ประวัติ ของ อัลกออิดะฮ์

ญิฮาดในอัฟกานิสถาน

จุดกำเนิดของกลุ่มเริ่มขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หลังโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานใน พ.ศ. 2522 โดยการบริหารของชาวอาหรับจากต่างประเทศในชื่อมุญาฮิดีน สนับสนุนทางการเงินโดยบิน ลาดินและการบริจาคของชาวมุสลิม สหรัฐมองว่าการรุกรานอัฟกานิสถานของโซเวียตเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น หน่วยสืบราชการลับได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวผ่านทางปากีสถาน[61][62] อัลกออิดะฮ์พัฒนาจากกลุ่ม Maktab al-Khadamat ที่เป็นส่วนหนึ่งของมุญาฮิดีน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารชาวปาเลสไตน์ และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเช่นเดียวกับมุญาฮิดีนกลุ่มอื่น ๆ การสู้รบดำเนินไป 9 ปี จนสหภาพโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานใน พ.ศ. 2532 รัฐบาลสังคมนิยมของ โมฮัมเหม็ด นาจิบุลลอห์ ถูกมุญาฮิดีนล้มล้าง แต่เนื่องจากผู้นำกลุ่มมุญาฮิดีนไม่สามารถตกลงกันได้ ความวุ่นวายจากการแย่งชิงอำนาจจึงตามมา

การขยายตัว

หลังจากสงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงนักรบมุญาฮิดีนบางกลุ่มต้องการขยายการต่อสู้ออกไปทั่วโลกในนามนักรบอิสลามเช่นความขัดแย้งในอิสราเอลและแคชเมียร์ หนึ่งในความพยายามนี้คือการตั้งกลุ่มอัลกออิดะฮ์โดยบิน ลาดินใน พ.ศ. 2531

สงครามอ่าวเปอร์เซียและเริ่มต้นต่อต้านสหรัฐ

ดูบทความหลักที่: สงครามอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อสงครามในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลง บิน ลาดินเดินทางกลับสู่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อเกิดการรุกรานคูเวตของอิรักใน พ.ศ. 2533 บิน ลาดินได้เสนอให้ใช้นักรบมุญาฮิดีนของเขาร่วมมือกับกษัตริย์ฟาฮัด เพื่อปกป้องซาอุดีอาระเบียจากการรุกรานของอิรักที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธและหันไปอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในซาอุดีอาระเบีย ทำให่บิน ลาดินไม่พอใจ เพราะเขาไม่ต้องการให้มีกองทหารต่างชาติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม (คือเมกกะและเมดีนา) การที่เขาออกมาต่อต้านทำให้เขาถูกบีบให้ไปซูดานและถูกถอนสัญชาติซาอุดีอาระเบีย[63]

ในซูดาน

ใน พ.ศ. 2534 แนวร่วมอิสลามแห่งชาติซูดานขึ้นมามีอำนาจและเชื้อเชิญกลุ่มอัลกออิดะฮ์ให้ย้ายเข้ามาภายในประเทศ อัลกออิดะฮ์เข้าไปประกอบธุรกิจในซูดานเป็นเวลาหลายปี และสนับสนุนเงินในการสร้างทางหลวงจากเมืองหลวงไปยังท่าเรือซูดาน พ.ศ. 2539 บิน ลาดินถูกบีบให้ออกจากซูดานเนื่องจากแรงกดดันของสหรัฐ เขาจึงย้ายกลุ่มอัลกออิดะฮ์ไปตั้งมั่นในเมืองจะลาลาบาด อัฟกานิสถาน

บอสเนีย

การประกาศเอกราชของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาออกจากยูโกสลาเวียในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ทำให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาแห่งใหม่ในยุโรปในบอสเนีย ชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมแต่ก็มีชาวเซิร์บที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์และชาวโครแอตนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เป็นสามเส้าขึ้น โดยเซอร์เบียและโครเอเชียหนุนหลังชาวเซิร์บและชาวโครแอตที่มีเชื้อชาติเดียวกันตามลำดับ เหล่านักรบอาหรับในอัฟกานิสถานเห็นว่าสงครามในบอสเนียเป็นโอกาสอันดีที่จะปกป้องศาสนาอิสลาม ทำให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งอัลกออิดะฮ์เข้าร่วมในสงคราม ตั้งเป็นกลุ่มมุญาฮิดีนบอสเนีย โดยนักรบส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับไม่ใช่ชาวบอสเนีย

การลงนามในข้อตกลงวอชิงตันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 ทำให้สงครามระหว่างบอสเนีย-โครแอตสิ้นสุดลง กลุ่มมุญาฮิดีนยังสู้รบกับชาวเซิร์บต่อไป จนกระทั่งบันทึกสันติภาพเดย์ตันในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ทำให้สงครามสิ้นสุดลง และเหล่านักรบต่างชาติถูกบีบให้ออกนอกประเทศ ส่วนผู้ที่แต่งงานกับชาวบอสเนียหรือไม่มีที่กลับได้รับสัญชาติบอสเนียและอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้

ผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถาน

หลังจากการถอนตัวของสหภาพโซเวียต อัฟกานิสถานอยู่ในสภาพวุ่นวายถึง 7 ปี จากการสู้รบของกลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตรกัน ในช่วง พ.ศ. 2533 มีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นคือกลุ่มตาลีบันหรือตอลิบาน (แปลตามตัว = นักเรียน) เป็นกลุ่มเยาวชนที่เกิดในอัฟกานิสถานยุคสงครามได้รับการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (มัดรอซะ; madrassas) ในเมืองกันดะฮาร์ หรือค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน

ผู้นำของตอลิบาน 5 คนจบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม Darul Uloom Haqqania ใกล้กับเมืองเปศวาร์ในปากีสถาน แต่ผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากปากีสถาน โรงเรียนนี้สอนศาสนาตามลัทธิซาลาฟีย์ และได้รับการสนับสนุนจากชาวอาหรับโดยเฉพาะบิน ลาดิน ชาวอาหรับในอัฟกานิสถานและตอลิบานมีความเกี่ยวพันกันมาก หลังจากโซเวียตถอนตัวออกไป ตอลิบานมีอิทธิพลมากขึ้นจนสามารถก่อตั้งรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ใน พ.ศ. 2537 ตอลิบานเข้ายึดครองพื้นที่ในเมืองกันดะฮาร์และเข้ายึดกรุงคาบูลได้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2539

หลังจากซูดานได้บีบให้บิน ลาดินและกลุ่มของเขาออกนอกประเทศ เป็นเวลาเดียวกับที่ตอลิบานมีอำนาจในอัฟกานิสถาน บิน ลาดินจึงเข้าไปตั้งมั่นในเขตจะลาลาบาด ในเวลานั้นมีเพียงปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้นที่ยอมรับว่าตอลิบานเป็นรัฐบาลของอัฟกานิสถาน บิน ลาดินพำนักในอัฟกานิสถาน จัดตั้งค่ายฝึกนักรบมุสลิมจากทั่วโลก[64][65] จนกระทั่งรัฐบาลตอลิบานถูกขับไล่โดยกองกำลังผสมภายในประเทศร่วมกับกองทหารสหรัฐใน พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นเชื่อกันว่า บิน ลาดินยังคงพำนักกับกลุ่มตอลิบานในบริเวณชายแดนปากีสถาน

เริ่มโจมตีพลเรือน

พ.ศ. 2536 Ramzi Yousef ผู้นำคนหนึ่งของอัลกออิดะฮ์ ใช้การวางระเบิดในรถยนต์ โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก แต่ไม่สำเร็จ และ Yousef ถูกจับในปากีสถาน แต่ก็เป็นแรงดลใจให้กลุ่มของบิน ลาดิน ทำสำเร็จเมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2544

อัลกออิดะฮ์เริ่มสงครามครูเสดใน พ.ศ. 2539 เพื่อขับไล่กองทหารต่างชาติออกไปจากดินแดนอิสลามโดยต่อต้านสหรัฐและพันธมิตร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 บิน ลาดินและ Ayman al-Zawahiri ผู้นำของกลุ่มญิฮาดอียิปต์และผู้นำศาสนาอิสลามอีกสามคน ร่วมลงนามใน “ฟัตวาห์”,[66] หรือคำตัดสินภายใต้ชื่อแนวร่วมอิสลามโลกเพื่อญิฮาดต่อต้านยิวและครูเสด (World Islamic Front for Jihad Against the Jews and Crusaders; ภาษาอาหรับ: al-Jabhah al-Islamiyya al-'Alamiyya li-Qital al-Yahud wal-Salibiyyin)โดยประกาศว่าเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมทุกประเทศในการสังหารชาวสหรัฐและพันธมิตรทั้งทหารและพลเรือนเพื่อปลดปล่อยมัสยิดอัลอักซาในเยรูซาเลมและมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ในเมกกะ[67] หลังจากนั้นได้เกิดการวางระเบิดสถานทูตสหรัฐในแอฟริกาตะวันออกภายในปีเดียวกัน มีผู้เสียชีวิต 300 คน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 เกิดระเบิดพลีชีพในกองทัพเรือสหรัฐในเยเมน[68]

วินาศกรรม 11 กันยายน และปฏิกิริยาของสหรัฐ

ดูบทความหลักที่: วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544
ความสูญเสียจากการก่อวินาศกรรม 11 กันยายน

การก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ทำให้สหรัฐและนาโตออกมาต่อต้านอัลกออิดะฮ์ และฟัตวาห์ พ.ศ. 2541 การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นวินาศภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน รวมทั้งความเสียหายจากการพังทลายของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนถูกทำลายลงไปบางส่วน หลังจากนั้น สหรัฐได้มีปฏิบัติการทางทหารโต้ตอบเรียกร้องให้ มุลลาห์ โอมาร์ ผู้นำตอลิบานส่งตัวบิน ลาดินมาให้ แต่ตอลิบานเลือกที่จะส่งตัวบิน ลาดินให้ประเทศที่เป็นกลาง สหรัฐจึงส่งกองทัพอากาศทิ้งระเบิดทำลายที่มั่นที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกบดานของอัลกออิดะฮ์ และส่งปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนือเพื่อล้มล้างรัฐบาลตอลิบาน

