ความเห็นของนักวิชาการฝ่ายลาว ของ อาณาจักรโคตรบูร

ยุคสมัยของอาณาจักรโคตรบูร

คำเพา พอนแก้ว นักประวัติศาสตร์ลาวเสนอให้อาณาจักรโคตรบูรจัดอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ลาวสมัยกลาง หรือก่อนสมัยอาณาจักรล้านช้าง โดยเรียกชื่อว่า ยุคอ้ายลาวสมัยสีโคดตะบอง ส่วนคำว่า สีโคดตะบูน ให้ใช้เรียกเป็นชื่อเมืองแทน อาณาจักรโคตรบูรถูกจัดให้อยู่ในสมัยสีโคดตะบอง หรือ สมัยสริโคดตะปุระ ก่อน ค.ศ. ถึง ศตวรรษที่ 7 หลัง ค.ศ. ยุคอ้ายลาวสมัยสีโคดตะบองแบ่งออกเป็นสองช่วงใหญ่ คือ

1. ยุคฟูเลียว หรือยุคเมืองลาว

2. ยุคฝูนัน (ฟูนัน) หรือยุคเมืองใต้

คำเพา พอนแก้ว เห็นว่า สีโคดตะบองเป็นชื่อหนึ่งของมหาอาณาจักรในสมัยโบราณที่สำคัญที่สุดบนแหลมอินโดจีน โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางของอาณาจักรลาวล้านช้างโบราณ นับตั้งแต่เมืองท่าแขกถึงเมืองร้อยเอ็ดและจากเมืองเวียงจันทน์ถึงเมืองสะหวันนะเขด แต่อาณาเขตของอาณาจักรสามารถแผ่ไปถึงพื้นที่ของเขมร ไทย และส่วนบนสุดของคาบสมุทรมลายู อาณาจักรโคตรบูรมีพื้นที่หน้ากว้างประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร เมืองร้างสีโคดตะบองตั้งอยู่ลึกเข้าไปในร่องน้ำเซบั้งไฟประมาณ 15 กิโลเมตร ปัจจุบันถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบและยังไม่ได้รับการบูรณะฟื้นฟูจากรัฐบาล บริเวณดังกล่าวถือเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของอาณาจักรนี้ คำว่า สีโคดตะบอง เปลี่ยนรูปภาษามาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สริโคดตะปุระ แปลว่า เมืองตะวันออก ต่อมาจึงกลายเป็นคำว่า สีโคดตะบูน และ โคดตะบอง ตามลำดับ อาณาจักรดังกล่าวมีอำนาจเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. ถึงศตวรรษที่ 6 และปลาย ศตวรรษที่ 7

ชนชาติที่เป็นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูร

หากถือตามคัมภีร์อุรังคธาตุซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มชนลุ่มน้ำโขงนั้น ถือว่าพวกนาก (นาค) หรือเผ่านากซึ่งหมายถึงชาติพันธุ์ลาวอาจเป็นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูร พวกนากหรือลาวอพยพลงมาจากหนองแสหรือหนองกระแสแสนย่านในมณฑลยูนนานของจีนมาตั้งอาณาจักรนี้ หรือไม่เช่นนั้นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูรอาจเป็นกลุ่มชนชาติที่ผสมระหว่างชนชาติอ้ายลาวที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในแหลมอินโดจีนกับพวกขอมชะวา (ชวา) ที่ยังเหลืออยู่ทางตอนเหนือของลาว ส่วนนักวิชาการสายอีสานบางกลุ่มเห็นว่าอาจเป็นชนชาติข่า แต่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่าชนชาติละว้าอาจเป็นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูร แนวคิดหลังนี้ต่อมาไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เนื่องจากชาวละว้าไม่ใช่ชนชาติดั้งเดิมของแผ่นดินแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง แต่หากพิจารณาตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปในสมัยสีโคดตะบองแล้วจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลักษณะหน้าตาของชนชาติลาวในปัจจุบันมากกว่าชนชาติอื่น นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าอาณาจักรโคตรบูรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาณาจักรฟูนันที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรฟูนันส่วนมากได้มาจากจดหมายเหตุของจีน คำว่า ฟูนัน ตรงกับคำว่า พะนม (พนม) แปลว่า เมืองแห่งภูดอย แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงปลาย พ.ศ. ๒๔๐๐ ถึง ต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ ว่าศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรโคตรบูรอาจมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่บริเวณธาตุพนมและแขวงคำม่วนของลาว

ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรโคตรบูรกับอาณาจักรฟูนัน

หลักฐานที่ทำให้นักวิชาการบางกลุ่มเข้าใจว่าอาณาจักรโคตรบูรมีความสัมพันธ์ และอาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาณาจักรฟูนันมีอยู่หลายประการ ดังนี้

