา (โดยเฉพาะหนุ่มสาว ที่หวังจะมาพบปะและหยอกเอินหวังจีบกันในงานนี้) และมีการละเล่นต่าง ๆ รวมทั้งจัดประดับตกแต่งศาลาให้เป็นป่าหิมพานต์ มีต้นอ้อย กล้วย ธงกบิล ฉัตรบูชา ซึ่งเมื่อเลิกพิธีชาวบ้านจะแย่งกันนำต้นกล้วยอ้อยนำไปฝานเป็นแว่นเล็ก ๆ ใส่ชะลอมนำไปปักไว้ท้องนา เพราะเวลานั้นข้าวกำลังออกรวง เหมือนแม่โพสพตั้งท้อง จึงนำสิ่งเหล่านี้ไปถวายแม่โพสพ เพราะคิดว่าคนตั้งท้องน่าจะชอบของเหล่านี้ ตามความเชื่อในเรื่องผีของคนโบราณ[68]

แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป การจัดเทศน์มหาชาติไม่ค่อยมีคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านสนใจ ส่วนใหญ่จะมีแต่พระสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่ยังพอมีแรง มาช่วยกันประดับตกแต่งศาลาการเปรียญ ผู้มาฟังเทศน์ก็เป็นคนรุ่นเก่า และค่อนข้างน้อย เมื่องานเสร็จก็ไม่ปรากฏว่ามีการแย่งฉัตรธงอ้อยกล้วยกันอีกต่อไป

การละเล่นพื้นบ้าน

วงกลองยาวหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ปัจจุบันการละเล่นพื้นบ้านของหมู่บ้านคุ้งตะเภาบางอย่างยังคงหลงเหลืออยู่ คือ กลองยาว แต่การละเล่นโบราณคือ มังคละ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่าเคยมีการละเล่นนั้น ๆ อยู่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันการจัดงานประเพณีบางอย่างเช่นการบวชนาค งานแต่งงาน ฯลฯ เมื่อมีการละเล่นเช่นลิเก ดนตรี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการจ้างเหมานำมาจากต่างถิ่นแทน

วงดนตรีไทยเดิมผู้สูงอายุบ้านคุ้งตะเภา (คลิกเพื่อชมภาพเคลื่อนไหว)คลิกเพื่อฟังเสียงวงดนตรีไทยเดิมผู้สูงอายุบ้านคุ้งตะเภา (24 นาที)

ในอดีต หมู่บ้านคุ้งตะเภามีชื่อเสียงเรื่องกลองยาว ประกอบด้วยเครื่อง 8 เครื่อง 9 และเครื่อง 12 ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง กลอง สามารถแข่งขันกลองยาว ชนะวงในตำนานอย่างวงนกขมิ้น ต.ทุ่งยั้งได้ คือวงของปู่ยัง กลิ่นลอย ซึ่งเล่นครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2505 โดยในบ้านวงกลองยาวของตายังสมัยนั้น มีกลองสองหน้า ซึ่งเป็นกลองยืนกลองหลอนในวงมังคละ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่มีผู้ใดรับสืบทอดวิชา และอุปกรณ์ได้สูญไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ ผู้เล่นมังคละคนสุดท้าย คือปู่กี่ มีชำนะ เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2540 (เสียชีวิตขณะอายุประมาณ 80 ปี) โดยปู่กี่มีเครื่องมังคละคือกลองยืน สำหรับเล่นเข้าวงเล็ก ๆ ศัพท์ภาษาปากเรียกว่า "วงปี่พาทย์ฆ้องกลอง" หรือ "อังคละ", "มังคละ" ประกอบด้วย กลองยืน 1 ใบ ฆ้อง 1 ลูก, ฉาบยืน 1, ฉาบหลอน 1, ฉิ่ง 1 และซอ สำหรับสีเพื่อเดินเพลงแทนปี่ ที่หาผู้เป่าในชุมชนไม่ได้ในช่วงหลัง (เดิมบ้านคุ้งตะเภามีหมอปี่หลายคน แต่ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว) วงมังคละนี้ ใช้สำหรับแห่ในงานบุญต่าง ๆ และเล่นกันข้ามวันข้ามคืน ซึ่งกลองยืนนี้ ลูกหลานของท่านได้ถวายไว้เพื่อเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา สันนิษฐานว่า ปู่กี่ คือคนสุดท้ายที่สืบทอดการละเล่นมังคละของบ้านคุ้งตะเภา และในช่วงหลัง ปู่กี่หาผู้เข้าประสมวงตามนวภัณฑ์ไม่ได้ (เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ความนิยมของกลองยาว) จึงกลายมาเป็นวงปี่กลองที่ใช้กลองเพียงลูกเดียว และใช้ซอสีแทนปี่ ซึ่งหาผู้เป่ายากในช่วงสุดท้าย[69]