ทหารสหรัฐในอัฟกานิสถาน

หลังจากถูกกวาดล้าง กลุ่มอัลกออิดะฮ์พยายามรวมตัวอีกครั้งในเขต Gardez แต่ยังคงถูกโจมตีจากฝ่ายสหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2545 กองทัพอัลกออิดะฮ์ถูกทำลายจนลดประสิทธิภาพลงมาก ซึ่งเป็นความสำเร็จในขั้นต้นของการรุกรานอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม ตอลิบานยังมีอิทธิพลอยู่ในอัฟกานิสถาน และผู้นำคนสำคัญของอัลกออิดะฮ์ยังไม่ถูกจับ ใน พ.ศ. 2547 สหรัฐกล่าวอ้างว่าจับตัวผู้นำของอัลกออิดะฮ์ได้ 2 – 3 คน แต่อัลกออิดะฮ์ก็ยังดำเนินกิจกรรมต่อไปได้

กิจกรรมในอิรัก

บิน ลาดิน เริ่มให้ความสนใจอิรักตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2533 อัลกออิดะฮ์ติดต่อกับกลุ่มมุสลิมชาวเคิร์ด Ansar al-islam ใน พ.ศ. 2542 ระหว่างการรุกรานอิรักใน พ.ศ. 2546 อัลกออิดะฮ์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ หน่วยทหารของอัลกออิดะฮ์เริ่มวางระเบิดกองบัญชาการของสหประชาชาติและกาชาดสากล พ.ศ. 2547 ฐานที่มั่นของอัลกออิดะฮ์ในเมืองฟาลูยะห์ ถูกโจมตีและปิดล้อมด้วยกองทหารสหรัฐ แต่อัลกออิดะฮ์ยังคงโจมตีทั่วอิรัก แม้จะสูญเสียกำลังคนไปมาก ในระหว่างการเลือกตั้งในอิรัก พ.ศ. 2548 กลุ่มอัลกออิดะฮ์ออกมาประกาศความรับผิดชอบระเบิดพลีชีพ 9 ครั้งในแบกแดด

Abu Musab al-Zarqawi ทหารชาวจอร์แดนเป็นผู้จัดตั้งองค์กร "Jama'at al-Tawhid wal-Jihad" เมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และประกาศเป็นตัวแทนของอัลกออิดะฮ์ในอิรัก หลังจากเขาถูกฆ่าจากการโจมตีทางอากาศโดยสหรัฐเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่ Baqubah เชื่อกันว่า Abu Ayyub al-Masri ขึ้นเป็นผู้นำอัลกออิดะฮ์ในอิรักแทน แม้ว่าการต่อสู้ของอัลกออิดะฮ์ในอิรักยังไม่ประสบผลในการขับไล่กองทหารอังกฤษและสหรัฐ รวมทั้งล้มล้างรัฐบาลของผู้นับถือนิกายชีอะฮ์ แต่ก็ได้สร้างความรุนแรงกระจายไปทั่วประเทศ

อัลกออิดะฮ์ในแคชเมียร์

เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ชายลึกลับอ้างตัวเป็นสมาชิกอัลกออิดะฮ์โทรศัพท์ไปที่นักข่าวท้องถิ่นในศรีนคร ประกาศว่าขณะนี้อัลกออิดะฮ์เข้ามาในแคชเมียร์แล้ว เพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกรัฐบาลอินเดียกดขี่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลุ่มอัลกออิดะฮ์แทรกซึมเข้ามาในบริเวณนี้ตั้งแต่ก่อนการรุกรานอัฟกานิสถานของสหรัฐ และน่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน

ใกล้เคียง

อัลกออิดะฮ์ อัลกอนูนฟีอัฏฏิบบ์ อัลกอร์ บั๊ด อัลกอริทึมเอสตาร์ อัลกอฮอล์ อัลกอริทึม อัลกอริทึมของดิสตราส์ อัลกอซิม กะนูน อัลกอริทึมของฟอร์ด-เฟอลเกอสัน อัลกอริทึมการเรียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: อัลกออิดะฮ์ http://www.nationalsecurity.gov.au/agd/www/nationa... http://www.greenleft.org.au/2001/465/25199 http://congressoemfoco.uol.com.br/opiniao/colunist... http://english.al-akhbar.com/content/hezbollah-fig... http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2014/06/... http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/11/h... http://islamineurope.blogspot.com/2008/06/denmark-... http://www.economist.com/node/21525400 http://findarticles.com/p/articles/mi_qa3996/is_20... http://foreignpolicy.com/2014/09/02/the-islamic-st...