การท่องเที่ยว ของ อำเภอเบตง

สภาพทั่วไปของตลาดท่องเที่ยว

อำเภอเบตงเป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทยซึ่งติดชายแดนประเทศมาเลเซีย เป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจการค้าสูง ประกอบกับเป็นอำเภอที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ภาษา และชาติพันธ์ที่หลากหลาย อีกทั้งเป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงามจึงทำให้อำเภอเบตงเป็นอำเภอที่มีนักท่องเที่ยวจากในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอำเภอเบตง สามารถแบ่งกลุ่มการท่องเที่ยวได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรก เป็นพวกที่เข้ามาเพื่อเที่ยวตามแหล่งบันเทิงเริงรมย์ในเมืองเบตง และกลุ่มที่สอง เป็นพวกที่เข้ามาเพื่อท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และรับประทานอาหารประจำถิ่นของอำเภอเบตง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้บ้างจะเข้ามาเป็นครอบครัว หรือเป็นหมู่คณะ ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเป็นชาวมาเลเซียเป็นส่วนมากซึ่งได้เข้ามาในอำเภอเบตงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และช่วงเทศกาลต่าง ๆ และในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยจะมาอำเภอเบตงเพื่อการพักผ่อน เที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และเพื่อการประชุมสัมนา

สถิตินักท่องเที่ยวของอำเภอเบตง[17]
ปีพ.ศ.นักท่องเที่ยวชาวไทยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินักท่องเที่ยวรวมรายได้ (ไทย)รายได้ (ต่างชาติ)รายได้รวม
254773,028171,092244,120136.25553.98690.23
254857,179163,427220,60684.01486.34570.35
254951,030224,071282,46376.79688.31765.11
255045,297224,071269,36863.46599.60663.06
2551n/a (69,463)n/a (242,249)n/a (311,712)n/a (97.44)n/a (629.27)n/a (726.71)
255250,438250,132300,670140.97963.741,104.71
2553101,876271,393373,269211.491,108.501,319.99
255497,039238,929335,968271.571,057.211,328.78
2555110,299318,745429,044336.681,422.561,759.24
2556115,650448,121563,771362.592,057.802,420.39
หมายเหตุ - ข้อมูลในปี 2551 เป็นข้อมูลประมาณการณ์ของกรมการท่องเที่ยวเท่านั้น, นักท่องเที่ยวหน่วย: คน และรายได้หน่วย: ล้านบาท

สถานที่ท่องเที่ยว

บ่อน้ำร้อนอุโมงค์ปิยะมิตรบริเวณหอนาฬิกา และตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์พระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธานพระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ


อำเภอเบตงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง โดยสามารถแบ่งแหล่งท่องเที่ยวได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวบริเวณนอกเมือง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และกลุ่มสอง กลุ่มแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยวในบริเวณเมืองเบตง

แหล่งท่องเที่ยวบริเวณนอกเมือง

  • บ่อน้ำร้อนเบตง เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่ให้สุกได้ภายในเวลา 7 นาที ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาอาบน้ำแร่ เพราะเชื่อกันว่าทำให้สุขภาพดี และรักษาโรคบางอย่างได้ ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาได้สร้างรีสอร์ทไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
  • น้ำตกอินทรศร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากภูเขารอบ ๆ มีแอ่งน้ำสำหรับลงเล่นน้ำท่ามกลางป่าเขียวขจีโดยรอบ มีลักษณะร่มรื่น และสามารถว่ายน้ำเล่นและพักผ่อนได้เป็นอย่างดี อยู่ถัดจากบ่อน้ำร้อนเบตงไปทางหมู่บ้าน ปิยะมิตร 1 ประมาณ 3.7 กิโลเมตร
  • อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่หมู่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ เป็นอุโมงค์ดินซึ่งอดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) สร้างขึ้น บนเนินเขาในป่าทึบ สำหรับเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง อุโมงค์มีลักษณะคดเคี้ยวเข้าไปในภูเขายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ลึก 50-60 ฟุต และมีทางออก 6 ทาง ใช้เวลาขุด 3 เดือน เพื่อเป็นที่หลบภัยทางอากาศ และสะสมเสบียง
  • สวนดอกไม้เมืองหนาว อยู่ในบริเวณหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งห่างจากหมู่บ้านปิยะมิตร 1 ประมาณ 9 กิเมตร เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่บนเขา มีอากาศเย็นสบาย มีแปลงทดลองปลูกไม้ดอกหลายประเภท เช่น ดอกฮอลีฮ้อค ดอกแอสเตอร์ ซึ่งมีสีสันสวยงาม ปัจจุบันทางโครงการมีบ้านพักไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
  • หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ภายในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ สร้างขึ้นเพื่อจัดเก็บรวบรวมวัสดุสิ่งของที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายาใช้ในอดีต และรวบรวมประวัติความเป็นมาของการก่อตั้ง จคม. ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ (ต้นสมพงษ์) อีกด้วย
  • ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง จุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สามารถชมทะเลหมอกและชมวิวทิวทัศน์บนเขาไมโครเวฟ มีหอชมวิว ห้องน้ำ รปภ. เส้นทางสะดวกสบาย เพราะเป็นเส้นทางเป็นถนนลาดยาง ใกล้ถนนสาย 410 บริเวณ กม.33 ทางเข้าหมู่บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง ไต่ขึ้นไปประมาณ 7 กม.
  • น้ำตกละอองรุ้ง น้ำตกที่เป็นที่รู้จักกันดีของ ชาวไทยและต่างประเทศมากว่า 20 ปี ปัจจุบันได้รับการพัฒนาและดูแลโดยอุทยานแห่งชาติบางลาง ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่าง ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง กับ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
  • น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของตำบลอัยเยอร์เวง เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงสาย 410 ยะลา-เบตง บริเวณ กิโลเมตรที่ 33 บ้าน กม.32สำหรับชั้นที่ 1,2และ ส่วนชั้นที่ 4 และ5 อยู่ในเขต ม.5บ้านวังใหม่ 5 ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจนสามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
  • ป่าบาลา-ฮาลา เป็นป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่าหายากหลากชนิด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งทัศนศึกษาและเข้าค่ายพักแรม ค่ายกิจกรรมเยาวชนได้ มีห้องพักค้างแรมสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ปัจจุบันดำเนินการโดยกองร้อย ตชด.ที่ 445 และในอนาคต จังหวัดยะลามีแนวทางพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีมาตรฐานแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ "อะแมซอนแห่งอาเซียน"
  • สะพานแตปูซู เป็นสะพานแขวนทำด้วยไม้ ข้ามแม่น้ำปัตตานี เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเอาชนะธรรมชาติของชนผู้บุกเบิก ตำบลอัยเยอร์เวง
  • ทะเลหมอกเขากุนุงซิลิปัต เป็นจุดชมทะเลหมอกอีกแห่งของตำบลอัยเยอร์เวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านอัยเยอร์เวง ต.อัยเยอร์เวง ต้องนั่งรถไป 3.5 กม. เดินเท้าอีก 2 กม. สามารถชมหมอกได้ตลอดทั้งปี ครบ 360 องศา
  • ล่องแก่งอัยเยอร์เวง เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความสวยงาม และสนุกสนาน มีชาวบ้านดำเนินการ 5 ราย เรือ 200 ลำ ระยะทาง ล่อง 5 กม. มีแก่งหินที่สวยงาม และธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีก๋วยจั๊บแช่ขา บริการหลังล่องเสร็จ สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย เพราะมีการรักษา ป้องกันภัยเป็นอย่างดี
  • โอรัง อัสลี นากอ เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ อยู่ใกล้บ่อน้ำร้อนนากอ ม.9 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เป็นกลุ่มชนพื้นเมือง เผ่า "มันนิ" หรือ ที่ชาวเมืองชอบเรียกว่า "ซาไก" ซึ่งพบว่า โอรัง อัสลี นากอ แตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะมีการพัฒนาน้อยมาก ยังใช้ชีวิตเร่ร่อนในป่า ตามฤดูกาล เป็นครือญาติกับ โอรังอัสลี ปากคลองฮาลา ปัจจุบันพบกว่า 100 ชีวิต จะแต่งตัวเหมือนชาวบ้านยามอพยพมาอยู่ใกล้ชุมชน และ แต่งกลายแบบดั้งเดิมกึ่งเปลือยเมื่อเข้าไปในป่า

