การปกครองของสยาม ของ อาณาจักรล้านช้าง

อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

ภายหลังที่สูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรสยาม พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงให้เจ้านันทเสนโอรสของพระเจ้าศิริบุญสาร เสด็จขึ้นครองราชย์แทน แล้วแต่งตั้งเจ้าอินทวงศ์เป็นอุปราช ส่วนเจ้าอนุวงศ์และเจ้าพรหมวงศ์ให้ลงไปเป็นตัวประกันที่กรุงธนบุรี แต่ต่อมาก็เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องกันกับเจ้าอนุรุทธแห่งนครหลวงพระบางหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2336 เจ้านันทเสนถูกกล่าวหาว่าสมคบกับเจ้าเมืองนครพนมและเวียดนามจะก่อการกบฏ จึงถูกเรียกตัวลงไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ พระองค์ต่อสู้คดีอยู่ 2 ปี ก็เสด็จสวรรคต

เจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนได้ครองราชย์สืบต่อ และครองเมืองมาถึงปี พ.ศ. 2346 ก็ถึงแก่พิราลัย ทำให้เจ้าอนุวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าศิริบุญสารได้ขึ้นครองราชสมบัติในนครเวียงจันทน์ พระองค์เป็นผู้มีความสามารถในหลายด้าน โดยได้เคยยกทัพไปช่วยฝ่ายสยามรบกับพม่าจนได้รับชัยชนะหลายครั้ง ตลอดจนได้ทรงจัดแจงสร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองในหลายด้าน ทั้งในทางพระพุทธศานาและทางทหาร ทั้งได้ยึดครองจำปาศักดิ์จากความดีความชอบที่ เจ้าราชบุตรโย้ ผู้เป็นโอรสทำการปราบกบฏอ้ายสา

เมื่อมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นแล้วเจ้าอนุวงศ์จึงทรงมีความต้องการที่จะขยายอำนาจออกไปอีก โดยมุ่งหมายจะยึดครองดินแดนสยาม ในครั้งนั้นทรงมีดำริว่าจะยกทัพไปยึดกรุงเทพฯเสีย เพื่อให้คนสยามมาอยู่ในอำนาจ แต่เมื่อได้รับการทัดทานจากขุนนางว่าสยามเป็นประเทศใหญ่ ไม่สามารถปกครองได้ทั่วถึง เจ้าอนุวงศ์จึงว่าถ้าหากปกครองคนสยามได้ไม่หมดก็จะ "ทำลายกรุงเทพฯให้สิ้นซาก" กวาดทรัพย์สินและผู้คนมาเวียงจัน เพื่อไม่ให้คนสยามมีกำลังตั้งตนได้อีก[2] เจ้าอนุวงศ์ได้บุกเข้าตีถึงจังหวัดนครราชสีมา แต่เสียทีให้กับ ท้าวสุรนารี ประกอบกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางยังคงจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ จึงส่งกำลังมาช่วยทัพสยามตีทัพเจ้าอนุวงศ์จนพ่ายแพ้ เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวส่งลงไปที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และเสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2371

เมื่อกองทัพอาณาจักรสยามตีนครเวียงจันทน์ครั้งที่ 2 ในรัชกาลของเจ้าอนุวงศ์นี้ ฝ่ายสยาม (รัชกาลที่ 3) ได้สั่งให้ "ทำลายนครเวียงจันทน์ให้สิ้นซาก" และกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนมากรุงเทพฯ อีกทั้งให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองนครอีกต่อไป นครเวียงจันทน์ที่จึงถูกทำลายกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. 2371

อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง

เมื่อสูญเสียเอกราชใน พ.ศ. 2321 ในสมัยเจ้าสุริยวงศ์ พระองค์จึงถูกคุมตัวลงไปที่กรุงธนบุรี ภายหลังจึงถูกส่งคืนมาเป็นเจ้านครหลวงพระบาง และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2334 บรรดาเสนาอำมาตย์จึงทูลเชิญเจ้าอนุรุทธ พระอนุชาของเจ้าสุริยวงศ์ขึ้นครองราชย์ เมื่อเจ้านันทเสนแห่งเวียงจันทน์ยกทัพมาตีหลวงพระบางได้ เจ้าอนุรุทธจึงถูกส่งลงไปขังที่กรุงเทพฯอยู่ 4 ปี จึงได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ตามเดิม และเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2339 เจ้ามันธาตุราช โอรสของเจ้าอนุรุทธะจึงได้ขึ้นครองเมืองแทนใน พ.ศ. 2360 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต เจ้ามันธาตุราชจึงได้เสด็จลงไปกรุงเทพฯ เพื่ออุปสมบทต่อหน้าพระบรมศพแล้วจึงเสด็จกลับมาครองครองราชย์ตามเดิม โดยในปี พ.ศ. 2370 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ เจ้ามันธาตุราชจึงได้ส่งกำลังพลไปช่วยกองทัพสยามตีเวียงจันทน์