ประการที่ 1 จดหมายเหตุจีนแห่งราชวงศ์เหลียงกล่าวว่า อาณาจักรฟูนันมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านผ่าตรงกลางอาณาจักรจากทางทิศตะวันตก และแม่น้ำโขงหรือน้ำของบริเวณนครเวียงจันทน์-เมืองท่าแขก ก็มีลักษณะไหลผ่านผ่ากลางมาทางทิศตะวันตกของอาณาจักรโคตรบูรเช่นกัน

ประการที่ 2 บริเวณเมืองท่าแขกซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรโคตรบูรเต็มไปด้วยเทือกเขาหรือสายภูที่สูงชันสลับซับซ้อนจำนวนมาก และภูเขาดังกล่าวมีลักษณะเป็นป่าหินหรือเทือกเขาหินปูน (ลาวเรียก หินปูน) คล้ายคลึงกับลักษณะภูมิประเทศของอาณาจักรฟูนัน

ประการที่ 3 มีนักประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์หลายคนเห็นว่า บริเวณปากแม่น้ำโขงในสมัย 3,000 ปีก่อนอาจตั้งอยู่บริเวณน้ำตกหลี่ผีในแขวงสีทันดอน (สี่พันดอน) ของลาว แต่เมื่อสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงปากแม่น้ำโขงจึงย้ายไปยังบริเวณกาตุยจังหน้าเมืองพนมเป็ญเมืองหลวงของกัมพูชาแล้วย้ายลงไปทางใต้อีกในสมัยต่อมา อันเนื่องมาจากสาเหตุที่น้ำทะเลได้เหือดแห้งลงจากยุคก่อน ปากแม่น้ำโขงบริเวณหลี่ผีของลาวจึงน่าจะเป็นที่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรโคตรบูร-ฟูนัน

ประการที่ 4 หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณคดี ตลอดจนรูปแบบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อาทิ พระธาตุพนม พระธาตุอิงฮัง เป็นต้น มีลักษณะทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กันกับกลุ่มศิลปะยุคอันทระซึ่งเป็นกลุ่มศิลปะยุคหลังของอินเดียใต้ในช่วงศตวรรษที่ 1-6 ลักษณะทางศิลปกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะของศิลปะอาณาจักรฟูนันด้วย

ประการที่ 5 เรื่องราวของอาณาจักรโคตรบูรมีความเกี่ยวพันกันกับวิถีชีวิตของคนลาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง จนกลายเป็นตำนานหรือนิทานเรื่องพระยาสีโคดตะบองแรงช้างสาร นิทานดังกล่าวเล่าสืบต่อมาเป็นมุขปาฐะหลายยุคหลายสมัย และมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะตำนานพระพุทธศาสนาวรรณกรรมชาดก และวรรณกรรมแฝงประวัติศาสตร์ด้วย ชาวลาวเชื่อว่าตำนานปรัมปราดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับตำนานการสร้างปราสาทวัดภูที่แขวงจำปาศักดิ์ ในศตวรรษที่ 8 ซึ่งมีลักษณะทางศิลปกรรมแบบขอมมากกว่ากลุ่มพระธาตุพนมและพระธาตุอิงฮัง ตำนานยังกล่าวถึงเรื่องราวของพระยากำมะทาทรงเป็นผู้นำบุรุษสร้างปราสาทวัดภูเพื่อแข่งขันกับสตรีสร้างพระธาตุพนม ผลปรากฏว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จก่อนเป็นเหตุให้พระยากำมะทาทรงทุบพระอุระสิ้นพระชนม์ ลักษณะเนื้อหาดังกล่าวอาจสะท้อนความสัมพันธ์ทางวิทยาการของชนชาติลาวและชนชาติขอม ตลอดจนการแข่งขันอำนาจทางการเมืองของทั้งสองชนชาติในอาณาจักรโคตรบูร-ฟูนัน

ประการที่ 6 ชื่อเมืองท่าแขกอันมาจากคำว่า ท่าของแขกคน (ท่าน้ำโขง-แขกคน) ในปัจจุบันทำให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วไปของชาวลาวสองฝั่งโขงว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นสถานที่พ่อค้าต่างชาติโดยเฉพาะแขกหรือชาวอินเดียเดินทางมาค้าขาย

ใกล้เคียง

อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรธนบุรี อาณาจักรโคตรบูร อาณาจักรพระนคร อาณาจักรปตานี อาณาจักรแห่งกาลเวลา

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาณาจักรโคตรบูร http://chuthamas.com/history/thaihis1.htm http://e-shann.com/?p=6057 http://www.khongriverso.com/index.php?option=com_c... http://www.tourinthai.com/sitetravel/travel-detail... http://www.vtetoday.la/%E0%BA%AB%E0%BB%8D%E0%BA% http://www.portfolios.net/forum/topics/2988839:Top... http://lek-prapai.org/home/view.php?id=1052 http://lek-prapai.org/home/view.php?id=717 http://kanchanapisek.or.th/kp8/nkp/nkp202.html http://www.e-learning.sg.or.th/ac4_22/content3.htm...