แหล่งท่องเที่ยวบริเวณในเมือง

  • เมืองเบตง บริเวณเมืองเบตงมีตัวอาคารบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ตั้งของเมืองเบตงตั้งอยู่กลางหุบเขาจึงทำให้มีอากาศดี มีหมอกในยามเช้า และจุดที่น่าสนใจในยามเย็นคือ ฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวที่อพยพมาจากไซบีเรีย เกาะอยู่ตามอาคารบ้านเรือน และบนสายไฟฟ้าใจกลางเมือง
  • หอนาฬิกาเมืองเบตง หอนาฬิกาเป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่ที่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมายาวนาน เปรียบเป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเมือง ทำการก่อสร้างด้วยหินอ่อน ในยามเย็นจะเห็นฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวมาเกาะอยู่รอบ ๆ สายไฟบริเวณหอนาฬิกาจนกลายมาเป็นสัญลักษณ์คู่หอนาฬิกา
  • ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นายสงวน จิรจินดา นายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรก และเป็นอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข ได้เห็นว่าอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล มีการติดต่อสื่อสารใด ๆ ไม่ได้เลยนอกจากทางจดหมาย ครั้นเมื่อเกษียนในปี พ.ศ. 2482 จึงได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกเทศบาลตำบลเบตง และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีคนแรก จึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้นในปีนั้น ด้วยการใช้รูปแบบตู้ไปรษณีย์จากสิงคโปร์แต่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้สามารถเก็บวางเครื่องขยายเสียงและลำโพงที่มีขนาดใหญ่ในส่วนบนของตู้ สำหรับกระจายเสียงประชาสัมพันธ์ เป็นหอกระจายข่าวให้ประชาชน ที่มาจับจ่ายซื้อของบริเวณนั้น ที่เป็นสี่แยก ก่อนจะมีหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตงในเวลาต่อมา ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าในบริเวณศาลาประชาคม ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ตู้ทั้งสองใบสามารถใช้ส่งจดหมายได้
  • อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กมีความยาวตลอดอุโมงค์ ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 อำเภอเบตงได้ก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในการขนส่งระหว่างชุมชนเมืองในปัจจุบันกับชุมชนเมืองใหม่ ซึ่งภายในอุโมงค์มีการติดไฟสวยงาม
  • วัดพุทธาธิวาส วัดพุทธาธิวาสตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบตง มีบรรยากาศร่มรื่นทัศนียภาพงดงามประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสง่า ประกอบไปด้วยพระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ โดยองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาภายในพระมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน เป็นองค์พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ มีหน้าตักกว้าง 9.99 ม. สูง 14.29 ม. และมีน้ำหนักประมาณ 40 ตัน ซึ่งชาวอำเภอเบตงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างขึ้นเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ
  • มัสยิดกลางเบตง มัสยิดกลางเบตงได้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง เป็นศูนย์รวมของพี่น้องชาวมุสลิมเบตง
  • วัดกวนอิม เป็นสถานที่ตั้งศาลเจ้าอันเป็นที่ประดิษฐานของเทพสำคัญ ๆ หลายองค์ อาทิ เจ้าแม่กวนอิม ท่านแป๊ะกง ท่านกวงกง เจ้าแม่จิวหวังเหย่ ยี่หวังต้าตี้ หว่าโก่วเซียนชื่อ ขงจื้อ เป็นต้น และยังมีสถาปัตยกรรมของเจดีย์ 7 ชั้น วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากภายในบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของเมืองเบตงได้อีกด้วย
  • อาคารมูลนิธิอำเภอเบตง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 ประกอบด้วย อาคาร 2 หลัง หลังแรกเป็นโครงสร้างแบบศาลเจ้าจีน ภายในห้องโถงใช้เป็นสถานที่ตั้งพระบูชาของจีน ฝาผนังมีภาพวาดเทพนิยายจีนวิจิตรงดงาม บรรยากาศเข้มขลัง ส่วนอีกอาคารหนึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิ ฝาผนังภายในมีจิตรกรรมเรื่องราวของนรก สวรรค์ และเรื่องราวเชิงวรรณกรรม และแนวคิดตามปรัชญาจีน
  • สวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง (สวนสุดสยาม) สวนสาธารณะแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขากลางเมืองเบตง เป็นจุดชมทัศนียภาพมุมกว้างของเมืองเบตง ภายในสวนร่มรื่นไปด้วยไม้ยืนต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ มีพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง มีสวนสุขภาพ มีสนามกีฬาประจำอำเภอ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเบตง
  • บริเวณด่านพรมแดน บริเวณด่านพรมแดนมีป้าย “ใต้สุดสยาม” ซึ่งเป็นแลนมาร์คแห่งหนึ่งของอำเภอเบตง และนอกจากนี้ยังมีกำแพงกั้นระหว่างไทย - มาเลเซียซึ่งเป็นกำแพงปูนมีความสูงประมาณ 2 - 3 เมตร เลียบถนนชายแดนไทย – มาเลเซียซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความสวยงามเส้นทางหนึ่ง
  • อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ก่อสร้างเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาป่าดิบชื้น (บาลา-ฮาลา) เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ บนเนินเขา มีวัตถุประสงค์สำคัญในการก่อสร้างเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถสัมผัสถึงเรื่องราว และข้อมูลที่น่าสนใจของผืนป่าบาลา-ฮาลา เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวสองกลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจโดยอยู่บริเวณตำบลอัยเยอร์เวง และบางส่วนอยู่ในอำเภอธารโตตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา – เบตง เช่น เขื่อนบางลาง, ป่าบาลา - ฮาลา, หมู่บ้านซาไก, น้ำตกละอองรุ้ง, บ่อน้ำร้อนนากอ, น้ำตกวันวิสาข์ เป็นต้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอเบตง http://www.amphoe.com/menu.php http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/784320 http://www.betongimmigration-checkpoint.com/th/foo... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o...