ในอดีต การละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านคุ้งตะเภาจะมีขึ้นไม่เฉพาะแต่ในวัดเท่านั้น แม้แต่ในทุ่งนา ลานนวดข้าว หรือหาดทรายริมแม่น้ำน่าน ก็ถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการทำงานในระหว่างวัน จากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่า ทำให้ทราบว่าหมู่บ้านคุ้งตะเภามีการละเล่นมากมายที่คล้ายกับการละเล่นพื้นบ้านทั่วไปในแถบภาคกลางตอนบน เช่น การเล่นนางด้ง นางกะลา การรำช่วง การร้องเพลงเกี่ยวข้าว จนไปถึงมังคละเภรี ส่วนการจัดงานวัดหรือกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ที่จัดให้มีมหรสพต่าง ๆ จะได้รับความสนใจจากชาวบ้านคุ้งตะเภามากแทบทั้งหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันเมื่อมีการจัดมหรสพต่าง ๆ ในวัด จะมีผู้เข้าชมมหรสพไม่มากนักเมื่อเทียบกับอดีต ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการละเล่นของชาวบ้านคุ้งตะเภาในอดีตผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก จนมาสูญหายไปเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ที่อำนาจของสื่อต่าง ๆ เข้ามาแทนที่ของดั้งเดิม

แม้ในปัจจุบันจะยังคงพอมีการละเล่นพื้นบ้านอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงการละเล่นเฉพาะในพิธีกรรมหรืองานบุญต่าง ๆ ทางศาสนาแทน เช่น การแห่กลองยาว (งานบวชพระ) เป็นต้น ในปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภายังคงมีวงดนตรีไทยเดิม (วงปี่พาทย์) อยู่ แต่เป็นวงดนตรีของผู้สูงอายุ และเป็นวงดนตรีไทยเดิมวงเดียวของตำบลคุ้งตะเภา และเมื่อออกแสดงในงานต่าง ๆ ต้องรวบรวมลูกวงจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมด้วย เพื่อให้สามารถเล่นดนตรีไทยเดิมได้ครบวง เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่สนใจที่จะศึกษา ทำให้วงดนตรีไทยเดิมผู้สูงอายุบ้านคุ้งตะเภาอาจจะสูญหายไปในเวลาอีกไม่นาน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภาได้มีความพยายามรื้อฟื้นดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีขึ้น โดยจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เพื่อฝึกสอนส่งต่อการละเล่นดนตรีมังคละสู่เยาวชนในชุมชน

ใกล้เคียง

หมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์) หมู่บ้านหาดเสือเต้น หมู่บ้านสันติคีรี หมู่บ้านป่าขนุน หมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่ากล้วย หมู่บ้านกกค้อ หมู่บ้านลุ่ม หมู่บ้าน (ประเทศไทย)

แหล่งที่มา

WikiPedia: หมู่บ้านคุ้งตะเภา http://maps.google.com/maps?ll=17.65299,100.143802... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6529... http://www.rottourthai.com/showthread.php?t=51 http://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-roy... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.oknation.net/blog/print.php?id=464165 http://www.globalguide.org?lat=17.65299&long=100.1... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65299,100.1438... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%...