เมื่อเจ้ามันธาตุราชสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2379 ทางกรุงเทพฯจึงตั้งให้เจ้าสุกเสริม โอรสของเจ้ามันตุราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบางใน พ.ศ. 2381 และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2393 เจ้าจันทราชราชโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้ามันธาตุราชได้ครองราชสืบแทนและครองราชย์อยู่ 20 ปี จึงสวรรคตใน พ.ศ. 2414 ทำให้เจ้าอุ่นคำโอรสของเจ้ามันตุราช ได้ครองราชสมบัติสืบต่อ ในรัชสมัยนี้เจ้าอุ่นคำนี้ได้เกิดกบฏฮ่อขึ้นทำให้พระองค์หนีไปอยู่ที่เมืองปากลาย รัฐบาลสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จึงได้ส่งกองทัพมาปราบ พร้อมทั้งปลดเจ้าอุ่นคำออกจากบัลลังก์ แล้วตั้งเจ้าคำสุกโอรสของเจ้าอุ่นคำขึ้นครองราชย์แทน ในพ.ศ. 2432

เจ้าคำสุกได้ ได้ขึ้นครองราชย์จนถึง พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศส รัฐบาลสยามได้ยอมยกดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส เจ้าคำสุกจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบางภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส จนถึง พ.ศ. 2448 จึงสิ้นพระชนม์

อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์

ภายหลังจากที่จำปาศักดิ์แยกเป็นอิสระจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2257 โดยมีเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้เป็นหลานของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2321 ในสมัยของเจ้าไชยกุมาร นครจำปาศักดิ์ก็ต้องเสียเอกราชให้แก่สยาม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2334 ได้เกิดกบฏขึ้นในนครจำปาศักดิ์ทำให้เจ้าไชยกุมารต้องเสด็จหนีแล้วไปสวรรคตในป่า แต่ท้าวฝ่ายหน้าแห่งบ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) กับพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบล ผู้เป็นพระเชษฐา ได้ยกกองกำลังไปปราบกบฏและตีเอาเมืองจำปาศักดิ์คืนมาได้ ทำให้ท้าวฝ่ายหน้าได้รับแต่งตั้งจากสยามให้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์มีนามว่า พระวิไชยราชขัตติยวงศา

เมื่อพระวิไชยราชขัตติยวงศาถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2350 ฝ่ายอาณาจักรสยามจึงได้แต่งตั้งเจ้านู โอรสของเจ้าไชยกุมาร ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ก็ถึงแก่พิราลัย หลังรับสุพรรณบัตรเจ้าเมืองได้เพียง 3 วัน ฝ่ายสยามจึงได้แต่งตั้งให้เจ้าหมาน้อย โอรสของอุปราชสุริโย เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ต่อมาเกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งขึ้นในเมือง ทำให้เจ้าหมาน้อยถูกส่งตัวลงไปยังกรุงเทพฯ และได้ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2370 เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ ที่มีความชอบจากการปราบกบฏอ้ายสา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น เจ้าราชบุตรโย้จึงถูกเจ้าฮุยจับตัวส่งให้แก่ทางกรุงเทพฯ เจ้าฮุยจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2371

เมื่อเจ้าฮุยถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2384 เจ้านาคผู้เป็นอุปราชจึงได้ครองเมืองสืบแทน จนถึงแก่พิราลัยด้วยอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 2396 ทางฝ่ายสยามจึงได้แต่งตั้งเจ้าคำใหญ่ ผู้เป็นโอรสของเจ้าฮุย ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำใหญ่) จนถึง พ.ศ. 2402 ก็ถึงแก่กรรม เจ้าคำสุกผู้เป็นอนุชาจึงได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบแทน มีพระนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) พระองค์ได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 ไปยังกรุงเทพฯจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ทั้งสามคนได้แก่ เจ้าราชดนัย (หยุย) เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบง) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุย)

เมื่อเกิดกรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศส ฝ่ายอาณาจักรสยามได้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446 เมื่อเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) ถึงแก่พิราลัย เจ้าราชดนัย (หยุย) ก็ได้รับแต่งตั้งจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ว่าการนครจำปาศักดิ์ ดังนั้นอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงมีฐานะเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ใกล้เคียง

อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรธนบุรี อาณาจักรโคตรบูร อาณาจักรพระนคร อาณาจักรปตานี อาณาจักรแห่งกาลเวลา